|
Gasification กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ทั้ง win-win และยั่งยืน
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในจำนวนแนวคิดอันหลากหลายที่ถูกนำเสนอขึ้นมาสำหรับการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่ทั้งสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนแล้ว การผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีการ gasification ถือเป็นกระบวนการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุดวิธีหนึ่ง
แม้การผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้กระบวนการกลั่นก๊าซจากไม้ (gasification) จะยังไม่ใช่วิธีการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำที่สุดในการวิเคราะห์ทางการเงิน แต่ก็ถือว่าเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ว่าเป็นกระบวนการ ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศน้อยที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าไม่มีการปลดปล่อยออกมาเลย
ในทางกลับกัน การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการนี้ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ที่มีแพร่กระจายอยู่มากแล้วในชั้นบรรยากาศให้เหลือน้อยลงได้อีกด้วย
ที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าโดยใช้กระบวนการ gasification วงเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเครื่องจักร ไม่จำเป็นต้องใช้เงินนับหมื่นนับแสนล้านบาท เหมือนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ
โดยเฉพาะพลังงานจากซากฟอสซิล
ผู้ที่จะมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้เป็นได้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดกลางที่พอมีเงินทุน หรือแม้แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน ในพื้นที่ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าก็สามารถรวบรวมเงินทุนกันเพื่อตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นมาได้
วงเงินลงทุนต่อโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ (1 พันกิโลวัตต์) ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่อยู่ในจุดที่คุ้มทุนที่สุด ใช้เงินทั้งสิ้น 75 ล้านบาท
หลักการกว้างๆ ของการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification ก็คือการปลูกป่า และนำชิ้นส่วนของต้นไม้ในป่า อาทิ กิ่ง ก้าน และลำต้นบางส่วนที่จำเป็นต้องตัดทิ้ง มาผ่านกระบวนการกลั่น เพื่อให้ได้ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งก๊าซดังกล่าวจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ที่จะไปหมุนแกนคอยล์ในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (generator) เพื่อปั่นให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำมาใช้ในชุมชน
สำหรับกระบวนการกลั่นไม้ให้เป็นก๊าซนั้น ใช้วิธีคล้ายๆ กับการสุมเผาถ่าน โดยให้กิ่งไม้เผาไหม้ในพื้นที่ปิด ไม่มีออกซิเจนเข้าไปถึง จึงไม่มีประกายไฟ เพื่อควบคุมไม่ให้ มีการแพร่กระจายของควัน เมื่อไม้เผาจนได้ระดับหนึ่งแล้ว ค่อยปล่อยก๊าซออกซิเจนเข้าไป เพื่อทำปฏิกิริยากับเนื้อไม้ จะได้ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ลักษณะใกล้เคียงกับก๊าซ LPG ที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ได้
ดังนั้นกระบวนการนี้จึงไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ
การตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้า ยังเป็นการช่วยลดการลงทุนเพิ่มเรื่องสายส่งไฟฟ้า เพราะกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำมาใช้อยู่ในชุมชนนั้นๆ
ขณะที่ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ในชุมชนก็ยังสามารถขายเข้าสู่ระบบ (grid) ได้ โดยอาศัยสายส่งที่มีการลงทุนวางเครือข่ายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
"การปลูกป่านั้นดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ gasification นั้นเป็นการผลิตที่เรียกว่า carbon neutral คือเป็นสมดุล เมื่อรวมการปลูกต้นไม้และการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ gasification เข้าด้วยกัน ก็จะเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการลดสภาวะโลกร้อน" นพ สัตยาศัย ประธานบริษัท เอ็น พาวเวอร์ ไบโอ เอเนอร์จี้ อธิบายกับผู้จัดการ 360 ํ
