ชายฝั่งทะเลตะวันออกขุมทองของนักการตลาด

โดย จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ชายฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ชลบุรี จนถึงระยอง จุดเด่นๆ ของโครงการมี 3 จุด คือ

1) จุดที่แหลมฉบัง ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกสำหรับเรือใหญ่เข้ามาได้ และมีนิคม อุตสาหกรรมที่อยู่ติดกับท่าเรือ

วัตถุประสงค์ของจุดที่แหลมฉบังมี 2 ประการ คือ:-

1. เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเบาเพื่อการส่งออกเพราะแหลมฉบังเป็นทะเลปิด ถ้าทำเป็นอุตสาหกรรมหนักจะทำให้เกิดมลภาวะเป็นอันตรายต่อบริเวณนั้น แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเบาจะไม่ทำให้เกิดปัญหา

2. ให้เป็นประตูสำหรับการส่งออกและการนำเข้า ท่าเรือนำลึกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่คลอง เตยนี้มีปัญหาเรื่องความแออัด การขนส่งสินค้าจากต่างจังหวัดเข้ามายังท่าเรือ หรือการขนส่งสินค้าก็ตามไม่สามารถใช้สถานที่นี้เป็นฐานพัฒนาต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งสินค้าออกโดบเฉพาะ เพื่อว่าสินค้าที่มาจากต่างจังหวัดจะได้ส่งมาที่ท่าเรือนี้โดยตรงไม่ต้องผ่านท่าเรือคลองเตยทำให้เพิ่มความแออัดเข้าไปอีก

ความพร้อมของการสร้างท่าเรือแห่งนี้ ตอนนี้แหล่งเงินก็มีพร้อมแล้ว มีการเขียนรายละเอียดของโครงการ ภายใน 1 ปี ก็สามารถเริ่มประมูลการก่อสร้างได้แล้ว

3) จุดที่มาบตาพุด ประกอบด้วยท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรม 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากแก๊สและอุตสาหกรรมหนัก ปัญหาด้านมลภาวะจะไม่เกิดขึ้น เพราะทะเลตรงนี้เป็นลักษณะทะเลเปิด และสินค้าที่จะส่งออกและสั่งเข้าที่จุดนี้ จะเป็นประเภทอุตสาหกรรมหนัก

ขั้นตอนที่มาบตาพุดนี้จะเร็วกว่าแหลมฉบัง เพราะมีอุตสาหกรรมที่จะไปตั้งอยู่ที่นั่นแน่นอนอยู่แล้ว โรงแยกแก๊สก็เสร็จแล้ว โครงการปุ๋ยก็เริ่มก่อสร้าง และจะเสร็จปี 2530

โครงการทั้งที่แหลมฉบังและมาบตาพุดนี้คาดว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมและกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

4) จุดที่พัทยา ในอดีตพัทยาเคยมีการขัดแย้งในโครงการทำโซดาแอช เพราะพัทยาเป็น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถ้ามีโรงงานทำโซดาแอชกลัวว่าจะทำให้เกิดมลภาวะขึ้นจนกระทบถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ได้มีการวางแผนให้มีอุตสาหกรรมการส่งออกสอดคล้องไปกับการท่องเที่ยว คือพยายามฟื้นฟูทำให้ในการที่จะไปตั้งอุตสาหกรรมในแหล่งเหล่านั้น ถ้าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแล้วก็จะต้องมีพวกระดับผู้บริหารและผู้จัดการไปอยู่อาศัยเป็นออฟฟิศพวกนี้จะมีอำนาจการซื้อสูง จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซานั้นฟื้นฟูได้

สมมุติว่าโครงการทั้ง 3 จุดนี้สามารถปฏิบัติได้ผลแล้วจะเรียกได้ว่า เป็นขุมทองของนักการตลาดไหมนั้น?

