|
“อยุธยานุสสติ” มองประวัติศาสตร์จากมุมใหม่
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"ประวัติศาสตร์มักจะหมุนทับตัวมันเองเสมอ แต่ผลจะเปลี่ยนไปถ้าเราเข้าใจและอ่านมันเสียใหม่ด้วยการเปลี่ยนจุดยืนที่เรามอง ด้วยวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเราทุกวันนี้"
ข้างต้นเป็นบทสรุปส่งท้ายการนำเที่ยวอยุธยาที่มีเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เป็นเจ้าภาพ และมีไกด์เฉพาะกิจเป็นถึงนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2548 ผู้ใช้นามปากกา "บินหลา สันกาลาคีรี"
หลายคนรู้จักบินหลาในฐานะนักเขียนที่มีมุมมองแปลกใหม่ น่าคิด น่าสนใจ และสนุกสนาน โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว แต่น้อยคนที่รู้ว่าเขายังสามารถเป็นไกด์นำเที่ยวที่มีดีไซน์ในการนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ น่าขบขัน และมีสาระไปพร้อมกัน
ยามโพล้เพล้เหนือทุ่งข้าวกรุงเก่า เวลาที่มองบนพื้นราบดูต่างจากเมื่อขึ้นไปมองบนเจดีย์ประธานของวัดภูเขาทอง เจดีย์ที่เคยสูงที่สุดในอยุธยา ก่อนที่จะเสีย แชมป์ให้กับเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่ง สูงกว่ากันเพียงแค่วาเดียว
บนเจดีย์ย่อมุมไม้ 12 ฐานแบบมอญพม่าของวัดภูเขาทอง บินหลาเล่าย้อนประวัติ ศาสตร์ไปสมัยอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งแรกว่า หลังจากพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จก็ได้บูรณะเจดีย์องค์นี้ให้เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดของอยุธยา
อีก 15 ปีต่อมา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพสำเร็จก็ทรงบูรณะเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่อยู่เยื้องกันให้สูงกว่าเจดีย์องค์นี้เล็กน้อย เพื่อเป็นการข่มขวัญและกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวอยุธยาคืนมา สะท้อนให้เห็นว่าการฟาดฟันทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ของไทยกับเพื่อนบ้านนั้นมีมาแต่อดีตจนถึงวันนี้
ทว่าประเด็นสำคัญของการขึ้นมามองกรุงเก่าบนเจดีย์แห่งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเจดีย์ใครจะสูงกว่ากัน
บินหลาหยิบตุ๊กตาช้างมาจัดเป็นกระบวนทัพบนผ้าปูโต๊ะสีเขียวซึ่งใช้แทนท้องนาหน้าเจดีย์นี้ เพื่อเล่าเรื่องศึกชนช้างระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าตะเบง ชเวตี้ ที่มีการสิ้นพระชนม์ของพระศรีสุริโยทัยและพระราชบุตรีเป็นบทสรุป
"ผมไม่คิดว่าประวัติศาสตร์จะบอกว่าให้เราควรแค้นใครหรือโกรธใคร เพราะประวัติศาสตร์จริงๆ ก็มีแค่นี้" เขาพูดพร้อมสบัดผ้าดำคลุมทั้งโต๊ะจนมองไม่เห็นสิ่งที่ถูกปกปิดภายใต้ผ้าดำผืนนั้น
สิ่งที่บินหลากำลังสื่อมีความหมายเดียวกับสิ่งที่เขาได้กล่าวไปแล้วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โปรแกรมเที่ยวชมอยุธยาตามแบบฉบับของเขา
"สิ่งที่เราจะเห็นวันนี้ไม่ใช่เมืองอยุธยา แต่เป็นซากของอยุธยาอีกที สิ่งที่เราจะได้เห็นวันนี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของอยุธยา ฉะนั้นทุกสิ่งที่เราจะได้ดูวันนี้ต้องดูผ่านการไตร่ตรอง และความคิดของเรา" ไกด์เฉพาะกิจเกริ่นเป็นการต้อนรับลูกทัวร์
