|
พลังงานทางเลือกที่สะอาดและถูกที่สุด
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากร และเคยทำงานให้กับยูเสด ทำให้นพ สัตยาศัย มีโอกาสศึกษาข้อดีข้อเสียของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานต่างๆ
เขาได้ข้อสรุปว่าการผลิตไฟฟ้าจากกระบวนการ gasification เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และมีต้นทุนต่ำสุด
"หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ในแง่ผลวิเคราะห์ทางการเงิน ต้นทุนของ gasification จะแพงกว่าเล็กน้อย เพราะถ่านหินนั้น ต้นทุนต่อ 1 เมกะวัตต์เท่ากับ 1-1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ gasification ตกอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์ หากเทียบเชิงเศรษฐศาสตร์ gasification จะคุ้มค่ากว่า เพราะผลที่ได้รับจะกระจายออกสู่วงกว้าง สู่ชุมชน แต่โรงไฟฟ้าจากถ่านหินคนที่จะได้รับประโยชน์คือผู้ลงทุนเพียงฝ่ายเดียว"
เขาบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก หากกระแสไฟฟ้าที่ได้จาก gasification จะแพงกว่าถ่านหินเล็กน้อย แต่เป็นกระแสไฟฟ้าที่ได้จากกระบวนการที่สะอาดกว่า
นพยังได้ให้ข้อเปรียบเทียบกระบวนการ gasification กับการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ไว้อย่างน่าคิด
"ยอมรับว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาด และต้นทุนวัตถุดิบ คือแสงแดดนั้นเป็นศูนย์ แต่นั่นเป็นข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว"
เขาบอกว่าคนส่วนใหญ่มักมองแต่ข้อดีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก็คือการที่ไม่มีต้นทุนวัตถุดิบคือแสงแดด และกระบวนการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
แต่ข้อมูลหนึ่งซึ่งทุกคนไม่ทราบและคนที่ทราบมักไม่พูดถึงกันคือเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตตัวแผงโซลาร์เซลล์เองนั้นเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ดังนั้นผู้ที่คิดจะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำเป็นต้องเสียค่าเทคโนโลยีให้กับเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศ
ทำให้ต้นทุนรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่รัฐต้องจ่ายให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จึงสูงกว่าโรงงานประเภทอื่น โดยเฉพาะค่า adder ที่รัฐชดเชยให้ถึงหน่วยละ 8 บาท
เงินจำนวน 8 บาทต่อหน่วยดังกล่าว เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเป็นค่าเทคโนโลยีให้กับต่างชาติ ขณะที่พลังงานซึ่งได้รับมานั้นมีปริมาณเท่ากัน
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ นั่นคือกระบวนการผลิตตัวแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำมาจากซิลิกา โดยก่อนที่จะนำซิลิกามาผลิตเป็นตัวแผงได้ ต้องใช้ความร้อนในการเผาซิลิกาด้วยอุณหภูมิสูงถึง 10,000 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศของโลกในจำนวนมหาศาล
การได้รับพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดจากแผงโซลาร์เซลล์ จึงไม่แตกต่างจากการชดเชยความเสียหายที่สูญเสียไปแล้วตอนผลิตตัวแผง
สิ่งที่น่าคิดคือ อัตราการชดเชยนั้น คุ้มหรือไม่กับสิ่งที่ได้เสียไป
การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จึงตรงข้ามกับการผลิตไฟฟ้าจากกระบวนการ gasification โดยสิ้นเชิง เพราะในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจาก gasification ไม่มีการปล่อยสารที่เพิ่มอุณหภูมิโลกออกสู่บรรยากาศ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ
รวมถึงมีต้นทุนเทคโนโลยีที่ต่ำกว่ามาก
แต่กลับได้รับ adder จากรัฐเพียงหน่วยละ 3.30 บาท
โครงสร้างเงินชดเชยจากรัฐ (adder) นี่เองที่ปิดกั้นโอกาสในการแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาใช้ เพราะต้องเป็นผู้ที่มีเงินทุนหนาเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้
สำหรับพลังงานลม ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดเช่นกันนั้น จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือกระบวนการ gasification สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่สำหรับโรงไฟฟ้าจากกังหันลม มีตัวแปรคือลมที่พัดไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นความสามารถในการผลิตจึงมีความแตกต่าง
รายละเอียดข้อเปรียบเทียบเชิงเทคนิคของการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งนพศึกษามานั้น สามารถดูได้จากตาราง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|