|
บล็อก: ปฏิวัติพฤติกรรมผู้บริโภค
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้ายังพอจำกันได้ ผมเคยโฆษณาบล็อกของผมผ่านทางหน้าคอลัมน์นี้ ในวันที่บล็อกกำลังฮิตสุดขีด พร้อมๆ กับสื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ แห่งทั้งไทยและต่างประเทศ ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อต้อนรับกระแสบล็อกอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในวันนั้น บล็อกกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ บล็อกกลายเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างเจ้าของสินค้ากับผู้บริโภคแบบเนียนๆ และบล็อกกลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์อันแสนวิเศษของนักการเมือง
อย่างไรก็ดี กระแสของเว็บไซต์แนว คอมมูนิตี้หลั่งไหลและพัดกลืนบล็อกไปจนเหมือนกับว่าบล็อกเป็นเพียงปราสาททรายที่ก่อไว้บนชายหาด เมื่อคลื่นสาดซัดปราสาท ทรายก็พังทลาย แต่หลังคลื่นถอยตัวคืนสู่ท้องทะเล ปราสาทบล็อกบางหลังยังคงยืนตระหง่านท้าลมคลื่นที่เตรียมจะถาโถมเข้ามาหาทุกคืนวัน ผมมองว่าบล็อกยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในแวดวงสื่อสารมวลชนและการตลาด แต่กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาบล็อก หลายๆ บล็อกได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า พวกเขาคือของจริง พวกเขาจึงอยู่ได้และบล็อก อีกส่วนก็ถูกกลืนหายไปกับสังคมอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงกระแสที่วูบไหวขึ้นมาชั่วครั้งคราว ก่อนที่จะมีกระแสใหม่ๆ ตามมา
มีรายงานที่น่าสนใจ แต่อาจจะเก่าไปนิดหน่อย เพราะรายงานไวัตั้งแต่เดือนตุลาคมปีกลายว่า บล็อกเกอร์ส่วนใหญ่ล้วนเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก แต่ส่วนเล็กๆ ของเหล่าบล็อกเกอร์กลับทำเป็นจริงเป็นจัง เป็นอาชีพในระดับที่พวกเขาสามารถทำเงินได้มากกว่าที่เคยเป็นมา รายได้ของเหล่าบล็อกเกอร์มาจากโฆษณาทั้งหลายที่อยู่ในบล็อกของพวกเขา
อย่างไรก็ดี พวกเขายังสามารถสร้างรายได้อีกส่วนหนึ่งจากความโด่งดังของบล็อกของพวกเขาทำให้พวกเขาได้รับเชิญไปพูดในงานสัมมนาต่างๆ รวมถึงการได้รับงานเขียนบทความ หรืองานประชุมประจำปีทางด้านบล็อก รายงานของ Technorati บอกว่า เหล่าบล็อกเกอร์ที่ทำรายได้อย่างจริงจังจากการเขียนบล็อกนั้น 54 เปอร์เซ็นต์เขียนบล็อกเป็นงานพาร์ตไทม์ 32 เปอร์เซ็นต์เขียนให้ตัวเองหรือบริษัทของตัวเอง และ 14 เปอร์เซ็นต์เขียนให้กับองค์กรที่ตัวเองสังกัด
บล็อกเกอร์ทั้งฟูลไทม์และพาร์ต ไทม์มีรายได้จากโฆษณาในหน้าบล็อกของตัวเอง รวมถึงรายได้ผ่าน affiliate marketing ที่พวกเขามีส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้าที่ลิงค์ผ่านบล็อกของพวกเขา 15 เปอร์เซ็นต์มีรายได้จากการพูดในงานต่างๆ และ 17 เปอร์เซ็นต์มีรายได้หลักจากสิ่งที่พวกเขาเขียนบล็อก ที่น่าสนใจสำหรับเหล่าบล็อกเกอร์อาชีพแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อปีของพวกเขาจากโฆษณาผ่านบล็อกอยู่ที่ 122,222 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่บล็อกเกอร์ พาร์ตไทม์มีรายได้ 14,777 เหรียญสหรัฐต่อปีจากโฆษณา เฉลี่ยรวมเหล่าบล็อกเกอร์ มีรายได้จากโฆษณาผ่านบล็อกเฉลี่ยอยู่ที่ 42,548 เหรียญสหรัฐต่อปี
นอกเหนือจากรายได้โดยตรงจากการโฆษณาผ่านหน้าบล็อก จากเงินเดือน หรือจากค่าจ้างเขียนบล็อกหน้าต่อหน้าแล้ว เหล่าบล็อกเกอร์ยังมีรายได้จากค่าจ้างไปพูดในงานสัมมนา จากการเขียนบทความในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือจากการออกสื่อในลักษณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ นอกจากนี้ พวกเขายังมีรายได้จากการรับจ้างไปให้ความรู้หรือความเห็นในงานกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรีวิวสินค้าต่างๆ ตามความถนัดของตน
ขณะที่โดยเฉลี่ยพวกเขาลงทุนกับบล็อกของพวกเขาเพียงปีละ 4,068 เหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่าพวกเขามีผลตอบ แทนจากการลงทุนหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโน โลยี โดยเฉพาะการเข้ามาของ twitter และ facebook รวมถึงเว็บคอมมูนิตี้อื่นๆ
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วมีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมงาน All Things D ตอบแบบสอบถามว่าพวกเขาใช้ twitter แต่เหล่าบล็อกเกอร์มากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ที่ Technorati สำรวจในช่วงครึ่งปีหลังบอกว่าพวกเขาใช้ twitter โดยเฉพาะการใช้ twitter เพื่อการโฆษณาบล็อกของพวกเขาและเพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคว่าคนทั่วๆ ไปเขาคุยเรื่องอะไรกันบ้าง
นอกจากนี้ บล็อกของพวกเขา 83 เปอร์เซ็นต์ถูกเข้าไปดูผ่านทาง twitter