สำหรับผมเองผมไม่ชอบสัญลักษณ์คำว่า ขุมทอง เพราะเหมือนกับว่าเป็นสถานที่ที่มีทองแล้วก็มีคนมาขุดทองเอาทองไปขายร่ำรวยกัน ใครมีทองก็ขุดเอาไปขาย

ผมมีความคิดว่า ไม่ใช่แนวความคิดที่นักการตลาดจะมองเป็นอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ไม่ต้องอาศัยความสามารถของนักการตลาดก็ได้ อย่างกรณีของประเทศไนจีเรียที่มีขุมทองเป็นน้ำมัน เมื่อค้นพบน้ำมันก็มีการขุดน้ำมันไปขาย ต่อมาเมื่อน้ำมันราคาตก ตอนนี้ความร่ำรวยที่ได้จากขุมทองน้ำมันในอดีตกำลังจะกลายเป็นหอกทิ่มแทง เพราะแต่เดิมคนเคยผลิตเป็นคนขายผลิตสินค้าเกษตรเป็น คนเคยผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็น พอมีทองแล้วก็เลยผลิตอะไรที่ง่ายๆ หาวิธีง่ายๆ ที่จะขายของเพราะอำนาจการซื้อขายยังมีมาก พอขุมทองหมดไปเพราะสถานการณ์น้ำมันราคาตกขายไม่ออก คนของประเทศก็ลืมไปแล้วว่า การผลิตเป็นอย่างไร? ผลิตสินค้าเกษตรไม่เป็นแล้ว ดังนั้น ความรวยเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นหอกทิ่มแทงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

ผมจึงชอบใจมากที่ท่านนายกสมาคมพูดว่า การที่คิดว่าเป็นขุมทองนี้มันอาจมีศักยภาพเป็นแหล่งรายได้

แต่มันไม่ใช่ขุมทอง

มันเป็นแหล่งที่นักการตลาดจะต้องเข้าไปช่วยสร้างให้มันเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ ไปสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาหรือไปทำอะไรที่เป็นเรื่องของการทำงานที่ให้คุณค่าถาวร

มันจะเป็นความคิดของคนที่ไปร่วมกันก่อแรงสร้างสรรค์ผลผลิตขึ้นมาแข่งกับตลาดโลก แล้วไปใช้ความสามารถของนักการตลาดในการขาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่า มีคุณค่ากว่าการขุดทองแล้วส่งไปขายเฉยๆ แล้วเมื่อวันหนึ่งมันหมดไปแล้วหรือสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยเราก็ต้องมาจนอย่างเก่า

ดังนั้น ผมอยากจะเรียนความเห็นว่า ในแง่ของนักการตลาดนั้นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสไปตั้งในที่นั้น ตอนนี้โอกาสจะดีกว่าเดิมที่ตั้งอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ ในแง่ของสาธารณูปการต่างๆ ถนนหนทาง โทรศัพท์มีบ้าง ไม่มีบ้าง น้ำไฟคงจะมีพร้อมพอสมควร แต่อัตราค่าไฟเป็นอย่างไรหลายคนก็คงทราบกันดีอยู่ มันก็อาจจะมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่ในแง่ของต้นทุนนั้นนับวันคงจะต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความแออัด เนื่องจากความห่างไกลของตัวโครงการ ถ้ามองเป็นกิโลเมตรจากโรงงานไปถึงท่าเรือเป็นระยะทางไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่ถ้ามองในแง่ของต้นทุนที่ต้องใช้ในการที่ต้องรอเวลาในการขนส่ง หรือความแออัดหรือความสูญเสียของรถยนต์ ความแออัดต่างๆ ผมคิดว่านับวันจะเป็นต้นทุนที่ต่อให้นักการตลาดที่เก่งก็ตาม ถ้าต้นทุนแพงก็สู้ต่างประเทศไม่ได้

