|
Nomura’s Jellyfish Spiral
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
คงไม่ใช่เรื่องน่าภิรมย์แน่ หากท้องทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งหอยปูปลานั้นถูกสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดอย่างแมงกะพรุนจำนวนนับไม่ถ้วนรุกล้ำเข้ามาแหวกว่ายแทนที่เต็มไปหมด
ทัศนียภาพดังกล่าวไม่ใช่จินตนาการที่จำลอง มาจากนิยายวิทยาศาสตร์หากแต่กำลังกลายเป็นจริงทีละน้อยเยี่ยงเกลียว Spiral ที่หมุนตัวควงสว่าน อยู่กลางทะเลซึ่งเป็นกลไกลูกโซ่อธิบายมูลเหตุที่แมงกะพรุนรุกคืบเข้าคุกคามน่านน้ำใน Japan Sea
Jellyfish Spiral นิยามถึงปรากฏการณ์ที่จำนวนของแมงกะพรุนได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล (Jellyfish bloom) ต่อเนื่องจนกลายเป็นประชากรหลักของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาทางทะเลทั้งยังยากที่จะปรับให้หวนสู่สภาพเดิมภายในระยะ เวลาอันสั้น ซ้ำร้ายแมงกะพรุนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเหลือคณานับนั้นคือ Nomura's Jellyfish (ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemopilema nomurai) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนยักษ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีตปรากฏหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับ Nomura's Jellyfish bloom ในปี ค.ศ.1920, 1958, 1995 ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่หลังจากย่างเข้าศตวรรษใหม่เป็นต้นมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏ การณ์ประจำปีที่พบเห็นได้ในท้องทะเลของญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์
อันที่จริงหลายปีที่ผ่านมามีรายงาน Jellyfish bloom จากหลายแห่งทั่วโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ที่มีส่วนสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนแต่ในกรณีของ Nomura's Jellyfish Spiral ยังมีปัจจัยอื่นที่ข้องเกี่ยวนอกเหนือไปจากอุณหภูมิ น้ำทะเลที่สูงขึ้น
วงจรชีวิตของ Nomura's Jellyfish ในระยะ Polyp มีถิ่นกำเนิดจาก 2 แหล่งใหญ่ในทะเลเหลือง (Yellow Sea วงกลมสีดำในภาพประกอบ) แหล่งหนึ่งคือทางฝั่งประเทศเกาหลีใต้ (ลูกศรสีน้ำเงิน) และอีกแหล่งตรงข้ามอยู่ทางฝั่งประเทศจีน (ลูกศรสีแดง) ซึ่ง Budding Polyp ที่เกาะยึดอยู่ใต้ท้องทะเลจะปล่อยส่วนบนที่เรียกว่า Ephyra ออกมาแล้วล่องลอยไปในทะเลเข้าสู่ระยะที่ 2 กลายเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็กประมาณ 10 เซนติเมตร
Ephyra จากทั้งฝั่งเกาหลีและจีนจะใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งเพื่อพัฒนาต่อไปเป็น Medusa ซึ่งถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าสู่ Japan Sea ในช่วงเดือนกรกฎาคมและไล่บริโภคปลาจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรภายใน 3-4 เดือน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ Matsue, Niigata, Akita เรื่อยไปจนถึง Hokkaido (ตามเส้นทางลูกศรสีดำ) โดยปกติ จะตายไปเองตามธรรมชาติเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในเขตหนาวซึ่งโดยเฉลี่ย Nomura's Jellyfish จะมีอายุขัยอยู่ได้ราว 1 ปี
ในขณะเดียวกัน Budding Polyp สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะเพิ่มจำนวน Polyp ขนาดเล็กแผ่ขยายอาณาเขตในบริเวณใกล้เคียงออกไปซึ่ง Polyp เหล่านี้สามารถมีชีวิตคงอยู่ได้ตลอด กระนั้นก็ตามข้อเท็จจริงในปัจจุบันบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรแมงกะพรุนยักษ์พันธุ์นี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปกติหลายสิบถึงร้อยเท่าตัวซึ่งจากรายงานล่าสุดพบมากถึง 580 ล้านตัวในหนึ่งปีและมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ
Nomura's Jellyfish ที่ว่ายเข้ามาติดอวนแหของเรือประมงญี่ปุ่นจะปล่อยเข็มพิษทำอันตรายปลาอื่นที่ติดอยู่ในแห ซึ่งหากเป็นแหของเรือประมงขนาดเล็กอาจถูกตัดขาดได้โดยง่ายส่งผลให้ปลาที่ติดอยู่ภายในว่ายหนีออกไปหรือไม่ก็ตายไปเสียก่อนเพราะเข็มพิษของ Nomura's Jellyfish ด้วยขนาดอัน ใหญ่โตนี้ยังเป็นอันตรายต่อนักประดาน้ำและเรือประมง ขนาดเล็ก ซึ่งตกเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ให้เห็นอยู่เนืองๆ
นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุให้อายุขัยเฉลี่ยของ Nomura's Jellyfish ยาวนานขึ้นและยังสามารถพบได้ในบริเวณที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนเช่นในแถบ Sendai ทางฟากมหาสมุทรแปซิฟิกว่ายผ่านเข้ามาทางช่องแคบระหว่างเกาะ Hokkaido กับเกาะ Honshu (ตามลูกศรสีน้ำตาล) ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรเร่งการอุบัติ Nomura's Jelly-fish Spiral มีหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ น้ำจืดปนเปื้อนมลพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนสองฟากตลอดแม่น้ำ แยงซีเกียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในเอเชียไหลลงสู่ทะเลเหลืองที่เมืองเซี่ยงไฮ้
สิ่งปลูกสร้างที่ยื่นลงไปในทะเลเหลืองเพื่อรองรับ การเติบโตทางเศรษฐกิจเอื้อพื้นที่ผิวยึดเกาะของ Polyp นอกจากนี้เขื่อนสามผาซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างกั้นแม่น้ำแยงซีเกียงล้วนแต่กระทบต่อสมดุลของนิเวศวิทยา ส่งผลให้แพลงก์ตอนสัตว์ในทะเลเหลือง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อุตสาหกรรมประมงเป็นอีกสาเหตุสำคัญกล่าวคือ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) เผยปริมาณการจับปลาของชาวประมงจีนซึ่งครองสถิติสูงสุดในโลกต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี อาจเป็นตรรกะที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งย่อมมีความต้องการทางโภชนาการสูงเป็นเงาตามตัว ทำให้มีปริมาณการจับปลาเป็นสูงสุดในโลก หากแต่อินเดียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับสอง ของโลก หาได้มีสถิติการจับปลาสูงเป็นอันดับสองแต่อย่างใดทั้งที่สองประเทศนี้ก็ไม่ได้ชื่อว่าบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารหลักเหมือนๆ กัน
กระนั้นก็ดี FAO ระบุว่าสถิติการจับปลาที่เกินความต้องการเพื่อการบริโภคนี้มีสัดส่วนสูงถึง 3 เท่า ตัว เท่ากับเป็นการทำลายสมดุลของระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลเหลืองซึ่งประชากรสัตวน้ำที่ลดลงในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเหตุให้แพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นอาหารของแมงกะพรุนเหลือเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความเป็นไปของ Nomura's Jellyfish Spiral นั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเยนต่อปีแล้ว การทำลายสมดุลธรรมชาติใน Japan Sea ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้นไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ ทางบกและทางน้ำซึ่งเทียบเท่ากับไปเพิ่มต้นทุนการผลิตที่บั่นทอนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องเพราะผลกระทบ โดยตรงนั้นเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งดูเหมือนจะอยู่ไกลตัวเกินกว่าจะได้รับการเหลียวแล
สิ่งที่พึงกระทำได้ในปัจจุบันมีแค่เพียงเพิ่มการเฝ้าระวังและดักจับ Nomura's Jellyfish บริเวณทางเหนือของเกาะ Kyushu ในช่วงเดือนกรกฎาคมก่อนที่จะกล้ำกรายเข้ามาใน Japan Sea ควบคู่กับ เร่งพัฒนาอวนแหที่ทนทานต่อการทำลาย วิจัยเทคโน โลยีการกำจัด Nomura's Jellyfish ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการนำเนื้อ Nomura's Jellyfish มาใช้ให้เกิดประโยชน์
ในขณะที่วิถีทางการทูตเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่เห็นผล มาตรการเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยบรรเทาอัตราการเสื่อมโทรมของ Japan Sea และมหาสมุทรแปซิฟิกได้บ้างก่อนที่ทุกสิ่งจะสายเกินเยียวยา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|