มองสถานการณ์-ประเมินโลก


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

Hillary Clinton และ Henry Kissinger 2 รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนดังแห่งยุค เปิดใจถึงการทำงานในตำแหน่งที่ใกล้ชิด
กับประธานาธิบดีมากที่สุด และความยากลำบากในการทำให้สงครามยุติ


Newsweek: สิ่งที่ทำให้ท่านรู้สึกประหลาดใจมากที่สุดตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

Clinton: น่าจะเป็นความหนักหนาสาหัสของงาน ซึ่งเป็นงาน 24 ชั่วโมง 7 วัน สหรัฐฯ มีความรับผิดชอบแทบจะทุกหนทุกแห่งในโลก ปัญหาที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่เพียงปัญหาระหว่าง 2 ประเทศหรือหลายประเทศ แต่เป็นปัญหาข้ามชาติ หนึ่งในปัญญาใหญ่ที่สุดสำหรับดิฉันคือ การพยายามจะเสนอวาระที่ไม่ใช่เป็นการตอบปัญหาที่ประดังเข้ามา เพราะไม่เช่นนั้น คุณจะกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่ต้องคอยตอบแต่ปัญหาที่สุมเข้ามา นี่เป็นงานที่ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลา คุณต้องอยู่ในหน้าที่ตลอด คุณขึ้นเครื่องบินออกเดินทาง ลงจอดแล้วเริ่มทำงาน แล้วขึ้นเครื่องบินไปอีกที่หนึ่ง ลงจอดแล้วเริ่มทำงาน พอคุณกลับมา งานก็มารอกองอยู่ท่วมโต๊ะคุณ

Kissinger: คล้ายกับประสบการณ์ของผม มีหลายฝ่ายที่เราต้องเกี่ยวข้องด้วย เพราะสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ดังนั้น จึงมีเรื่องให้เราต้องตัดสินใจทุกวัน ว่าเราจะดูถูกใครด้วยการไม่สนใจจัดการปัญหาของเขา (Clinton หัวเราะ) เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะจัดการเรื่องทุกเรื่องได้หมด นี่เป็นงานที่คุณต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง

ปัญหาหนึ่งของรัฐบาลคือ การแยกเรื่องเร่งด่วนออกจากเรื่องสำคัญ และต้องแน่ใจว่าคุณไม่ได้ละทิ้งเรื่องสำคัญ ด้วยการปล่อยให้เรื่องเร่งด่วนมาทำให้คุณละเลยเรื่องสำคัญ อีกปัญหาหนึ่งคือเรามีเจ้าหน้าที่ที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดด้วย เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนมากหน้าหลายตาอย่างนี้ การจะทำให้พวกเขาทั้งหมดทำงานไปด้วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน จึงเป็นงานที่หนักมากสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ

Clinton: จริงค่ะ และขอเสริม Henry ว่า นอกจากเรื่องเร่งด่วน และเรื่องสำคัญแล้ว คุณยังต้องจับตาเรื่องที่อาจเป็นปัญหาระยะยาว เพราะเรื่องที่อาจจะยังไม่เร่งด่วนหรือสำคัญในวันนี้ อาจกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือสำคัญในปีหน้าหรือในอนาคต อย่างเช่นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร มีการจลาจลเพราะเรื่องอาหารเกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อ 2 ปีก่อน (2551) และถ้าคุณสังเกตเห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการอพยพย้ายถิ่น คุณจะรู้สึกว่า เรื่องอาหารกำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต อีกเรื่องที่เรากำลังเริ่มจะสนใจคือเรื่องขั้วโลกเหนือ ซึ่งยังไม่เป็นข่าว น้ำแข็งกำลังละลาย ทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือเส้นทางทะเลที่เคยเกิดขึ้นเพียงบางฤดู กำลังจะกลับกลายเป็นเส้นทางถาวร มี 5 ประเทศที่อยู่ติดขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นมหาสมุทร ไม่ใช่แผ่นดินอย่างขั้วโลกใต้ รัสเซียบอกว่า จะส่งคณะสำรวจไปขั้วโลกเหนือปีนี้ เพื่อปักธงที่นั่น แคนาดาเตือนรัสเซียว่าอย่าทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับดิฉัน นอกจากเรื่องเร่งด่วน เรื่องสำคัญแล้ว ยังมีเรื่องระยะยาวด้วย


Newsweek: ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศกับประธานาธิบดีสำคัญหรือไม่