เมื่อต้นทุนมันแพงเกิดความล่าช้าในการขนส่ง หรือเวลาไปลงเรือ แล้วมันมีเซอร์ชาร์จมากขึ้นๆ ทุกที เพราะความแออัดนี่ก็คงไม่ไหว แต่ถ้าไปอยู่ที่อี๊สเทิร์นซีบอร์ดแล้ว เรามี โอ.แอล. เข้าไปตั้งอยู่ในท่าเรือเลย

ใครที่ต้องการที่จะสั่งเข้าวัตถุดิบก็สามารถนำเข้ามาได้เลยแล้วก็ส่งเข้าโรงงานที่อยู่ติดกันได้เลย การส่งสินค้าออกไปก็สามารถที่ขนจากโรงงานที่อยู่ติดๆ กันกับท่าเรือนั่นเอง การบริหารงานของรัฐซึ่งอันนี้ผมถือว่ามีส่วนอย่างมากหรือเหมือนกัน มีคนบ่นกันมากเหมือนกันว่าวิธีการทางด้านการส่งออกและการนำเข้ามันยุ่งยากสลับซับซ้อน ภาระในการที่จะต้องนำไปจ่ายภาษีก่อนแล้วมาขอชดเชยทีหลังต่างๆ เรารู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญในแง่การแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่งในขณะที่โรงงานของเราตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือเป็นสิบ หรือเป็นร้อยกิโลเมตรจากท่าเรือเรื่องระเบียบของทางราชการที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ จะต้องมีมากขึ้น แต่ถ้าโรงงานตั้งติดต่อกับท่าเรือแล้วโอกาสที่จะบริหารเพื่อให้เกิดความสะดวกแล้วไม่เป็นภาระในเรื่องต้นทุน

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนในที่นี้ก็คือว่า เพื่อให้นักการตลาดจะได้ใช้ความสามารถในการขายได้อย่างเต็มที่นั้นต้นทุนจะต้องอยู่ในฐานะที่ไปแข่งกับเขาได้ แล้วการสร้างอีสเทิร์นซีบอร์ดโดยเฉพาะที่แหลมฉบังซึ่งจะเป็นสิ่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกนั้น ถึงแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีบางส่วนที่จะต้องส่งเข้ามาขายยังภายในประเทศก็ตาม ต้นทุนจะต่ำหน่อยถ้าจะมาตั้งในที่นี้ อันนี้เป็นความหวังที่ผมเชื่อว่าเราจะสามารถทำให้ได้ ในแง่ของต้นทุนของตัวโรงงานเอง หรือต้นทุนที่สืบเนื่องมาจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารของเรา

เมื่อเริ่มต้นจากจุดนี้แล้วบวกกับความได้เปรียบของความสามารถของคนงานไทยซึ่งได้พิสูจน์แล้วในช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการส่งออก สิ่งนี้นักการตลาดก็คงจะใช้ความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการที่จะไปขายสินค้านี้ไปยังต่างประเทศหรือภายในประเทศก็ตาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมได้พูดไปแล้วอาจจะไม่ใช่ตัวของขุมทองของนักการตลาดอย่างแท้จริง แต่มันให้โอกาสที่นักการตลาดที่จะมีบทบาทเต็มที่ในการขายสินค้าให้มากขึ้นและให้มีกำไรให้มากที่สุดอันนี้เป็นด้านแรก

ในด้านที่สองนั้นในขณะที่มีโรงงานเกิดขึ้น มีกิจกรรมเกิดขึ้น มันจะเริ่มต้นตั้งแต่ไม่ต้องไปรอสี่ปี มันจะเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไปเลยแล้วก็จะขยายไปเรื่อยๆ เริ่มต้นจากการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ต่อไปโรงงานจะเกิดขึ้น เมื่อโรงงานเกิดขึ้นแล้วคนก็จะเข้าไปก่อสร้าง คนจะต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เหล่านี้ แม้แต่ไกลถ้ามีประตูทางอกสำหรับสินค้าที่มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งออกที่จะเลือกใช้ได้นอกเหนือจากกรุงเทพฯ แล้ว ก็คงจะไปสร้างกิจกรรมนอกเหนือจากพื้นที่เหล่านี้เองทั้งที่อื่นด้วย

