“โพยก๊วน” ที่ถูกกวนในชายแดนแม่สอด

โดย เอกรัตน์ บรรเลง ศรีนาคา เชียงแสน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

โพยก๊วนชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เคยเกิดปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จับกุมเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2549 จำนวน 2 ราย

ทั้งคู่ถูกดำเนินคดีในข้อหาแลกและทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี (รอลงอาญา) พร้อมยึดเงินตราต่างประเทศที่รับแลก (เงินจัต) ทั้งหมด

การจับกุมตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินจัต กับเงินบาทในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด เป็นอย่างมาก

ตัวกลางในการรับแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินจัต เป็นระบบการค้าเฉพาะถิ่น ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานเกือบร้อยปี เนื่องจากการค้าชายแดนไทย-พม่า ที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2485 จนถึงปัจจุบันมีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาทล้วนแต่ต้องซื้อขายกันด้วยเงินจัต

แต่การค้าชายแดนในแม่สอด ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ของไทยที่นี่ไม่รับซื้อเงินจัต ทำให้พ่อค้าชายแดนจำเป็นต้องหาวิธีการในการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อให้กระบวนการค้าสมบูรณ์ การที่ธนาคารพาณิชย์ของแม่สอด ไม่ยอมรับซื้อเงินจัต เพราะทางการไทยได้ประกาศไม่รับรองเงินจัตของพม่า ซึ่งแน่นอนว่า ในทางกฎหมาย ใครก็ตามที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างจัตกับบาท หากจับได้เมื่อไหร่ก็ผิดเมื่อนั้น ซึ่งสวนทางความเป็นจริงตามวิถีปฏิบัติที่หากผู้ประกอบการไทยไม่รับเงินจัต ก็ขายสินค้าไม่ได้

การทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินจัต จึงเป็นเรื่องสำคัญของการค้าชายแดนไทย-พม่า ทำให้ผู้ค้าชายแดนทุกแห่งต้องหาทางช่วยตนเองมานานถึง 65 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินใน พ.ศ.2485

นอกจากนี้ การที่เงินจัตไม่มีองค์กรหรือสถาบันการเงินใดรับรอง และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐาน การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับสถานภาพการค้าขายในท้องถิ่นเป็นสำคัญ

แต่เนื่องจากเงินจัตเป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางพม่า จึงเป็นเงินต่างประเทศ ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกรรมเกี่ยวกับเงินจัต ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมเงินสกุลต่างประเทศอื่นๆ

หากทำธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดีอาจได้รับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี และปรับ 20,000 บาท ดังนั้น ผู้ทำธุรกรรมเงินจัตทุกรายจะต้องขออนุญาต และไปขึ้นทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันในท้องที่อำเภอแม่สอด มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทำธุรกรรมรับแลกเปลี่ยนเงินจัตอยู่เพียงประมาณ 13 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีนกับพม่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.