บริษัท เอ็น เพาเวอร์ ไบโอ เอนเนอร์จี้ เป็นบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกระบวนการ gasification อย่างครบวงจร
เริ่มตั้งแต่การจัดหาพื้นที่ปลูกป่า การก่อสร้างโรงงาน ในลักษณะเทิร์นคีย์ รวมถึงการติดต่อสถาบันการเงิน ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า รวมถึงกระบวนการในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับโครงการพัฒนาความสะอาด (Clean Development Machanism: CDM) ของสหประชาชาติอีกด้วย
นพได้ให้ความสนใจและศึกษาการนำกระบวนการ gasification มาผลิตกระแสไฟฟ้าโดยละเอียดมานานนับสิบปีแล้ว เพียงแต่ในช่วงที่เขาเริ่มศึกษา ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังไม่ใช่จังหวะเวลา ที่เหมาะสมสำหรับการนำเสนอแนวคิดนี้
จนเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับสูงมาก ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง การศึกษาครั้งนี้ขยายบทบาทไปถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ วงเงินลงทุน จุดคุ้มทุน ระยะเวลาคืนทุน รวมถึงแสวงหาบริษัทที่จะเข้ามาเป็นซัปพลายเออร์เรื่องเครื่องจักรเพื่อนำมาใช้ผลิต การลงทุนเชิงธุรกิจของเกษตรกร รวมถึงการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
และเริ่มนำเสนอผลสรุปที่เขาได้จากการศึกษาต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
นพเป็นคนจังหวัดชัยนาท เกิดวันที่ 6 ตุลาคม 2485 เรียนจบชั้นมัธยมต้นที่วชิราวุธวิทยาลัย แล้วไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิศวสุขาภิบาล เมื่อปี 2507 จากนั้นก็ไปจบปริญญาโททางด้านวิศวสุขาภิบาลอีกเช่นกัน จากมหาวิทยาลัยเดลฟ์ ประเทศเนเธอร์แลนด์
เขาเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสาขาการจัดการทรัพยากร
นพเคยรับราชการช่วงสั้นๆ ที่กรมโยธาธิการ เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะหันเหเข้าสู่ภาคธุรกิจเอกชนด้วยการทำหน้าที่เป็นวิศวกรที่ปรึกษาให้บริษัทเอนจิเนียริ่ง แมเนจเม้นท์ ซีสเต็มส์ ซึ่งเป็นบริษัทรับให้คำปรึกษาและวิจัยงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรของชาติ
เขาผ่านงานใหญ่หลายโครงการ อย่างเช่นโครงการของการพลังงานแห่งชาติ โครงการผลิตถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโครงการวางระบบประปาของจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
(อ่านเรื่อง "ดร.นพ สัตยาศัย ผู้ว่าประปาที่มีบางคนพยายามจะยัดเยียดให้" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมีนาคม 2530 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)
เขาเป็นบิดาของสิรินทร์ยา สัตยาศัย หรือน้องฝ้าย นางสาวไทยคนที่ 41 ประจำปี พ.ศ.2547
ปี 2524 นพเคยทำงานให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือยูเสด (USAID - United States Agency for International Development) ในฐานะที่ปรึกษาและรองผู้จัดการโครงการ (Deputy Project Manager-Non-conventional Renewable Energy)
"ผมสนใจเรื่อง gasification มาตั้งแต่ทำงานที่ยูเสด" เขาบอก
ก่อนมาตั้งเป็นบริษัท เอ็น เพาเวอร์ ไบโอ เอนเนอร์จี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 นพเคยถูกชักชวนให้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทอีสเทิร์นไวร์ (EWC) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อบริษัท แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN)
ต่อมาในบริษัทแห่งนี้ได้เกิดการแย่ง ชิงการถือหุ้นใหญ่ (hostile take over) ระหว่างกลุ่มของสุริยา ลาภวิสุทธิสิน, โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ กับกลุ่มของชนะชัย ลีนะบรรจง
ผลคือกลุ่มของชนะชัยได้ชัยชนะ และสามารถเข้าควบคุมการบริหารงานในบริษัทนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
นพเข้าไปรับตำแหน่งใน EWC ตามคำเชิญชวนของสุริยาและโกมล ที่รับ ปากกับเขาว่าจะให้ EWC สร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification ขึ้นถึง 32 โรงด้วยกัน แต่ภายหลังกลับไม่ได้สร้างตามที่รับปาก เขาจึงได้ลาออกมาและตั้งบริษัท เอ็น เพาเวอร์ ไบโอ เอนเนอร์จี้ขึ้น เพื่อนำเสนอโครงการให้กับผู้ลงทุนรายอื่นด้วยตัวเอง
ตามรายละเอียดโครงการลงทุนโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification จากการศึกษาของนพ จุดเริ่มต้นของกระบวนการคือเกษตรกร และเนื่องจากไม้ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับใช้กลั่นออกมาเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนนั้น สามารถใช้ไม้ชนิดใดก็ได้ แต่ต้องนำไปตากให้แห้ง เพื่อให้ค่าความชื้นเหลือน้อยที่สุด
ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพหรือ วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติอยู่
ตัวอย่างเช่นเกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนมะม่วง หรือมังคุด เวลาต้องการตัดรานกิ่งไม้ แทนที่จะทิ้งกิ่งไม้ที่ตัดออกไปก็สามารถนำกิ่งไม้ดังกล่าวมาขายป้อนให้กับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ
"กิ่งไม้ก็ถือเป็นชีวมวล (bio mass) ชนิดหนึ่ง แต่เป็นแบบแข็ง ถ้าเป็นแบบอื่น เช่น แกลบ หรือฟางข้าว ก็สามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องนำไปอัดเป็นก้อนเสียก่อน" เขาเริ่มอธิบายลงลึกไปในรายละเอียด
นพแสวงหาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนเชิงธุรกิจ พบว่าต้นกระถินยักษ์พันธุ์ Leucaena Leucocephala เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติดีที่สุด เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว บำรุงรักษาง่าย สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด โดยเฉพาะดินที่มีสภาพเสื่อมโทรม ตรงกันข้าม เมื่อได้ปลูกลงดินไปแล้วยังสามารถปรับสภาพดินให้ดีขึ้น เพราะกระถินเป็นพืชในตระกูลเดียวกับถั่ว รากของกระถินจะมีการสะสมธาตุไนโตรเจน และสามารถตรึงธาตุไนโตรเจนไว้ในดิน จึงเป็นการเพิ่มสารอาหารให้กับดินในพื้นที่นั้นๆ
จากการศึกษาในแง่ธุรกิจ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification ขนาด 1 เมกะวัตต์ ควรจะต้องมีแปลงปลูกต้นกระถินยักษ์ขนาด 2,000 ไร่ เพื่อให้มีวัตถุดิบสามารถป้อนเข้าโรงงานได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งพื้นที่ 2,000 ไร่นั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นพื้นที่แปลงเดียว ผู้ลงทุนสามารถไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงาน ปลูกกระถินยักษ์แซมในพื้นที่สวนเดิมของเขา แล้วค่อยตัดกิ่งไม้ส่งเข้าโรงงานตามราคาที่กำหนด
ตามการศึกษาของนพ ราคารับซื้อกิ่งไม้ที่โรงงานรับซื้ออยู่ที่ตันละ 1,000 บาท ในค่าความชื้นที่เป็นศูนย์ แต่หากมีค่าความชื้นเพิ่มขึ้น ราคารับซื้อก็จะลดต่ำลงไป
ค่าความชื้นที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรก่อนที่จะนำกิ่งไม้มาขายให้กับโรงงานคือ 25% ซึ่งเท่ากับราคารับซื้อตันละ 750 บาท
สูงกว่าราคารับซื้อกิ่งไม้โดยเฉลี่ยของโรงงานเยื่อกระดาษ หรือโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่รับซื้อกิ่งไม้ไปเป็นวัตถุดิบ หรือเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนที่ตกตันละ 350 บาท และ 660 บาทตามลำดับ (ไม่กำหนด ค่าความชื้น)
"เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการไม่จำเป็นต้องตัดหรือโค่นพืชเดิมทิ้ง เพียงแต่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง มาปลูกเป็นต้นกระถินยักษ์ อย่างเช่นคนที่เคยปลูกมันสำปะหลัง เขาก็อาจกันพื้นที่ปลูกมันบางส่วนมาปลูกกระถินยักษ์ รายได้จากมันที่เดิมเคยได้รับก็ยังคงได้รับอยู่ และจะมีรายได้จากการขายกิ่งต้นกระถินเพิ่มขึ้นมาด้วย"
นพเคยประเมินคร่าวๆ รายได้สุทธิต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หลังจากหักใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ตกปีละ 2,000-3,000 พันบาท แต่หากปลูกกระถินยักษ์ส่งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า จะได้ถึงปีละ 5,000-6,000 บาท
สำหรับการก่อสร้างโรงงานมูลค่าเงินลงทุนโรงงานละ 75 ล้านบาท (ไม่รวม ค่าที่ดิน) สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์นั้น แบ่งเป็นค่าเครื่องจักรประมาณ 50 ล้านบาท ประกอบด้วยเครื่องยนต์และหน่วยผลิตไฟฟ้า 4 หน่วย ที่เหลือเป็นค่าจัดการต่างๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการยื่นเรื่องต่อ CDM เพื่อขายคาร์บอนเครดิต
โรงงาน 1 แห่งจะใช้พื้นที่เพียง 160 ตารางเมตร ดังนั้นจึงเหมาะสมสำหรับการกระจายออกไปตั้งโรงงานตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
"เราไม่จำเป็นต้องทำโรงงานขนาดใหญ่" นพยืนยัน
