|

'ค่าบาท-สินเชื่อ'ปัจจัยชี้ขาด กนง.ปรับดอกเบี้ย10มี.ค.
ASTV ผู้จัดการรายวัน(17 กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติชงข้อมูลการไหลเข้าของเงินทุน ค่าเงินและสินเชื่อเข้า กนง. 10 มี.ค.นี้ "บัณฑิต" แย้มดอกเบี้ยต่ำมากแล้ว แต่จะปรับขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ ธปท.จะนำเสนอรายงานข้อมูลให้ที่รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะเงินทุนไหล เข้า อัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนไหวของตลาดเงินในต่างประเทศ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการรวบรวมถึงข้อมูลในระดับภาคต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นที่รับรู้กันในตลาดแล้วว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ประเด็นจึงอยู่ที่เงื่อนเวลาที่เหมาะสมในการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่จะ ต้องมีความสมดุลกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ และไม่สร้างแรงกดดันต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อ
"อาจพิจารณาผ่อนคลายการลดดอกเบี้ยอาร์พี โดยปรับขึ้นจากระดับที่ต่ำมาก ซึ่ง ธปท.พูดบ่อย และขณะนี้ตลาดก็รับรู้ไปแล้ว ขณะนี้สิ่งสำคัญคือเรื่องเวลาที่เหมาะสม โดยดูเงินเฟ้อและความเข้มแข็งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะดูแลสองส่วนนี้ให้สมดุล ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพและไม่กดดันการเร่งตัวของเงินเฟ้อ" นายบัณฑิตกล่าวและ เชื่อว่าภาคเอกชนมีความเข้าใจว่า ธปท.คงดอกเบี้ยในระดับต่ำมานานแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเมื่อเศรษฐกิจเข้มแข็งก็จำเป็นจะต้องมีการถอยออกจากนโยบายผ่อนคลาย ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการสินเชื่อจะมีมากขึ้น ตามความต้องการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น
สำหรับค่าเงินบาทในขณะนี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก เป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียและไทย ทั้งนี้ ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.4% และมีค่าความผันผวนในระดับ 3.1% ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และปี 2553 ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนต่อไป จากปัจจัยสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.ในระยะสั้นเกี่ยวกับแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังของประเทศในยุโรป 2.การออกจากนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายของสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย 3. ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวมาก โดยเฉพาะในเอเซียต้องระวังการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และ 4. ราคาสินทรัพย์ที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจก่อปัญหาฟองสบู่ขึ้นได้ หลายประเทศจึงต้องออกมาตรการป้องกันตัวเอง เห็นได้ชัดเจน
นายบัณฑิตเปิดเผยว่า ธปท.จะติดตามทิศทางดอกเบี้ยของประเทศกลุ่มเหล่านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศหลัก รวมถึงการลดการผ่อนคลาย การกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเงินการคลัง เพราะจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ
"ค่าเงินหลังเดือนมกราคมมีความเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้นจากการขาดุลภาคการคลัง ของประเทศในยุโรป เช่น สเปน กรีซ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า เงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่า" นายบัณฑิตกล่าว
ส่วนการลดค่าเงินดองของเวียดนามลงอีกรอบนั้น รองผู้ว่าฯ ธปท.มองว่า เป็นการแก้ปัญหาขาดดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนาม อาจจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากเวียดนามจะได้เปรียบไทยทางด้านราคาที่ถูกกว่า แต่ภาพรวมไม่น่ามีปัญหาและค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|