ของเด็กเล่นอุตสาหกรรมเคร่งเครียดบนความสนุกสนาน


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ของเด็กเล่นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่คนไทยทำกันมานานแล้ว

มีผู้คะเนว่าน่าจะมีคนไทยผลิตของเด็กเล่นกันอย่างจริงจังไม่น้อยกว่า 200 โรงงาน หรืออาจจะมากกว่านั้น กระจายอยู่ตามห้องแถวขนาดไม่กี่คูหาทั้งในเขตเมืองและแถบชานเมือง

ของเด็กเล่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อขายในประเทศ เป็นสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาถูก วางขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด

แต่ถ้าเป็นของเด็กเล่นที่มีคุณภาพสูงราคาแพง ก็จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ประเทศไทยตกอยู่ในผู้นำเข้าของเด็กเล่นมานานแล้ว โดยมีผู้นำเข้ารายใหญ่ที่รู้จักกันดีอยู่ 2 รายคือ ศรีไทยโปรโมชั่น และ ก.เจริญ

ศรีไทยโปรโมชั่น เป็นบริษัทหนึ่งในเครือบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสุขภัณฑ์เมลามีนและพลาสติกรายใหญ่ของไทย

ธุรกิจเด็กเล่นของศรีไทยโปรโมชั่นนั้น จะเป็นการออกตระเวนดูของเด็กเล่นที่ไต้หวันและฮ่องกง จากนั้นก็เลือกซื้อหรือเช่าแม่พิมพ์ของเด็กเล่น ซึ่งมั่นใจว่าจะขายได้ดีเข้ามาผลิตในประเทศ โดยการจ้างโรงงานเล็กๆ เป็นผู้ผลิต

ก็ถือเป็นการนำเข้ารูปแบบหนึ่ง เพียงแต่แทนที่จะนำเข้าสำเร็จรูปก็นำเข้าแม่พิมพ์แทน

ส่วน ก.เจริญ นั้น นำเข้าของเด็กเล่นจากญี่ปุ่น ฮ่องกงและไต้หวัน และมีกิจการผลิตของเด็กเล่นจำหน่ายในประเทศไทยเองอีกด้วยคือมีบริษัทมงกุฎทองผลิตภัณฑ์และบริษัทไทยสุวรรณภัณฑ์อยู่ในเครือ

จากประสบการณ์ในฐานะผู้นำเข้า ผนวกกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอนับแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ทั้งศรีไทยโปรโมชั่นและ ก.เจริญ ได้แปรสภาพตัวเองเป็นผู้ผลิตของเด็กเล่นที่มีคุณภาพสูงและเริ่มส่งออกของเด็กเล่นไปจำหน่ายต่างประเทศ

จุดนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมของเด็กเล่นของไทยเริ่มเข้าสู่ทิศทางใหม่ เพราะของเด็กเล่นซึ่งเป็นสินค้าที่ใครต่อใครมองข้ามมานานกำลังจะกลายเป็นสินค้าที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศอย่างน่าพออกพอใจมากยิ่งขึ้นทุกวัน

แม้แต่บีโอไอเองก็ดูเหมือนว่าจะให้การยอมรับในข้อนี้!

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้ประกาศให้การส่งเสริมผู้ผลิตของเด็กเล่นจริงๆ แล้วก็ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2520 โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องลงทุนด้วยเงินไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและเงินหมุนเวียนและต้องส่งออกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่ให้ก็คือ :-

- จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้า
และจะได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ใช้ในประเทศ

- อนุญาตให้หักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 5% ของรายได้ที่เพิ่ม
ขึ้นจากปีก่อนจากการส่งออกโดยไม่รวมค่าประกัน ค่าขนส่ง

- อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าประเทศและทำงานได้

- ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักร

“เดิมทีเราก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้นัก แต่เราจัดให้ของเด็กเล่นเป็นสินค้าที่ได้รับการส่งเสริมอยู่ในหมวดเดียวกับเครื่องกีฬาและเครื่องดนตรี” สถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการ บีโอไอพูดกับ “ผู้จัดการ”

ศรีไทยโปรโมชั่นเป็นกลุ่มแรกที่แสดงตัวสนใจมาตรการส่งเสริมของ บีโอไอ

“ทางเราไปคุยกับ บีโอไอ เพราะเรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอยู่ก่อนแล้ว พอดีทราบว่าเขามีการส่งเสริมอันนี้ ก็เลยชักชวนเพื่อนชาวฮ่องกงซึ่งติดต่อกันอยู่ให้เข้ามาร่วมลงทุน” อดีตผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของกลุ่มศรีไทยโปรโมชั่นเปิดเผยให้ฟัง

และจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานผลิตของเด็กเล่นเพื่อส่งออก

บริษัทไทยทอย จำกัด

ไทยทอย ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2524 มีทุนจดทะเบียนในขณะนี้ 20 ล้านบาท เป็นบริษัทที่ร่วมทุนกันระหว่างสุมิตร เลิศสุมิตรกุล สนั่น อังอุบลกุล จากกลุ่มศรีไทยโปรโมชั่น กับลีโทเช็ง นักธุรกิจชาวฮ่องกงซึ่งอยู่ในวงการผลิตของเด็กเล่นมานานหลายปี

ไทยทอยเป็นบริษัทแรกที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าเป็นผู้ส่งออกของเล่นรายใหญ่ที่มีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามามากที่สุด

