หลากทฤษฎีที่อธิบายความแปรปรวน

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ความผันแปรของสภาพภูมิอากาศจนก่อให้เกิดเป็นหายนภัยและภัยธรรมชาติ สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร หลากหลายทฤษฎีพยายามแสวงหาคำตอบให้กับคำถามนี้ แต่คำถามที่ว่าเราควรเชื่อทฤษฎีของใครดี? ยังมีความสำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า "แล้วนับจากนี้ เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?"

ในยามที่ประเทศต่างๆ เกิดสภาพภูมิอากาศปรวนแปรและภัยพิบัติต่างๆ ไปทั่วโลกเช่นนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดไปถึงภาวะโลกร้อน อันมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากเกินไป

เมื่อเร็วๆ นี้ นานาประเทศก็ได้ร่วมมือกันเจรจาตกลงหาทางแก้ไขภาวะโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวรับผลกระทบ ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ บางกลุ่มก็มีความเห็นต่าง พวกที่มีความเห็นแย้งนี้ก็มีเหตุผลข้อมูลสนับสนุนหนักแน่นเช่นเดียวกัน โดยอ้างว่า

"โลกร้อนอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มิใช่สาเหตุแท้จริงของภาวะภูมิอากาศที่ปรวนแปรอยู่ในขณะนี้ มูลเหตุที่มีผลมากกว่า คือการที่แกนของโลกเบี่ยงเบนไปจากปกติ ร่วมกับวงโคจร ของโลกรอบดวงอาทิตย์เปลี่ยนไป ทำให้ปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเปลี่ยนไปด้วย"

ข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จแค่ไหน ประชาชนตาดำๆ อย่างเราก็ควรจะฟังหูไว้หู รับฟังไว้ทั้งสองด้าน ก่อนที่จะปลงใจเชื่อฝ่ายใดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะจริงๆ แล้วทุกฝ่ายก็ใช้ข้อมูลสถิติ ที่ต่างฝ่ายต่างเก็บเอามาวิเคราะห์ โดยยังไม่สามารถพิสูจน์สรุปความเป็นมาได้แน่ชัด

ภาวะโลกร้อนจากการกระทำของมนุษย์
(Anthropogenic global warming, AGW)

ในช่วงทศวรรษ 1970 Carl Sagan นักฟิสิกส์ นักพูด นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่เริ่มออกมาพูดถึงภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน ที่มนุษย์ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณที่สูงเกินปกติ

ตามด้วยคณะรัฐบาลของ Clinton นโยบายสำคัญอันหนึ่งในยุคนั้นคือการลดการ ใช้เชื้อเพลิง รักษาสิ่งแวดล้อม เท่าที่จะทำได้โดยความสมัครใจ มีการลดภาษีและการเสนอ วิธีการซื้อขายคาร์บอน Al Gore รองประธานาธิบดีเป็นผู้นำออกมาเคลื่อนไหว เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน จนมีหนังสือและสารคดีออกมาชื่อ An Inconvenient Truth ซึ่งต่อมาในปี 2006 Al Gore ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

Al Gore ได้เชื่อมโยงภัยคุกคามของภาวะโลกร้อนเข้ากับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ชี้แนะว่าภัยจากภาวะโลกร้อนนั้นจะรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก

แน่นอน! จะต้องมีผู้ออกมาคัดค้าน รัฐบาล George W.Bush เห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องการให้เรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงปฏิเสธความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซออกมามากที่สุดจนเป็นปัญหากันอยู่ทุกวันนี้

ส่วนนักดาราศาสตร์กลุ่มที่เชื่อเรื่อง Ice Age ก็ออกมาแย้งข้อมูลหลักฐานที่อ้างขึ้นมาโดยกลุ่มโลกร้อน ว่าเป็นการวิเคราะห์ที่สรุปความสั้นไป เร็วไป จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปถึงความเป็นมาของโลกให้ไกลกว่านั้น

ประเด็นที่กำลังร้อนแรงอยู่บนเวทีโลกอยู่ขณะนี้คือ ภูมิอากาศที่แปรผันผิดฤดูกาล ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่สูงขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์ร่วมกันจริงหรือ มากน้อยแค่ไหน

ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์ทุกๆ ฝ่ายได้อ้างผลการวิจัยจากก้อนน้ำแข็งขั้วโลก ฝ่ายที่เชื่อภาวะเรือนกระจก หรือ AGW ก็มีข้อมูลหนาแน่น ได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิและปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศ เปรียบเทียบกับความเป็นมาในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นกราฟอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติสอดคล้องกับปริมาณคาร์บอนได ออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นการกระทำของมนุษย์

