ความท้าทายของเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เวียดนามเป็นประธานหมุนเวียนของ ASEAN ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการใช้ข้อตกลงการค้าระหว่าง ASEAN กับจีน ยังเป็นปีที่ "มิตรภาพเวียดนาม-จีน" มีอายุครบ 60 ปี จึงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮานอยกับปักกิ่งและบทบาทของเวียดนามในฐานะประธาน ASEAN

เว็บไซต์ BBC ภาษาเวียดนาม รายงานเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนปัจจุบันกำลังถูกมองว่าเป็นประโยชน์ให้จีนท้าทาย ASEAN ถึงแม้เวียดนามจะไม่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เพราะอยู่นอกกลุ่มที่ใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-ASEAN หรือ CAFTA

ความสัมพันธ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงของสหรัฐอเมริกากับพม่า ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เวียดนามอาจจะมีบทบาท ตามการวิจารณ์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญการกดดันจากทิศเหนือ

ถึงแม้ได้รับยกย่องว่ามีการเตรียมการที่ดีสำหรับบทบาทประธาน ASEAN เวียดนามก็ยังคงอยู่นอกเขตการค้าเสรีจีน-ASEAN (CAFTA) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปีนี้และยังคงกำลังเตรียมตัวเพื่อร่วมกับลาว กัมพูชา พม่า เพื่อเข้า CAFTA ในปี 2558

แม้กระนั้นในฐานะประธาน ASEAN เวียดนามต้องยอมรับความต้องการต่างๆ จากประเทศที่พัฒนากว่าคือสิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ที่ได้ใช้ CAFTA กับจีนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

สำนักข่าวจีนใหม่อ้างข้อมูลของจีนในการแลกเปลี่ยนการค้ากับ ASEAN ว่าเพิ่มขึ้นจาก 105,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2547 เป็น 231,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2551

แต่นักวิจารณ์บางคนก็กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนที่ถูกมองกันว่า "อ่อนค่า" นั้นกำลัง "ก่อความเสียหายให้ ASEAN"

Boo Chanco คอลัมนิสต์ของ The Philippine Star เขียนบทความไว้ในฉบับเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ASEAN ยินดีต้อนรับนโยบายเงินตราของจีนกับเงินหยวน ใน 10 ปีข้างหน้า

แต่เวลานี้เขากล่าวว่าหลังจากเศรษฐกิจ ASEAN หลายฐานได้ลดค่าเงินของตน อัตราแลกเปลี่ยนเงินจีนก็กำลังทำให้การส่งออกของประเทศเพื่อนบ้าน ASEAN เสียหาย

นักเขียนผู้นี้กล่าวว่าปัญหาคือจีนจะยังคงมองตนเองเสมือนเป็นประเทศ กำลังพัฒนา จึงต้องการได้รับสิทธิพิเศษเช่นนั้น แม้ว่าความจริง จีนกำลังผุดขึ้นเป็นฐานเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก แซงทั้งญี่ปุ่น และตามหลังเพียงอเมริกาเท่านั้น

ยังไม่มีการระบุผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศ ASEAN และประเทศเหล่านี้ยังไม่เตรียมตัวรวมพลังร่วมกันป้องกัน "เครื่องหมายการค้า ASEAN" รวมถึงองค์กร ASEAN ก็จะเป็นเพียงเวทีเพื่อให้ประเทศใหญ่ได้ใช้ประโยชน์

บทความของนักหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์ผู้นี้ ย้ำว่าเวียดนามก็ได้ลดค่าเงิน ด่องของตนเพื่อแข่งขันกับจีน

บรรดาผู้ผลิตไทยและฟิลิปปินส์ก็กำลังบ่นว่าสินค้าจีนราคาถูกเกินไป พวกเขาจึงไม่สามารถแข่งขันได้

แต่กระนั้น คำถามคือเวียดนามในตำแหน่งประธาน ASEAN มีความกล้าพอจะนำเสนอปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ในภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสินค้าราคาถูกจากจีนหรือไม่

ทัศนะต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในช่วงต้นปี 2553 ของแกนนำเวียดนามไม่ได้พูดอะไรถึงหัวข้อนี้ นอกจากคำมั่นจะปฏิบัติตามระเบียบวาระประชุม "เปลี่ยนการมองการณ์ไกลเป็นการปฏิบัติ" (from Vision to Action)

