“โพยก๊วน” เส้นเลือดหล่อเลี้ยงการค้าชายแดนไทย-พม่า

โดย เอกรัตน์ บรรเลง ศรีนาคา เชียงแสน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การค้าชายแดนระหว่างไทยและพม่าที่ทำกันมานับ 100 ปี ล้วนต้องใช้เงินจัตและบาทเป็นสื่อกลาง แต่เชื่อหรือไม่ว่ามูลค่าการค้าที่สูงกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาทนั้น ต้องทำผ่านระบบโบราณโดยมี "โพยก๊วน" เป็นตัวกลาง ไม่สามารถทำผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ได้

"แม่สาย" นับเป็นเมืองชายแดนสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตั้งอยู่ห่างจาก กรุงเทพฯ 891 กม. และห่างจากตัวเมืองเชียงราย 63 กม. มีพื้นที่ประมาณ 285 ตร.กม. มีลำน้ำสาย ลำน้ำรวก เป็นเส้น เลือดหล่อเลี้ยงและเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก) เป็นจุดเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทาง R3b (ไทย-พม่า-จีน)

ด้วยทำเลที่ตั้ง สภาพภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อำเภอแม่สายตั้งอยู่ในเป้า หมายการพัฒนาเป็นพื้นที่การค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ภายใต้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Border Economic Zone: SBEZ), โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region: GMS) หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ

แต่ถึงแม้แม่สายเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากถิ่นฐานที่เข้ามาทำมาค้าขายทั้งฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ถือสองสัญชาติกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย, ไทย ใหญ่, ว้าหรือจีนฮ่อก็ตาม แต่ผู้คนในพื้นถิ่น นี้ต่างมีความใกล้ชิดด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มากกว่าเมืองชายแดนไทย-พม่าด้านอื่นๆ

นอกจากนักท่องเที่ยวจะสามารถสื่อสารกับผู้คนทั้งฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ด้วยภาษาไทยกันแทบทั้งสิ้นแล้ว กระบวน การค้าที่นี่ยังสามารถรองรับได้ทั้งสกุลเงินท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเงินบาท เงินจัต (KYAT) เงินหยวน หรือสกุลเงินสากลอื่นๆ ได้ทุกสกุล

ซึ่งหากนำเกณฑ์การจัดแบ่งระบบการค้าของทางราชการ (กระทรวงพาณิชย์) มาเป็นตัววัด สามารถแบ่งรูปแบบการค้าชายแดนในแม่สายออกเป็น 3 รูปแบบคือ

1-การค้าในระบบ เป็นการค้าที่ถูกกฎหมาย พ่อค้าจะนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่าน พิธีการศุลกากร และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง

2-การค้านอกระบบหรือที่เรียกกันว่า "สินค้าลอยน้ำ" เป็นการลักลอบค้าขายตามช่องทางชายแดน โดยไม่ผ่านพิธีการด้านศุลกากร

3-การค้าผ่านแดน เป็นการค้าของไทยกับประเทศที่สาม เช่น สปป.จีน บัง กลาเทศ เป็นต้น แต่ทำโดยผ่านประเทศพม่าที่มีชายแดนติดกับแม่สาย

เฉพาะการค้านอกระบบ หรือสินค้า ลอยน้ำ ซึ่งว่าไปแล้วคือหัวใจและเอกลักษณ์ สำคัญของตลาดเมืองแม่สายนั้น ปัจจุบันมีช่องทางอย่างน้อย 9 จุด ที่เป็นช่องทางผ่านเข้า-ออกของสินค้าลอยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคจากจีนและสินค้า 15 รายการต้องห้ามจากไทยที่ทางการพม่าห้ามนำเข้าไปจำหน่ายในฝั่งพม่า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์พม่า ฉบับที่ 9/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 และประกาศฉบับที่ 10/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 ประกาศชนิดสินค้าที่ห้ามส่งออกไปต่างประเทศ สินค้าจำพวกผลิตผลการเกษตร แร่ธาตุ สังกะสี และผลิตผลของสัตว์ เช่น วัว ควาย)

9 ช่องทางสำคัญดังกล่าว คือ

1-ท่าข้าม "หัวฝาย" มีอดีตกำนันประสงค์ สีเหลือง เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายที่มีความกว้างเพียงประมาณ 10 เมตร ในฤดูแล้งผู้คนสามารถเดินข้ามไปมา ได้ หากเป็นฤดูน้ำหลากก็จะใช้เรือชักลากด้วยรอกแทน เป็นท่าเก่าแก่สุดคลาสสิกของพ่อค้าแม่สาย การขนถ่ายสินค้าจะทำกันในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะถูกลำเลียงเข้ามาเก็บไว้ตามโกดังต่างๆ รอส่งต่อให้พ่อค้าในพื้นที่ชั้นในต่อไป

