ที่ธนาคารพาณิชย์อื่นเขาฟ้องร้องกันในศาล เขาเล่นเกมกันเท้าแทบพลิกเพื่อแย่งกันบริหาร
มาถึงแบงก์กรุงไทยที่เป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ แถมกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำไมจึงหาตัวผู้จัดการใหญ่ได้ยากเย็นแสนเข็ญ
ไปติดต่อทาบทามใครเขาก็ปฏิเสธกันทุกราย ราวกับว่าตำแหน่งที่ดูยิ่งใหญ่นี้ไม่มีความหมายอะไรเลย
ลองมารื้อ “กอไผ่” ซุ้มนี้ดูกันดีกว่าว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่ข้างใน
ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเป็นแบงก์พาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ
3 ของประเทศ มีทรัพย์สินเมื่อสิ้นปี 2528 สูงถึง 92,875.0 ล้านบาท เงินฝาก
79,084.5 ล้านบาท และสินเชื่อ 61,940.8 ล้านบาท
มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529
เนื่องจากอายุงานครบตามสัญญาว่าจ้างชื่อ ตามใจ ขำภโต เป็นข่าวดังในวงการสื่อมวลชนแนวธุรกิจ
เริ่มตั้งแต่มีข่าวว่าอาจจะมีการต่อสัญญาอีกเพราะเคยต่อมาแล้ว 2 ครั้ง (อ่าน
“ตามใจ นาย (จันหนวด) เขี้ยว แห่งค่ายกรุงไทย)” หรือการกะเก็งไล่ลูกระนาดกันอุตลุดว่าใครบ้างที่จะมานั่งตำแหน่งนี้แทน
คณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยประชุมกันมา 2 ครั้งคือวันที่ 16 มกราคม และวันที่
23 มกราคม 2529 จนตอนที่เขียนต้นฉบัยนี้อยู่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาใครมานั่งตำแหน่งแทนตามใจ
ขำภโต
ดูกันแค่นี้ก็พอจะรู้ว่าทำไมธนาคารกรุงไทยถึงหล่นจากธนาคารพาณิชย์อันดับที่
2 มาเป็นอันดับที่ 3 และอีกไม่กี่ปีก็คงถูกธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นอันดับ
4 แซงเอาจนได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวการบริหารงาน
ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่รู้กันอยู่ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนตัวบุคคลเมื่อครบสัญญาหรือแม้จะไม่แน่ใจว่าจะมีการต่อสัญญา
หรือไม่อย่างน้อยก็ควรเตรียมการทาบทามผู้ที่เหมาะสมเอาไว้ล่วงหน้าเพราะเผื่อถูกปฏิเสธจะได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นไปหาคนอื่นจนปั่นป่วนไปหมด
ทั้งคนที่ถูกทาบทามและ...เอ้อ...คนทำข่าว
รายที่เป็นสุดปรารถนาของคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยที่มีพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานก็คือ
ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ในที่ประชุมกรรมการถึงกับระบุชื่อออกมาเลยว่าอยากได้คนคนนี้มาบริหารที่แบงก์กรุงไทย
มิไยศุกรีย์ แก้วเจริญ จะปฏิเสธมาแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นหมายเลขหนึ่งที่จะต้องเกลี้ยกล่อมมาให้ได้
“คุณศุกรีย์ได้รับการทาบทามตอนปลายปีที่แล้วแต่ก็ปฏิเสธไป ทีนี้ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเหลือเกิน
คุณศุกรีย์ถึงกับต้องเรียกประชุมพนักงานบรรษัทเงินทุนชี้แจงให้ฟังว่า อย่างไรเสียก็จะทำงานที่บรรษัทฯ
ต่อไป ที่ทำอย่างนั้นด้านหนึ่งก็เป็นการให้ความมั่นใจกับพนักงาน อีกด้านหนึ่งก็คือเพิ่มน้ำหนักในการปฏิเสธให้เด็ดขาดยิ่งขึ้น”
คนใกล้ชิดกับศุกรีย์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
“เรื่องคุณเธียรชัยปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งต่อจากคุณตามใจนั้น ผมว่าเอาอย่างนี้ดีกว่าไม่ว่าใครก็ตามก็อยากที่จะก้าวหน้า
และการก้าวหน้าที่เป็นจุดสุดยอดก็คือการได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน...ผมว่าคณะกรรมการเขาไม่แต่งตั้งมากกว่า”
