|

ธงชัย ธาวนพงษ์ ไต้ก๋งหมื่นล้าน
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หากความสำเร็จในปัจจุบันเป็นพลังงานสะสมจากหยาดเหงื่อและแรงกาย จากการต่อสู้ชีวิตเมื่อครั้งอดีต ยอดขายเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีของ "พรานทะเล" ในวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ย่อมเป็นผลจากผลึกแห่งประสบการณ์กว่า 15 ปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นไต้ก๋งหนุ่มมือหนึ่งแห่งน่านน้ำทะเลไทยที่ชื่อว่า "ธงชัย ธาวนพงษ์"
เพราะมหาชัยเป็นเมืองแห่งการประมง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยเรือประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ทั้งรายเล็กรายใหญ่ซึ่งหมายรวมถึงแบรนด์ที่ทุกคนย่อมคุ้นหูอย่าง "พรานทะเล"
ณ ท่าเทียบเรือประมงแห่งหนึ่งในมหาชัย เป็นท่าเทียบเรือของครอบครัว "ธาวนพงษ์" เรือประมงขนาดกว่า 100-300 ตัน จอดเทียบท่าเรียงรายไปถึงอู่ซ่อม บำรุงเรือของธาวนพงษ์ที่อยู่ติดกัน
เรือประมงยิ่งดูอลังการเมื่อเทียบกับเรือใบขนาด 4 คนแจว ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 60 ปี เรือหาปลารุ่นพ่อที่นับว่าเป็นฐานรากของ "พรานทะเล" ซึ่งตั้งไว้บนท่า ราวกับเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรากเหง้าที่มาของฝูงเรือประมงขนาดใหญ่เบื้องหน้า
บนกาบเรือประมงที่มีระวางบรรทุกเกือบ 200 ตัน หนุ่มใหญ่กำลังปีนขึ้นลงอย่างคล่องแคล่ว จนยากจะเชื่อว่าเขาคนนี้มีอายุล่วงมา 64 ปีแล้ว เหล่าลูกเรือเรียกขานชายหลังวัยเกษียณคนนี้ว่า "เฮีย" แต่สมัยที่เขายังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ เหล่าลูกเรือยุคนั้นล้วนเรียกเขาว่า "ไต้ก๋ง"
หลายเดือนทีเดียวที่ ผู้จัดการ 360 ํ ตั้งตารอให้ "ธงชัย ธาวนพงษ์" ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแห่งยูเนียนโฟรเซนโปรดักส์ (UFP) เจ้าของสินค้าอาหารทะเลแบรนด์ "พรานทะเล" สามารถหาเวลามาออกเรือ ย้อนรำลึกถึงชีวิตสมัยเป็นไต้ก๋ง เรือได้
เมื่อเรือเริ่มแล่นออกจากท่าไปทีละน้อย ลมเย็นและกลิ่นทะเลก็เริ่มเข้าสัมผัสลูกเรือและแขกผู้มาเยือน
ธงชัยโบกมือให้กับเรือประมงที่แล่น ผ่านไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับบอกว่านั่นเป็นมารยาทของชาวเล เพราะเมื่ออยู่กลางทะเล เรือทุกลำก็เหมือนเพื่อนที่จะคอยช่วยเหลือซึ่งกันยามมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
"ช่วงหลังไม่ค่อยได้ออกเรือเลย ส่วนใหญ่จะสั่งทางโทรศัพท์มากกว่าเพราะมีคนรับผิดชอบแล้ว เราก็กลายเป็นไต๋บกแทน" อดีตไต้ก๋งเริ่มออกตัว
หลังจากวางมือจากพังงาเพื่อขึ้นฝั่งมาก่อร่างครอบครัวและสร้างธุรกิจตั้งแต่อายุ 33 ปี ธงชัยใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต กว่าจะก้าวขึ้นแท่นเจ้าของอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีตลาดอยู่ทั่วโลก และมียอดขายเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน
นานกว่า 30 ปีที่ธงชัยหันหลังให้เก้าอี้ผู้คุมเรือ ดังนั้นการกลับมาขึ้นเรือในครั้งนี้ เขาเห็นชัดเจนว่า ชีวิตไต้ก๋งปัจจุบันคงเปลี่ยนไปจากอดีตมากแล้ว
เรือประมงยุคนี้มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายกว่ารุ่นธงชัยมาก โดยเฉพาะเครื่องมือด้านการสื่อสารและการจับปลา เช่น วิทยุผ่านดาวเทียม ทั้ง Single Sideband และ VHF, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบหาตำแหน่งเรือ หรือ GPS, เรดาร์สำหรับหาตำแหน่ง ระยะใกล้ และ Echo Sounder และ SONAR เป็นต้น
ขณะที่ลูกเรือหนุ่มอธิบายการทำงานของเครื่องมือทันสมัยแต่ละชิ้น ธงชัยให้ความสนใจสอบถามอยู่เป็นระยะ พร้อมกับยอมรับว่าเครื่องมือหลายชิ้น เขาไม่ทันได้ใช้ และใช้ไม่เป็นแล้ว
"สมัยผมมีแค่แผนที่อ่าวไทย 1 แผ่น เข็มทิศ 1 อัน และก็ลูกดิ่งวัดน้ำ เดี๋ยวนี้เขา มีระบบเดินเรืออัตโนมัติ แต่ยุคผมยังเป็นระบบโซ่อยู่เลย" เขาอมยิ้ม
เส้นทางไต้ก๋งของธงชัยเริ่มต้นเมื่อเขาสอบไม่ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ตามที่ฝันไว้ จากนั้นเขาก็ผันตัวเองไปช่วยกิจการเรือประมงของครอบครัว
ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเคี่ยวกรำของพี่ชายหรือสายเลือดลูกทะเลที่ได้รับถ่ายทอด จากพ่อ เพียงแค่ 4-5 เดือนหลังลงไปเรียนรู้และทำงานประจำทุกตำแหน่งแล้ว ประจวบกับเรือลำใหม่ต่อเสร็จพอดี พี่ชายจึงผลักดันให้ธงชัยขึ้นแท่นเป็นไต้ก๋งคุมเรือคู่กับคนงาน อีกราว 15 คน
"สมัยที่เป็นไต้ก๋ง ผมเรียกตัวเองว่า "โก๋เล" ซึ่งหมายถึง "จิ๊กโก๋ทะเล" เขาเล่าความประทับใจครั้งอดีต
เหตุที่เขาเรียกตัวเองเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสไตล์การแต่งตัวตามแฟชั่นยุคเอลวิส กางเกงขาบานและเสื้อผ้าชีฟอง รัดรูป ซึ่งซื้อจากร้านจิมแมนช็อปในห้างไดมารู...แน่นอน! ไม่มีไต้ก๋งคนไหนในยุคนั้นแต่งตัวแบบเขาออกทะเล
นอกจากนี้เขายังน่าจะเป็นหนึ่งในไต้ก๋งเรือคนไทยไม่กี่คนที่ฟังเพลงคลาสสิก อย่างบีโธเฟ่น, โมสาร์ท, สเตราส์ เป็นต้น และพกวรรณกรรมอ่านยากอย่าง "ผู้ชนะสิบทิศ" ของยาขอบขึ้นไปอ่านเล่นบนเรือ ยามว่างจากหน้าที่
อีกเหตุผลของฉายานี้มาจากความมีน้ำใจของไต้ก๋งคนนี้ ที่มักจะเตรียมเสบียง ในปริมาณมากกว่าเรือชาวบ้าน จึงมีเรือประมงลำอื่นมักมาจอดเทียบกลางทะเลเพื่อขอแบ่งอาหารบ้าง แบ่งน้ำแข็งแช่ปลาบ้าง บ้างก็ขอดื่มเหล้าด้วย
นอกจากความมีน้ำใจ โก๋เลธงชัยยังขึ้นชื่อในเรื่อง "ความเฮี้ยบ" ในการทำงานเพื่อให้การออกเรือแต่ละเที่ยวได้ปลามาทีละมากๆ แต่ก็ตอบแทนด้วย "ความแฟร์" ในเรื่องค่าแรงและส่วนแบ่ง