UN จึงออกมาเรียกร้องเตือนให้ชาวโลกหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

คณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ หรือ IPCC ยังออกมาคาดการณ์ผลกระทบและหายนภัยต่างๆ ออกมามากมาย โดยอ้างผลการวิเคราะห์แสดงอุณหภูมิของโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดกราฟแสดงอุณหภูมิที่สูงขึ้น สะดุดลงด้วยสภาวการณ์ฤดูหนาวในซีกโลกด้านเหนือที่หนาวเย็นผิดปกติในปี 2007, 2008 และ 2009 ที่เพิ่งผ่านมา หิมะที่ตกมากผิดปกติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของ IPCC ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้แจ้งชัด

ความเห็นต่าง...
โลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง?

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนทฤษฎีแกนโลกเอียงดังกล่าวข้างต้นก็ประกาศว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะทำให้โลกเย็นลงมิใช่ร้อนขึ้น การหมุน เวียนเปลี่ยนจากยุคน้ำแข็ง (Ice Age) และยุคอบอุ่น (warm interglacial age) เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรทุกๆ 100,000 ปี โดยมีสาเหตุมาจากแกนโลกเอียง ส่วนที่ผ่านมาในช่วง 12,000 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โลกอยู่ในช่วง interglacial warm period และในอนาคตอันใกล้ ช่วงอบอุ่นกำลังจะสิ้นสุดลง

หากเป็นเช่นนั้นจริง ไฉนบรรยากาศของโลกจึงร้อนขึ้นๆ เช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้อธิบายว่า โลกร้อนขึ้นเพราะ "การเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง โลกจะเปลี่ยนถ่ายความร้อนสู่น้ำในมหาสมุทร ทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่บรรยากาศมากขึ้นและทำให้กระแสน้ำทะเลระหว่างมหาสมุทร ต่างๆ ปรวนแปร"

หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อนี้ได้มาจากแกนน้ำแข็งขั้วโลก ตะกอนก้นมหาสมุทร ลักษณะทางธรณีวิทยาของชั้นหิน และฟอสซิลของซากพืชซากสัตว์โบราณ ข้อมูลยังบ่งชี้ว่า Ice Age ปรากฏอยู่ถึง 100,000 ปี ส่วนยุคอบอุ่น (interglacial warm age) มีระยะเวลาอยู่เพียง 12,000 ปี ความเชื่อนี้เริ่มมาจากการสังเกตของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในปี 1842 และมีนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษค้นคว้าเพิ่มเติม จนมีการสรุปเป็นทฤษฎี ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันในหมู่นักดาราศาสตร์และนักวิชาการด้านภูมิอากาศ

นักดาราศาสตร์ในกลุ่มนี้ยอมรับว่าทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า ปัจจัยต่างๆจะต้องเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติที่เป็นไปในระยะยาวเป็นหมื่นเป็นแสนปี มิใช่การผันผวนในระยะสั้นๆ เพียงร้อยปีพันปีและที่สำคัญคือ มิใช่เกิดจากการกระทำที่บิดเบือนธรรมชาติของมนุษย์ หากเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ ในอีกไม่ถึงร้อยปีข้างหน้า โลกจะมีภูมิอากาศหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ และจะเกิด glacier ขึ้นทั่วไปในซีกโลกส่วนเหนือ (northern hemisphere)

แล้วเราจะเชื่อฝ่ายไหนดีล่ะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เชื่ออย่างมีเหตุผล ถ้าต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล หนักแน่นแล้วเราจะเชื่อใครดีเล่า?... น่าจะ เชื่อตัวเราเองมากที่สุด โดยรับฟังข้อมูลทุกๆ ด้านและสรุปจากสิ่งที่เราเห็น เราประสบจริง

ในสายตาของคนภายนอกวงการ เมื่อประมวลเหตุผลข้อมูลหลายๆ ด้านดูแล้ว เหตุผลข้อมูลทั้งสองด้านก็ไม่ได้ขัดแย้งกันทีเดียว น่าเชื่อถือด้วยกันทั้งสองฝ่าย ด้วยเห็นกันอยู่ชัดๆ แล้วว่า สภาพแปรปรวนต่างๆ เกิดขึ้นจริง แต่สาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีฝ่ายใดบอกได้ชัด และมีกี่ส่วนที่เกิดจากภาวะโลกร้อน!