Clinton: สำคัญมากต่อการวางนโยบาย การทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อประธานาธิบดีในมุมมองของการทูตและการพัฒนา ดิฉันพบกับท่านประธานาธิบดีแบบหนึ่งต่อหนึ่งสัปดาห์ละครั้ง เป็นการปรึกษาหารือที่ต้องทำสม่ำเสมอ เพราะคุณไม่อาจไปชี้นิ้วสั่งให้ประธานาธิบดีทำนั่นทำนี่ได้

Kissinger: ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐมนตรีต่างประเทศคือกุญแจสำคัญ กระทรวงต่างประเทศไม่ได้มีเอกสิทธิ์ในการวางนโยบายต่างประเทศเพียงลำพังอย่างที่เข้าใจ ผมพบกับประธานาธิบดีทุกวัน เพราะผมคิดว่า เราต้องคิดไปในทางเดียวกัน ถ้าทั้ง 2 คนนี้ไม่สนิทสนมกัน จะไปไม่รอดทั้งคู่

Clinton: เรื่องที่ดิฉันคิดว่าปรับตัวยากที่สุดคือการที่ต้องเดินทางบ่อยมาก ทั้งๆ ที่เราอยู่ในยุคที่สามารถสื่อสารทางไกลได้ในพริบตา แต่ดูเหมือนว่า ยุคนี้กลับยิ่งทำให้ทุกคนต้องการพบกันแบบเจอหน้ากันมากขึ้นไปอีก

Kissinger: นั่นเป็นเพราะคุณต้องการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจความคิดของคุณ ซึ่งการสื่อสารผ่านสายเคเบิลทำไม่ได้

Clinton: ใช่ค่ะ และเพราะข่าวที่ปรากฏในสื่อ ทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวและวิตก เราจึงต้องเดินทางไปพบพวกเขา เพื่อพูดคุยและรับฟัง แน่นอนว่าทุกประเทศต่างตัดสินใจบนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ของชาติตน แต่ถ้าเราต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ เราต้องมองเรื่องผลประโยชน์ของชาติในแง่มุมที่ต่างออกไป ต้องพยายามมองหาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และจะได้ผลมาก หากคนอื่นรู้สึกว่า เขาเข้าใจเราเป็นการส่วนตัว จะทำให้เกิดความไว้วางใจกันมากพอ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้

Kissinger: บ่อยครั้งที่จะเกิด "พื้นที่สีเทา" ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึงเมื่อเวลาที่มองเห็นไม่ชัดว่าสิ่งใดคือผลประโยชน์แห่งชาติ หรือยังเป็นที่ถกเถียงไม่ลงตัว การพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงไว้ก่อน ก่อนที่เราจะเรียกร้องต้องการอะไร จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เจรจากันง่ายขึ้น เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติ ปัญหาหนึ่งของรัฐมนตรีต่างประเทศคือ มักจะมีสื่อติดตามไปทำข่าวด้วย และพวกเขาต้องการให้เราได้ผลงานทันที แต่หลายครั้งที่ผลงานที่ดีที่สุดคือ การที่เราต้องไม่พยายามจะคาดหวังผล แต่พยายามจะสร้างความเข้าใจ เพื่อปูทางสำหรับการเจรจาต่อไปในภายหน้า


Newsweek: ทฤษฎีหรือลัทธิความคิดต่างๆ มีบทบาทต่อการทำงานของท่านหรือไม่

Clinton: ช่วยเป็นกรอบและทิศทางและเป็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์ มีรูปแบบที่ให้เราศึกษาได้ แต่ปัญหาปัจจุบันที่เราเผชิญไม่ได้เหมือนกับทฤษฎีทั้งหมด เราจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การรับมือและการมีปฏิกิริยาที่ว่องไว และมีสัญชาตญาณมากพอที่จะมองเห็นโอกาสที่โผล่ขึ้นมา

Kissinger: ผมเคยเป็นอาจารย์มาก่อนเลยถนัดเรื่องทฤษฎีและลัทธิความคิดต่างๆ แต่การเป็นอาจารย์แตกต่างจากรัฐมนตรีต่างประเทศ อาจารย์จะมีคำตอบที่สมบูรณ์สำหรับทุกปัญหา แต่สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ แทบจะไม่เคยสามารถแก้ปัญหาใดได้ในครั้งเดียวเลย


Newsweek: ท่านทั้งสองต่างเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในยามสงคราม ท่านคิดว่า สงครามสร้างความยุ่งยากให้แก่การทูตอย่างไร