อันนี้ก็คงจะสร้างอำนาจการซื้อขึ้นมาในบริเวณพื้นที่เหล่านี้พอสมควร มีความต้องการเกิดขึ้นมาในพื้นที่เหล่านี้พอสมควร ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่นักการตลาดโดยตรงที่ต้องไปนั่งเล็งดูว่อะไรเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่อง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สินค้าบริการต่างๆ อะไรที่จะเกิดขึ้นมาในที่ต่างๆ เหล่านี้บ้าง บริษัทหรือผู้ที่ทำงานด้านตลาดก็คงคอยดูแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้และคอยวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่จะเป็นคนแรกที่ก้าวไปใช้ประโยชน์เหล่านี้ แล้วในขณะเดียวกันก็เป็นการสนองความต้องการด้วย ผมถือว่าเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เมื่อมีสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการพร้อมแล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนานั้นดีขึ้น ถ้าสมมุติว่าเข้าไปแล้วสิ่งโน้นก็ไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มี ก็ทำให้จุดดึงดูดของพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกลดน้อยลงไป แต่เมื่อพวกเขาเข้าไปแล้วสะดวกสบาย มีสิ่งที่เขาต้องการพร้อมอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนอยากเข้าไปในพื้นที่นี้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องประสานงานกับนักการตลาดต่างๆ ที่จะคอยบอกว่า มีคนเข้าไปแล้วนะ โครงการนี้จะเริ่มแล้ว และพยายามตอบสนองสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ต่อบุคคลเหล่านี้

ผมอยากจะฝากสิ่งหนึ่งให้นักการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันออกและเกี่ยวข้องกับการสร้างตลาดทั่วๆ ไป ในฐานะที่ผมมาจากภาครัฐบาลและจำเป็นต้องคิดเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งการพัฒนาชายฝั่งด้านตะวันออกด้วย ผมมีความคิดว่า นักการตลาดคนไทยมีความเก่งเกินไป บางทีก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาเหมือนกันคือถ้าอยากรู้ว่าในใจของผู้บริโภคเป็นอย่างไร บางทีท่านไปสร้างความต้องการขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วมาก แล้วบางทีก็เป็นปัญหาในด้านส่วนรวมเหมือนกัน ซึ่งผมอยากจะเรียนฝากเอาไว้

ในขณะนี้หลายท่านคงจะมีความคิดว่ามันฝืดเคืองมาก สิ่งที่มีปัญหามาโดยตลอดเพราะตัวขีดจำกัดของการสร้างอำนาจซื้อหรือการสร้างอำนาจขายให้เกิดขึ้นได้ที่เรามีปัญหามาโดยตลอด ก็คือ ถ้าอำนาจการซื้อของเราไหลไปสู่ต่างประเทศเมื่อนั้นเราจะมีปัญหา คือเราไปสร้างอำนาจการซื้อเราไปสร้างกลไกของการที่จะเข้าไปกระตุ้นการซื้อของประชาชนหรือการขยายตัวของกิจการที่ซื้อบริการหรือซื้อสิ่งของต่างๆ

ตราบใดที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่มีการผลิตขึ้นมาภายในประเทศ เมื่อนั้นผมคิดว่าจะเกิดผลดีทั้งสิ้น แต่ถ้าเราซื้อของหรือบริการที่สมมุติถ้าร้อยบาทนี่แปดสิบมันไปต่างประเทศเสียแล้ว ถ้าเราไปกระตุ้นอำนาจการซื้อประเภทนี้แล้วอันนี้หมายถึงว่า ประเทศมีการใช้จ่ายเกินตัว แล้วก็อาจมีปัญหาด้านดุลการชำระเงินซึ่งนำไปสู่เสถียรภาพของค่าของเงินต่างๆ