2-ท่าข้าม "สายลมจอย" หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ท่าว้าแดง" อยู่ห่างจากท่าข้าม แรกประมาณ 200 เมตร เป็นของอดีตกำนันประสงค์ สีเหลือง เช่นกัน

3-ท่าข้าม "เกาะทราย" เป็นของพ่อ เลี้ยงทรง ห่างจากจุดที่สองประมาณ 500 เมตร อยู่ทางขวามือของสะพานแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก

4-ท่าข้าม "พ่อเลี้ยงสิทธิ์" หรือประสิทธิ์ ดวงเพชร หนึ่งในนักธุรกิจผู้กว้าง ขวางในเมืองแม่สาย

5-ท่าข้าม "เบอะหวาง" เป็นของกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายไทยใหญ่ที่ร่วมลงขันกันเปิดท่าเพื่อเป็นช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าของตนเอง

6-ท่าข้าม "ต้นโพธิ์" เป็นของกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายโกกั้งร่วมลงขันกัน

7-ท่าข้าม "กำนันนัย" หรือวินัย แสงสุข อดีตกำนัน ต.แม่สาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำรวก

8-ท่าข้าม "ป่าแดง" เป็นท่าของครอบครัวกำนันแดง (แสงสนิท ไชยศรี) ที่เสียชีวิตไปแล้ว เดิมเป็นท่าดูดทรายแต่มี การใช้เพื่อลำเลียงสินค้าหนีภาษีเป็นครั้งคราว

และ 9-ท่าข้าม "ปางห้า" เป็นท่าของครอบครัวกำนันแดงเช่นกัน

(ท่าข้าม 1-6 อยู่ริมน้ำแม่สาย ส่วนท่า 7-9 อยู่ริมน้ำรวก)

ท่าข้ามสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นเสมือน เส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเมืองแม่สายมายาวนาน ที่สำคัญคือเป็นแหล่ง รายได้นอกระบบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แน่นอน สินค้าลอยน้ำหรืออีกนัยหนึ่งก็คือสินค้าลอดรัฐ ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติของการค้าชายแดนทุกมุมโลก

ยิ่งสำหรับแม่สายแล้ว พิธีการลอดรัฐไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการไหลเวียนของเงินตราด้วย

ซึ่งตามฐานข้อมูลของกลุ่มงานค้าชายแดน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุไว้ว่าในกระบวนการค้าชายแดนไทย-พม่านั้น เนื่องมาจากระบบการเงินการธนาคารของพม่ายังไม่เป็นสากลพอ เช่นการที่ผู้ค้าจะชำระค่าสินค้าโดยวิธีการโอนเงินผ่านธนาคาร (Telegraphic Transfer) และการชำระเงินค่าสินค้าด้วยวิธีการเปิด L/C ยังมีความยุ่งยาก ต้องทำผ่านธนาคาร Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ระบบชำระเงินนอกระบบ หรือที่เรียกว่า "โพยก๊วน" แทน คิดเป็นสัดส่วนถึง 44% ส่วนอีก 42% ใช้วิธีการชำระด้วยเงินสด มีเพียง 14% เท่านั้นที่ใช้ระบบการเงินผ่านระบบธนาคาร จะว่าไปแล้วการใช้ระบบการเงินนอกระบบ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ค้าต้องการนัก แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น และเป็นพัฒนาการเฉพาะของระบบการค้าชายแดนที่ปฏิบัติกันมานานนับร้อยๆ ปี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ บุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ประธานหอการค้าแม่สายก็เป็นผู้หนึ่งที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หาทางเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อหามาตรการพัฒนาระบบการค้าผ่านระบบธนาคารเพื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้ง 2 ฝั่ง แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ เพราะวัฒนธรรมการบริหารของรัฐบาลทหารพม่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ และมักอยู่เหนือเหตุผล หรือความเข้าใจของคนทั่วไป

หาก Search ใน google.com คำว่า "โพยก๊วน" จะปรากฏรายงานการศึกษาของนักวิชาการหลากหลายระบุสอดคล้องกันว่า โพยก๊วนในความหมายเดิม หมายถึงจดหมายและเงินที่คนจีนโพ้นทะเล ส่งเงินไปให้ญาติที่ยังอยู่ในประเทศจีน ถือกันว่าเป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี มีลักษณะเฉพาะคือต้องมีการแนบจดหมายบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนแบบสั้นๆ พร้อมทั้งไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของทางบ้านแนบติดมาด้วย (วิภา จิราภาไพศาล, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 29 ฉบับที่ 10)

