เดลฟายเทคนิคสำหรับนักบริหาร

โดย ดนัย เทียนพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวคิดพื้นฐานของเทคนิคเดลฟายนี้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการด้วยกันคือ

ประการแรก สิ่งที่เป็นปกติสำหรับนักบริหารก็คือความจำเป็นจะต้องตัดสินใจในการวางแผนล่วงหน้าอยู่เสมอ ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ให้ทำนายหรือคาดคะเนเกี่ยวกับตลาดสินค้าล่วงหน้า หรือวิธีการเพิ่มศักยภาพในการขาย หรือรับกลยุทธ์ของหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งในเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการวิจัยเข้ามาช่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นใน 2 ลักษณะคือ การวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งต้องอาศัยสถิติที่ยากและสูง เวลาที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่ยาวนาน ค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งความซับซ้อนอื่นๆ กับการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งอาศัยสารสนเทศที่ค่อนข้างจะเป็นอัตนัย (subjective information) ซึ่งในปัจจุบันมักจะนิยมใช้วิธีนี้โดยการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือนักบริหารที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยตรงแต่ก็มีปัญหาว่าผู้เชี่ยวชาญหรือนักบริหารที่มีชื่อเสียงและบุคลิกภาพบางอย่างที่ทำให้กลุ่มไม่กล้าแสดงความคิดเห็นกลายเป็นปัญหาว่า ผลการวิจัยที่ออกมาเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือนักบริหารบางคนเท่านั้น

ประการที่สอง สิ่งที่ผู้บริหารเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ เรื่องการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ในแต่ละวัน ซึ่งจะทำในรูปของการประชุม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมาก และบางครั้งในการเสนอความคิดเห็นยังต้องมีการเผชิญหน้ากันทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจ ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หรือบางครั้งก็ไม่สู้เต็มใจที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะจะเกิดการโต้เถียงระหว่างกันและกันขึ้น ซึ่งทำให้เกิดกระทบกระเทือนกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการดังกล่าว เทคนิคเดลฟายสามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องพบหน้ากันและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญบ้าง ไม่เสียเวลาในการทำงานที่จะต้องเดินทางมาประชุม ทั้งยังทำให้ได้ความคิดเห็นที่ถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุด

ความเป็นมา

การใช้ข้อมูลจากกลุ่มความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือเทคนิคเดลฟายนี้ ได้เริ่มขึ้นอย่างมีระบบในปี พ.ศ.2495 แต่ได้ถูกปิดเป็นความลับมาตลอดเนื่องจากกองทัพอากาศอเมริกันได้ใช้เทคนิคนี้ในการศึกษาและวิจัยสิ่งต่างๆ (1:2522) และได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยบริษัทแรนด์ (Rand Cooperation) ซึ่งโอลาฟเฮลเมอร์ (Olaf Helmer) และนอร์แมน ดังคี (Norman Dalkey) ทั้งคู่ได้เขียนบทความเรื่อง “An Experimental Application of The Delphi Methold to the Use of Experts” ลงในวารสาร Management Sceince ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน 2506 (2: 2523) ซึ่งทำให้เทคนิคเดลฟายแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

ความหมาย

เทคนิคเดลฟาย เป็นการมุ่งที่จะรวบรวมข้อมูลด้านความคิดเห็นและการตัดสินใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคน (นักธุรกิจ นักบริหาร นักการตลาด ฯลฯ) ในเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ปริมาณ และ/หรือ สภาพการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปได้ หรือต้องการให้เป็นไปในอนาคต

คุณลักษณะของเทคนิคเดลฟาย

1. เทคนิคนี้มุ่งแสวงหาข้อมูลด้านความคิดเห็นจากกลุ่มนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญใน
เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้รับอิทธิพลหรือผลกระทบจากลักษณะเด่นของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญบางคนในการตัดสินใจ กล่าวคือ นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญบางคนในการตัดสินใจ กล่าวคือ นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

2. เทคนิคเดลฟายนี้ได้ข้อมูลมาจากการตอบแบบสอบถาม ดังนั้น นักบริหารหรือผู้
เชี่ยวชาญที่ได้รับการคัดเลือกในการวิจัยหรือเข้าร่วมประชุม่ต้องตอบแบบสอบถามตามที่กำหนดครบทุกขั้นตอน ซึ่งปกติแบบสอบถามจะมี 3-4 รอบ โดยรอบที่ 1 มักจะเป็นแบบสอบถามปลายเปิด และในรอบต่อๆ ไปจะเป็นแบบสอบถามในลักษณะมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scales) อาจจะเป็น 1-5 สเกล หรือ 1-6 สเกล เป็นต้น