"ถ้าจะใช้คนหรือให้ความร่วมมือเต็มที่ อย่างน้อยเราต้องดีกับเขาก่อน ให้สวัสดิการกับเขา เพราะถ้าชีวิตเขาไม่ดีงานก็ไม่มีทางดี ถ้าเขาทำงานไม่เป็นก็ต้องสอนให้เป็น..." ธงชัยสาธยายอีกยาวเพราะคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้เป็นสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
ความมีน้ำใจอาจไม่ใช่คุณสมบัติโดยตรงของไต้ก๋งที่ดี แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือสร้างพระเดชพระคุณเพื่อให้ได้ใจ ลูกเรือมาโดยสมบูรณ์ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อแรกของการเป็นไต้ก๋งที่ดี ธงชัย มองว่าต้องอาศัยจิตวิทยามากพอสมควร
เพราะเริ่มออกเรือครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี และใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้เลื่อนขั้นเป็นไต้ก๋งเรือ ธงชัยจึงเป็นไต้ก๋งอายุน้อย ที่สุดในตอนนั้น ขณะที่ลูกเรือหลายคนอายุมากกว่าเขาเป็นรอบ
ลำพังเพียงสายเลือดหรือการเป็นลูกและน้องของเจ้าของกิจการ ไม่ได้ทำให้ธงชัยเป็นที่ยอมรับโดยดุษณี เขาจึงต้องเรียนรู้และทำการบ้านหนักกว่าไต๋เรือคนอื่น เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็น "ไต้ก๋งเรือที่เก่ง" ซึ่งมีเงื่อนไขว่า เป็นผู้คุมเรือที่จับปลา ได้เยอะ รักษาคุณภาพได้ดี ใช้เวลาน้อย และคุมคนงานได้ดี
ด้วยพระเดชพระคุณของโก๋เลธงชัย เขาจึงสามารถคุมลูกเรือได้ดี แต่เงื่อนไข 3 ประการหลังในการเป็นไต๋เรือที่เก่งกว่าลำอื่น เขาอาศัยภูมิปัญญาไต้ก๋งประยุกต์ กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และแสวงหา เทคโนโลยีหรือเครื่องมือทุ่นแรงมาช่วย
ในเรื่องขององค์ความรู้ฉบับชาวเล ธงชัยอาศัยการฟังและจดบันทึกประสบ การณ์ของไต๋เรือคนอื่นบ้าง ลูกเรือที่เป็นเพื่อนรุ่นพี่บ้าง ผสมผสานกับประสบการณ์ ของตัวเอง
"ส่วนใหญ่ก็เรียนจากวงเหล้า เพราะพอเมากันหน่อย หลายคนคุยหมด โชว์หมด เราอาศัยเมาดิบเอา เพราะเป็นคนคออ่อน ถ้าเมาจริงก็จะไม่ได้เรียนรู้ อะไรเลย บางทีไม่ไหวก็ต้องไปล้วงคอหลังร้าน นี่คือวิธีเรียนรู้วิชาไต้ก๋ง" ธงชัยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
สิ่งที่ธงชัยต้องการเรียนรู้ไม่ใช่ภูมิปัญญาชาวประมงพื้นบ้านอย่างการอาศัยดวงดาวเป็นเข็มทิศ และการหาปลาด้วยการฟัง เสียงปลา หรือ "ดูหลำ" แต่เป็นการศึกษาเรื่องของลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของท้องทะเลและฝูงปลา
"ไต้ก๋งคนไหนจะก้าวหน้ากว่ากัน อยู่ที่การศึกษาเรื่องภูมิศาสตร์กับธรรมชาติหรือที่เรียกว่าระบบนิเวศ ต้องเรียนรู้ทั้งจากตำราและไปให้เห็นจริง เพื่อนำมาใช้พัฒนาการทำงานของเรา"
ด้วยความรู้เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปัจจุบัน ธงชัยได้เปรียบไต๋เรือหลายลำ เพราะเข้าใจหลักภูมิศาสตร์ได้ดีกว่าและอ่านภาษาอังกฤษได้บ้าง เขาจึงมีโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าและวิทยาการด้านการประมงในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง
ในบรรดาไต้ก๋งที่ไปร่วมงานเอ็กซ์โปต่างๆ ดูเหมือนจะมีเพียงธงชัยที่สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเหล่านั้นกลับมาประยุกต์ใช้ในกิจการของตนได้ก่อนคนอื่น ในยุคของเขา เรือประมงของธาวนพงษ์จึงมักได้ชื่อว่าเป็น "ที่สุด" หรือ "ลำแรก" ในหลายเรื่อง
อาทิ "ใหญ่ที่สุด" เพราะในช่วงปี 2506 เรือประมงส่วนใหญ่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน แต่เรือของธงชัยบรรทุกได้ 30 ตัน, เป็น "เรือดีเซลลำแรก" ของน่าน น้ำอ่าวไทย และเป็นเรือประมง "เจ้าแรก" ที่ได้นำตู้แช่แข็งปลามาติดตั้งบนเรือ จนต่อยอดมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
"การทำห้องเย็นถือเป็นการบริหาร ปลาที่จับได้ เพื่อไม่ให้ปลาในตลาดมีมากจนทำให้ราคาตกและในช่วงที่ปลาในทะเล มีน้อย ปลาก็จะได้ไม่ขาดตลาด" คำพูดนี้ ยืนยันได้ดีว่าธงชัยเป็นไต้ก๋งที่มีหัวทางการบริหารอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ อีกสิ่งที่อยู่ในความภูมิใจสูงสุดของชีวิตไต้ก๋งธงชัย คือการคุมเรือออกไปจับปลานอกน่านน้ำไทยเป็นรายแรกๆ ของประเทศ
หลังจากปี 2510 เขาเริ่มนำเรือออกไปทำประมงในน่านน้ำเวียดนาม จากนั้นก็ขยายอาณาเขตเข้าไปจับปลาในมหาสมุทรอินเดีย จนปี 2518 ก็ได้ร่วมทุนกับอินเดียและยกเลิกการจับปลาในน่านน้ำไทยมาตั้งแต่ปี 2517 เพื่อปล่อยให้เป็นพื้นที่หากินของประมง พื้นบ้านและประมงพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง
แต่อีกเหตุผลสำคัญก็เพื่อไปยังแหล่งปลาที่ดีที่สุดและชุกชุมที่สุด
จากความพยายามขยายน่านน้ำครั้งนั้น ณ วันนี้กองเรือประมงของ "พรานทะเล" กระจายกำลังหากินอยู่ในน่านน้ำของอิหร่าน โอมาน เยเมน จิบูตี อินเดีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ด้วยยุทธศาสตร์และความทันสมัยต่างๆ ที่นำมาสมัยที่เป็นไต้ก๋ง ยุคนั้นธงชัยจึงได้รับ การยอมรับว่าเป็น "ไต้ก๋งที่เก่ง" คนหนึ่งของเมืองไทย
เพื่อระลึกถึงความทรงจำอันดีครั้งนั้น หลังจากสร้างออฟฟิศพรานทะเลแล้ว ธงชัยก็ตั้งชื่อตึกบัญชาการของเขาว่า "เอกนาวา" อันหมายถึงเรือลำที่เป็นที่หนึ่ง โดยเขาอธิบายว่า คนยุคนั้นเขาจะชมว่าเรือลำนี้เก่ง มิได้ชมไต้ก๋งโดยตรง
กล่าวได้ว่า การคุมลูกเรือไม่ถึง 20 คนในสมัยที่ยังเป็นไต้ก๋ง เป็นบทเรียนชั้นดีในการ ฝึกฝนทักษะในการบริหารพนักงานกว่า 5 พัน ให้กับผู้บริหารใหญ่แห่ง "พรานทะเล" คนนี้ โดยเฉพาะเรื่องการวางตำแหน่งและมอบหมายหน้าที่
"พอมาทำโรงงานหลังจากที่ขึ้นเรือมามันก็เลยง่าย เพราะจริงๆ ชีวิตไต้ก๋งก็คือแมเนจเมนต์ทั้งคน เวลา และเครื่องจักร" ธงชัยสรุป
ความพยายามทำ Job Description ของทุกตำแหน่งบนเรือ นอกจากเพื่อให้ลูกเรือรู้ว่าใครต้องทำอะไร รู้ว่ากลุ่มงาน ตรงไหนสัมพันธ์กัน และรู้ว่าตำแหน่งไหนเป็นผู้นำของแต่ละส่วนงาน ฯลฯ ยังเป็นประโยชน์สำหรับการจดทะเบียน ISO9000 ให้กับเรือประมงของเขาด้วย