ขณะที่พูดไป บินหลาก็หยิบเศษแผนที่เมืองอยุธยาที่เขาเพิ่งฉีกให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง บางทริปเขาใช้วิธีจุดไฟเผาแผนที่ รอให้มอดไหม้เหลือเพียงฝ่ามือจึงใช้น้ำดับ...เพียงเพื่อย้ำว่า กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งเรือง ณ บัดนี้เหลือเพียงแค่เสี้ยว
ทัวร์อยุธยาสไตล์บินหลาในวันนั้น เริ่มต้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส
ณ ที่นี่ เขาเล่าความเป็นมาของอยุธยาผ่านการวาดแผนที่ โดยใช้มือข้างหนึ่งป้ายสีน้ำเงินกวาดบนกระดาษขาวแผ่นใหญ่เพื่อสร้างแม่น้ำ มืออีกข้างป้ายสีน้ำตาลกวาดบนกระดาษแผ่นเดิมเพื่อสร้าง แผ่นดิน ก่อนจะฉีกกระดาษขาวออกจนเห็นแผนที่อยุธยาฉบับที่สมบูรณ์อยู่ด้านใน
"เมืองนี้สร้างเมื่อกว่า 600 ปีที่แล้ว ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ จัดการจนกลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์" นักเขียนซีไรต์ย้ำว่ามาจากบันทึกของฝรั่งยุคนั้น หาใช่อคติจากการหลงตัวเองหรือความรักชาติ
หลักฐานยืนยันข้อมูลข้างต้นคือความเป็นสหประชาชาติของอดีตพระนครแห่งนี้ ซึ่งมีชาวต่างชาติมากกว่า 40 ชนชาติที่มาสร้างหมู่บ้าน ณ อยุธยา
"ส่วนหนึ่งเพราะศาสนาที่เปิดทางให้ทุกชนชาติ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็เพราะอยุธยาดวงดี ไม่ใช่เพราะความเก่งกล้าของชาวอยุธยา" เขาไม่ยี่หระว่าข้อเท็จจริงนี้จะกระทบขีดความภาคภูมิใจของลูกทัวร์มากแค่ไหน
เนื่องจากสมัยอยุธยาการค้าทางทะเลมีความสำคัญต่อความเจริญของบ้านเมือง โดยหัวใจของการค้า สำเภาที่หลายคนนึกไม่ถึงและมองไม่เห็นคือลม
บนแผนที่โลก ยุโรปอยู่ทางขวาและจีนอยู่ทางซ้ายของอยุธยา ประเด็นมีอยู่ว่า จีนอยากค้าขายกับชาติยุโรปและยุโรปก็อยากไปค้าขายที่จีน แต่ปัญหาคือลมที่พัดจากเหนือลงใต้ที่จะช่วยพาเรือสำเภาจีนแล่นไปค้าขายในยุโรปมีเพียง 6 เดือนต่อปี เท่ากับลมใต้ที่พัดขึ้นเหนือที่จะคอยนำเรือยุโรปไปจีน
จากทั้ง 2 ประเทศกว่าที่เรือสำเภาทั้ง 2 ชาติมาถึงอยุธยากินเวลา 4 เดือน หากสำเภาจีนล่องต่อไปอีก 2 เดือน ลมเหนือจะหมดจนเรือต้องจอดแน่นิ่งกลางมหาสมุทรอินเดีย ส่วนเรือยุโรปที่จะล่องต่อไปจีน อีก 2 เดือน อาจต้องเสี่ยงพบกับมรสุมจนเรือล่มแถวทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม
เมื่อเรือพ่อค้าสองชาติต้องมาหยุดที่อยุธยาเพื่อรอลมใหม่พัดพากลับประเทศตน พระนครแห่งนี้จึงกลายเป็นตลาดการค้าระหว่างประเทศของยุคนั้นไปโดยปริยาย
ดูเหมือนความโชคดีทางภูมิศาสตร์ เป็นบุญเก่า ของประเทศไทยที่คนไทยใช้แข่งขันหากินมาตั้งแต่ยุคอยุธยา มาวันนี้ที่การขนส่งทางเครื่องบินกลายเป็นเส้นทางสำคัญ กรุงเทพฯ ก็ยังได้เปรียบจุดนี้
"แม้พม่าไม่เผาเมือง แต่ถ้าโลกเปลี่ยนจากยุคการค้าทางทะเล อยุธยายังจะเอาตัวรอดและคงความรุ่งเรืองไว้ได้รึเปล่า" เขาตั้งคำถามได้อย่างน่าคิด
เช่นเดียวกัน หากทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคไม่ได้กลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของกรุงเทพฯ อีกต่อไป ด้วยพลังของคนไทย ประเทศไทยจะยังรักษาความเป็นผู้นำภูมิภาคได้หรือไม่...
