Hydro Solar Wind ขาหยั่งที่ 3 ของกลุ่มสามารถ

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

รายได้ช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มบริษัทสามารถค่อนข้างไม่แน่นอน เพราะธุรกิจอิงอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจและงบประมาณใช้จ่ายของภาครัฐ บริษัทจึงพยายามแสวงหาธุรกิจใหม่ กระทั่งล่าสุดบริษัทหวังพึ่งพิงธุรกิจสาธารณูปโภคให้เป็นธุรกิจยั่งยืน

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีธุรกิจหลักอยู่ 4 กลุ่ม คือธุรกิจโทรศัพท์มือถือไอโมบาย ธุรกิจสามารถเทลคอม ให้บริการสื่อสารด้านโทรคมนาคม ธุรกิจเชื่อมโยงเทคโนโลยี บริการติดตั้งและจำหน่ายจานดาวเทียมและธุรกิจสาธารณูปโภค

ในปีนี้สามารถกรุ๊ปมีอายุครบ 55 ปี ปัจจุบันรายได้หลักของกลุ่มบริษัทสามารถยังพึ่งพิงอยู่สองธุรกิจหลัก คือธุรกิจโทรศัพท์มือถือไอโมบาย ที่มีรายได้มากที่สุด ราว 1-2 หมื่นล้านบาท ส่วนอีกหนึ่งธุรกิจคือธุรกิจสามารถเทลคอม มีรายได้จากการให้บริการสื่อสาร โทรคมนาคมให้กับภาครัฐเป็นหลัก มีรายได้ขึ้นๆ ลงๆ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ในปี 2552 กลุ่มบริษัทสามารถคาดว่าจะมีรายได้ 25,000 ล้านบาท และคาดหวัง จะมีรายได้จากกลุ่มสามารถเทลคอม 10,300 ล้านบาท รายได้จากโทรศัพท์มือถือไอโมบาย 12,000 ล้านบาท

จากการพิจารณาจะเห็นว่ากลุ่มสามารถหวังพึ่งพิงรายได้เพิ่มจากธุรกิจสามารถเทลคอมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะรัฐมีนโยบายขยายโครงการค่อนข้างมากในช่วงนี้

ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าจะมีรายได้มากกว่าก็ตาม ทว่ารายได้ของธุรกิจมือถือลดน้อยลงเมื่อเทียบกับ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้รายได้เคยพุ่งทะยานเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าทั้งสองกลุ่มธุรกิจจะสลับสับเปลี่ยนสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสามารถก็ตาม วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถคอร์ป ตระหนักดีว่ารายได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเศรษฐกิจ การ เมือง และงบประมาณ ค่าใช้จ่ายจากภาครัฐ ทำให้กลุ่มสามารถต้องแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่มีเป้าหมายให้บริการด้านสิ่งแวด ล้อม ระบบขนส่ง และพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะในปีนี้ มีแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ธุรกิจสาธารณูปโภคจึงกลายเป็นธุรกิจขาที่ 3 ของกลุ่มสามารถ รองจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และธุรกิจสามารถเทลคอม ที่เป็นขาที่ 1 และขาที่ 2

ธุรกิจสาธารณูปโภคมี 3 ส่วนหลัก คือธุรกิจระบบขนส่ง ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม และธุรกิจพลังงานทางเลือก

ธุรกิจที่เปิดให้บริการอยู่ ได้แก่บริการฉายรังสีพืช ผัก ผลไม้ และอุปกรณ์ การแพทย์ โดยอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทเรดดี้เท็กซ์ จำกัด ส่วนบริษัทแคมโบ เดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด ให้บริการ ระบบการจราจรทางอากาศให้กับประเทศกัมพูชา

ธุรกิจพลังงานทางเลือกปัจจุบันให้ บริการโรงงานไฟฟ้ากัมปอต ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมาในแผนธุรกิจ ระบุว่าบริษัทจะผลิตไฟฟ้าจำนวน 23 เมกะวัตต์ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์กัมปอตของเครือซิเมนต์ไทย

ล่าสุดกลุ่มบริษัทสามารถมีแผนก่อตั้งโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย 5-10 แห่งในปีนี้

บริษัทสามารถมองเห็นโอกาสของธุรกิจว่าประเทศไทยยังแสวงหาพลังงานเพิ่มทุกปี และไฟฟ้าเป็นแนวโน้มที่ประเทศไทยใช้เพิ่มขึ้นทุกปี และยิ่งกว่านั้นเมื่อโรงงานของกลุ่มสามารถสร้างแล้วเสร็จ บริษัทมีลูกค้า คือการไฟฟ้าภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้รับซื้อแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปรับนโยบายซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนจาก 1 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเป็น 10 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

โอกาสดังกล่าวทำให้บริษัทศึกษาแผนนี้มาได้ระยะหนึ่ง ในปีนี้ได้กำหนดเงินลงทุน เพื่อสร้างโรงงานอยู่ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท

แนวคิดการสร้างโรงงานไฟฟ้าของบริษัทสามารถจะอิงไปกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนโยบายการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสามารถจึงเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากชีวภาพ (Biomass) และชีวมวล (Biogas)

เชื้อเพลิงจากชีวภาพจะใช้วัตถุดิบ ไม้ แกลบ ซังข้าวโพด ส่วนเชื้อเพลิงชีวมวล จะใช้พลังงานจากไอน้ำที่เกิดจากโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

โรงงานผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสามารถจะมี 2 ขนาด ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดย ขนาดเล็กจะเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวภาพคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 1-2 เมกะวัตต์

ประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล Executive Vice President บมจ.สามารถ เทลคอม บอก ผู้จัดการ 360 ํ ว่า ต้องใช้ไม้หนัก 5 พันตันจึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์

ส่วนโรงงานขนาดกลางเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าผลิตไฟฟ้าได้ 4-7 เมกะวัตต์ จะเริ่มเห็นโรงงานได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ เพราะโรงงาน 1 แห่งจะใช้เวลาสร้างประมาณ 3-4 เดือน

แม้ว่าแผนธุรกิจพลังงานทางเลือกจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่บริษัทสามารถยังต้องหาพันธมิตรหลายๆ ด้าน เช่นพันธมิตร ที่มีวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือแม้แต่เงินทุนเข้ามาเพิ่ม เพราะธุรกิจพลังงานทางเลือกยังเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอยู่ระหว่างการคัดเลือกจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าบริษัทสามารถจะมีประสบการณ์สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่กัมปอต ประเทศกัมพูชา เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ตาม แต่วัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้ายังเป็นน้ำมันเตา

อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถมีความคืบหน้าในการเจรจากับพันธมิตรไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่เปิดเผยรายชื่อ

การแสวงหาธุรกิจพลังงานทางเลือกของกลุ่มบริษัทสามารถ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบชีวมวลและชีวภาพเท่านั้น แต่บริษัทได้มองหาโอกาสในการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน น้ำขนาดเล็ก

แม้ว่าธุรกิจนี้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างในเวลานี้ก็ตามที เพราะปัญหาแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอ แต่โครงสร้างธุรกิจของกลุ่มสามารถก็ได้กำหนดไว้แล้ว และเรียกธุรกิจนี้ว่า Hydro Solar Wind

ธุรกิจสาธารณูปโภค โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทางเลือกของกลุ่มบริษัทสามารถจะเป็นธุรกิจขาที่ 3 ได้หรือไม่ คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.