"โพยก๊วน" มีอยู่ในทุกประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลเข้าไปอาศัย

สำหรับในประเทศไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านเยาวราชและยังมีสาขาย่อยกระจาย อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด

พัฒนาการในระยะแรกๆ ของโพยก๊วน พบว่าผู้ที่ทำธุรกิจโพยก๊วนมักจะมีเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับธุรกิจด้านการค้าและการส่งออก หรือธุรกิจธนาคาร ประกันภัย หรือโรงสี เพราะต้องมีการกันสำรองเงินทุนจำนวนมากสำหรับการให้บริการ อย่างเช่นธนาคารหวั่งหลี ธนาคารกวางเก๊าะหลง ธนาคารเลียวยงเฮง ธนาคารจินเสง เป็นต้น ธนาคารเหล่านี้มีการเปิดเป็นแผนก "ร้านโพยก๊วน" (Remittance House) เพื่อให้บริการเรื่องการรับส่งเงินไปเมืองจีนด้วย

วิธีการที่นิยมกันมากในขณะนั้นคือผู้ประกอบการจะใช้วิธีการเปลี่ยนเงินที่รับฝากจากลูกค้าผู้ใช้บริการไปเป็นสินค้า โดยเฉพาะข้าว แล้วส่งออกในรูปสินค้าหลังจาก ขายข้าวได้แล้วจึงจะส่งเงินไปตามสาขาที่รับฝากโพยก๊วนของตน ก่อนจะส่งถึงยังผู้รับปลายทางอีกทอดหนึ่ง

ซึ่งวันนี้ แม้ว่าเทคโนโลยีของระบบการเงินการธนาคารในยุคศตวรรษที่ 21 จะทำให้โพยก๊วนยุคโบราณปิดบทบาทตัวเองไป แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าชายแดน พวกเขายังต้องพึ่งพาอาศัยระบบโพยก๊วนไม่ต่างจากเมื่อ 100 ปีก่อน...

นี่ไม่ใช่การกล่าวอ้างที่เกินจริง!!!

เพราะแม้แต่ตัวเลขจากการสำรวจของทางราชการ (กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) ยังยอมรับว่ามีการใช้ระบบโพยก๊วนสูงถึง 44% แต่จากตัวเลขของภาคเอกชนเชื่อว่าสูงถึง 50%

และแม้ว่าภาครัฐจะพยายามเข้ามากำกับควบคุมในเรื่องนี้ด้วยการออกกฎเกณฑ์ และระเบียบกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา พ.ศ.2485, พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2504 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็ตาม

แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าชายแดนแล้ว ยิ่งภาครัฐมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งโพยก๊วนมากขึ้นเท่านั้น

นั่นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนในระบบ-นอกระบบที่แตกต่างกันลิบลับ เช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตของธนาคารพม่า คือ 6 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดมืด 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1,295-1,305 จัต หรือประมาณ 100 จัตต่อ 2.75-3 บาทเศษ รวมทั้งเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากรัฐได้ง่าย

จากการตรวจสอบของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ พบว่าโพยก๊วนชายแดนแม่สายเข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคาร จะมี "พ่อค้าการเงิน-เจ้าของร้านโพยก๊วน" ทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือตัวแทนหักบัญชี (Clearing Agent) ในการรับโอนเงินหรือส่งมอบเงินให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยมีการออกเอกสารหลักฐานการส่งหรือรับเงิน หรือโพยให้ผู้รับบริการ มีการจดบันทึก จัด ทำบัญชี และมีสาขาของร้านโพยในเครือข่ายตามจุดสำคัญต่างๆ

แต่ไม่จำเป็นต้องมี "คนเดินโพย" เหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว...

เพราะวันนี้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาทำหน้าที่แทนคนเดินโพยโดยสิ้นเชิง เช่น เมื่อพ่อค้า จากฝั่งพม่าต้องการชำระค่าสินค้าให้กับพ่อค้าฝั่งไทย เขาจะนำเงินไปชำระที่ร้านโพยก๊วนฝั่งพม่า แล้วยกหูโทรศัพท์แจ้งให้พ่อค้าฝั่งไทยไปรับเงินที่สาขาฝั่งไทยได้เลย หรือหากพ่อค้าฝั่งไทยจะชำระค่าสินค้าให้พ่อค้าฝั่งพม่าก็กระทำในทำนองเดียวกัน ซึ่งทั้งสะดวก รวดเร็ว ยากแก่การตรวจสอบ เพื่อหาใบเสร็จใดๆ ที่สำคัญคือเชื่อถือได้