เขาให้เหตุผลว่าโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ได้ จะตกอยู่กับผู้ลงทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่ตกลงมาถึงชุมชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้โรงงานขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และต้องขายไฟฟ้าออกไปยังที่ห่างไกล ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียของพลังงานไฟฟ้าระหว่างการเดินทาง ต้นทุนตรงนี้ยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยผลวิเคราะห์ถึงผลดีหรือผลเสียที่แท้จริง แต่เหมา รวมอยู่ในต้นทุนการก่อสร้าง
ขณะที่โรงงานขนาดเล็กตามแนวทางการศึกษาของเขา หากกระจายออกไปตั้งอยู่ตามตำบลต่างๆ เมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับชุมชนจะไม่มีค่าความสูญเสียของพลังงานไฟฟ้า เพราะไม่ได้เดินทางไกล ถือเป็นความคุ้มค่าที่ไม่สามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขได้
2 ปีที่แล้วนพนำโครงการนี้ไปเสนอต่อพระครูอุดมประชาธร หรือพระอลงกตติกขปัญญา เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งท่านแสดงความสนใจ นำมูลนิธิธรรมรักษ์ของวัดมาเข้าร่วมโครงการ โดยกันพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ สำหรับปลูกต้นกระถินยักษ์ เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ ขึ้นมา 1 แห่ง
แต่โรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีของบริษัทซาตาเกะจากประเทศญี่ปุ่น ที่ซื้อโนว์ฮาวมาจาก India Institute of Science ประเทศอินเดียอีกต่อหนึ่ง ทำให้มูลค่าการ ก่อสร้างโรงงานสูงมากถึง 120-130 ล้านบาท ใช้พื้นที่ตั้งโรงงานใหญ่เกินไปถึง 1,600 ตารางเมตร การก่อสร้างใช้เวลานานถึงมากกว่า 1 ปี
โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมูลนิธิธรรมรักษ์ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ปัจจุบันการก่อสร้างใกล้เสร็จ พร้อมที่จะผลิตได้ในอีก 1-2 เดือนนี้
นพยอมรับว่าในช่วงนั้นเขายังรู้จักบริษัทที่จะมาเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าน้อยมาก จึงเลือกซื้อเทคโนโลยีของบริษัทซาตาเกะ แต่เมื่อดูจาก ขนาดของโรงงานและระยะเวลาก่อสร้างแล้ว เขาจึงเริ่มมองหาบริษัทจัดหาเทคโน โลยีรายใหม่
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2552) นพเพิ่งบินกลับจากสหรัฐอเมริกา พร้อมกับสัญญาความร่วมมือกับบริษัท International Innovations Incorporated ซึ่งตั้งอยู่ในมลรัฐเวอร์มอนต์ เจ้าของแบรนด์ เทคโนโลยี Powerhearth ซึ่งจะเข้ามาเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification ตามการศึกษาของเขา
ตามเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา โรงงานจะใช้พื้นที่เพียง 160 ตารางเมตร ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 6 เดือน ก็สามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยบริษัทแห่งนี้ยังรับประกันในการบำรุงรักษาโรงงาน ให้เป็นเวลาถึง 20 ปีด้วยกันและการดูแลรักษาเครื่องจักรในโรงงานก็สามารถทำได้ง่าย โดยใช้คนงานเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
(สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเทคโนโลยีของ Powerhearth ได้ที่ www.3ialter nativepower.com)
ตามแผนธุรกิจที่นพศึกษาไว้ ผู้ลงทุน 75 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกระบวนการ gasification จะเริ่มมีรายได้ในเดือนที่ 7 หลังจากเริ่มสร้างโรงงาน โดยการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในราคาหน่วยละ 3 บาท (1 หน่วย= 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง) และรัฐจะสนับสนุนเพิ่มรายได้ (adder) ให้อีกหน่วยละ 3.30 บาท
โรงงานที่ถูกสร้างขึ้นจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง หรือปีละ 8,000 ชั่วโมง ผู้ลงทุนจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5 ปี จากการขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
นี่ยังไม่รวมถึงการขายคาร์บอนเครดิต เพราะตามกระบวนการผลิตของโรงงานแบบนี้จะต้องมีการปลูกป่าเข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วย เข้าเงื่อนไขของ CDM ที่สามารถนำปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดลงมา ขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้