ออกจากหมู่บ้านโปรตุเกสบินหลาพาลูกทัวร์ ล่องเรือตามรอยฝรั่งที่เข้ามาอยุธยาเมื่อราว 600 ปีก่อน พร้อมกับชี้ชม "ความน่ากลัวที่สุด" ของกรุงศรีอยุธยายุคนั้น ได้แก่ ป้อมปืนที่ป้อมเพชร
"ตอนเข้าเมืองครั้งแรก ฝรั่งเศสเห็นก็กลัวสุดๆ แต่พอดูใกล้ๆ ก็พากันขำ เพราะปืนใหญ่ตั้งอยู่บนไม้ไผ่ พอยิงทีหนึ่ง ปืนใหญ่ก็ตกจากที่ตั้ง เป็นป้อมปืนที่ดูน่ากลัวแต่ไม่มีพิษสง" ความภูมิใจถูกบั่นทอนอีกครั้ง
ต่อจากนั้นบินหลาพาชมซากวัดสำคัญของอยุธยาพร้อมบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและสนุกสนาน...แน่นอนว่าแตกต่างจาก แบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับล้าหลังคลั่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการ
ณ วัดมเหยงค์ บินหลาฉายภาพประวัติ ศาสตร์ที่แสนปวดร้าวของชาวอยุธยาและคนไทย รุ่นหลัง นั่นคือการเสียกรุงครั้งแรกในปี พ.ศ.2112
จากวิชาประวัติศาสตร์หลายคนจำได้ว่า การเสียกรุงครั้งแรกนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระยา จักรีเป็นหนอนบ่อนไส้ เพื่อหวังลาภ ยศ และทรัพย์สินจากกษัตริย์พม่า
ข้อเท็จจริงอีกข้อที่บินหลาเฉลยคือ ในบรรดากองทัพที่ยกไปตีกรุงศรีอยุธยา มีหัวหน้าคนสำคัญเป็นคนไทยที่มีพระนามว่า "พระมหาธรรมราชา" หรือพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรฯ นั่นเอง
"ไม่เกี่ยวกับความรักชาติหรือไม่รักชาติ ตอนนั้นพระมหาธรรมราชาไม่ถูกกับพระมหินทราธิราชผู้ปกครองอยุธยา สมัยนั้นทุกฝ่ายคิดว่า ตัวเองคือชาติทั้งนั้น"
ความสำคัญของวัดนี้ นอกจากเป็นฐานบัญชาการรบของพระเจ้าบุเรงนองในการตีกรุงศรีอยุธยาจนแตก ว่ากันว่าความเป็นกษัตริย์ของพระมหินทราธิราช ก็ถูกบุเรงนองทำให้สิ้นสุดลงที่วัดนี้ ที่นี่ยังเป็นสถานที่ประสูติของพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของอยุธยาด้วย
ณ วัดมหาธาตุ วัดที่เคยได้รับการสถาปนาเป็นวัดหมายเลขหนึ่งของกรุงศรีอยุธยามานาน ก่อนที่จะมีวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดหลวงในพระราชวัง บินหลาเล่าย้อนไปสมัยพระเจ้าสามพระยายกทัพไปเขมร หลังตีเมืองสำเร็จแล้วก็นำศิลปวัตถุ ที่มีคุณค่าและมูลค่าจากปราสาทนาคพันของเขมร ทั้งวัวทองคำ พระทองคำ เทวรูป ทองคำ เทวรูปสำริด ฯลฯ กลับมาไว้ที่นี่
"วัดมหาธาตุจึงเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนความเกลียดชังคนไทยของชาวเขมร มาจนถึงวันนี้ เพราะทุกอย่างที่เขมรเรียกสรรพวิทยา พระเจ้าสามพระยาขนมาไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียว เขมรเชื่อว่าความรู้ของเขาถูกทำลาย และนครวัดที่มีอายุเป็นพันปีถูกทำให้ล่มสลายชนิดไม่กล้ากลับมาเกิดใหม่จนต้องย้ายเมืองหลวง ล้วนเป็นฝีมือชาวอยุธยา"
บินหลาไม่ได้พูดให้ชาวอยุธยาดูเกรียงไกร แต่ก็ไม่ได้ชี้นำว่าการกระทำของบุรพกษัตริย์ไทยเป็นความเลวทรามโหดร้าย เพียงแค่สะท้อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาแห่งโลกของสงครามยุคนั้น...เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าเผาจนวอดวาย
วันนี้วัดมหาธาตุเหลือแค่กองปรักหักพังที่คงไว้ซึ่งคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ส่วนของมีค่าของเราและของที่เคยปล้นมาจากเขมร กลับถูกพม่าขนไปกรุงหงสาวดีตั้งแต่เสียกรุงครั้งแรก หลังปลดแอกอยุธยาสำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งใจไปเอาทุกอย่างคืน ทว่าหลังสิ้นบุเรงนอง เมืองหงสาวดีเองก็ถูกพวกยะไข่ปล้นชนิดเผากรุงแล้วขนทรัพย์สมบัติทั้งหมดไปเช่นกัน
...ทำให้เห็นสัจธรรมว่า "สมบัติผลัดกันชม" เหล่านี้ล้วนเป็นไปตามกงกรรมร่วมกันของหมู่ชนชาติในสุวรรณภูมินี้
ณ วัดมหาธาตุ หน้าซากพระปรางค์ประธานที่เคยสูงที่สุดในอยุธยาด้วยความสูง 50 เมตร บินหลาฉายภาพอดีตอันแสนปวดร้าวของชาวอยุธยาและคนไทยอีกครั้ง คือการ เสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310
หลังกรุงแตก พม่าไม่เพียงขนทรัพย์สมบัติและสิ่งของเงินทองกลับเมืองไป แต่ยังได้สุมเพลิงหลอมเอาทองคำที่แผ่หุ้มองค์ "พระศรีสรรเพชญาดาราม" พระพุทธรูปยืนใหญ่สูงจากยอดรัศมีถึงพระบาทราว 14 เมตร สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวอยุธยาที่อยู่คู่กรุงศรีอยุธยามานานกว่า 260 ปี ได้ทองเนื้อ 7 น้ำสองขา (หรือก็คือทองคำราว 18K) ไปทั้งสิ้น 286 ชั่ง คิดน้ำหนักเป็นบาทได้เท่ากับ 22,880 บาท
เฉพาะทอง 18K จากองค์พระศรีสรรเพชญาดารามเทียบกับราคาทองคำในวันนี้ มูลค่าน่าจะสูงกว่า 300 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมพระพุทธรูปทองคำแท้สูงเท่าตัวคนอีก 18 องค์ ที่ส่วนใหญ่มีแหวนและอัญมณีมีค่าอย่างทับทิมและมรกตประดับ ซึ่งเป็นมูลค่าอีกมหาศาล
แค่มูลค่าทองคำจากพระพุทธรูปที่พม่าเอาไปทั้งหมดอาจสูงกว่าพันล้านบาท แต่คงเทียบไม่ได้กับ "คุณค่า" ทางจิตใจของชาวอยุธยาและคนไทยที่มิอาจประเมินค่าได้
