PTTเตรียมก่อหนี้อีก8หมื่นล้าน


ASTV ผู้จัดการรายวัน(17 กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.จะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 53 เพื่อขออนุมัติการก่อหนี้เพิ่มเติมอีก 8 หมื่นล้านบาท รองรับแผนการลงทุนในอนาคต 5 ปีข้างหน้า( 53- 57) รวมกับวงเงินกู้คงเหลือที่ผู้ถือหุ้นเคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้อีก 3 หมื่นล้านบาทรวมเป็น 1.1 แสนล้านบาท สอดคล้องกับแผนการใช้เงินในอนาคต

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 53 - 57) ของ ปตท. วงเงินรวม 243,518 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 111,017 หรือ 46% ธุรกิจน้ำมัน 9,966 หรือ4% ลงทุนในธุรกิจร่วมทุน 113,289 หรือ 46% สำนักงานใหญ่และอื่นๆ 9,246 หรือ 4% ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่ของปตท.จะลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย โครงการท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 4 บนบก โครงการก่อสร้างสถานีเอ็นจีวีสำหรับเงินลงทุนในธุรกิจร่วมทุนเป็นเงินลงทุน ในบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และการลงทุนธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ

โดยปีนี้ปตท.จะลงทุนวงเงิน 75,160 ล้านบาท และปีหน้าลงทุนอีก 73,509 ล้านบาท ปี 55 ลงทุน 42,761 ล้านบาท ปี 56 ลงทุน 26,403 ล้านบาท และปี 57 ลงทุน 25,685 ล้านบาท ทั้งนี้ปตท.อาจจะกู้เงินหรือออกหุ้นวงเงิน 3-4 หมื่นล้านบาท โดยบอกไม่ได้ว่าจะก่อหนี้รูปแบบใด แต่จะพิจารณาให้มีต้นทุนทางการเงินต่ำสุด รวมทั้งรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนดด้วยและส่วนหนึ่งจะออกหุ้นกู้สกุลบาทขายให้ กับประชาชนทั่วไป เพื่อรักษาอัตราหนี้สินทุนไว้ระดับเดิมที่ 0.3-0.4 เท่า

ส่วนผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีมาบตาพุดไม่มีผลทำให้การลงทุนของ ปตท.ชะงักไป แต่มีผลเฉพาะโครงการที่ถูกคำสั่งให้ระงับกิจการเป็นการชั่วคราว คือโครงการโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ซึ่งเดิมโรงแยกก๊าซฯ ดังกล่าวจะป้อนวัตถุดิบให้โรงเอทิลีนแครกเกอร์ของ

ปตท.เคมิคอลขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตัน แต่เนื่องจากโรงแยกก๊าซฯหน่วย 6 ไม่สามารถผลิตได้ทำให้ ปตท. ต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงแยกก๊าซฯเดิม 2โรง ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 6 แสนตัน/ปีที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ ทำให้กำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซฯทั้งหมดในเครือปตท.ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านตัน

แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนตัน คิดเป็น 15% ของกำลังการผลิตรวม แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะป้อนให้โรงเอทิลีน แครกเกอร์ใหม่ 1 ล้านตันของ ปตท.เคมิคอลได้ ทำให้ต้องหยุดปิดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์เดิมเพื่อนำวัตถุดิบมาใช้ป้อนให้โรง งานใหม่แทน คาดว่าโรงงานใหม่นี้จะผลิตได้เพียง 70-80% ของกำลังการผลิต ขณะที่ราคาเอทิลีนในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากอยู่ที่ระดับ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตันใกล้เคียงราคาเม็ดพลาสติก

" หากมองในแง่ดีถ้าโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ไม่สามารถผลิตได้ ก็เป็นการปิดโอกาสคู่แข่งรายอื่นที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้เช่นเดียวกันปตท. เข้ามาทำธุรกิจได้ยากขึ้น ทำให้ปตท.มีความได้เปรียบคู่แข่ง " นางสาวเพ็ญจันทร์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.