นอกจากนี้ ความอดทนอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของไต้ก๋งก็ถูกนำมาใช้เป็นคติในการบริหารธุรกิจของเขา แม้จะเป็นการทนต่อปัจจัยคนละรูปแบบกันก็ตาม จนกลายมาเป็นคติข้อหนึ่งของธงชัยที่ว่า "อดทนเยี่ยงมหาตมะ คานธี"
ตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่คุมเรือรอนแรมอยู่กลางเวิ้งทะเลที่เห็นเพียงผืนน้ำ และแผ่นฟ้า อีกสิ่งที่ธงชัยเรียนรู้จากชีวิต ไต๋เรือ ก็คือความไม่แน่นอนมีอยู่ในทุกยอดคลื่น
ความแปรปรวนของธรรมชาติในทะเล ช่วยฝึกฝนให้ธงชัยต้องตัดสินใจเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็เตือนให้เขาพึงรำลึกเสมอว่า ชีวิตลูกเรือทุกคนขึ้นอยู่ในมือไต้ก๋ง ดังนั้นทุกการตัดสินใจจึงต้องเป็นไปด้วยความแม่นยำและมีความรับผิดชอบ
"ฉะนั้นก่อนทำอะไรต้องแน่ใจว่าไม่พลาดหรือใช้ความระวังมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ต้องทำให้เป็นจิตใต้สำนึกเลย แต่ถ้าสุดท้ายอะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด เพราะไม่มีใครสู้ธรรมชาติได้หรอก สิ่งที่เราพอทำได้ตอนนั้นก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยสติ" ไม่ใช่การปลงแต่เป็นการยอมรับความยิ่งใหญ่ของทะเล
ธงชัยเล่าถึงสมัยที่ไปเจอพายุหมุนในอ่าวเบงกอล ตอนนั้นมีเรือประมงรายอื่นวิ่งไปพร้อมกัน 4-5 ลำ บางลำถูกพายุหมุนซัดเรือหายไป ขณะที่เรือของเขาโชคดีที่เจอเพียง หางพายุ แต่ก่อนที่เรือของเขาจะเข้าผจญคลื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาวิ่งตรวจเช็กและปิดรูน้ำและรอยรั่วรอบเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ จากนั้นก็ทำได้แค่เพียงเบาเครื่อง ประคองเรือขึ้นลงสู้คลื่น และภาวนา
"แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราปลอดภัยที่สุด ก็คือการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก่อนออกเรือจึงต้องเช็กฤดูกาล และตรวจสอบดินฟ้าและสภาพทะเลก่อนเสมอ"
บางครั้งกับความไม่แน่นอนบางประการ ธงชัยก็เปลี่ยนเป็นบทเรียนด้วยความพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดหรือแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความไม่แน่นอนนั้น
"ครั้งหนึ่งเราปล่อยอวนไปยังไม่ทันปล่อยให้ตึงเลย ปรากฏว่าอวนติด ถ้าเอาขึ้นมาได้น่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่กระตุกทีเดียวตูดอวนขาด นอกจากไม่ได้เงิน ยังเสียค่าซ่อมอีก 5 หมื่นบาท เราก็ได้แต่คิดว่าไม่เป็นไรทำใหม่ได้ แต่ก็เอาตรงนี้มาดูว่าเพราะอะไร แล้วก็แก้ไขมัน"