พนักงานกรุงไทยคนหนึ่งพูด
ยังมี ร.ท.อนันต์ พันธ์เชษฐ อีกคนหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นนักวิ่งมหากาฬระดับชาติ ที่วิ่งทุกตำแหน่งที่มีในประเทศไทยแต่ไม่เคยถึงป้าย
ร.ท.อนันต์เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอยู่ไทยทนุ อายุประมาณ 50 ปี
สำหรับเริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารแห่งแบงก์ชาติที่ “ไต้ฝุ่น”
คอลัมนิสต์ของไทยรัฐ เก็งในข้อเขียนหลายครั้งว่า จะมานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกรุงไทย
เมื่อ “ผู้จัดการ” ได้มีโอกาสพบและไต่ถามเรื่องนี้ ท่านก็ตอบสั้นๆ
ว่า “ผมไปคนเดียวผมก็ตายสิ”
“คนดีมีฝีมือเขาไม่อยากไปที่กรุงไทยหรอก เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเข้าไปจะต้องไปขุดคุ้ยเรื่องอะไรมิต่ออะไรหลายเรื่องเหลือเกิน
เมื่อก่อนเราก็เคยตรวจสอบว่าเขากระทำผิดกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งหลายครั้ง
ก็ได้แต่แจ้งไปยังกระทรวงการคลังต้นสังกัดของเขา” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
“ผู้จัดการ” จึงคิดว่าคงจะต้องมีเบื้องหลังอะไรอยู่มากพอสมควรในธนาคารพาณิชย์ของรัฐแห่งนี้
จนทำให้ใครต่อใครที่ถูกทาบทามให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่พากันส่ายหน้าไม่ยอมเป็นกันหมด
“ก่อนคุณตามใจ ขำภโต จะมีอายุงานครบตามสัญญามีพนักงานระดับบริหาร
2 คน ได้ลาออกก่อนเพียงแค่สัปดาห์เดียว ก็คือคุณบุญเลิศ สอดตระกูล หัวหน้าหน่วยนโยบายและประสานงานและ
ดร.วรุณ กาญจนกุญชร รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการและวางแผน คุณตามใจบอกว่าที่
2 คนนี้ลาออกเพราะมีปัญหาเรื่องแรงกดดันในการทำงานหากมีผู้จัดการใหญ่คนใหม่เข้ามา
แต่คนข้างในรู้กันดีว่าไม่ใช่ และไม่ใช่ลาออกด้วยสปิริต เนื่องจากเป็นทีมงานของคุณตามใจด้วย”
พนักงานแบงก์กรุงไทยเล่าให้ฟัง
พนักงานรายเดียวกันนี้เล่าให้ฟังอีกว่า กรณีของบุญเลิศ สอดตระกูล นั้นก่อนที่จะลาออกคณะกรรมการของธนาคารได้แต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่บริหาร
5 คน เพื่อสอบสวนการปล่อยกู้โอดีรายที่สำคัญ ๆ และทำให้ธนาคารเสียหาย โดยให้สอบทั้งผู้อนุมัติและสนับสนุนด้วยซึ่งเดิมจะสอบเฉพาะตัวลูกค้า
ซึ่งลูกค้าเหล่านี้บุญเลิศมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น จึงชิงลาออกไปก่อน
“พอมีการลาออกไปแล้วการสอบสวนมันก็มีปัญหาว่าจะเรียกเขาไปสอบได้หรือในเมื่อเขาหมดสภาพการเป็นพนักงานไปแล้ว
การลงโทษอะไรทางวินัยก็ทำไม่ได้ คือพวกเราเชื่อกันว่าต้องมีการกระซิบบอกกันว่าคุณลาออกไปดีกว่า
เพราะถูกกรรมการสอบสวน เผลอ ๆ อาจจะถูกไล่ออก มันไม่ใช่เรื่องแรงกดดันภายในอย่างที่คุณตามใจพูด
ที่จริงมันเป็นเรื่องความผิดอย่างร้ายแรงในการบริหาร”
สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทยก็คือแทนที่เรื่องจะถูกแทงขึ้นมาตามสายงานอย่างน้อยก็น่าจะผ่านฝ่ายสินเชื่อของสำนักงานใหญ่
กลับกลายเป็นว่าเรื่องจะถูกหอบใส่แฟ้มโดยบุญเลิศ สอดตระกูล ไปวางบนโต๊ะทำงานของตามใจ
ขำภโต และก็จะถูกตั้งแท่นไปให้คณะกรรมการอนุมัติ
“คุณอย่าลืมว่าคณะกรรมการของธนาคารต่างก็เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งนั้นไม่ค่อยมีใครเข้าใจในเรื่องธุรกิจเอกชนหรือธุรกิจธนาคาร
เมื่อคุณตามใจบอกว่ารายนี้สมควรอนุมัติเพราะมีหลักประกันคุ้มก็เซ็นกันไป