ตามเงื่อนไขของ UNFCCC ที่นพศึกษามา โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากกระบวน การ gasification 1 แห่ง จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ปีละ 3 ล้านบาท เมื่อรวมกับการปลูกป่าอีก 3,000 ไร่ จะขายคาร์บอนเครดิตได้อีกปีละ 2 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งโรงงานและป่าที่ปลูกขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงาน จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ปีละ 5 ล้านบาท
"ถ้าประเทศไทยมีโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร 3,000 โรงทั่วประเทศ จะได้รับเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตมากกว่าปีละ 1.5 แสนล้านบาท" เขาย้ำตัวเลข
เพื่อจูงใจให้มีการลงทุน นพยังได้ติดต่อสถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ลงทุน ซึ่งธนาคารทั้ง 2 แห่งก็ได้รับ ข้อเสนอของเขาไปพิจารณาแล้ว
เขาเสนอเงื่อนไขไปยังธนาคารกรุงไทยว่าหากผู้ลงทุนคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เขาขอให้ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนทางการเงินให้กับอบจ. เหล่านั้น 100% ของมูลค่าโครงการ
ปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจโครงการปลูกป่าและสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า จากกระบวนการ gasification ที่นพได้ศึกษามาแล้วหลายราย
ในด้านเกษตรกร เริ่มมีเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพง เพชร นำต้นพันธุ์กระถินยักษ์ไปปลูกแล้วประมาณกว่า 2 หมื่นไร่
ยังมีเกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ที่คาดว่าจะเริ่มปลูกในปีนี้อีกหลายพันไร่
ส่วนผู้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ปัจจุบันมีบริษัทในตลาด หลักทรัพย์ 1 แห่ง แสดงความสนใจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 2-3 เดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชัยภูมิ ที่คาดว่าจะเป็นผู้ลงทุนรายแรก (นอกเหนือจากวัดพระบาทน้ำพุ) ที่จะเริ่มก่อ สร้างโรงงานในอีกประมาณ 1-2 เดือนนี้
นพยืนยันว่าจุดมุ่งหมายที่เขานำเสนอการศึกษาโครงการนี้ มิใช่เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุนแรงขึ้นเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางพลังงาน และสิ่งที่จะได้ตามมา คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
"คิดดู หากเราสามารถกระจายโรงไฟฟ้าไปตามตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ คนที่จะได้ก็คือชุมชน รายได้ก็จะตกอยู่กับเกษตรกรในชุมชน และยิ่งได้ชุมชนมาเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ก็จะยิ่งดีใหญ่ เพราะเท่ากับเกษตรกรทุกคนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ยิ่งหาก กระจายออกไปมากสัก 4,000 โรงทั่วประเทศ ก็เท่ากับเราได้โรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่ต้องไปก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม" นพขยายความแนวคิด
Gasification มิใช่เรื่องใหม่ เป็นกระบวนการที่ถูกคิดค้นขึ้นมานานแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่เคยมีการลงทุนสร้างโรงงานขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อหาข้อสรุปได้ว่ากระบวนการนี้สามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงธุรกิจ
อีกทั้งยังมีความวิตกกันในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า ด้วยกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย เมื่อมีการนำกระบวนการ gasification มาใช้ผลิตไฟฟ้า จะเป็นข้ออ้างให้กลุ่มทุนนำไปใช้ในการบุกรุกป่า หรือไปขอพื้นที่ปลูกป่า โดยหวังเพียงเพื่อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเดียว
นพ สัตยาศัยนับเป็นรายแรกที่กล้านำเสนอแนวคิดนี้ และกล้าที่จะบุกเบิกทำแนวคิดให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม
หากเป็นไปตามที่นพได้วางแผนไว้ ปลายปีนี้เมื่อโรงไฟฟ้าจากกระบวนการ gasification แห่งแรกที่จังหวัดชัยภูมิสร้างเสร็จ และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาขาย คงสามารถช่วยคลายความวิตกกังวลของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นลงไปได้ ไม่มากก็น้อย
และจะยิ่งเป็นการดี หากแนวคิดนี้ถูกนำเสนอให้แพร่กระจายออกไป เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการแสวงหาแหล่งพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน
หนำซ้ำยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกรในชุมชนเพิ่มขึ้นมาได้อีก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|