ตามหลักสุดยอดของวงการโพยก๊วนนับแต่อดีตก็คือ "ความเชื่อถือและคุณธรรม" เนื่องจากต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทั้งของผู้ประกอบการค้า ผู้ให้บริการโพยก๊วน ในการทำธุรกรรมระหว่างกันที่จะอาศัยความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และมักเป็นการได้ข้อมูลจากการบอกต่อๆ กันมา ใช่ว่าใครก็สามารถไปใช้บริการโพยก๊วนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโพยก๊วนของแม่สาย หรือชายแดนพม่าด้านอื่นๆ จะไม่ต้องการคนเดินโพยอีกแล้ว แต่พวกเขาก็ยังต้องการ "คนหิ้วเงิน" อยู่ เพื่อทำหน้าที่ ลำเลียงเงินสด (เน้นที่เงินบาท) จากฝั่งพม่า เข้ามาฝั่งไทยและจากฝั่งไทยออกไปฝั่งพม่า

"คนหิ้วเงิน" ยังเป็นข้อต่อสำคัญของระบบโพยก๊วนและเป็นจุดอ่อนของระบบไปในขณะเดียวกัน แม้ว่าระยะหลังบรรดาร้านโพยก๊วนจะหันมาใช้เงินหมุนเวียนในฝั่งไทยมากขึ้น แต่ยังต้องใช้กองทัพมดเคลื่อนย้ายตัวเงินอยู่ดี

ซึ่งในแวดวงคนค้าขายชายแดนแม่สาย รับรู้กันดีว่าในเมืองแม่สายมีโพยก๊วนไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเจ้าเก่าแก่ทั้งสิ้น ร้านเหล่านี้จะมีกองทัพมดของตนเอง ทำหน้าที่เป็นคนหิ้วเงินเข้าออก ว่ากันว่าเฉพาะวงเงินที่นำเข้ามาฝั่งไทยไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาทต่อวัน

คนหิ้วเงินเหล่านี้จะทำหน้าที่เสมือน นายหน้า รายหนึ่งจะถือเงินไม่เกิน 3 ล้าน บาท ขึ้นอยู่กับความคล่องตัวและความชำนาญของแต่ละราย สำหรับเงินที่นำเข้ามาฝั่งไทย บางส่วนถูกนำเข้าที่ร้านค้าโดย ตรง แต่ส่วนใหญ่จะถูกกระจายฝากเข้าธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่กว่า 10 แห่งทั่วอำเภอแม่สาย โดยฝากเข้าในชื่อบัญชีชื่อบุคคลต่างๆ ที่เปิดบัญชีอำพรางไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ (ยอดบัญชีจะไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อจะได้ ไม่ต้องแสดงรายละเอียดที่มาของเงิน)

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากพบว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ในเมืองแม่สาย มักจะมีบุคลิกไม่ง้อ หรือไม่เอาใจลูกค้ารายย่อยอย่างเราๆ นัก เพราะพวกเขาล้วน แต่เป็น "เสือนอนกิน" ไม่ต้องวิ่งหาเงินฝากเข้าแบงก์

พ่อค้าในเมืองแม่สายรายหนึ่ง เล่าให้ ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า หากศึกษาประวัติศาสตร์ของโพยก๊วนในอดีต คนทั่วไปจะให้ความไว้วางใจโพยก๊วนเป็นอย่างมาก ในอดีตแม้ว่าสภาพสังคมยุคนั้นจะยากลำบากเพียงใด แต่คนสมัยนั้นยังยึดถือคุณธรรมกันมากกว่าสมัยนี้ เพราะแม้แต่โจรผู้ร้ายก็จะไม่ปล้นเงินของโพยก๊วน หรือไม่ปล้นคนเดินโพยโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก

แต่เมืองแม่สายวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา มีการปล้นเงินโพยก๊วนไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง

พ่อค้ารายเดิมเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า แก๊งโจรปล้นโพยยุคนี้ ใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น โดยเป้าหมายอยู่ที่ "คนหิ้วเงิน" ที่ดูเหมือนจะยังเป็นจุดอ่อนของระบบโพยก๊วนอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบการค้าในย่านนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ รวมถึงข้อตกลงจีน-อาเซียนที่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 โดยมี "เงินหยวน" แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมกระบวนการค้าในพื้นที่เหล่านี้ทุกมิติมากขึ้น

(อ่านเรื่อง "Yuan Zone อาวุธหนักที่รอสับไก" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www. gotomanager.co.th ประกอบ)

แต่เนื่องด้วยการทำให้เงินหยวนเป็น International currency มีขั้นตอนและปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทำให้ "โพยก๊วน" ยังจะทรงอิทธิพลต่อกระบวนการค้าในลุ่มแม่น้ำโขงนี้อีกต่อไปแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.