จะเอาเวลาที่ไหนมาตรวจสอบว่าคุ้มจริงหรือเปล่า หรือแทบไม่เคยรู้ว่าธุรกิจที่มาขอกู้นั้นหน้าตาจริงๆ
มันเป็นอย่างไร ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง บางทีชื่อบริษัทไม่เหมือนกันอย่างกลุ่มกิจการของคุณสุระ
จันทร์ศรีชวาลา แต่เจ้าของก็คือคุณสุระทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้น” พนักงานแบงก์กรุงไทยอีกรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
และกลุ่มธุรกิจที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่มากของธนาคารกรุงไทยที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจมีอยู่
3 กลุ่มด้วยกันคือกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา กลุ่มของ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์
และกลุ่มศรีกรุงของสว่าง เลาหทัย ที่มีวงเงินกู้รวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท...นี่เป็นตัวเลขของปี
2527 เท่านั้น จนทุกวันนี้ไม่รู้ว่าถึง 7,000 ล้านบาทหรือยัง
“เราตรวจสอบพบว่าการให้กู้ของกลุ่มทั้ง 3 กลุ่มนี้มันมากมายผิดปกติก็สั่งให้เขาเอาหลักฐานค้ำประกันมาให้ดูเอาแค่โรงงานสับปะรดของ
พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ที่มีวงเงินกู้โอดี ตามหลักประกัน 500 ล้านบาท
แต่กู้จริงปีหนึ่งก็พันกว่าล้านบาท แล้วป่านนี้จะเป็นเท่าไร หลักทรัพย์ค้ำประกันที่เราเห็นมีไม่เกิน
50 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งหมด แบบนี้ไม่เรียกว่าเละเทะและจะเรียกว่าอะไร”
อดีตผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติเปิดเผยให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
นโยบายการให้กู้แบบนี้ไปถามพนักงานกรุงไทยที่เข้าทำงานได้สัก 5-6 ปีรู้กันดีถึงกับมีการตั้งชื่อเรียกว่า
นโยบาย “รวมไข่หลายใบใส่กระจาดเดียวกัน” คือการอนุมัติให้กู้จะแตกแขนงออกไปให้แก่หลายบริษัทหลายกิจการ
แต่พอไปดูที่ปลายทางคนที่อยู่เบื้องหลังกิจการหลายๆ แห่งนั้นก็คือคนคนเดียว”
“พนักงานระดับสูงของแบงก์กรุงไทยอีกคนหนึ่ง ที่พวกเรากำลังดูๆ อยู่ว่าท่านจะอยู่
หรือจะไปก็คือคุณไพบูลย์ ปุสสเด็จ เพราะในฐานะผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่
จะบอกไม่ได้ว่าตนเองไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้” พนักงานกรุงไทยคนเดิมบอกเพิ่มเดิม
คงพอจะมองเห็นปัญหาของกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่กันแล้วว่าแค่เรื่องตามสะสางหนี้ที่มีปัญหาก็แทบจะไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแล้ว
และการสะสางก็หนีไม่พ้นที่ต้องควานหาตัวผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งก็ได้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายของธนาคารแห่งนี้
สภาพการทำงานมันจะยุ่งอีนุงตุงนังแค่ไหนลองหลับตานึกภาพดูเอาเองก็แล้วกัน
รวมทั้งปัญหาของธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องหนี้เสีย หนี้ที่มีปัญหายังมีอีกหลายเรื่องที่รอการปะทุอยู่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเงินเดือนพนักงานคนละ 2 ขั้น ที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่ในศาล
ที่มีเงื่อนงำลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย หรือเรื่องที่คณะกรรมการยังไม่ยอมเซ็นรับอาคารสำนักงานใหญ่มูลค่า
335.41 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน ค่าออกแบบและค่าควบคุมการก่อสร้าง)
ในเรื่องการปรับเงินเดือนของพนักงานนั้นสืบเนื่องมาจากการปรับเงินเดือนบรรดารัฐวิสาหกิจทุกประเภท
เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณที่ขาดดุลมากอยู่แล้วมาตั้งแต่ปี 2524 แต่พนักงานกรุงไทยก็ยังคงได้โบนัส
4 เดือนตามปกติ (ธนาคารออมสินจ่ายเดือนเดียว ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ จ่ายหนึ่งเดือน
แต่จ่ายแบบผ่อนส่ง งวดหนึ่ง 5 วัน 10 วัน)
ในปี 2527 ธนาคารกรุงไทยประกาศว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการในการทำบัญชีแบบใหม่
ทำให้ผลกำไรเมื่อสิ้นปี 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 572 ล้านบาท ในขณะที่กำไรปี 2525
มีอยู่เพียง 262 ล้านบาท หรือกำไรเมื่อปี 2524 ก็มีอยู่เพียง 215 ล้านบาท
ตามใจ ขำภโต ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงประกาศว่าจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานคนละ
2 ขั้น แต่คณะกรรมการของธนาคารที่มีพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานไม่ยอมเซ็นไปตามคำขอเพราะขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเดิม
ก็ไม่ต้องพูดถึงวิธีการทางบัญชีที่มีการปรับปรุงอีท่าไหนไม่รู้ทำให้ธนาคารมีกำไรพรวดพราดอีก
1 เท่าตัว เอาแค่เรื่องการขอขึ้นเงินเดือนให้พนักงานอย่างเดียวผู้จัดการใหญ่คนใหม่ก็ต้องกุมขมับแล้ว
“ตอนที่มีการขอปรับเงินเดือนโดยสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารกรุงไทย คุณสงวน
สาครินทร์ เป็นผู้จัดการฝ่ายพนักงาน ที่เพิ่งรับตำแหน่งเป็นปีแรก คุณสงวนที่เรารู้กันดีว่าเวลาไปเจรจาอะไรกับแก แกเซย์โนตลอด แต่พอเรื่องปรับเงินเดือนแกกลับเซย์เยส เราก็รู้เลยว่าเรื่องนี้คุณตามใจจะต้องให้การอนุมัติมาแล้ว
รวมทั้งไม่ว่าเรื่องไหนคุณตามใจไม่บอกให้ทำแกจะไม่ทำเด็ดขาด” เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานแบงก์กรุงไทยเล่าให้ฟัง
และเนื่องจากสงวน สาครินทร์ เป็นตัวแทนของฝ่ายบริหารของธนาคารมาเซ็นสัญญาตกลงกับสหภาพยินยอมให้ปรับเงินเดือนให้พนักงานคนละ
2 ขั้น ทั้งๆ รู้เต็มอกว่าขัดมติของ ครม. ก็ทำให้คณะกรรมการต้องปลดจากผู้จัดการฝ่ายพนักงานไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ
ที่มีขอบเขตอำนาจน้อยกว่ากันมาก โดยที่ผู้อยู่เบื้องหลังคือตามใจ ขำภโต ไม่ค้านเลยสักแอะเดียว
งานนี้ผู้ใกล้ชิดกับสงวน สาครินทร์ เล่าให้ฟังว่า วันเก็บข้าวของย้ายฝ่าย สงวนพูดกัดกรามน้ำตาคลอว่า
“ทำกับผมแบบนี้เหรอ...”
ส่วนเรื่องคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยไม่ยอมเซ็นรับสำนักงานแห่งใหม่ก็ยังเป็นความลับดำมืดของธนาคารแห่งนี้ เพราะเปิดทำการมาตั้งแต่ปี
2525 เงินทองก็จ่ายไปหมดแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเมื่อเวลาถูกพนักงานถาม ตามใจ
ขำภโต ก็บอกแต่เพียงว่าผมจะจัดการเรื่องนี้เอง ทีนี้ “ผม” ออกจากตำแหน่งไปแล้ว
ก็ต้องรอ “ผม” หรือผู้จัดการใหญ่คนใหม่มาจัดการเสียละมั้ง
จะเห็นได้ว่าปัญหาแต่ละอย่างของธนาคารกรุงไทย ที่รอผู้บริหารคนใหม่เข้าไปสางนั้น
มีอยู่มากมายหลายเรื่อง ก็ให้สงสัยว่าคณะกรรมการมัวทำอะไรกันอยู่ จึงไม่สามารถจัดการกับตามใจ
ขำภโต สมัยที่ยังเป็นผู้จัดการใหญ่อยู่ที่นี่
ข้อสรุปก็คือ คณะกรรมการของธนาคาร (อ่านเรื่อง “กรรมการแบงก์กรุงไทย”) ไม่ทันเกมของตามใจ เพราะมาจากภาคราชการเกือบทั้งหมด ที่พอจะรู้เรื่องบ้างอย่างเธียรชัย
ศรีวิจิตร ก็เป็นสุภาพบุรุษนักเรียนนอกจากอังกฤษเสียจนยอมหงอกับตามใจและพรรคพวกแทบทุกเรื่อง