3. เพื่อให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนตอบแบบสอบถามด้วยความคิดเห็นที่กลั่น
กรองอย่างละเอียดรอบคอบ และเพื่อให้คำตอบที่ได้รับมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งขึ้น ผู้วิจัยหรือทีมงานที่รับผิดชอบจะแสดงความคิดเห็นที่นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเห็นสอดคล้องกันในคำตอบ แต่ละข้อของแบบสอบถามที่ตอบไปในครั้งก่อนและความคิดเห็นที่สอดคล้องกันจะแสดงในรูปสถิติ โดยจะส่งกลับให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนว่าจะตัดสินใจคงคำตอบเดิมหรือปรับปรุงแก้ไข (ถ้าปรับปรุงต้องระบุเหตุผลด้วย) ดังนั้น การตอบแบบสอบถามแต่ละครั้งนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนนั้นจะทราบว่าความคิดเห็นของเขาเป็นอย่างไร ต่างกับคนอื่นหรือไม่ อย่างไร (2 : 2523)

4. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่สถิติเบื้องต้น ซึ่งง่ายแก่การคิดคำนวณ คือ การวัด
แนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง ได้แก่ ฐานนิยม (Mode) มัธยฐาน (Median) หรือค่าเฉลี่ย (Mean) ซึ่งบางครั้งอาจใช้ร่วมกับค่าพิสัยระหว่างควอไตล์ (Interquartile Range)

ขั้นตอนการวิจัยโดยใช้เทคนิคเดลฟาย

รายละเอียดในเรื่องนี้จะกล่าวถึงกระบวนการที่สำคัญของเทคนิคเดลฟาย การเลือกและจำนวนผู้เชี่ยวชาญหรือนักบริหารที่เข้าในโครงการ จุดเด่นและจุดด้อยของเทคนิคเดลฟาย และการนำเทคนิคเดลฟายไปใช้

กระบวนการที่สำคัญของเทคนิคเดลฟาย

เทคนิคเดลฟายจุดสำคัญอยู่ที่การใช้ชุดของแบบสอบถาม เนื่องจากเทคนิคนี้เป็นกระบวนการวิจัยที่ใช้ความคิดเห็นของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นเกณฑ์สำคัญ ดังนั้นเพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ถูกต้อง แน่นอน จึงต้องมีการถามย้ำกันหลายครั้ง โดยใช้ชุดของแบบสอบถามดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะดังนี้

แบบสอบถามฉบับแรก มักจะเป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งให้ผู้ตอบตอบในสองประเด็นกว้างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายของการถามแบบถามปลายเปิดนี้ เพื่อจะเก็บรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด

แบบสอบถามรอบที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่พัฒนามาจากคำตอบในการสอบถามครั้งแรกโดยการนำความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับจากกลุ่มนักบริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญในการตอบรอบแรกมาสร้างให้อยู่ในรูปประโยคหรือข้อความที่เกี่ยวกับปัญหาหรือหัวข้อที่ต้องการจะศึกษา ในการสอบถามรอบที่ 2 กลุ่มนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญอาจต้องลงมติ จัดอันดับความสำคัญ หรือให้เปอร์เซ็นต์ (อัตราร้อยละ) ตามความสำคัญในแต่ละประโยคหรือข้อคำถาม การตอบอาจจะอยู่ในรูปของการให้เปอร์เซ็นต์หรือมาตราส่วนประมาณค่าหรือเป็นคะแนนก็ได้

แบบสอบถามรอบที่ 3 ผู้วิจัยจะพัฒนาแบบสอบถามรอบนี้ขึ้นมาจากการวิเคราะห์คำตอบในแบบสอบถามรอบที่ 2 และแบบสอบถามในรอบนี้จะประกอบไปด้วยประโยคหรือข้อความที่เหมือนกันกับในแบบสอบถามในรอบที่ 2 แต่ได้มีการแสดงถึงตำแหน่งค่ามัธยฐานหรือค่าเฉลี่ยและอาจมีค่าพิสัยระหว่างควอไตล์ของแต่ละคำถาม รวมทั้งตำแหน่งที่นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญคนนั้นๆ ตอบในแบบสอบถามในรอบที่ 2 และส่งกลับไปให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญคนนั้นได้ตอบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

แบบสอบถามในรอบนี้จะแสดงให้เห็นว่า คำตอบเดิมในรอบที่ 2 ของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความแตกต่างไปจากค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไตล์ของคำตอบทั้งหมดอย่างไร พร้อมกับให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่ามีความเห็นด้วยกับตำแหน่งที่กลุ่มนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเห็นสอดคล้องต้องกันหรือไม่ โดยการทบทวนและพิจารณาคำตอบของเขาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงคำตอบของเขาใหม่หรือจะยังคงยืนยันคำตอบเดิมของตนเองก็ได้ ในกรณีที่คำตอบของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งออกไปนอกช่วงของกลุ่มที่ตอบมา ก็จะได้รับการขอร้องให้แสดงเหตุผลในการตอบด้วย

ตามปกติเทคนิคเดลฟายนี้จะใช้แบบสอบถาม 4 รอบด้วยกัน แต่ในบางกรณีอาจใช้เพียง 2-3 รอบเท่านั้น เพราะอาจไม่มีหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการตอบของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญกระบวนการวิจัยก็สมควรยุติได้ หรืออาจทำวิธีลัดโดยในคำถามรอบแรก อาจใช้การสัมภาษณ์หรือศึกษาแนวทางต่างๆ มาเป็นกรอบ (Frame) แล้วสรุปเป็นแบบสอบถามในรอบที่ 2 เลยก็ได้ การเลือกและจำนวนนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ

นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการเลือกให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะศึกษาเป็นอย่างดีจะทำให้ผลการวิจัยถูกต้องและเชื่อถือได้สูง

สำหรับจำนวนนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ได้กำหนดแน่นอนลงไปตายตัว แต่โธมัสที แมคคิลแลน (อ้างจาก 1: 2522) ได้เสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับจำนวนนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 17 คนขึ้นไป อัตราการลดลงของความคลาดเคลื่อนจะมีน้อยมาก ดังตารางต่อไปนี้

ตาราง แสดงการลดลงของความคลาดเคลื่อน

ของจำนวนนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมโครงการ

จำนวนนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ
ช่วงความคลาดเคลื่อน
ความคลาดเคลื่อนลดลง
1-5
1.20-0.70
0.50
5-9
0.70-0.58
0.12
9-14
0.58-0.54
0.04
14-17
0.54-0.50
0.04
17-21
0.50-0.48
0.02
21-25
0.48-0.46
0.02
25-29
0.46-0.44
0.02

จุดเด่นและจุดด้อยของเทคนิคเดลฟาย

จุดเด่น

1. สามารถใช้ในการรวบรวมหาความสอดคล้องของความคิดเห็นของนักบริหารหรือผู้

เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องจัดให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญพบกันซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง และยากที่จะกระทำได้เพราะนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมีภาระหน้าที่การงานมากอยู่แล้ว

2. ความคิดเห็นของนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนเป็นอิสระและไม่มีอิทธิพลหรือผล
กระทบจากนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ทั้งยังไม่มีใครทราบว่ามีใครบ้าง และนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญจะรู้เฉพาะคำตอบของตนเองเท่านั้น

3. เนื่องจากมีการตอบแบบสอบถามหลายครั้ง คำตอบที่ได้รับจึงมีความเชื่อถือได้ของ
ข้อมูลค่อนข้างสูง เพราะผ่านการพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาหลายครั้ง

4. เทคนิคเดลฟายสามารถนำไปปรับใช้ได้กับนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก
โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิศาสตร์

5. ค่าใช้จ่ายในด้านดำเนินการค่อนข้างต่ำ

จุดด้อย

1. ความเชื่อถือได้ของการวิจัยขึ้นอยู่กับวิธีการหรือเกณฑ์ในการคัดเลือกนักบริหารหรือผู้
เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ

2. การให้นักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถามหลายรอบ อาจทำให้ขาดความ
ร่วมมือ เบื่อหน่าย ซึ่งมีผลต่อความเชื่อถือได้ของข้อมูล

3. ระยะเวลาของแบบสอบถามในแต่ละรอบ ถ้าทิ้งช่วงห่างกันมากหรือนานเกินไป อาจ
ทำให้ข้อมูลขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากนักบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญอาจจะลืมคำตอบในรอบแรกๆ

การนำเทคนิคเดลฟายไปใช้

1. จัดตั้งกลุ่มหรือคณะทำงาน (บุคคลหรือกลุ่มคนที่จะเป็นผู้บันทึกผลข้อมูล) ในการ
ร่วมมือกับผู้ตัดสินใจในการบริหารหรือการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนของแบบสอบถามในตอนเริ่มแรก

2. แบบสอบถามจะถูกส่งไปยัง “กลุ่มผู้ตอบ บางที่จะเป็นตัวแทนบริษัท และผู้จัด
การฝ่าย” ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะ เนื่องด้วยประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถในปัญหาซึ่งเขามีความชำนาญอยู่

3. ผู้ตอบมีอิสระอย่างเต็มที่ในการตอบแบบสอบถาม และก็ส่งกลับคืนมายังกลุ่มหรือ
คณะทำงาน

4. กลุ่มหรือคณะทำงานจะพัฒนาแบบสอบถามในรอบที่ 2 ซึ่งได้สรุปผลรวมของคำ
ตอบจากแบบสอบถามในรอบที่ 1 แล้วส่งให้กลุ่มผู้ตอบ

5. ผู้ตอบแต่ละคนจะมีอิสระในการพิจารณาคำตอบของตนเองในครั้งก่อน เมื่อจัด
อันดับในครั้งนี้เสร็จแล้วก็ส่งกลับคืนมายังกลุ่มหรือคณะทำงาน

6. กลุ่มหรือคณะทำงาน สรุปรวมผล และดำเนินการนำเสนอรายงานของผลการตัดสิน
ใจที่ได้มา

ถ้าหากการดำเนินการเพียง 2 รอบ แล้วผลไม่แตกต่างจากความคิดเห็นของผู้ตอบคนอื่น

ก็สมควรยุติขบวนการได้ แต่ถ้าแตกต่างกันมากจึงดำเนินการในรอบต่อไป แต่ปกติมักทำเพียง 2-3 รอบเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.