แนวโน้มที่น่าสนใจอีกอย่างคือ บล็อกได้เข้ามาอิทธิพลอย่างสูงต่อการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการที่คนตัวเล็กๆ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนดัง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง ดารา หรือผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ แบบใกล้ชิดและถึงตัวผ่านทางหน้าบล็อก
โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานา ธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาที่บล็อกกลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญ เช่นเดียวกับที่นักการเมือง ไทยใช้บล็อกและเว็บไซต์ด้านคอมมูนิตี้ในการสื่อสารกับวัยรุ่นและชนชั้นกลางที่ใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน และนับวันเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นๆ
เช่นเดียวกับที่ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า เหล่าบล็อกเกอร์มองว่าบล็อกจะมีอิทธิพลต่อวงการการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างสูง เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง การตกต่ำทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ ล้วนอาศัยบล็อกในการอธิบายและสื่อสารการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างลงตัว การอธิบายเหตุการณ์ที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการล้มละลายของเหล่าธุรกิจการเงินของโลก ไปจนถึงการนำนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลมาใช้ในการกอบกู้เศรษฐกิจล้วนอาศัยบล็อกเกอร์อธิบายและสร้างความเข้าใจให้เหล่านักท่องอินเทอร์เน็ตยุคใหม่เข้าใจในภาษาแบบบ้านๆ กล่าวได้ว่า บล็อกปรับตัวโดยการผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเว็บคอมมูนิตี้ที่เป็นที่นิยม และทำให้บล็อกยังคงอยู่ในกระแส โดยเฉพาะการปรับโพสิชั่นของตัวเองให้เป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกและน่าเชื่อถือ
เมื่อพิจารณาถึงอนาคตของบล็อกแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ตที่มีอิทธิพลทั้งแนวกว้างและลึก บวกกับบล็อกที่ขยายตัวในเชิงคุณภาพมากขึ้นๆ กำลังจะยกระดับพวกเขาเข้าสู่ชุมชนโลก ที่สำคัญ บล็อกกำลังจะกลายเป็นเจนเนอเรชั่นที่สามถัดจากวิทยุและโทรทัศน์สำหรับการสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน ความกว้างและลึกของการสื่อสารผ่านบล็อกช่วยนำเสนอข้อมูลในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกผ่านการวิเคราะห์และพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้อ่านบล็อกมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคของวิทยุและโทรทัศน์ที่ผู้เสพสื่อทำได้เพียงรับป้อนข้อมูลทางเดียว แต่บล็อกทำให้พวกเขาสามารถตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อในเชิงที่สร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งถ้าผู้เสพสื่อฉลาดและมีไหวพริบมากพอ รวมถึงประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ก็จะทำให้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถมองข้ามได้
บล็อกกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับเสรีภาพการพูดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่ง ส่งผลต่อการสร้างชุมชนประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม บล็อกกำลังจะสร้างรัฐอิสระแบบไร้พรมแดนและยากที่รัฐจะสามารถควบคุมได้ง่ายๆ ถ้ารัฐยอมที่จะไม่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกผ่านอินเทอร์เน็ตและบล็อก ที่สำคัญ คนรุ่นถัดๆ ไปหลังยุคบล็อกเฟื่องฟูจะมีการแสดงออกที่ก้าวร้าวและเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐที่ไร้คุณภาพ พวกเขาจะไม่ทำหน้าที่แค่ให้ความเห็นแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องจากความเห็นด้วย หมายความว่า รัฐในอนาคตจะต้องเป็นรัฐที่มีคุณภาพและไว้เนื้อเชื่อใจได้ มิฉะนั้นรัฐก็ไม่สามารถอยู่ได้
สำหรับบล็อกในประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกับแนวโน้มโลกที่ว่า บล็อกที่แน่จริงจึงจะอยู่ได้ นอกจากนี้ ชื่อเสียงของบล็อกไม่ได้กระจุกอยู่กับบล็อกเพียงไม่กี่บล็อกอีกแล้ว เนื่องจากโอกาสในการเขียนบล็อกได้เปิดกว้างให้กับทุกๆ คนที่มีความสามารถ กราฟ Long Tail ที่ผมเคยพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในคอลัมน์นี้จึงอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างชัดเจน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่บล็อกในประเทศไทยยังทำไม่ได้คือการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากบล็อก เรื่องราวจากบล็อกหลายบล็อกถูกนำไปรวมเล่มเป็นหนังสือ แต่ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นจากนั้นมากเท่าไรนัก ซึ่งเราคงต้องดูกันอีกนาน
อ่านเพิ่มเติม:
State of the blogosphere 2009, http://technorati.com/blogging/feature/state-of-the-blogosphere-2009
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|