เมื่อต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ครั้งธุรกิจต้องมาประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ซึ่งไม่เพียงทำให้รายได้หดหาย ยังทำให้หนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ธงชัยไม่รู้สึกท้อถอย เขาแก้ไขด้วยการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดส่งออกเพื่อดึงเงินดอลลาร์เข้าบริษัท
สุดท้าย ธงชัยยังใช้ความไม่แน่ นอนของชีวิตไต้ก๋งกลางทะเล ในการให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ
เกือบทุกครั้งที่เขาเกิดความลังเลใจหรือไม่มั่นใจในการขยายธุรกิจ หรือนำพา "พรานทะเล" ออกไปสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ เขามักเพิ่มพลังความกล้าให้ตัวเองด้วยคำพูดไม่กี่ประโยคว่า...
"อยู่ทะเลจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เรื่องแค่นี้เสี่ยงน้อยกว่าออกทะเลตั้งเยอะ"
จากเรือแจวรุ่นพ่อ 1 ลำมาถึงเรือประมงขนาดเล็กไม่เกิน 60 ตัน เพียงไม่กี่ลำในรุ่นพี่ชาย วันนี้กองเรือของพรานทะเลมีทั้งหมด 13 ลำ ขนาดระวางบรรทุกตั้งแต่ 110 ตัน จนถึงกว่า 600 ตัน ซึ่งมีถึง 2 ลำ
จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มด้วยการจับปลาขายที่ตลาด ขยายไปสู่ธุรกิจห้องเย็น จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งในนามบริษัท UFP ต่อมาก็ขยายกิจการผ่านแบรนด์ "พรานทะเล" ที่มีตลาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดตะวันออกกลางและตลาดจีนที่เพิ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้
...ทันทีที่ทุกกิจการสมบูรณ์แบบมากกว่านี้ ธงชัยกำลังเตรียมตัวและเริ่ม "แต่งตัว" ให้กับธุรกิจเพื่อขยายไปสู่การเป็นบริษัทมหาชนในอนาคต
จากกิจการขายอาหารทะเลไม่มีแบรนด์ มาสู่การสร้างแบรนด์ชื่อ "พรานทะเล" และขยายธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตผักรายใหญ่ผ่านแบรนด์ "พรานไพร"
จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าอาณาจักร "พรานทะเล" ก่อร่างสร้างขึ้นมาได้ก็ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายของโก๋เลธงชัย ผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคและวิถีชีวิตไต้ก๋งในแบบเดิม
"ทุกวันนี้ เวลาที่มีโอกาสได้มาอยู่บนเรือตรงนี้ แม้จะไม่ได้ออกทะเล มันรู้สึกมีความภูมิใจอยู่ลึกๆ ว่าเราปั้นทุกอย่างมากับมือ" อดีตไต้ก๋งธงชัยกล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่ได้กลับมายืนรับลมชมปากอ่าวไทย ขณะที่เรือกลับเข้าฝั่งเทียบท่า
สำหรับหลายคนการร่ำเรียนวิชาเพื่อเป็นไต้ก๋งอาจเป็นเรื่องยากเข็ญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเล่าเรียนวิชาเพื่อเป็นมหาบัณฑิต แต่ในการเรียนรู้ที่จะเป็น "ไต้ก๋งหมื่นล้าน" อย่างธงชัย ธาวนพงษ์ คงต้องอาศัยทั้งสมอง สองมือ หัวใจที่กล้าหาญและอดทน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเรียนเพื่อเป็นดุษฎีบัณฑิตเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|