จากการขยับตัวของศรีไทยโปรโมชั่นนี้เอง ที่ทำให้ฝ่าย ก.เจริญ คู่แข่งสำคัญขยับตัวตามบ้าง

ก.เจริญ ได้ตั้งบริษัทอิมพีเรียลไทยทอยขึ้นเพื่อผลิตของเด็กเล่นส่งออกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2525 มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 22 ล้านบาท ผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยคือกลุ่ม “กิจเลิศไพโรจน์” เจ้าของ ก.เจริญ และมีคนฮ่องกงร่วมถือหุ้นด้วยเช่นกัน

“เราจำเป็นต้องพึ่งฮ่องกงเพราะเราไม่มีความรู้และประสบการณ์การส่งออกของเด็กเล่น เราจึงให้หุ้นส่วนของเราที่ฮ่องกงเป็นเอเย่นต์รับติดต่อลูกค้า เขาจะช่วยติดต่อลูกค้า รับออร์เดอร์มาให้เราโดยเราให้ค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าตอบแทน” ประสงค์ ศิริวัจนางกูร ผู้จัดการทั่วไปของไทยทอยกล่าวกับ “ผู้จัดการ”

“เมื่อ20 กว่าปีก่อน ผมและพี่น้องสั่งของเด็กเล่นเข้ามาขาย อาศัยว่าขายมานานก็เลยคิดทำเองขึ้นมาบ้าง มีอยู่ 2 โรงงานผลิตขายเฉพาะในประเทศ ตั้งขึ้นมาเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ทีนี้พอทราบว่า บีโอไอเขาส่งเสริม เรามองเห็นอนาคตแล้วว่า ยังไปได้อีกไกล เทคนิคบางอย่างก็ได้อาศัยจากญี่ปุ่นและฮ่องกงที่เราติดต่อค้าขายกันมานานช่วยแนะนำให้ หุ้นส่วนของเราจะช่วยหาตลาดและซื้ออุปกรณ์ให้ ถ้าเรามีปัญหาเขาก็จะแนะนำมาและให้เราผลิตสินค้าบางอย่างของเขาด้วย” ข้างฝ่ายสมชัย กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการอิมพีเรียลทอยก็เล่าให้ฟังบ้าง

การลงทุนร่วมของไทยและฮ่องกงเป็นไปในลักษณะของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าโดยแท้ เพราะในขณะที่เราต้องอาศัยเทคโนโลยีและการจัดการทางตลาดจากฮ่องกง ฮ่องกงเองก็ประสบกับความไม่มั่นใจเสถียรภาพในประเทศของตนจนต้องมองหาแหล่งผลิตใหม่

“ฮ่องกงมีเนื้อที่น้อยและโรงงานดูจะเล็กลงทุกที การขยายโรงงานเป็นไปได้ยาก เขาจึงกลับไปจับอุตสาหกรรมที่ใช้เนื้อที่ดินไม่มากแต่ทำเงินมหาศาลให้แก่เขาแทน ก็เริ่มเปลี่ยนโรงงานไปผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ค่าแรงของคนงานก็ต้องสูงไปเป็นเงาตามตัวไปด้วย คนงานที่ผลิตของเด็กเล่นก็หันไปหาโรงงานอิเล็กทรอนิกส์หมด อุตสาหกรรมของเด็กเล่นไม่สามารถจ้างค่าแรงแพงๆ ได้ จึงต้องจ้างผู้สูงอายุ สาเหตุพวกนี้ทำให้เขามาร่วมลงทุนกับเรา” ประสงค์ ศิริวัจนางกูร แห่งไทยทอยเล่าสาเหตุของการร่วมลงทุนกับฮ่องกงให้ฟัง

ประเทศไทยเป็นแหล่งที่คนฮ่องกงให้ความสนใจอย่างมาก ประการแรกค่าแรงในบ้านเราถูกกว่าและยังมีอยู่มากมาย ประการที่สอง ค่าเช่าที่ทำให้โรงงานราคาไม่แพง และยังสามารถขยายไปได้อีกมาก ประการที่สาม อุตสาหกรรมของเด็กเล่นของเราได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล และประการที่สี่ ของเด็กเล่นที่เราส่งออกได้รับยกเว้นภาษีขาเข้าจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญต่างๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ ในขณะที่ของเด็กเล่นที่ส่งออกจากฮ่องกงจะไม่ได้รับสิทธินี้

สำหรับประเทศไทยในย่านเอเชียด้วยกันถ้าจะมองให้ดีประเทศไทยเป็นแหล่งที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้มากที่สุด จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เปรียบเทียบกับไต้หวันที่มีสภาพเป็นเกาะทำให้จำกัดต่อการลงทุนและค่าแรงสูง เพราะไต้หวันหันไปสนใจในการผลิตคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ส่วนสิงคโปร์นอกจากมีปัญหาเรื่องพื้นที่เหมือนกันแล้ว แรงงานในประเทศสิงคโปร์ก็ยังไม่เพียงพอต้องนำเข้าแรงงานมาจากมาเลเซียและไทยช่วยเสริม และที่สำคัญรัฐบาลสิงคโปร์ไม่มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงใช้แรงงานน้อยเท่านั้นที่รัฐบาลเขาสนับสนุน

ในแง่ของคู่แข่งแล้ว ประเทศที่น่ากลัวที่สุดเห็นจะเป็นจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนแดงนี่เอง เพราะแรงงานของเขาถูก รัฐบาลก็สนับสนุน นอกจากนั้นฮ่องกงและจีนแดงยังมีพื้นที่ใกล้กัน มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนฮ่องกง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังได้เปรียบอยู่บ้างเพราะเศรษฐกิจของฮ่องกงเคยเกิดอาการช็อกมาแล้ว เมื่อมีข่าวว่าอังกฤษใกล้จะหมดสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงจากจีนแดง นี่คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ชี้ให้เห็นได้ว่าในส่วนลึกแล้ว นายทุนชาวฮ่องกงก็ยังกลัวจีนอยู่วันยังค่ำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตของเด็กเล่นส่งออกซึ่งขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอจำนวน 15 แห่ง มีบางแห่ง เช่น จัมโบ้ทอยฯ หรือเลิศสินอุตสาหกรรม ประสบปัญหาหยุดการผลิต ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมทุน และอีกสาเหตุหนึ่งคือไม่มีออร์เดอร์จากลูกค้า ซึ่งโรงงานที่ประสบปัญหาอย่างหลังนี้มักจะประสบกับโรงงานที่ไม่ได้ร่วมทุนกับต่างประเทศ

“ฮ่องกงเป็นหุ้นส่วนที่หาตลาดให้กับเรา เราเป็นเพียงฝ่ายผลิตทำตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าจะออกแบบมาให้ อย่างตอนนี้เราก็เป็นเพียงรับจ้างทำ แข่งกับที่อื่นในเรื่องราคาเท่านั้น” ประสงค์เล่าถึงความช่วยเหลือจากผู้ร่วมทุนชาวฮ่องกง

“หุ้นส่วนฮ่องกงที่ร่วมกับเราทำให้เราหาตลาดได้ง่ายขึ้น บางทีลูกค้ายังไม่เชื่อใจเราอย่างสหรัฐฯ เป็นต้น ต้องอาศัยเครดิตฮ่องกงการันตีสินค้าให้เรา” สมชัยเล่าประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นมีส่วนช่วย

ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกของเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งญี่ปุ่นต้องเสียตำแหน่งนี้ให้แก่ฮ่องกงไปเพียงเพราะเฉือนกันด้วยค่าแรงเท่านั้น

ว่ากันว่าฮ่องกงมีโรงงานผลิตของเด็กเล่นมากกว่า 2,000 โรงงาน ไม่นับโรงงานที่ผลิตอุปกรณ์ป้อนให้กับโรงงานผลิตของเด็กเล่น ซึ่งอีกไม่รู้เท่าไหร่

ตลาดส่งออกที่ฮ่องกงส่งของเด็กเล่นเข้าไปมากที่สุดได้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าของเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นข่าวดาวเทียมในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาส มักจะปรากฏภาพข่าวคนเข้าแถวจองคิวเข้าชื่อ สั่งซื้อของเด็กเล่นจากบริษัทใหญ่ๆ ที่จำหน่ายของเด็กเล่นเป็นประจำทุกปี สินค้าที่มี hot-sell มากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ Cabbage Patch Kids (บ้านเราเรียกว่า “ตุ๊กตาไร่กะหล่ำ”) ซึ่งถูกแนะนำเข้าสู่สายตาสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1983 จาก Coleco Industries หรือจะเป็น Mr. Potato Heads ของ Hasbro Industries หรือจะเป็น Kenner Product̕s Care Bears หรือ Stawberry Shotcake (ที่มีกลิ่นตามชื่อของมันรวมทั้ง Apple Dumplin̕ และ Raspberry Tart̕) ที่ทั้ง Care Bears และ Strawberry Shortcake ได้รับการdevelop โดย American Greeting Corp. (Kenner Products เป็นส่วนหนึ่งของ General Mill Toy Group) ตั้งแต่หนังเรื่อง Star Wars เปิดฉายเมื่อเดือน พ.ค. ปี1977 Kenner สามารถดึงเงินจำนวนมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีทีเดียวไม่ว่าจะเป็นแอ็คชั่นต่างๆ ของ Luke̕s Skywalker, Darth Vader, Yoda หรือตัวอื่นๆ อีก และดูเหมือนที่จะขาดไปเสียไม่ได้คือ Luke's Jedi knight Laser Pistal หรือจะเป็นตุ๊กตา Barbie ซึ่ง Mattel Toys ได้ผลิตสู่ตลาดเมื่อปี 1959 และทยอยตามมาด้วย boyfriend ของเธอที่ชื่อ Ken หรือทั้ง family ของ Barbie อีกมากมายซึ่งเครื่องหมายการค้า (Trade mark) ของตุ๊กตาเหล่านี้เป็น a popular license ทีเดียว การแย่งลิขสิทธิ์ของเด็กเล่นตามแบบตัวแสดงในภาพยนตร์ หรือ TV show ว่ากันว่าอัตราความล้มเหลวค่อนข้างสูงและมีราคาแพงมากทีเดียว แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยอมเสี่ยงเพราะหากประสบผลสำเร็จได้รับความนิยมขึ้นมาเมื่อไหร่นั่นย่อมหมายถึงเงินจำนวนมหาศาล

โดยปกติเมื่อบริษัทขายของเด็กเล่นของสหรัฐฯ นำสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว เขาต้องรีบหาสินค้าตัวใหม่เพื่อจะนำออกขายปีหน้าทันที ทั้งนี้เขาจะส่งตัวแทนออกไปสำรวจวิจัยนำผลออกมาสรุปพิจารณากันอีกทีว่าจะออกอะไรมา เมื่อตกลงได้ก็จะนำ concept ที่ได้ให้วิศวกรของบริษัทสร้างขึ้นมาแล้วนำไปสอบถามความต้องการของลูกค้าประจำ ได้ตัวเลขที่น่าพอใจก็จะหาผู้ผลิตคือจะผลิตที่ไหนได้ถูก ถ้าเป็นชนิดที่ต้องใช้แรงงานมากก็จะหันมาทางเอเชียที่มีค่าแรงถูก

การติดต่อเจรจาในการผลิตของเด็กเล่นชิ้นหนึ่งๆ ไม่ใช่ของง่าย เพราะมักจะมีปัญหาต้องคอยแก้ไขอยู่ตลอดระหว่างเจ้าของออร์เดอร์กับผู้ผลิต การที่จะบินไปบินมาก็เป็นการสิ้นเปลืองค่าเครื่องบิน ทางบริษัทขายของเด็กเล่นของสหรัฐฯ ก็เลยมาตั้ง branch office ขึ้นที่ฮ่องกง เพราะฉะนั้นฮ่องกงจึงกลายเป็น Internation Market ไปโดยปริยาย

ประสงค์ ผู้จัดการทั่วไปไทยทอย กล่าวว่า “เราต้องไปตั้งสำนักงานขายของเราที่ฮ่องกง เพราะบริษัทขายของเด็กเล่นของสหรัฐฯ คงไม่เดินทางมาดูโรงงานของเราเพียง 2-3 โรงงานแล้วมาตั้งออฟฟิศที่เมืองไทยนี้หรอก”

“ผมหวังว่าจะมีโรงงานผลิตของเด็กเล่นตั้งขึ้นมาอีกมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนที่เราต้องสั่งเข้ามาจะได้เกิดขึ้น แล้วยังจะทำให้สามารถดันต้นทุนการผลิตให้ถูกลงกว่านี้ได้” ประสงค์กล่าวต่อ

ส่วนสมชัยกล่าวว่า “ผมว่าถ้ามีโรงงานหลายๆ แห่ง ลูกค้าก็จะมีกำลังใจเดินทางมาซื้อสินค้าของเราเพราะเขาคงไม่เสียเวลามาหาเราเพียง 2-3 โรงงาน ถ้าเขามาดูกำลังการผลิตของเราไม่พอกับจำนวนความต้องการสั่งซื้อของเขาก็ต้องไปหาฮ่องกงซึ่งสามารถรับออร์เดอร์ใหญ่ๆ ของเขาได้หมด”

นี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ดีกว่าว่าทำไมเราจึงต้องพึ่งฮ่องกงอยู่ เพราะสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของเด็กเล่นของไทยแล้ว ความไม่มีประสบการณ์ต่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก, ไม่รู้ตลาดกว้างขวางเท่าฮ่องกง, ไม่มีอุตสาหกรรมที่มารองรับเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและการมีผู้ผลิตเพื่อส่งออกอย่างจริงจังเพียงไม่กี่ราย ทำให้เราจำเป็นต้องพึ่งพาฮ่องกงไปก่อนจนกว่าจะปีกกล้าขาแข็งพอ ดังนั้นการร่วมทุนกับฮ่องกงเป็นโอกาสที่นักลงทุนน่าจะหยิบฉวยเอาไว้เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้โดยเฉพาะ Technical know how และการดำเนินงาน ด้านการตลาดของเขาเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตไทยต้องรีบศึกษาและค้นคว้าเอาไว้ แต่ประสบการณ์ก็ไม่มีวันสอนกันได้หมดถ้าเรายังไม่ลงมือทำกันอย่างจริงจัง

สำหรับไทยทอย “เราเพิ่งมาทำได้ 3-4 ปี ปีแรกเราส่งออก 35-36 ล้านบาท ปีที่สอง 65 ล้านบาท ปีที่สามเพิ่มขึ้นเป็น 112 ล้านบาท เครื่องจักรที่เรามีอยู่ 25 เครื่อง ช่วงที่เราจะผลิตแน่นมากคือช่วงเดือน ก.ค., ส.ค. และ ก.ย. ฤดูการผลิตและส่งออกของเราจะอยู่ในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. ตอนนี้เรากำลังขยายโรงงานคิดว่าจะเพิ่มเครื่องอีก 17 เครื่องเป็น 42 เครื่อง ออร์เดอร์ของเราตอนนี้เต็มหมดแล้วต้องปิดรับไปโดยปริยาย”

การส่งออกของไทยทอยก้าวหน้าไปอย่างดีมีออร์เดอร์เข้ามามากจนต้องเพิ่มทุนเมื่อต้นปีนี้เอง เพื่อขยายกำลังการผลิตออกไปให้เพียงพอกับออร์เดอร์ที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีโดยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย

และสำหรับอิมพีเรียลไทยทอย “ตอนนี้เรามีเครื่องจักร 24 เครื่อง เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง พวกที่ประกอบต้องอยู่ทำ OT กันอีกภายในช่วงกลางเดือน เม.ย.-ส.ค. จะเป็นช่วงที่หนักที่สุด พอถึงเดือน ต.ค. ก็จะเป็นช่วงพิสูจน์ฝีมือกัน ใครมีฝีมือดี มีคุณภาพก็จะได้รับออร์เดอร์ต่อไป ตอนนี้เราสั่งเครื่องเข้ามาอีก 12 เครื่อง

การเพิ่มเครื่องจักรเข้ามาดำเนินงานดูจะเป็นคำตอบที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังไปได้ดี แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เรารีบสรุป อย่างน้อยก็ดูตัวเลขการส่งออกกันอีก จำนวนตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 252 เป็นเงิน 19.30 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมาจนถึงปี 2527 เป็นเงิน 227.12 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียวและหากจะสังเกตให้ดีว่าเมื่อไหร่โรงงานไทยทอยเริ่มทำการผลิตส่งออกในปี 2525 ตัวเลขในช่องของเด็กเล่นอื่นๆ ซึ่งหมายถึงของเด็กเล่นพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ตัวเลขเพิ่มขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนและถ้าหากบางโรงงานที่หยุดการผลิตไปเพราะเกิดเรื่องขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมทุนยังไม่สามารถกลับมาเริ่มผลิตกันใหม่ได้อีก ไม่ต้องสงสัยว่าตัวเลขการส่งออกจะพุ่งสูงเพียงไร แต่ก็ยังมีแฟกเตอร์อีกตัวที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกอย่างยิ่งคือการผลิต

ในการผลิตของเด็กเล่นเพื่อส่งออกเราจำเป็นต้องอาศัยการผลิตจากฮ่องกง ผู้มีประสบการณ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญต้องใช้ เช่น เม็ดพลาสติก, แม่แบบ (Mould), ส่วนประกอบประเภทกลไกต่างๆ (Gear block) เช่น นอต, สกรู, สปริง ฯลฯ ผู้ร่วมทุนชาวฮ่องกงก็จะเป็นผู้มาให้ในตอนต้นเพราะในฮ่องกงมีโรงงานผลิตเหล่านี้มาก และถึงแม้มีของบางอย่างที่เราทำเองได้ก็ไม่ได้มาตรฐานทำให้เราต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศถึง 80-90%

ในการนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้เราจำเป็นต้องเสียภาษีศุลกากรร้อยละ 80 แม้ว่าผู้ผลิตจะสามารถเรียกคืนได้แต่ก็ต้องเป็นกรณีนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกและมีหลักเกณฑ์ว่าผู้ผลิตต้องใช้วัตถุดิบในการนำเข้าการผลิตส่งออกทั้งหมดจึงจะได้คืนเต็มจำนวน ถ้าไม่หมดจะได้คืน 9 ใน 10 ส่วนของที่ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือถ้าไม่ผลิตส่งออกภายใน 1 ปี จะไม่ได้คืนภาษีเลยเอาแค่โดนเบาะๆ อย่างเดียวผู้ผลิตก็ไม่กล้าสั่งวัตถุดิบเข้ามาตุนไว้มากๆ ทำให้บางครั้งเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพราะนำเข้าไม่ทันโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่พิมพ์ที่มีราคาแสนกว่าบาทขึ้นไป

“กระดาษทำกล่อง พลาสติกทำตัวของเล่น gear block เพื่อประกอบเป็นวัตถุดิบตัว main ที่ต้องใช้อย่างละประมาณ 20% ของราคาขาย พลาสติกภาษีขาเข้าแพงมาก แต่ฮ่องกงเขาไม่ต้องเสียภาษี ของบางอย่างเราต้องใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก BOI นำเข้าจะมีราคาถูกกว่าซื้อในประเทศเสียอีก กลายเป็นว่าเรา import เข้าถูกกว่า อุตสาหกรรมเรายังเล็กอยู่และมีเพียงไม่กี่แห่ง ความต้องการของเราจึงไม่คุ้มกับที่เขาจะไปเปิดโรงงานการผลิตอุปกรณ์ให้เรา เราจึงต้องพึ่งชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่มีราคาแพง นอกจากนั้นของเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างเรายังแอบภาษีนำเข้ามา” ผู้ผลิตรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

และเมื่อเราสอบถามผู้ผลิตอีกหลายรายต่างก็มีความเห็นว่าวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่ต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะที่ฮ่องกง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงและเป็นสาเหตุให้เราต้องเสียเปรียบแก่คู่แข่งขันเมื่อส่งออก

“ลูกค้าที่มาติดต่อเรา Milton Bradley, Illco, Arco, Meritusor Industries ส่วนใหญ่เป็นบริษัทของสหรัฐฯ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Tommy, Takara, Bundai เริ่มจะเข้ามาแล้ว” ประสงค์เล่าให้เราฟังถึงลูกค้าของไทยทอย

ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งของเด็กเล่นจากโรงงานผลิตของไทยคือสหรัฐฯ และถ้าดูรายชื่อประเทศและจำนวนตัวเลขที่เราส่งออก (ตารางที่ 2) จะเห็นว่าตัวเลขส่งออกทั้งหมดที่เราส่งของเด็กเล่นไปขายต่างประเทศในปี 2527 จำนวนทั้งสิ้น 227.12 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สหรัฐฯ สั่งซื้อจากเราถึง 158.11 ล้านบาท มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของเด็กเล่นทั้งหมดในปีนั้น ตัวอย่างปี 27 ที่ยกมาให้ดูนี้แสดงว่าการที่สหรัฐฯ สั่งของเด็กเล่นจากเราไปมากเท่ากับว่าเป็นการชี้ให้เห็นเด่นชัดว่าสหรัฐฯ ยอมรับมาตรฐานสินค้าของเราแล้ว ทั้งนี้เพราะเป็นที่รู้กันว่าสหรัฐฯ กวดขันสินค้าเข้าประเทศของเขามาก และไม่ยอมให้สินค้าต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานหลุดพ้นเข้าประเทศโดยเฉพาะของเด็กเล่น

“ของเด็กเล่นไม่ใช่จะทำง่ายๆ โดยเฉพาะที่ส่งออกต่างประเทศเขาจะมีฐานควบคุม มีวิธีเทสต์เป็น manual ลูกค้าจะมี Safety-Stan-dard ซึ่งเขาจะติดตามตลอดเวลา ถ้าหากไม่ได้มาตรฐานเกิดอันตรายจากการเล่นจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก และกฎหมายบังคับให้เก็บสินค้าที่วางจำหน่ายคืนบริษัททั้งหมดทันทีและจะนำออกมาขายอีกไม่ได้”

“เวลาที่บริษัททอยเขาเข้ามาไม่ใช่ว่าจะให้เราผลิตเลยนะ แต่เขาจะเข้ามาดูเราก่อนดูแล้วดูอีกให้แน่ใจ ถ้าเขาจะให้เราทำ เขาจะลองให้ออเดอร์เล็กๆ ไม่กี่หมื่นตัว ถ้าเราทำแบบไม่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะหมายถึงจะไม่มีคราวหน้าอีกต่อไป เพราะเขาจะไม่มาเหยียบที่โรงงานอีกเลย เพราะวงการนี้มันแคบ บริษัททอยของสหรัฐฯ จะรู้จักกันหมดเอ่ยชื่อก็รู้จัก ถ้าไปทำเสียครั้งหนึ่งก็จะรู้กันไปทั่ววงการ” ผู้ส่งออกของเด็กเล่นรายใหญ่เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังตอนบ่ายวันหนึ่ง

มาตรฐานที่ใช้กับของเด็กเล่นในสหรัฐฯ มีอยู่ 2 ระบบด้วยกัน คือมาตรฐานบังคับซึ่งบังคับใช้โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Product Safety Commission) ส่วนอีกมาตรฐานหนึ่งคือมาตรฐานแนะนำ (Voluntary Product Standards) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทของเด็กเล่นในสหรัฐฯ (Toy Manufacturers of America) ตามความสมัครใจของผู้ผลิตแต่ละราย

ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานแนะนำ ต่างก็กำหนดคุณสมบัติของเด็กเล่นที่จะจำหน่ายในสหรัฐฯ ให้อยู่ในมาตรฐานที่จะให้อยู่ในความปลอดภัยอย่างเพียงพอกับเด็กซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของสินค้าชนิดนี้ โดยกำหนดรายละเอียดเป็นมาตรฐานด้านต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ ขนาด, รูปร่าง, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต, ความแข็งแรง, ความแหลมคม ส่วนผสมของสีที่ใช้และวิธีใช้แยกประเภทผู้ใช้อย่างละเอียด

มาตรฐานที่เขามีกันเป็นเล่มๆ นี้แล้วสินค้าของเราสามารถผ่านไปได้ และมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างนี้ก็พอจะมีเหตุผลมาสนับสนุนอีกข้อหนึ่งแล้วว่า อนาคตส่งออกของเด็กเล่นของเราจะมีลู่ทางแจ่มใส ต่อไปในเวลาข้างหน้าแค่ไหน ถ้าหากยังคงรักษาชื่อเสียงด้านนี้ได้ตลอดไป

แต่ถ้าจะถามว่า คนไทยเรารู้ซึ้งต่อสิ่งที่น่าภูมิใจนี้มากน้อยแค่ไหน ก็เห็นจะต้องตอบว่ามันน้อยเกินไป เพราะดูจากตัวเลขนำเข้าของเด็กเล่นต่างประเทศ (ตารางที่ 3) ยอดการสั่งเข้ายังมีเพิ่มขึ้นทุกปี พุ่งลิ่วมาตั้งแต่ปี 25 เป็นต้นมา การที่ทางรัฐบาลได้ปประกาศลดภาษีนำเข้าของเด็กเล่นจากต่างประเทศจากเดิมร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 30 ทำให้สินค้าของเด็กเล่นจากต่างประเทศถูกลง ในขณะที่ถ้าสั่งวัตถุเข้ามาผลิตต้องเสียร้อยละ 45 บวกกำไรมาตรฐานเข้าไปราคาก็จะยิ่งถีบสูงขึ้น

สำหรับยอดนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี เราไม่รู้ว่าสมควรจะโทษใครดี ถ้าจะลงที่ผู้ซื้อ เราก็ได้สอบถามหลายคนที่นิยมสะสมของเด็กเล่นจากต่างประเทศก็ได้รับคำตอบว่า

“แล้วจะให้เราทำยังไง เพราะของเด็กเล่นที่มีคุณภาพที่ว่าผลิตได้ในเมืองไทยก็ไม่เห็นจะทำขายในประเทศเลย”

สำหรับผู้ผลิตก็บอกว่า “โธ่ เท่าที่เราผลิตอยู่ตอนนี้ก็ไม่ทันส่งออกอยู่แล้ว แล้วถ้าจะให้ทำขายในประเทศก็จะไม่คุ้ม เพราะของพวกนี้ต้องผลิตมากๆ ถึงจะคุ้ม แล้วราคาก็สูงมาก ขึ้นอยู่กับว่าตลาดเรามากกว่าว่าจะรับได้แค่ไหนก็ถ้าเผอิญผมทำขึ้นมาแล้วมันขายไม่ออกเพราะไม่มีคนซื้อ ผมก็เจ๊งนะสิ”

สิ่งหนึ่งที่เราก็ต้องยอมรับก็คือ บ้านเราก็ยังมีคนประเภทรสนิยมสูง รายได้ต่ำอีกเยอะ มันเป็นค่านิยมที่ใครจะไปเปลี่ยนมันไม่ได้ นักจิตวิทยาคนหนึ่งเคยกล่าวถึงคนประเภทนี้ว่า “มันเป็นเหมือนโรคจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นมีความรู้สึกมีความสุข ท่ามกลางความสับสนจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา เหมือนกับเป็นการหนีไปสู่ความฝันแม้ว่าจะชั่วขณะหนึ่งก็ตาม” ทัศนคติของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพไม่ดี และจะมีคนกี่มากน้อยที่มีกำลังซื้อของเด็กเล่น และจะมีคนมากน้อยแค่ไหนที่คิดถึงการใช้ของเล่นเพื่อประเทืองสติปัญญาเด็ก ถ้าจะมีก็เป็นเพียงประชากรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีกำลังซื้อสูง แล้วจะให้โรงงานเขากล้าเสี่ยงหรือไม่?

การที่ไม่มีโรงงานผลิตของเด็กเล่นขายในประเทศผลิตสินค้าคุณภาพดีออกมาเนื่องจากเหตุผลที่ว่า ประการแรก ค่านิยมของคนไทย ประการที่สอง ตลาดของเด็กเล่นยังมีจำกัดที่จะซื้อของที่แพงเล่น ประการที่สาม ถ้าจะผลิตของเด็กเล่นคุณภาพดีมากก็ต้องลงทุนทางเทคโนโลยีสูง แต่ตลาดมีจำกัดไม่มีใครกล้าเสี่ยงต่อการขาดทุน ประการที่สี่ กฎหมายภาษีศุลกากรมีขีดจำกัดต่อการลงทุน ประการที่ห้า การผลิตของเด็กเล่นเหมือนผลพลอยได้จากการทำโรงงานผลิตเครื่องใช้พลาสติกเท่านั้น

ส่วนของเด็กเล่นที่มีคุณภาพดี มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ไม่มีเข้ามาขายในประเทศเราเองเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า ประการแรก BOI ให้การส่งเสริมเพราะมีจุดประสงค์ที่จะดึงเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศให้มากขึ้นเป็นการแก้ดุลการค้า จึงต้องสนับสนุนให้ส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อผู้ส่งออกได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่างหากจะนำมาขายภายในประเทศและหากพวกที่ไม่ได้รับการส่งเสริม ประการที่สอง ถึงผู้ผลิตเองเท่าที่ผลิตเองให้ต่างประเทศทุกวันนี้ก็ยังรับมือไม่ทัน ต้องปิดรับออร์เดอร์และต้องเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้จ่ายบเงินจำนวนมาก ประกอบกับโรงงานที่จะผลิตของเด็กเล่นให้ได้มาตรฐานให้ทัดเทียมกับต่างประเทศยังมีน้อย ต้องใช้เวลาสะสมประสบการณ์อีกหลายปี อีกอย่างหนึ่งการผลิตของเด็กเล่นมีมาตรฐานที่เพิ่งบูมมากเมื่อ 2-3 ปีมานี้ ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างทั้งเทคโนโลยีและวัตถุดิบ ถ้าจะนำมาขายในประเทศก็ต้องมีราคาแพงมาก เพราะต้นทุนสูง ประการที่สาม ตลาดในประเทศมีจำกัด มีผู้ซื้อเพียงส่วนเดียวที่มีกำลังซื้อของเด็กเล่นราคาแพงบวกกับค่านิยมของคนไทยนิยมของต่างประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ผลิตมีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศได้ เราควรที่จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตมีกำลังใจต่อไป เพราะเมื่อเทียบตัวเลขส่งออกและนำเข้าของเด็กเล่น (ตาราง 1 และ 3) หลังจากของเด็กเล่นต้องเสียดุลการค้าไปในปี 21-22 เป็นเงินจำนวนน้อย ก็ดูเหมือนว่า ตั้งแต่ปี 23 เป็นต้นมาเราสามารถแก้ดุลการค้ากับต่างประเทศได้สำเร็จ ลู่ทางการส่งออกเริ่มส่อแววสดใสหากจะได้การสนับสนุนที่ดี

สำหรับบทบาทที่ฝ่ายรัฐบาลให้การสนับสนุน

สิ่งหนึ่งที่ได้ลงมือทำไปแล้วคือ การไปฮ่องกงของคณะตัวแทน BOI นำโดยสถาพร กวิตานนท์ เพื่อชักชวนให้ชาวฮ่องกงมาร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นที่อุตสากรรม เพื่อชักชวนให้ชาวฮ่องกงมาร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ต้องมีอนาคตที่แจ่มใสอย่างแน่นอน มิฉะนั้นคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนคงไม่ต้องลงทุนเดินทางไปชักชวนนักลงทุนชาวฮ่องกงมาลงทุนในประเทศไทย

“การลงทุนในอุตสาหกรรมของเด็กเล่นอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ ผมคิดว่าเรามีช่องทางมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานเยอะและเมืองไทยก็มีแรงงานมากพอ ในโอกาสข้างหน้าจึงจำเป็นต้องขวนขวายให้ทุกคนมาผลิตของเด็กเล่นและขณะนี้ BOI เองก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องขั้นตอนอยู่ เราพยายามร่วมมือกับหน่วยงานอื่นด้วย เช่น กรมศุลกากร, กรรมการพัฒนาการส่งออก เพราะแต่เดิมบ้านเราไม่ค่อยมีอุตสาหกรรมส่งออกมากนัก เมื่อเรารู้ว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องการเวลาที่รวดเร็ว มีฤดูกาลส่งออกเราก็พยายามเซตสูตรกับกรมศุลกากรเพื่อจะได้รีบคืนภาษีและดูว่าจะเกิดความคล่องตัวมากน้อยเพียวใด” สถาพรพูดถึงอนาคตอุตสาหกรรมของเด็กเล่นให้ “ผู้จัดการ” ฟังก่อนที่จะออกเดินทางไปฮ่องกงเพื่อชักชวนชาวฮ่องกงมาลงทุนในเมืองไทย

บทบาทของหน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของเด็กเล่นคือกรมพาณิชยสัมพันธ์ นรวัฒน์ สุวรรณ รองอธิบดีกรมพาณิชยสัมพันธ์ที่ลุกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งออกมาหมาดๆ พูดถึงอนาคตของการส่งออกของเด็กเล่นว่า

“บริษัทผู้ส่งออกเพิ่งจะส่งออกเป็นล่ำเป็นสันได้เพียง 2-3 ปีมานี้เอง แต่ก็มีการขยายตลาดส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ด้วยความสามารถและความพยายามของผู้ผลิตส่งออก เราเชื่อว่าเป้าหมายการส่งออกของเด็กเล่นในปี 28 จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท และปี 29 ที่จะส่งออกให้ได้ 500 ล้านบาท คงประสบผลสำเร็จ ซึ่งอยู่ที่ความสามารถที่จะพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมนี้ ที่ขยายการผลิตสูงขึ้น ทางกรมฯ ได้กำหนดให้ของเด็กเล่นเป็นสินค้าเป้าหมายที่จะส่งออกในปี 28 และให้ทางศูนย์พาณิชยกรรมในต่างประเทศได้แก่ที่นิวยอร์ก, ลอสแองเจลิส และซิดนีย์ ทำการเจาะตลาดสินค้าตัวนี้”

หน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทต่ออุตสาหกรรมนี้มากเช่นกันในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนที่ให้บริการและสนับสนุนด้านการเงินให้แก่อุตสาหกรรมนี้อย่างมากคือ ธนาคารกสิกรไทย

“ถ้าเราจับตลาดนี้ได้ก็ไม่มีปัญหา ตลาดของสินค้านี้อยู่ที่ส่งออก ถ้าเราจับคนซื้อได้ ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นรายที่ซ้ำๆ กัน การที่ฮ่องกง Move เข้ามากทำให้เราได้เปรียบที่มีฮ่องกงซึ่งจับธุรกิจนี้อยู่แล้วเป็นผู้ให้ technical know how จัดหาตลาดและร่วมลงทุนด้วย และยังมี BOI สนับสนุนมาก็พอจะทำให้เราแน่ใจ ถ้าจะหนักใจบ้างก็เห็นจะเป็นเพราะของเด็กเล่นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงของเรายังไม่ advance ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องสั่งเข้ามา ถ้าหากคิดว่าจะลงทุนช่วงสั้นๆ ก็คงไม่คุ้มกันนะ” แหล่งข่าวระดับสูงจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจของธนาคารแห่งนี้พูดถึงอุตสาหกรรมนี้ให้ฟัง

จากความเห็นของหน่วยงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชน คงจะพอสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะไปได้สวยก็ต้องอยู่ที่การประสานงานของฝ่ายรัฐบาล และเอกชนที่หมายถึงผู้ผลิตของเด็กเล่นส่งออกที่ต้องไล่ตามปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทันทีและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถูกวิธี สนับสนุนให้ผู้ผลิตพัฒนาตัวเองในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิต หน่วยราชการควรพิจารณาเรื่องภาษีนำเข้าวัตถุดิบบางประเภทที่เรายังไม่สามารถผลิตในประเทศ, การรีบคืนภาษีแก่ผู้ผลิตและถ้าจะให้ดีก็เพิ่มภาษีนำเข้าของเด็กเล่นจากต่างประเทศ และควรเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศรู้จักของเด็กเล่นที่ผลิตในประเทศไทย และควรมีการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลทางการตลาดให้ผู้ผลิตทราบเพื่อจะได้มีลู่ทางการขยายตลาดออกไปอีก

ถ้าทุกฝ่ายได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้พูดไว้อย่างจริงจัง คำกล่าวของ David Yen ประธาน Universal International ผู้คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมของเด็กเล่นจนได้รับฉายาว่าเป็น “The Young Toy King” ที่ได้พูดไว้ในนิตยาสาร World Executive̕s Digest ว่า “The Orient is still the best part of the world to make toys in” ก็จะเป็นสิ่งสนับสนุนที่ดีอีกข้อหนึ่งต่อชาวโลก

และหากเราจะเติม “especially in Thailand” ก็คงจะได้สินะ p>

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.