ขุนพลรุ่นใหม่ของบัณฑูร ล่ำซำ

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เครือธนาคารกสิกรไทยว่างเว้นแต่งตั้งผู้บริหารจำนวนมาก การเปิดตัวผู้บริหารรุ่นใหม่รวดเดียวถึง 35 คนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

"ตอนนี้ผม 57 อีก 3 ปีภาพตรงนี้ น่าจะแน่นขึ้น อะไรที่ตั้งใจว่าจะต้องทำใน 3 ปีนี้น่าจะมาครบ หลังจากนั้นบทบาทก็อาจจะเปลี่ยนสีบ้าง ไม่ได้จะไปไหนนะแต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบบ้าง เพื่อว่า...ก็ต้องมี การปูทาง เพื่อวันหนึ่งคนอีกรุ่นหนึ่งจะต้องขึ้นมาบริหารงานเครือธนาคารกสิกรไทย ก็ธรรมชาติของมนุษย์ วันหนึ่งผมก็ต้องไป ส่วนหลังจากนั้นจะไปใช้เวลาทำอย่างอื่น ตรงไหน อันนี้ตอบไม่ได้ ยังไม่ชัด"

คำกล่าวของบัณฑูร ล่ำซำ ประธาน กรรมการบริหาร ธนาคารกสิกรไทย เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์นิตยสาร ผู้จัดการ 360 ํ เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2552

คำกล่าวในวันนั้นมีนัยสำคัญเพราะหลังจากที่บัณฑูรให้สัมภาษณ์ไม่นาน เครือธนาคารกสิกรไทยประกาศแต่งตั้งตำแหน่งใหม่และผู้บริหารใหม่ราว 35 คนขึ้นแท่นมาเป็นผู้บริหารแนวหน้าของธนาคารสีเขียว แห่งนี้

มีความเป็นไปได้ที่บัณฑูรต้องการเฟ้นหาผู้บริหารหน้าใหม่ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร หรือมาแทนเขาในอนาคต เพราะในระยะหลังๆ บัณฑูรมักจะพูดเรื่องรีไทร์บ่อยขึ้น

เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่า บัณฑูรจะเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างไร??

การปรับตำแหน่งผู้บริหารใหม่ รวมถึงแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ราว 35 คน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เครือธนาคาร กสิกรไทยว่างเว้นแต่งตั้งผู้บริหารจำนวนมากเช่นนี้

ตำแหน่งที่แต่งตั้งเป็นตำแหน่งระดับสูง เช่น ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

ประการสำคัญผู้บริหารใหม่เหล่านี้ โดยเฉลี่ยมีอายุน้อยลงหรือประมาณ 45 ปี เมื่อเทียบกับบัณฑูรอายุ 57 ปีและประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ อายุมาก กว่าบัณฑูรเพียงครึ่งปี

บัณฑูรเชื่อว่าธนาคารกสิกรไทยมีคนเก่งที่สุดในประเทศไทยอยู่ไม่น้อยและเปรียบผู้บริหารหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่เหมือน ม้าแข่งที่ต้องหาสนาม สร้างสภาพแวดล้อม ให้เกิดความท้าทาย

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการปูทางให้ผู้บริหารใหม่มีโอกาสแสดงความสามารถ และเลือกเฟ้นขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่อไป

บัณฑูรจึงเลือกวันพบปะสื่อมวลชนประจำปีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 เปิดตัวผู้บริหารใหม่ทั้งหมดอย่างเป็นทางการ

ผู้บริหารใหม่มาจากหลายภาคส่วน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเป็นนักเรียนทุนของธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้บริหารที่ทำงานร่วมกับธนาคารมามากกว่า 10 ปี เช่น กฤษณ์ จิตต์แจ้ง อายุ 38 ปี รองกรรมการ ผู้จัดการ ดูแลด้านการวางแผนการเงินและบัญชี ขัตติยา อินทรวิชัย อายุ 41 ปี รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานการเงินและควบคุม

ประสพสุข ดำรงชิตานนท์ อายุ 48 ปี รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงาน บริหารยุทธศาสตร์องค์กร พิพิธ เอนกธิติ อายุ 42 ปี รองกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบพัฒนาธุรกิจสำนักงานต่างประเทศ รวมถึงโครงการทำธุรกิจในประเทศจีน

วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร อายุ 38 ปี รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลช่องทางการให้บริการสาขา เอทีเอ็ม The Wisdom RM ดูแลผลิตภัณฑ์/บริการ และ K WePlan วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา อายุ 44 ปี รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกำกับและตรวจสอบ หรืออำพล โพธิ์โลหะกุล อายุ 44 ปี รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลผลิตภัณฑ์/บริการ เงินฝากและบัตรเครดิต และดูแลช่องทางการให้บริการ Contact Center

จึงดูเหมือนว่าผู้บริหารยุคนี้เป็นยุค ของนักเรียนทุนกสิกรไทย ส่วนผู้บริหารที่ไม่ใช่นักเรียนทุน แต่ก็เป็นผู้บริหารดาวรุ่ง อย่างเช่นณัฐรินทร์ ตาลทอง อายุ 40 ปี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ทำงานร่วมกับธนาคารมา 13 ปี เคยร่วมงานกับ บงล.ภัทรธนกิจ

ธิติ ตันติกุลานันท์ อายุ 40 ปี มีประสบการณ์ร่วมงานกับธนาคาร HSBC ก่อนมาเป็นผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ดูแลผลิตภัณฑ์/บริการ Investment Banking และ Capital Market Product

ธนาคารยังได้แต่งตั้งผู้บริหารที่มาจากภายนอกและเข้ามาร่วมงานกับธนาคาร เมื่อต้นเดือนมกราคมคือ พัชร สมะลาภา เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด มีประสบ การณ์การทำงานกับบริษัทเมอร์ริล ลินช์ แอนด์ โก อิงค์ ออสเตรเลียและประเทศไทย และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด

ตำแหน่งของผู้บริหารและบทบาทหน้าที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้ดูแลในภาพกว้างเหมือนที่ผ่านมา แต่ผู้บริหารจะต้องรู้ลึกในหน้าที่รับผิดชอบ และต้องรู้จักผลิตภัณฑ์ และบริการของธุรกิจในเครือที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรง

เพราะเป้าหมายการทำธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยจะเน้นลูกค้าสองส่วนหลัก คือกลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจ แบ่งออกเป็นลูกค้ารายย่อยอีก 7 กลุ่ม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

เหมือนที่บัณฑูรกล่าวถึงทุกครั้ง เมื่อมีการแสดงถึงวิสัยทัศน์ของธนาคารคือ สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าบุคคล หรือที่เรียกว่าชีวิตเอกเขนก หรือทำให้ลูกค้าธุรกิจเติบโต เรียกว่าธุรกิจไร้ขีดจำกัด ผู้บริหารงานจึงจำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจในมุมมอง 2 มิตินี้

บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารใหม่บางรายจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลหลายส่วนในเวลาเดียวกันเช่น พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนกสิกรไทย จำกัด และวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ต้องดูแลกลุ่มลูกค้าบรรษัท ลูกค้าผู้ประกอบการ และลูกค้าบุคคลไปพร้อมๆ กัน

หน้าที่ในการบริหารงานในรูปแบบนี้ ยังมีผู้บริหารอีกหลายคนที่ดูแลลูกค้าเหมือน กับผู้บริหารทั้งสองคน

พิพิธ เอนกนิธิ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารพร้อมกับผู้บริหารอื่นๆ ซึ่งเขาบอก กับ ผู้จัดการ 360 ํ ไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าได้รับตำแหน่งใหม่

เขาเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทยร่วมงานกับธนาคารย่างเข้าสู่ปีที่ 13 และมีประสบการณ์ทำงานหลายส่วนธุรกิจ เช่น ดูแลธุรกิจด้านบรรษัท ผู้ประกอบการ ลูกค้าบุคคล