ตัวนี้ผมจะฝากความคิดไว้ว่า ถ้าท่านนักการตลาดจะช่วยผ่อนคลายในปัญหานี้คือว่า ช่วยคิดหรือพัฒนาสิ่งที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ จะให้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่ได้แต่ขอว่าให้มากๆ หน่อย ให้ของสักร้อยบาทที่ผลิตออกมาไปสู่ของที่ผลิตภายในประเทศเสีย 80 สิ่งนี้คงจะช่วยได้มากและคงจะทำให้รัฐบาลไม่กลัวในการที่จะมีมาตรการในการกระตุ้นให้คนมีอำนาจการซื้อ

ที่แล้วมาในอดีตนั้นพอมีการกระตุ้นทีไรเงินจะต้องไหลออกไปนอกประเทศเสมอ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากสิ่งนี้เอาไว้เหมือนกันว่า แม้ในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกนี่ ถ้าเราจะสามารถใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุดก็อยากจะให้ของหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปขายนั้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากการพัฒนาชายฝั่งด้านตะวันออกหรือที่อื่นๆ ก็ตามที่รายได้เพิ่มขึ้นจากของที่ผลิตขึ้นมาในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่

เดิมผมเคยคิดว่า คนไทยที่บอกว่าเงินทองไม่ค่อยจะพอใช้แต่ทำไมยังมีร้านอาหารเต็มอยู่ทุกที่ ผมรู้สึกว่าเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ประหยัด แต่ผมมาคิดในตอนหลังว่า ร้านอาหารนี่อย่างน้อยที่สุดแล้วมันก็ไม่เสียหายในแง่ของอำนาจการซื้อขายที่ไปกระตุ้น ร้านอาหารที่ไม่ใช่คอฟฟี่ช็อฟนั้นเป็นการสร้างรายได้ให้กับภายในประเทศมากที่สุด เพราะร้านอาหารในบ้านเราดูแล้วนำของจากต่างประเทศมาใช้น้อยมาก เพราะฉะนั้นแนวความคิดเก่าของผมที่ว่าการไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นการไม่ประหยัดนั้นก็ลดน้อยลงมาก เพราะฉะนั้นจึงอยากจะฝากเรื่องนี้แก่นักการตลาดด้วย

เทคนิคการตลาดที่จะไปสร้างความต้องการในลักษณะที่เกินกว่าอำนาจการซื้อโดยเฉพาะในชนบทนี่ผมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไปเห็นมาว่า ในชนบทหลายๆ แห่งนี่ นักการตลาดเก่งเหลือเกินบุกเข้าไปถึงในหมู่บ้านแทบทุกแห่งหมดแล้ว ก็มีการซื้อผ่อนส่งตั้งมากมาย MODEL ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากทีวี.ขาว-ดำ มาเป็นสี มีคนเล่าให้ฟังว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบางปีธุรกิจราคาสินค้าเกษตรก็ดีชาวบ้านก็คิดว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เดิมมีทีวีสี ขาว-ดำก็ดูไม่ได้แล้ว เพราะข้างบ้านมีทีวีสีจึงต้องผ่อนส่งทีวีสีบ้าง

แต่การเกษตรก็ไม่ได้ดีเสมอไป บางปีก็ลำบาก ปรากฏว่าบ้านหนึ่งมีทีวีสีแต่เสียแล้ว ในบ้านนอกก็ไม่มีโรงซ่อม เขาก็กลัวถ้ามีแขกมาแล้วเปิดให้แขกดูไม่ได้ เพราะมันเสียแขกก็ไม่รู้ว่าทีวีที่บ้านเขาเป็นทีวีสี ดังนั้น เจ้าของบ้านจึงต้องปิดป้ายไว้ที่ทีวีว่า “ทีวีสีเครื่องนี้เสีย”