ข้อเสนอเลื่อน CAFTA

เว็บไซต์เดียวกันรายงานบทความในวันต่อมา (5 ม.ค.) ว่าเพียง 2-3 วันหลัง จากเปิดเขตการค้าเสรีจีน-ASEAN อินโดนีเซียก็ได้เสนอให้เลื่อนการปฏิบัติออกไป ในขณะที่วงการธุรกิจไทย ฟิลิปปินส์บอกว่า ข้อตกลงทำให้พวกเขาได้รับความเสียหาย

หนังสือพิมพ์ Jakarta Post ฉบับ 5 มกราคม 2553 รายงานว่ารัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซีย เพิ่งเสนอให้เลื่อนการใช้ระบบลดอัตราภาษีนำเข้าในกรอบข้อตกลง การค้าเสรีกับจีน (CAFTA) ตามความตกลงที่ได้ลงนามตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เขตการค้าเสรีระหว่างจีนและหกประเทศสำคัญที่สุดของ ASEAN คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 คาดว่าประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าทางด้านเศรษฐกิจใน ASEAN ประกอบด้วยลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่าจะเข้าร่วมเขตการค้าเสรีในปี 2558

แต่เวลานี้รัฐมนตรี Mohamad Suleman Hidayat ของอินโดนีเซียกล่าวว่ารัฐบาลประเทศของเขาได้ส่งสารถึงคณะ กรรมการแกนนำกลุ่ม ASEAN เสนอให้เลื่อนการลดอัตราภาษีนำเข้าออกไป ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ "เจรจากันใหม่"

2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น หนังสือ พิมพ์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้กล่าว ถึงเขตการค้าเสรีกับจีนว่า "ก่อความเสียหายให้ธุรกิจและการส่งออกของ ASEAN"

หนังสือพิมพ์ Philippine Star ฉบับเดือนธันวาคม 2552 มีบทความกล่าว ว่าการที่จีนรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ดังเช่นปัจจุบัน ทำให้สินค้าส่งออกของ ASEAN ได้รับความเสียหายหนัก

เวลานี้ธุรกิจของประเทศต่างๆ ใน ASEAN ก็ส่งเสียง

Tan Sri William Cheng ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมชาวจีนมาเลเซีย (ACCCIM) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ภายในประเทศว่าทางการจีน "ก็เข้าใจว่าตลาดเสรี อาจจะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อ ASEAN"

ตามหนังสือพิมพ์อินโดนีเซีย ความตกลง CAFTA ระดับภาษีศุลกากร 0% ใช้สำหรับ 17 ภาคเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ ประกอบด้วย 12 ภาคการผลิต 5 ภาคเกษตรกรรม แร่ธาตุ และประมง

สิ่งที่ ASEAN วิตกคือสินค้าราคาถูก นำเข้าจากจีน

รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย Mohamad Suleman Hidayat กล่าวว่าต้องเจรจากันใหม่เพื่อ "สินค้านำเข้าราคาถูกไม่ทะลักเข้ามาทำให้ล้นตลาดโดยไม่ถูกสกัดกั้น"

ส่วน Tan Sri William Cheng เชื่อว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาเขตการค้าเสรีจะ "มีสิ่งกีดขวางมากกว่าเป็นความสะดวก"

ใครเรียนรู้ใคร?

ในเว็บไซต์ BBC ภาษาเวียดนาม เมื่อวันที่ 4 มกราคมกล่าวว่า เฉพาะหน้า ทางด้านการทูต ประเทศ ASEAN แสดงความพอใจกับบทบาทของเวียดนาม

สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการ ASEAN กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Jakarta Post เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 เกี่ยวกับเวียดนามดังนี้

"ประเทศประธานใหม่ได้มีรายชื่อชัดเจนถึงสิทธิพิเศษและระเบียบการใช้ประโยชน์ เป็นทิศทางเกี่ยวกับการสนับสนุน และนำเข้าปฏิบัติสำหรับประเทศสมาชิก ASEAN สำหรับคณะกรรมการเลขานุการและฝ่ายที่สาม"

Roadmap สำหรับ ASEAN ปี 2553 ที่เวียดนามต้องการปฏิบัติ มุ่งสู่การเสริมสร้างความร่วมมือภายใน

แน่นอนนับเป็นการท้าทายไม่น้อย เพราะความแตกต่างยังมีอีกมากในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและรับรู้ทางการเมืองของประเทศสมาชิก

