|
พันธมิตร ต้นทุนต่ำ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การจัดตั้งพันธมิตรของสายการบินต้นทุนต่ำระหว่างเจ็ท สตาร์ ร่วมกับแอร์เอเชีย กำลังสร้างให้เกิดมิติใหม่ในแวดวงการบินระดับนานาชาติที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ
เพราะการผนึกกำลังของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ low cost ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่พันธมิตรสายการบิน ถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหัวเรือหลักหรือร่วมเป็นสมาชิกโดยตรง แม้ว่า Jetstar จะมีฐานะเป็นบริษัทในเครือของสายการบิน Qantas จากออสเตรเลียก็ตาม
การสร้างพันธมิตรของผู้ประกอบการต้นทุนต่ำดังกล่าว วางเป้าหมายให้ต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินทั้งสองลดลง ควบคู่กับการใช้ความรู้และทักษะการทำงานร่วมกันได้ ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองสายการบินสามารถให้บริการรับส่งผู้โดยสารด้วยค่าโดยสารราคาประหยัดมากยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของพันธมิตรสายการบินต้นทุนต่ำรายแรกของโลก ซึ่งประกอบด้วยสองสายการบินราคาประหยัดชั้นนำแห่ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปรากฏในห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการล่มสลายของสายการบินระดับของเอชียและของโลกอย่าง Japan Airline หรือ JAL ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคไม่น้อย
จังหวะก้าวของพันธมิตรสายการบินต้นทุนต่ำที่สำคัญอยู่ที่ความร่วมมือกันกำหนดคุณสมบัติจำเพาะของเครื่องบินขนาดลำตัวแคบรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเดินทางกับสายการบินค่าโดยสารราคาประหยัดได้อย่างตรงจุด รวมทั้งมองหาช่องทางในการสั่งซื้อเครื่องบินร่วมกัน
การลงนามก่อตั้งพันธมิตรสายการบินดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปิดแนวรุกเพื่อรับกับศักราชใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน โดยมีอลัน จอยซ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินแควนตัส บรูซ บิวคานันประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินเจ็ทสตาร์ และดาตุ๊ก เสรี โทนี เฟอร์นานเดสประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินแอร์เอเชีย ร่วมลงนามเห็นชอบกับการก่อตั้งพันธมิตรดังกล่าว
อลัน จอยซ์ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินแควนตัส ระบุว่า การจัดตั้งพันธมิตรดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ต่อการดำเนินงานของสายการบินเจ็ทสตาร์และแอร์เอเชียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดการบินที่มีการแข่งขันสูงที่สุดของโลก โดยจะช่วยให้ทั้งสองสายการบินสามารถเจาะเข้า ถึงตลาดดังกล่าวได้มากขึ้น ทั้งในรูปของการขยายเส้นทางบินมากกว่าและการบริการด้วยค่าโดยสารที่มีราคาประหยัดกว่าสายการบินคู่แข่งรายใหญ่ต่างๆ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากขนาดของธุรกิจของแต่ละบริษัทได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ "เจ็ทสตาร์และแอร์เอเชียเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มจัดตั้งรูปแบบธุรกิจการบินระยะไกลที่มีค่าโดยสารราคาประหยัด การประกาศจัดตั้งพันธมิตรการบินใหม่ในวันนี้เป็นการพลิกรูปแบบพันธมิตรการบินจากแบบเดิมสู่พันธมิตรการบินแบบใหม่ที่มุ่งเน้นลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดำเนินงาน สำหรับตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียเป็นตลาด ที่มีการเติบโตอย่างเด่นชัดและมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตลอดปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีสภาวะการดำเนินงานที่ยากลำบาก แต่มีการคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้น การผนึกกำลังเป็นพันธมิตรครั้งนี้จะมอบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้กับทั้งสองสายการบินดังกล่าวอย่างแน่นอน" อลัน จอยซ์ย้ำ
สำหรับข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรดังกล่าวประกอบด้วย การกำหนดคุณลักษณะของฝูงบินในอนาคตร่วมกัน โดยทั้งเจ็ท สตาร์และแอร์เอเชียจะร่วมกันมองหาลู่ทางในการจัดซื้อเครื่องบินขนาดลำตัวแคบรุ่นใหม่ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานอันเป็นผลเนื่องมาจากการมียอดสั่งซื้อที่สูงจะทำให้ราคาลดลง ตลอดจนร่วมกำหนดแนวทางการออกแบบคุณลักษณะของเครื่องบินให้มีการดำเนินงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง ซึ่งรวมถึงการใช้คลังอุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องบิน และการใช้บริการวิศวกรรมและซ่อมบำรุงร่วมกันอีกด้วย
ขณะที่ในส่วนของการให้บริการผู้โดยสาร สัมภาระ และเครื่องบินภายในสนามบินจะมีการพัฒนาความร่วมมือในการยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร การจัดการสัมภาระและเครื่องบินภายในสนามบินในประเทศออสเตรเลียและภูมิภาคเอเชียและการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการผู้โดยสารบนเครือข่ายเส้นทางบินของเจ็ทสตาร์และแอร์เอเชีย เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินของสายการบินอื่น
บรูซ บิวคานันประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินเจ็ท สตาร์ ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากความต้องการลดต้นทุนของทั้งสองสายการบิน ซึ่งที่ผ่านมาเจ็ทสตาร์ได้ลดต้นทุนที่สามารถควบคุมได้สูงถึงปีละ 5% และการจัดตั้งพันธมิตรการบินใหม่ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้าอีกขั้นทางด้านการจัดการต้นทุนและการมอบค่าโดยสารราคาประหยัดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่โทนี เฟอร์นานเดสประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินแอร์เอเชียประเมินว่า การจัดตั้งพันธมิตรการบินใหม่ครั้งนี้เป็นก้าวที่รุดหน้าอีกขั้นในการดำเนินกลยุทธ์ของแอร์เอเชียเพื่อครองความเป็นผู้นำในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำของโลก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม
ทั้งนี้ เจ็ทสตาร์และแอร์เอเชียมีรายได้รวมกัน 3,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปีงบประมาณ 2552 ผลการร่วมเป็นพันธมิตรดังกล่าวจะบังเกิดผลลัพธ์อย่างไรเป็นกรณีที่ท้าทายอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|