เขาเล่าว่าถูกปรับเปลี่ยนไปทำงานในหลายส่วน บางครั้งต้องไปอยู่ในส่วนที่ไม่รู้จัก อย่างเช่นธุรกิจเอสเอ็มอี หรือรีเทล แบงกิ้งต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา

"คุณบัณฑูรจะหมุนตำแหน่งบ่อยและเร็วมาก พนักงานจะต้องปรับตัวให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ปรับได้"

พิพิธได้รับแต่งตั้งเป็นรองกรรมการ ผู้จัดการ รับผิดชอบธุรกิจสำนักงานต่างประเทศ และธุรกิจในประเทศจีน เขาต้องฝึกฝนการใช้ภาษาจีน ตอนนี้เขาก็พูดและอ่านได้แล้ว

ประสบการณ์การทำงานของพิพิธ จะถูกนำไปบุกเบิกในประเทศจีน เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางโจว เช่น ปล่อยสินเชื่อ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การบริหารความเสี่ยง หรือการให้บริการในสกุลเงินหยวน เป็นต้น

บัณฑูรบอกว่าผู้บริหารปัจจุบันสวมหมวก 2 ใบ หมวกใบแรกบริหารงานที่รับผิดชอบ และหมวกใบที่สอง เป็นผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย

หมวกใบแรกเป็นการทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนหมวกใบที่สอง ในฐานะผู้บริหารกสิกรไทยต้องสามารถทำงาน ร่วมกับคนอื่นได้เหมือนเป็นทีมเดียวกันโดยมีเป้าหมายปลายทางให้ลูกค้าได้บริการ ที่ครบ

เป็นโจทย์ที่บัณฑูรสื่อสารกับผู้บริหารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ผู้บริหารใหม่ที่ถูกแต่งตั้งจะมีผู้บริหาร 3 คนทำหน้าที่ "ผู้ประสานงาน" คือ วศิน วณิชย์วรนันต์ ดูแลกลุ่มลูกค้าบรรษัท ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ดูแลผู้ประกอบการ และกฤษฎา ล่ำซำ ดูแลกลุ่ม ลูกค้าบุคคล

การปรับตำแหน่งใหม่และแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ไม่ได้ทำให้บัณฑูรทำงานน้อยลงแต่อย่างใด เขายังต้องการทำงานหนัก โดยเฉพาะการติดตามผลงานของธุรกิจในเครือ จะต้องมีการรายงานผลความคืบหน้าทุกสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ซึ่งทำติดต่อกันมานานกว่า 1 ปี

นโยบายแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ของธนาคารกสิกรไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา และการคัดเลือกผู้บริหาร รุ่นใหม่ๆ จึงเข้มข้นมากขึ้นทุกปี

ผู้บริหารเหล่านี้จึงมีส่วนร่วมในการ กำหนดยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย ในช่วงที่ก้าวย่างเข้าสู่ครบรอบ 65 ปี เพราะบัณฑูรมองว่าธุรกิจของธนาคารและในเครือมีครบหมดแล้ว หลังจากเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด

ตลอดการทำงาน 30 ปีของบัณฑูร เขาได้เห็นธนาคารพัฒนาก้าวหน้าไปมาก รวมไปถึงการกำหนดบทบาทผู้บริหารไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ค่อนข้างครอบคลุม

"สำหรับผม ในแง่ของประเภทของธุรกิจ ครบหมด เหลืออย่างเดียวคือทำให้สามารถทำด้วยกันได้ แล้วนำไปสู่ความสามารถที่สูงขึ้นในการที่จะสนองความต้องการของลูกค้า เพราะเรามีครบทุกชิ้นและชิ้นต่างๆ ต้องให้แน่ใจว่าทำงานด้วยกันได้ ไม่ใช่มาปีนเกลียวกันแล้วก็ทะเลาะกัน วงแตกนี่ไม่เอา"

เหลือเวลาอีก 3 ปี ก่อนที่บัณฑูรจะมีอายุครบ 60 ปี เขามั่นใจว่าธนาคารกสิกรไทยจะแข็งแรงมากกว่านี้อีกหลายเท่า ก่อนจะถึงเวลานั้น ต้องติดตามอย่างใจจด ใจจ่อ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.