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ ไซ่ง่อน มีบทความของ ดร.หวู กวาง เหวียต ผู้เชี่ยวชาญสถิติของสหประชาชาติ ที่บรรยายประสบการณ์การทำงานในหลายประเทศใน ASEAN เขาเขียนว่า "สิ่งที่ยากในปัจจุบัน คือบางประเทศร่ำรวยมาก หรือมีกำลังเงินมากเพราะประชาชนมาก บางประเทศกลับยากจนมากและประชาชนน้อย ยากจะสามารถเข้าร่วมการประชุมหรือดำเนินการได้ทุกอย่างเพื่อให้แนบแน่นกับกิจกรรม ต่างๆ ของกลุ่มประเทศนี้

"ปัจจุบัน ASEAN ยังไม่มีรูปแบบการจัดกองทุนร่วมกันเพื่อช่วยเหลือทางการเงินในกิจกรรมของประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความสามารถด้านการเงิน และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือความผูกพัน ในลักษณะยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ASEAN ก็ยังไม่มี"

ข้อที่น่าสนใจตาม ดร.หวู กวาง เหวียตเขียนถึงคือความแตกต่างเห็นได้ชัดเจนในมาตรฐาน ทั้งของลาวและเวียดนาม

"เจ้าหน้าที่ลาวในศูนย์กลางดีกว่าเวียดนาม พวกเขาพูดภาษาอังกฤษดีอย่างยิ่ง ผมทำงานกับกรมสถิติลาวด้วยภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องใช้ล่าม เวลาบรรยายที่กรมแผนการเศรษฐกิจก็ไม่ต้องใช้ล่าม"

นั่นยังไม่รวมถึงลาวมีจิตสำนึกป้องกันสิ่งแวดล้อม เช่นที่หลวงพระบางดีกว่าเวียดนาม

เกี่ยวกับเสรีภาพการสื่อสาร ปัจจุบันมองกันว่าเวียดนามด้อยกว่าหลายประเทศใน ASEAN

ทำให้พม่า "ดีขึ้น"

ในการตอบคำถามกับสำนักข่าว BBC ในปี 2552 Roby Alampay ประธานพันธมิตรหนังสือพิมพ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ตัวแทนนักข่าวประจำ 3 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโด นีเซีย เคยวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเวียดนาม ดำเนินคดีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง

"ในขณะประชาคม ASEAN กำลังหาวิธีสร้างความเชื่อถือและขับเคลื่อนให้เป็นรูปร่างคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษย์ ASEAN ขณะที่ที่นั่นไม่เคารพสิทธิพลเมืองของพวกเขาต่อศาล แล้วที่ไหนจะเป็นโอกาสให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษย์ ASEAN ปกป้องสิทธิมนุษย์ภายในกลุ่ม"

กับสถานการณ์นั้นเวียดนามมีสิทธิพิเศษอะไรในการเป็นแกนนำ ASEAN?

ประสบการณ์การทูตหลากหลายออกไปนอกภูมิภาค เป็นสิ่งบอกเหตุว่ากำลังย้ำถึงในกรณีเวียดนาม

หนังสือพิมพ์อินเดียฉบับเมื่อต้นปีนี้ ให้ความเห็นว่าเวียดนามในบทบาทประธาน ASEAN จะพยายามปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอินเดียกับ ASEAN มูลค่า 2,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553

ความแตกต่างเกี่ยวกับการพัฒนา การเมืองภายใน ASEAN แสดงออกชัดเจน ที่สุดเมื่อมองไปในพม่า ประเทศที่มีนายพล กลุ่มหนึ่งเป็นแกนนำมีอำนาจเด็ดขาด

ดูเหมือนการประสบความคืบหน้าในการกลับมาใกล้อเมริกาและฝ่ายตะวันตกของฮานอยจะช่วยให้เวียดนามมีบทบาท ในกระบวนการทำให้พม่า "ดีขึ้น"

ดร.หวู กวาง เหวียต กล่าวว่า "ใน ฐานะประธาน ASEAN ปี 2553 การช่วยให้ พม่าและสหรัฐฯ บรรลุถึงความเข้าใจกัน เพื่อให้สองฝ่ายยกเลิกนโยบายตรงข้ามกัน จะเพิ่มบทบาทของเวียดนามในการสร้างอิทธิพลอำนาจให้ ASEAN และเป็นธรรมดา ที่จะนำประโยชน์มาให้เวียดนามเองไม่ใช่น้อย"

ใน 1 ปีที่เป็นประธาน ASEAN เวียดนามยังจะต้องเรียนรู้จากทางการประเทศต่างๆ ภายในกลุ่มอีกมากตั้งแต่วิธีจัดการเศรษฐกิจ ความโปร่งใสทางด้านสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน ในขณะที่อาจจะนำเสนอตัวอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตน และการสร้างความสัมพันธ์หลากหลายขึ้นสำหรับ ASEAN


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.