ถึงเวลาที่โลกต้องตระหนัก!!


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

26 ธันวาคม 2547 แผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 9.6 ริกเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มชายฝั่งของหลายประเทศที่อยู่รายรอบมหาสมุทรอินเดีย อาทิ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย ศรีลังกา ฯลฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 165,000 คน

2 พฤษภาคม 2551 พายุไซโคลนนาร์กิส พัดถล่มพื้นที่บริเวณปากน้ำอิระวดีของพม่า ส่งผลให้ เกิดภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม สร้างความเสียหายอย่างหนัก ตัวเลขอย่างเป็นทางการของพม่า มีผู้เสียชีวิต 22,000 คน และสูญหายอีก 41,000 คน แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน

12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.8 ริกเตอร์ ในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้อาคารบ้านเรือนถล่ม ตัวเลขอย่างเป็นทางการซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 68,516 คน บาดเจ็บ 365,399 คน และสูญหาย 19,350 คน

ล่าสุด วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ 7.0 ริกเตอร์ ในสาธารณรัฐเฮติ เกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ในทะเลแคริบเบียน สร้างความเสียหายให้กับประเทศนี้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า "ล่มสลายหมดทั้งประเทศ" ตัวเลขล่าสุดที่ได้รับก่อนการปิดต้นฉบับ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 170,000 คน และมีการคาดกันว่ายังมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก

เพียง 5 ปีที่ผ่านมา โลกได้ประสบกับหายนภัยอย่างรุนแรงมานับครั้งไม่ถ้วน

4 เหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นเพียงต้วอย่างของหายนภัยที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อความเสียหาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติไปแล้วถึงเกือบครึ่งล้านคน

ไม่นับรวมปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ยากจะหาคำบรรยาย ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ อาทิ

- พายุหลงฤดูที่ซัดกระหน่ำเกาะออสเตรเลีย

- สภาพอากาศหนาวจัดในยุโรปและมณฑลทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน

- น้ำที่ท่วมอย่างหนักจนเกิดแผ่นดินถล่มในหลายประเทศในอเมริกาใต้

- ภูเขาไฟมายอน เกิดปะทุขึ้นที่เกาะทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

ฯลฯ

ปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนกับนัดหมายให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ซึ่งเพิ่งออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์หรือเรื่องจริง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก คือหายนภัย อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมในโลกใบนี้ มาถึงเร็วและรุนแรง กว่าที่หลายๆ คนเคยปรามาสเอาไว้

แต่ความตระหนักดังกล่าวแผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้างหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด?

ขณะที่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีตัวแทนจาก 192 ชาติ มาร่วมประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เป็นการประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ หลังจากพิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า

แต่ผลการประชุมคราวนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ยังต้องมีการถกเถียงกันต่อ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของแต่ละประเทศ ที่มีต่อการเปลี่ยน แปลงสภาพแวดล้อมของโลกได้พอสมควร

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกกันขึ้นมาตลอดเวลาที่มีการพูดกันถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คือเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในปริมาณที่มากเกินไป มีต้นเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าจากการขยายตัวของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป จนการปลูกป่าขึ้นมาเพื่อทดแทนป่าที่สูญเสียไป ทำได้ไม่ทัน

อีกทั้งการบริโภคพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสังคมเมืองและเศรษฐกิจ

พลังงานที่ถูกบริโภคมากที่สุด คือพลังงานจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน การแสวงหาแหล่งพลังงานเหล่านี้จำเป็นต้องขุดเจาะพื้นโลก ทำให้เกิดโพลงใต้ดินและการเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้บริโภค ก็เป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยตรง

หลายปีมานี้แนวคิดที่จะสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานเดิมที่มาจากซากฟอสซิล จึงมีการพูดถึงกันมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการพูดเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวชั่วครั้งชั่วคราว อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

แต่น้อยครั้งนักที่จะเป็นการพูดเพื่อสร้างความตื่นตัวในระยะยาวคือ สร้างความตระหนักให้ผู้คนคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคพลังงานจากซากฟอสซิล

ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลง ความตื่นตัวของผู้คนที่จะแสวงหาพลังงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดมาใช้ก็ลดลงตามไปด้วย

คำถามที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ตั้งอยู่ในใจมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสมดุลทางธรรมชาติ และไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชน จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระหลัก โดยไม่ต้องมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลกมาเป็นตัวแปร?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่สะอาด จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกควรต้องตื่นตัว เพราะมองเห็นว่าการบริโภคพลังงานที่มาจากซากฟอสซิลเพียงอย่างเดียว กำลังบ่อนทำลายโลกใบนี้ไปทีละน้อย ทีละน้อย?

ทำไม การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทั่วทั้งโลกต้องตระหนัก เพื่อป้องกัน หรือตั้งรับกับหายนภัยใหญ่ๆ ที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น?

3 คำถามที่เกิดขึ้นข้างต้นยิ่งถูกเร่งเร้าให้รีบหาคำตอบให้ได้โดยเร็วขึ้น ทันทีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ จนเป็นที่มาให้เราต้องเร่งทำเป็นเรื่องจากปกในฉบับนี้

ดังนั้น เรื่องปกของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้จึงอาจดูเป็นเรื่องเชิงนามธรรมหรือเป็นวิชาการไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เราตั้งใจจะนำเสนอ แม้ว่าจะมีเวลาในการแสวงหาข้อมูลอย่างจำกัด วัตถุประสงค์ของเราขอเป็นส่วนหนึ่งหรือแค่เสียงหนึ่งที่ออกมากระตุ้นให้ผู้คนต้องตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้และออกมาร่วมกันหาคำตอบ ให้กับ 3 คำถามที่เราได้ตั้งเอาไว้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว..!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.