|
จาก “เวียงศรีตวง” จนมาเป็นแม่สาย
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง ศรีนาคา เชียงแสน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ย้อนกลับไปนับพันปีก่อน "แม่สาย" ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเมือง "เวียงศรีตวง" เมืองเก่าแก่ของชาวลั๊วะที่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรโยนกราชธานีไชยบุรีศรีเชียงแสน ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เวียงพานและเวียงพานคำ" ตามลำดับ ถือเป็นถิ่นกำเนิดของพระเจ้าพรหมมหาราช กษัตริย์ผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณูปการต่ออาณาประชาราช และเป็นผู้ขับไล่ชนชาติขอมที่เข้ามายึดครองอาณาจักรโยนกออกไปได้สำเร็จ นำอิสรภาพความผาสุกมาสู่ดินแดนในย่านนี้ได้
แต่ด้วยวัฏฏะแห่งการเปลี่ยนแปลง เมืองแห่งนี้ก็ไม่สามารถดำรงอยู่เป็นนิรันดร์ ที่สุดก็เลือนหายไปจากบันทึกของหน้าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง
ก่อนที่บันทึกหน้าใหม่ของเมืองแม่สาย จะเปิดขึ้นที่ชุมชนชายแดนเล็กๆ ที่เงียบสงบ มีสภาพคล้ายกับเมืองชายแดนทั่วไป ที่ชาวบ้านในชุมชนติดต่อค้าขายกับเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน ในลักษณะ "ตลาดชาวบ้านชายแดน" ที่มีอายุเกือบจะเท่าอายุของประเทศไทยก็ว่าได้
ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดคือ การอพยพของชาวไทยยองจากลำพูน มาอยู่ในพื้นที่แถบเชียงแสน แม่จัน และแม่สาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้นโยบาย เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง โดยพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด คือบริเวณตำบล เกาะช้างในปัจจุบัน
ชาวไทยยองเหล่านี้เป็นชาวนาที่มีความรู้ความชำนาญด้านการชลประทานมาตั้งแต่ครั้งยังมีอาณาจักรเชียงรุ้งเป็นของตนเองในอดีต เมื่อมีการตั้งบ้านเรือนในลุ่มน้ำ แม่สายและแม่น้ำรวกก็ได้พัฒนาระบบเหมือง ฝายขึ้น โดยมีการขุดลำเหมืองแดงเพื่อเป็นช่องทางส่งน้ำเข้านา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่จนกลายเป็นแหล่งชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนตลาดชาวบ้านชายแดนนั้น เดิมอยู่บริเวณตลาดแพร่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2474 บุญยืน ศรีสมุทร คหบดีท้องถิ่นได้เปิดตลาด สดขึ้นมาใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ตลาดแห่งใหม่ นี้ได้รับความนิยมและกลายมาเป็นศูนย์กลาง การค้าขายของเมืองแม่สายในปัจจุบัน (เศวตยนต์ ศรีสมุทร, แม่สายจากอดีตถึงปัจจุบัน, เอกสารหอการค้าแม่สาย, น.38-40)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น รัฐบาลขณะนั้นได้ส่งกองทหารขึ้นไปยึดเมืองเชียงตุง คืนจากอังกฤษ โดยมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายในปี พ.ศ.2485 และสร้างถนนไปถึง เชียงตุง ระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร (ส่วนหนึ่งของเส้นทาง R3b ในปัจจุบัน) เมื่อยึดเชียงตุงได้ก็สถาปนาขึ้นเป็น "สหรัฐไทยเดิม" ทำให้เมืองแม่สายมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในฐานะประตูสู่เชียงตุง
และแม้ว่าเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องเสียเชียงตุงไปพร้อมๆ กับความเสียหายจากร่องรอยของมหาสงคราม แต่บทบาทของเมืองแม่สายไม่ได้รับผลกระทบ มากนัก เพราะได้กลายเป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญทางเหนือไปแล้ว
วิถีชีวิตของตลาดเมืองแม่สายในอดีต เริ่มขึ้นแต่เช้าตรู่ที่จะมีพ่อค้าแม่ขายจากฝั่งท่าขี้เหล็กเดินทางเข้ามาขายส่งสินค้าอันหลากหลาย พร้อมทั้งซื้อสินค้าฝั่งไทยกลับไป ในช่วงสายๆ หลังจากนั้นจะมีพ่อค้าจากแม่จัน เชียงราย แม้แต่พะเยา เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่ง
ทำให้ชุมชนเกษตรกรรมเล็กๆ เริ่มขยายตัวกลายเป็นชุมชนการค้าที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา อพยพเข้ามาอยู่อย่างหนาแน่น แต่มีลักษณะร่วมกันคือคนเหล่านี้ล้วนแต่รักสงบ ทำให้เมืองการค้าแห่งนี้เจริญเติบโต ปราศจากความขัดแย้งและกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมขนส่งย่านชายแดนที่สำคัญ นับแต่นั้นมา
และกำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|