จึงไม่น่าแปลกใจ หากคนไทยที่ผ่านการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่มีมุมมองแบบเดิมๆ จะอดโกรธแค้นพม่าไม่ได้ หลายคนไม่อยากไปเห็นเจดีย์ชเวดากอง เพราะทำใจไม่ได้หากเห็นทองคำที่ตนเชื่อว่าเป็นของไทยที่พม่าปล้นไป บางคนถึงขั้นอยากไปเผาเจดีย์ชเวดากองเพื่อเอาทองคืนมา
"ขณะที่เราด่าพม่าว่าเผาเมืองเอาทองเราไป แต่จริงๆ มีแค่พม่าแน่หรือที่ปล้นกรุงศรีอยุธยา" บินหลาตั้งคำถามให้ฉุกคิดก่อนให้คำอธิบาย
หลังจากพระปรางค์วัดมหาธาตุล้มลงในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงพบว่ากรุพระปรางค์ซึ่งสูงราว 17 เมตร บรรจุสมบัติมีค่าไว้มากมาย ทว่ากรุดั้งเดิมจะมีจำนวนและมูลค่ามหาศาลเพียงใดนั้น มิอาจทราบได้ แต่สมบัติเท่าที่รอดพ้นน้ำมือของหัวขโมยนักขุดหลงเหลืออยู่ในกรุมาจนถึงปี พ.ศ.2500 ที่กรมศิลปากรเข้ามาดูแล แค่เพียงเศษเสี้ยวก็ยังสร้างความตื่นตะลึงได้อย่างมาก
ของเหลือๆ ที่ว่า ก็เช่น สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ทำซ้อนกันถึง 7 ชั้น ทั้งงดงามและประเมินค่ามิได้, พระพุทธรูปทองคำ, ตลับทองคำ, รูปสิงโต, ปลาทอง ฯลฯ
เช่นเดียวกับกรุพระปรางค์วัดราษฎร์บูรณะ หลังข่าวกรุแตกในค่ำคืนหนึ่งของปี พ.ศ.2501 แพร่ออกไป เช้าวันรุ่งขึ้นที่กรมศิลปากรเข้าไปก็ได้เจอแต่ "ของเหลือ" เช่น พระพิมพ์ทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อชินที่หลงเหลืออยู่ราว 1 แสนองค์ และงานศิลปะอันทรงคุณค่าชนิดหนึ่งเดียวในโลกทั้งสิ้น
หากยังจำข่าวโจรขุดกรุที่กลายเป็นบ้า สวมมงกุฎทองคำและถือดาบทองคำไปเดินเล่นในตลาดได้ แค่เพียงเครื่องประดับทั้ง 2 ชิ้นนี้ก็พอทำให้หลายคนจินตนาการได้แล้วว่าสมบัติจากกรุนี้น่าจะมีคุณค่าเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์และมีมูลค่ามากมายเพียงใด
เชื่อว่าเฉพาะทองคำที่พวกคนร้ายขนไปในครั้งนี้ น่าจะมีน้ำหนักราว 100 กิโลกรัม นี่ยังไม่นับรวมชิ้นงานศิลปะและพระพิมพ์จำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ บินหลามองว่ายังมีอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ปล้น" กรุงศรีอยุธยา
การรื้อถอนอิฐครั้งใหญ่จากกำแพงเมือง กำแพงวัง และกำแพงวัดในอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อนำมาใช้สร้างทำนบป้องกันน้ำท่วมให้กรุงเทพฯ และในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อนำมาใช้สร้างภูเขาทองวัดสระเกศ นับเป็นอีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน
ตราบจนวันนี้ เมืองมรดกโลกอย่างอยุธยาก็ยังคงถูกปล้นไปไม่รู้วันละเท่าไร...
บินหลามองว่า อยุธยากำลังถูกปล้นด้วยนิคมอุตสาหกรรม, แผนพัฒนาประเทศที่ทำลายสิ่งแวดล้อม, วัตถุนิยมตะวันตก, วัยรุ่นปาหิน, แก๊งมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แต่ที่เลวร้ายและแนบเนียนที่สุดเป็นการปล้นด้วยการท่องเที่ยวแบบงมงายและละโมบ
"เมื่อเช้ามือของผมเพิ่งเปื้อนดิน (เปื้อนสีน้ำตาล) เปื้อนน้ำ (เปื้อนสีน้ำเงิน) จากการก่อร่างสร้างเมืองขึ้นมา แล้วอีก 200 กว่าปีต่อมา ก็มือผมนี่แหละ มือคนไทยนี่แหละที่ทำลายเมืองตัวเอง ฉะนั้นอย่าเอาแต่โทษพม่า โทษตัวเองบ้าง" บินหลาสรุปได้น่าคิด
เหตุการณ์กรุงแตกครั้งหลังที่คนไทยโทษว่าเป็นฝีมือพม่า แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ และนักประวัติศาสตร์หลายท่านระบุตรงกันว่า กรุงศรีอยุธยาแตกอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่พม่าจะพังประตูเมืองสำเร็จด้วยซ้ำ โดยสิ่งที่ยืนยันได้ดีก็คือสภาพการแตกความสามัคคีของคนไทย
ไม่กี่สิบปีก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 อยุธยาแบ่งเป็นหลายก๊กหลายเหล่าและสู้รบกันเองบ่อยครั้ง ทั้งกลุ่มพระราชวงศ์แย่งชิงอำนาจการปกครอง ขุนนางผู้ใหญ่แก่งแย่งอำนาจทางการเมือง เจ้านายหัวเมืองแข็งข้อต่อราชธานี เหล่าแม่ทัพนายกองละทิ้งหน้าที่เอาตัวรอด ไพร่พลทุกหนแห่งอยู่สภาพตัวใครตัวมัน ฯลฯ
เมื่อต้องสู้ศึกภายในบ่อยเข้า "ระบบการป้องกันอาณาจักร" ของอยุธยาที่เคยเข้มแข็งก็ค่อยๆ อ่อนแอลง จนไม่อาจต้านทานศึกภายนอกได้
"ประวัติศาสตร์มักจะหมุนทับตัวมันเองเสมอ" บินหลาเตือน
พร้อมกับฝากให้กลับไปดูประวัติศาสตร์อยุธยาก่อนการล่มสลายของอาณาจักรว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก่อนจะสรุปด้วยน้ำเสียงและสีหน้าหดหู่ราวกับต้องการสะท้อนความรู้สึกของชาวอยุธยาสมัยกรุงแตก
"ไม่ว่าฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็คือเสียกรุง!!!" เขาทิ้งท้าย
บางทีเมื่อเรายอมถอยออกจากฐานความเป็นคนไทย แล้วลองมอง "กรุงเก่า" อีกครั้ง บนฐานความเป็นมนุษย์โดยใช้สติเข้าใจและใช้ความคิดไตร่ตรองอย่างปราศจากอคติ ประวัติศาสตร์อยุธยาก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับสังคมไทยยุคปัจจุบันได้บ้าง
ดั่งเพลง "อยุธยาเมืองเก่า" (หรือ "อยุธยารำลึก") มีใจความสำคัญอยู่บทสุดท้ายว่า
...เราชนชั้นหลังฟังแล้วเศร้าใจ อนุสรณ์เตือนให้ชาวไทยจงมั่น สมัครสมานร่วมใจกันสามัคคี คงจะไม่มีใครกล้าราวีชาติไทย!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|