ฝ่ายที่สนับสนุนภาวะโลกร้อนจากการกระทำของมนุษย์ (AGW) มองภาวการณ์อยู่ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะมองแคบและมองสั้นไปหน่อย เมินเฉยต่อประวัติ อันยาวนานของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งเป็นรากฐานของสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนวัฏจักรทางดาราศาสตร์หรือยุคน้ำแข็ง ก็ออกจะมองกว้างและไกลเกินไป จนมองข้ามสภาวการณ์ปัจจุบันที่มนุษย์ทำลายระบบธรรมชาติจนเสียสมดุล

การมองย้อนกลับไปไกลๆ ทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแท้จริง พุทธศาสตร์กล่าวถึงการเปลี่ยน แปลงของโลกไว้ว่า ได้ผ่านมาหลายกัปหลายกัลป์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็ผ่านมาหลายภพหลายชาติจนนับไม่ถ้วน

กราฟข้อมูลจากสถานีวิจัย Vostok ของรัสเซียที่ขั้วโลกใต้ มุ่งวิจัยประวัติความเป็นมาจากแกนน้ำแข็ง โดยดูถึงอุณหภูมิบรรยากาศโลก ความเข้มข้นของคาร์บอน และอนุภาคต่างๆ ในบรรยากาศ เมื่อ 420,000 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นยุคน้ำแข็งที่ผ่านมาและช่วงอบอุ่นเป็นวัฏจักรทุกๆ 100,000 ปี ในทำนองเดียวกับกราฟ EKG ที่แสดงการเต้นของหัวใจ

ข้อมูลยังบ่งชี้ว่า ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นตามหลังการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกถึง 800 ปี จึงมิใช่เป็นเพราะระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นตามมา อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

หรือพูดง่ายๆ ว่า คาร์บอนไดออก ไซด์มิใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในทางตรงข้าม อุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นต่างหากเป็นเหตุให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น

นอกจากนั้นยังมีกระแสความเชื่อของนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เฝ้าสังเกตความเป็นไปของดวงอาทิตย์ ปัจจุบันพบว่าปฏิกิริยาของ sunspots บนพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้นรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณแสงและรังสีจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกร้อนแรงขึ้นประมาณ 0.1% จากที่เคยเป็นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว นักวิชาการกลุ่มนี้ชี้ว่าปฏิกิริยา sunspots ดังกล่าวทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครสรุปออกมาได้ ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีผลเพียงเล็กน้อย

ถ้าเรามองสถานการณ์อย่างคนธรรมดาทั่วไป ก็ย่อมรู้สึกได้ว่าภูมิอากาศผิดปกติที่เราสัมผัสกันอยู่ทุกวันนี้ น่าจะมาจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์เป็นแน่ ดังนั้น ถ้า เราเพลาๆ กิจกรรมต่างๆ ลงบ้างด้วยการประหยัดน้ำมัน ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยก็ย่อมทำให้สภาพการณ์ดีขึ้นได้เป็นแน่

ถึงอย่างไร โลกก็ยังต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร และสรรพสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่แห่งใดมีกรรมดีอยู่มาก ก็คงหลุดพ้นจากบ่วงหายนภัย ฉะนั้นการทำกุศลกรรม เช่น รักษาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สัตว์ป่า มีความพอเพียง ย่อมนำไปสู่ความสุขความสงบพ้นภัยได้บ้าง

การที่เราจะตระหนักได้เช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจำเป็นต้องมีความรู้และมิใช่เรียนรู้จากโลกภายนอก ที่องค์กรหรือสื่อจากต่างประเทศบอกแก่เราเพียงฝ่ายเดียว แต่คนไทยเราต้องเรียนรู้จากความเข้าใจสภาพการณ์ในประเทศของเราเองด้วย ด้วยความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะต้องช่วยกันแสวงหาความรู้ความคิดริเริ่ม ลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง จึงจะก้าวไปได้อย่างมั่นคง ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

ผู้เขียนอยากเห็นเมืองไทยมีเวทีเสวนาเรื่องวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น อยากเห็นคนไทยตื่นตัวและมีความคิดเห็นของตนเองบนพื้นฐานของเหตุผลและวิทยาศาสตร์มากขึ้น มากกว่าที่จะเชื่อตามที่องค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศเผยแพร่ออกมาไปเสียทั้งหมด ด้วยประเทศไทยควรรู้จักตนเองให้ดีที่สุด เพื่อสร้างจุดยืนของตัวเราเองในการเสริมสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เหมาะสมกับประชาชนคนไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.