Clinton: ดิฉันขอให้คะแนนสูงต่อประธานาธิบดี Obama ซึ่งต้องรับมรดกสงครามถึง 2 แห่ง และยังต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว สงครามในอิรักกำลังใกล้จะยุติลง เวลาที่ทหารเริ่มถอนทัพออกจากอิรัก นั่นแหละคือเวลาที่งานของกระทรวงการต่างประเทศกับ USAID (สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา) เพิ่งเริ่มต้น และอาจต้องรับผิดชอบมากกว่า

ส่วนในอัฟกานิสถาน ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนได้ข้อสรุปแล้วว่า ลำพังการใช้กำลังทหารอย่างเดียวไม่อาจทำให้ประสบความสำเร็จได้ และนั่นก็หมายถึงความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศและ USAID แต่ในเวลาที่งบประมาณจำกัดอย่างเวลานี้ เป็นเรื่องยากที่กระทรวงการต่างประเทศจะของบประมาณและทรัพยากรเพื่อใช้ในอัฟกานิสถาน แต่ว่าความรับผิดชอบของเราก็ยังคงอยู่ นี่คือปัญหาที่สร้างความเครียดไม่น้อย ดังนั้น สงครามจึงเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนและเพิ่มความรู้สึกรับผิดชอบให้กับเรา

Kissinger: นโยบายสงครามของสหรัฐฯ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมาบ่งชี้ว่า ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกันมากเท่าใดในด้านกลยุทธ์การทำสงคราม แต่จะต้องไม่มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับความชอบธรรมของสงครามนั้น และเราต้องเริ่มด้วยความเข้าใจที่ว่า ไม่มีรัฐบาลใดที่เริ่มทำสงครามแล้ว จะไม่ต้องการที่จะให้สงครามนั้นจบลง โดยเฉพาะรัฐบาลชุดที่กำลังบริหารประเทศอยู่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกตำหนิมากที่สุด

การถอนทหารถูกมองว่าเป็นวิธีเดียวสำหรับการยุติสงคราม แต่ความจริงไม่ใช่ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการยุติสงครามคือการได้ชัยชนะ วิธีที่สองคือการทูต และอีกวิธีคือ สงครามจบไปเอง ถ้าคุณตัดสินว่าต้องถอนทหารเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการยุติสงคราม คุณกำลังละเลยวัตถุประสงค์ทางการเมือง และทำให้รัฐบาลเสี่ยงที่จะถูกตำหนิว่า ไม่พยายามมากพอที่จะยุติสงคราม

นอกจากด้านการทหารและพลเรือนอย่างที่ Hillary พูดถึงแล้ว ยังมีปัจจัยที่ 3 คือผลกระทบที่จะเกิดกับการทูตหลังสงคราม ความวุ่นวายหลังสงครามเวียดนามเกิดขึ้นเพราะเราไม่ยอมรับสิ่งที่เจรจากันไปก่อนหน้านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสนับสนุนสิ่งใดก็ตามที่จะปรากฏขึ้นหลังสงครามอัฟกานิสถาน แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ


Newsweek: ท่านทั้งสองต้องการส่งสารใด หรือต้องการให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงและชาวอเมริกันคิดอย่างไร เมื่อพวกเขาคิดถึงสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน อิรัก หรือการเจรจากับอิหร่าน

Clinton: ดิฉันต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า เราอาจต้องส่งทหารเพิ่มอีกในอัฟกานิสถาน แต่เราก็ยังคงใช้การทูตและการเมืองพร้อมกันไปด้วย ทั้งหมดก็เพื่อช่วยเหลือชาวอัฟกานิสถานและทำงานของเราให้สำเร็จ และทุกอย่างที่เราทำเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกัน และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเดียวกัน คือเพื่อยับยั้ง Taliban ไม่ให้หวนกลับมามีอำนาจได้อีก

Kissinger: เราต้องรู้ว่า การทูตเป็นการผสมผสานกันระหว่างรางวัลและการลงโทษ ไม่ใช่เอาแต่ประนีประนอมอย่างเดียว นั่นไม่ใช่การทูตที่ดี และจะทำให้คนรู้สึกว่าเป็นการประนี ประนอมหรือการกำหนดเส้นตายที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่เป็นอย่างนี้มา 10 ปี ดังนั้น การทูต นโยบายต่างประเทศ และการเมือง จึงต้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และผู้เจรจาจะต้องเข้าใจในจุดนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Hillary จึงได้ทำงานที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรัฐบาลนี้

Clinton: แต่เป็นงานที่เหมือนเป็นผู้ควบคุมวงดนตรี มากกว่าเป็นนักดนตรีเดี่ยวๆ

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 28 ธันวาคม 2552 - 4 มกราคม 2553


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.