เรื่องนี้ก็ดีตรงที่สนองความต้องการของเขา แต่ขอกรุณาอย่าไปกระตุ้นให้เกิดความต้องการของเขาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่มีราคาแพงๆ และมีชิ้นส่วนที่มาจากต่างประเทศอยู่มาก อันนี้ขอเรียนฝากไว้ด้วย ไม่ใช่หมายความว่า จะไม่ให้ไปกระตุ้นเลยแต่ขอให้อยู่ในอำนาจการซื้อขายของเขาด้วย แต่ถ้าเป็นของที่ผลิตในประเทศแล้วผมคิดว่าเท่าไหร่ก็ไม่ว่า

เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราพูดถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด เราพูดถึงความแออัดของกรุงเทพฯ เราพูดถึงว่า มีที่ไหนบ้าง ที่เราจะไปสร้างศูนย์กลางของการพัฒนาขึ้นมาใหม่ แล้วก็มีการลงความเห็นว่า ชายฝั่งทะเลตะวันออกนี่มีความเหมาะสม พูดมา 10 กว่าปีแล้ว เราก็เถียงกันไปมาแต่ผมคิดว่า เรามาถึงจุดแล้วที่ว่าเราเลิกเถียงกันแล้วและเราก็มีแผนการที่แน่นอน มีการให้ประมูลโครงการ มีการวางแผนที่จะอำนวยความสะดวกในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดเฉยๆ นี่คงจะหมดไปแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่มีส่วนในการวางแผนคือสภาพัฒนานั้น นอกเหนือจากการที่จะชี้ให้นักการตลาดได้เห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในภาคของเอกชนจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชายฝั่งทะเลตะวันออกสำเร็จ พูดง่ายๆ คือโครงการโทรศัพท์ก็ตาม การใช้ไฟฟ้าก็ตาม หรือการนิคมอุตสาหกรรมก็ตาม หรือการท่าเรือก็ตาม จะต้องขอให้มีนักการตลาดมาช่วยเหมือนกัน

แบบรัฐวิสาหกิจที่บอกว่า เรามีกิจการของเราขึ้นมาแล้วคนก็ต้องมาใช้ของเราเองนั้นสิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดความสูญเปล่าก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องการให้นักการตลาดมาช่วยขายบริการของเรา เพื่อว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วเราจะประชาสัมพันธ์ เราจะไปวางแผนให้สอดคล้องกับภาคเอกชนที่จะมาใช้บริการต่างๆ เหล่านี้นักการตลาดก็คือผู้ที่จะทำให้คนที่จะซื้อเข้ามาเข้าใจกันและทำให้เกิดความสูญเปล่าน้อยที่สุดจากการสวนทางกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ เพราะฉะนั้นเราก็มีสำนึกว่าในช่วงการวางแผน 3-4 ปีข้างหน้านอกเหนือที่ผมได้เรียนว่าท่านจะใช้โอกาสนี้ในภาคเอกชนแล้ว เราก็คิดว่าเราต้องระดมหลายๆ คนมาช่วยด้านภาครัฐเหมือนกันว่าเราต้องมีนักการตลาดที่เป็นมืออาชีพเพื่อมาขายบริการต่างๆ เหล่านี้ให้กับเอกชนให้เกิดความสูญเปล่าน้อยที่สุด

การที่เราลงทุนเป็นร้อยๆ ล้านแล้วไม่มีคนมาใช้สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่สุด เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่า ถ้าท่านเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วก็คงจะเป็นขุมทอง แต่ไม่ใช่ขุมทองประเภทที่จะขุดเอามาขายเฉยๆ แต่ก็คงจะต้องไปออกแรงใช้ความคิดในการสร้างสรรค์ หรือใช้เทคนิคในฐานะที่ท่านเป็นมืออาชีพมาทำงานร่วมกันเพื่อจะให้เกิดประโยชน์นอกจากตัวท่านเองและประเทศชาติด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.