หลายต่อหลายเรื่องที่กว่าคณะกรรมการจะรู้ ก็หลวมตัวเซ็นอนุมัติไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องเงินให้กู้เพราะลูกเล่นของผู้ที่เสนอเรื่องมาให้กู้นั้นมากมายเหลือเกิน
เช่นการปล่อยให้เงินกู้กับสถาบันการเงินของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็เป็นเพราะนโยบายของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ
ที่ต้องการให้แบงก์กรุงไทยให้กู้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหาเนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นเมื่อปลายปี
2526 เป็นต้นมา
ผลก็คือธนาคารกรุงไทยให้กู้กับกิจการสถาบันการเงินเฉพาะกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา
กลุ่มเดียวเป็นเงินถึง 2,596 ล้านบาท เวลาถูกกรรมการซักก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าตนทำตามนโยบายของทางการ
(ผู้จัดการฉบับที่ 8) ทั้งที่สถาบันการเงินที่มีปัญหาตอนนั้นมีแทบจะทุกกลุ่ม นอกจากไม่น่าสงสัยว่าทำไมกิจการสถาบันการเงินของสุระจึงอยู่รอดปลอดภัยอยู่ได้
ในขณะที่กลุ่มบริษัทเงินทุนอิสระอื่นๆ พังกันเป็นแถบๆ
พนักงานธนาคารกรุงไทยระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยว่า ได้มีการเสนอไปยังกระทรวงการคลังหลายครั้งให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการเสียใหม่เพราะมีแต่ข้าราชการที่ไม่ค่อยมีเวลามาบริหารแบงก์
ทั้งๆ คณะกรรมการมีความสำคัญมาก เช่น กำหนดนโยบาย ออกหลักเกณฑ์อนุมัติเงินกู้ในกรณีที่วงเงินสูง
แต่คนที่มาเกี่ยวข้องกลับไม่ค่อยรู้เรื่องในธุรกิจเอกชน
“ไม่ต้องอะไรมาก อย่างเรื่องการพิจารณาขึ้นเงินเดือน พอเห็นเงินเดือนผู้บริหารแบงก์กับเงินเดือนตัวเองก็เหี่ยวแห้งแล้ว เงินเดือนปลัดกระทรวงแค่
18,000 บาท เงินเดือนพนักงานธนาคารระดับกลางๆ ก็ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป
แล้วจะมีกะจิตกะใจอะไรมาทำงาน เวลาจะออกระเบียบอะไรก็เหมือนกัน ท่านชำนาญแต่ระเบียบราชการท่านก็ยกระเบียบราชการมาใช้
ทั้งๆ ที่ธุรกิจของธนาคารกับงานราชการมันคนละเรื่องกันเลย”
พนักงานคนเดิมเปิดเผยต่อไปว่าโครงสร้างของคณะกรรมการที่ดี ควรจะแบ่งเป็น
3 ส่วนคือจากกระทรวงการคลัง 1 ใน 3 จากผู้บริหารระดับสูง 1 ใน 3 และจากพนักงาน
1 ใน 3 หรือจะปรับเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้เรื่องธุรกิจเอกชนเข้ามาด้วย
“เขาก็ไม่ยอมเพราะนโยบายของกระทรวงการคลังต้องการเอาตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ
เข้ามาดูแล สรุปแล้วคณะกรรมการทั้งหมดก็เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังทั้งนั้น
เวลาประชุมทีมีเอกสารส่งไปให้ศึกษาก่อน ไม่ต้องอะไรมาก เปิดดูในรถให้รู้ว่าเขาจะพูดกันเรื่องอะไรมั่งก็ดีถมถืดแล้ว
แบบนี้จะมาควบคุมดูแลอะไรได้”
ถึงตอนนี้สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเห็นด้วยกับ
“ผู้จัดการ” บ้างไหมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงไทยนั้น ลำพังจะหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่เข้าไปแค่คน
เดียว เห็นจะทำอะไรไม่ได้ เพราะปัญหาที่นี่ไม่ใช่ขาดแคลน “ผู้บริหาร”
แต่ขาดแคลน “ทีมงาน” ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ
ใครเข้ามาตอนนี้แบบข้ามาคนเดียวมีแต่ตายกับตาย และต้องทำโดยเร็วเนื่องจากตอนนี้มีคนที่รักษาการแทนคือ
เธียรชัย ศรีวิจิตร กำลังจะทนแรงกดดันแทบไม่ไหวอยู่แล้ว คณะกรรมการก็รู้เต็มอก
ขืนช้าอาจจะต้องหากรรมการรองผู้จัดการใหญ่เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง