|
กอลมาร์
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ไปกอลมาร์ (Colmar) ในอัล ซาส (Alsace) ครั้งแรกช่วงคริสต์มาส 2008 เป็นการรวมญาติเพื่อรับประทานอาหารกลางวันในวันที่ 25 ธันวาคม จึงได้แต่เดินเล่นแถวบ้านซึ่งอยู่ในย่านเมืองเก่าที่เรียกว่า Vieille Ville และย่านที่เรียกว่า Petite Venise สวยงาม น่ารักมาก กอลมาร์กะทัดรัดกว่าสตราส บูรก์และมีเสน่ห์ที่บอกไม่ถูก ให้ไปอีกก็จะไป ไม่คิดว่าจะเบื่อ
กลับไปกอลมาร์อีกครั้งหนึ่งในฤดูร้อน 2009 กลางเดือนกรกฎาคม ได้เวลาเจาะลึกและพบว่ากอลมาร์มีอะไรดีๆ ซ่อน อยู่ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์อุนเตอร์ลินเดน (Musee d'Unterlinden) วัดโดมินิแกง (dominicain) ซึ่งมีภาพพระแม่มารีในพุ่มกุหลาบ (La Vierge au buisson de roses) และพิพิธภัณฑ์บาร์โทลดี (Musee Bartholdi)
พิพิธภัณฑ์อุนเตอร์ลินเดนแต่เดิมเป็นคอนแวนต์ของพวกนักบวชสายโดมินิแกง (dominicain) ก่อสร้างในศตวรรษที่ 13 รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโกธิค (gothique) ช่วงปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส พวกนักบวชถูกขับออกไป ต่อมาใช้เป็นกรมทหารจนถึงศตวรรษที่ 19
ในปี 1847 หลุยส์ อูโกต์ (Louis Hugot) ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ของเมืองกอล มาร์ ก่อตั้ง Societe de Martin Schon-gauer และขอให้เมืองกอลมาร์ทำอุนเตอร์ ลินเดนเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเป็นที่เก็บสมบัติที่พวกปฏิวัติยึดไว้และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 1853 โดย Societe de Martin Schongauer เป็นผู้บริหารมาจนทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์อุนเตอร์ลินเดนมีสถานภาพเป็น musee de France - พิพิธภัณฑ์ของฝรั่งเศสด้วย
ส่วนที่สวยงามของพิพิธภัณฑ์อุนเตอร์ลินเดนคือบริเวณที่เรียกว่า cloitre อาเขตที่มีเสารายรอบรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตรงกลางเป็นสวน เป็นสถานที่พวกนักบวช จะมาเดินจงกรม รอบทางเดินจะมีประตูเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์เป็นระยะๆ
ศิลปะชิ้นเด่นของอุนเตอร์ลินเดน คือ Retable d'Issenheim ภาพประวัติบางช่วงของพระเยซู ทำเป็นหลายชิ้นติด ต่อกัน เป็นผลงานของมาเธียส กรุนวัลด์ (Matthias Grunwald) คณะนักบวชสาย อองโตแนงเมืองอิสเซนไอม์ (Commanderie des Antonins d'Issenheim) เป็นผู้สั่งทำ มาเธียส กรุนวัลด์ใช้เวลาวาดระหว่างปี 1512-1516 ส่วนงานปั้นและแกะ สลักเป็นผลงานของนิโกลาส์ เดอ อาเกอะโน (Nicolas de Haguenau) อิสเซนไอม์ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างจากกอลมาร์ประมาณ 20 กม. Retable d'Issenheim ย้ายมาที่อุนเตอร์ลินเดนในปี 1792
อุนเตอร์ลินเดนเป็นศูนย์รวมศิลปะแถบแม่น้ำไรน์และเยอรมนีในดินแดนฝรั่งเศส ในยุคกลางและเรอแนสซองส์ (Renaissance) จิตรกรเด่นคือมาร์แตง เชิน กาวเออร์ (Martin Schongauer) ซึ่งเป็นชาวเมืองกอลมาร์ มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงอิตาลีและฮอลแลนด์ ไมเคิลแองเจโลเอ่ยปากชื่นชม ส่วนอัลเบรคท์ ดูเรอร์ (Albrecht Durer) อยากขอเป็นลูกศิษย์ หากไม่มีโอกาส เพราะมาร์แตง เชินกาวเออร์เสียชีวิตเสียก่อน ผลงานเด่นของมาร์แตง เชิน กาวเออร์คือ La Vierge au buisson de roses และ Le Retable de Jean Orlier
อุนเตอร์ลินเดนมีแผนกโมเดิร์น อาร์ตด้วยในชั้นใต้ดิน มีผลงานของโคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ปิแอร์ บอนนาร์ด (Pierre Bonnard) อองเดร เดอแรง (Andre Derain) โรแบรต์ เดอโลเนย์ (Robert Delaunay) ฌอง ดูบุฟเฟต์ (Jean Dubuffet) จอร์จส์ รูโอลต์ (Georges Rouault) หรือภาพเขียนแอ็บสแทร็คของแฟร์นองด์ เลเจร์ (Fernand Leger) อันไต (Hantai) กุปกา (Kupka) มาเนสซีเอร์ (Manessier) บิสซีแอร์ (Bissiere) บราม วาน เวลด์ (Bram van Velde)
ในวันที่ไปชมนั้นมีนิทรรศการของชาร์ลส์ เลอปิค (Charles Lepicque) สีสันสดใส พิพิธภัณฑ์ของการไปรษณีย์ (Musee de l Poste) ที่ปารีสเคยจัดนิทรรศการของจิตรกรคนนี้เมื่อไม่นานนี้
ภาพเขียน La Vierge au buisson de roses ของมาร์แตง เชินกาวเออร์สวยมาก พระแม่มารีอุ้มพระเยซูน้อย ฉากหลัง เป็นพุ่มกุหลาบซึ่งมีไม้ดอกชนิดอื่นแซมและนกน้อยเกาะกิ่ง ใบหน้าของพระแม่ดูเศร้าราวกับจะหยั่งรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่พระ เยซู แต่เดิมภาพเขียนนี้อยู่ในโบสถ์แซงต์-มาร์แตง (Collegiale de Saint-Martin) ทว่าในปี 1972 ถูกขโมยไป และเมื่อได้คืนกลับสู่กอลมาร์ในปีต่อมา จึงนำมาเก็บไว้ที่โบสถ์ของพวกโดมินิแกง (Eglise des Dominicains) มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงเข้มงวดยิ่งและห้ามมิให้ถ่ายรูป
วันเดินทางกลับจากกอลมาร์เป็นวันที่การแข่งจักรยาน Tour de France ออกสตาร์ทจากกอลมาร์ บุคคลที่มีชื่อเสียง ของฝรั่งเศสจึงคับคั่งด้วยผู้คนในวงการบันเทิงและโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิโกเลตตา (Nicoletta) นักร้องดังในทศวรรษ 1972 อีกทั้งปิแอร์ แอร์เม (Pierre Herme) เจ้าแห่งขนมชื่อดังของฝรั่งเศส ผู้ไปทำมาหากินในญี่ปุ่นก่อนที่จะกลับมาตั้งร้านในฝรั่งเศส ปิแอร์ แอร์เมเป็นชาวกอลมาร์ ขนมมาการง (macaron) ทั้งหมดของปิแอร์ แอร์เมผลิตที่กอลมาร์นี่เองและในกอลมาร์มีร้านขายขนมของหลานชายปิแอร์ แอร์เมด้วย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์จากผู้เป็นอา
ที่ไม่น่าเชื่อก็คือในรถไฟจากกอลมาร์ ไปสตราสบูรก์ ปิแอร์ แอร์เมนั่งอยู่ข้างหน้า และจากสตราสบูรก์มาปารีส ปิแอร์ แอร์เม อยู่ข้างหลัง จึงเดินไปขอถ่ายรูปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|