จีน: เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินจากธนาคารกลางจีนทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ธนาคารกลางจีนตัดสินใจประกาศปรับขึ้นสัดส่วนเพดานการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ในช่วงเย็นวันที่ 12 มกราคม 2553 ร้อยละ 0.5 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 มกราคม 2553

อย่างไรก็ตาม การคุมเข้มด้วยเครื่องมือนโยบายการเงินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ส่งสัญญาณการคุมเข้มสภาพคล่องผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังในการประมูลตั๋วเงินคลังช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี 2553 พร้อมกับเพิ่มระดับการดูดซับสภาพคล่องผ่านการดำเนินการผ่านตลาดเงิน

ทั้งนี้ สัญญาณการคุมเข้มทางการเงินจากธนาคารกลางจีน ดังกล่าวเป็นทิศทางที่สอดคล้องการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ หากแต่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เร็วกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ซึ่งผลกระทบต่อตลาดการเงินที่เกิดขึ้นก็คือ การร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จากความกังวลว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปอาจชะลอลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกรณีการคุมเข้มนโยบายการเงินของจีนดังกล่าวว่าเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นเร็วเกินคาด เนื่องด้วย สภาพแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลายมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ประกอบกับความเสี่ยงต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ และการขยายตัวอย่างร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ได้เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จึงส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (The People's Bank of China: PBoC) เริ่มทำการคุมเข้มนโยบายการเงินผ่านหลากหลายช่องทาง/เครื่องมืออย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี 2553

แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะต้องการชะลอความร้อนแรงทาง เศรษฐกิจ และลดแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ธนาคารกลางจีนเลือกที่จะดำเนินการส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยวิธีการดำเนินการผ่านช่องทาง/เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 12 มกราคม 2553 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับขึ้นสัดส่วนเพดานการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.5 ซึ่งทำให้ภายหลังวันที่ 18 มกราคม 2553 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก จะต้องดำรงเงินสำรองตามกฎหมายร้อยละ 16.0 และร้อยละ 14.0 ของเงินฝากตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีนได้ส่งสัญญาณการคุมเข้มสภาพคล่องผ่านช่องทางอื่นๆ ไว้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี 2553 ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากธนาคารกลางจีนได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังในการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือน และตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปี โดยธนาคารกลางจีนได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตั๋ว เงินคลังขึ้นร้อยละ 0.04 สู่ระดับร้อยละ 1.3684 สำหรับตั๋วเงินคลัง อายุ 3 เดือน 1 และปรับขึ้นร้อยละ 0.08 สู่ระดับร้อยละ 1.8434 สำหรับตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปี 2 พร้อมกันนี้ ธนาคารกลางจีนยังเพิ่ม ระดับการดูดซับสภาพคล่องผ่านการทำข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตรระยะ 28 วัน เป็นการดำเนินการผ่านตลาดเงิน (Open Market Operations: OMOs) อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเริ่มดำเนินการคุมเข้มทาง การเงินของธนาคารกลางจีนดังกล่าวมีความสมเหตุสมผล เนื่องจากความเสี่ยงต่อการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุด (จากหนังสือพิมพ์อิโคโนมิค อินฟอร์เมชั่น เดลี) ที่ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จีนมีการเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่สูงถึง 6.0 แสนล้าน หยวนในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2553 ซึ่งเป็นระดับการขยายสินเชื่อ ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการปล่อยสินเชื่อต่อเดือนประมาณ 3.7 แสนล้านหยวนต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้กระแสการคาดการณ์การแข็งค่าของเงินหยวนที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2553 ซึ่งนำไปสู่การไหลทะลักของเงินทุนจากต่างประเทศ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางการจีนต้องเผชิญกับโจทย์การดูแลสภาพคล่องที่ยากมากขึ้นไปอีก

แต่จากการที่ทางการจีนสามารถรักษาจุดยืนเชิงนโยบายไว้ได้เป็นอย่างดีในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประคับประคองเศรษฐกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ทำให้การดำเนินการด้านนโยบายเศรษฐกิจของทางการจีนได้รับการยอมรับ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

ซึ่งการเริ่มส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคาร กลางจีนในระยะนี้และอาจมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็น่าจะส่งผลจิตวิทยาในเชิงบวกได้ เนื่องจากการดำเนินการอย่างรวดเร็วนั้นจะสามารถสกัดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและจำกัดความเสี่ยงฟองสบู่ พร้อมๆ กับช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจ และลดโอกาสการเกิดภาวะการชะลอตัวอย่างรุนแรงลง ทั้งนี้มีการประเมินว่าการปรับสัดส่วนการดำรงเงินสำรอง ตามกฎหมายเพียงร้อยละ 0.5 นั้น สามารถดูดซับเม็ดเงินได้เพียง ครึ่งเดียวของยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2553 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จีนมีการดำรงเงินสำรองส่วนเกินไว้ในระดับที่สูงกว่าสัดส่วนการกันสำรองตามกฎหมายอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ผลสุทธิของการส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางจีนน่าที่จะเป็นเพียงการลดการผ่อนคลายทางการเงินลงเท่านั้น

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่แรงส่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง (Economic Momentum) ขณะที่ความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ ตลอดจนแรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของธนาคารกลางจีนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าธนาคารกลางจีนยังคงจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป

แต่จะมีลักษณะการดำเนินการที่ระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป โดยช่องทาง/เครื่องมือที่ธนาคารกลางจีนอาจนำมาใช้ส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงิน ประกอบด้วยการปรับขึ้นสัดส่วนการดำรงเงินสำรองตามกฎหมายต่อเนื่อง การตรวจสอบ/จำกัดการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การเข้าดูดซับสภาพ คล่องผ่านตลาดเงิน ตลอดจนการส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นผ่าน การประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตร

แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะใช้ช่องทางการประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตรในการส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงิน (ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับตราสารทั้ง 2 ประเภท) แต่สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าธนาคารกลางจีนจะนำมาใช้เป็นลำดับท้ายๆ เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง มีความเป็นไปได้ที่เงินหยวนจะขยับแข็งค่าขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องการแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเชิงคุมเข้มของธนาคารกลางจีน ทั้งนี้ คาดว่า ทางการจีนไม่น่าที่จะปิดโอกาสของการขยายกรอบการเคลื่อน ไหวรายวันของค่าเงินหยวน แต่ในขณะเดียวกันทางการจีนก็คงดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้กระแสการคาดการณ์ต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินหยวนเป็นไปอย่างรุนแรง และเพื่อให้เหมาะสมกับภาคการส่งออกของจีนที่ยังคงต้องการระยะเวลาในการปรับตัว/ประคองตัวก่อนสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีความมั่นคงมากขึ้น สัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนอาจจำกัดแนวโน้มขาขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ในระดับหนึ่ง แม้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า

แต่คาดว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ สกุลเงินของประเทศผู้ส่ง ออกสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนตลาดหุ้นในหลายๆ ภูมิภาคของโลก (ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วค่อนข้างมากบนการคาดการณ์ว่า แนวโน้มการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชียซึ่งนำโดย จีน จะเป็นผู้นำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก) น่าที่จะมีความอ่อน ไหวและอาจต้องเผชิญกับการปรับฐานท่ามกลางข่าวการคุมเข้มนโยบายการเงินของจีนเป็นระยะๆ

โดยการปรับฐานของสินทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น อาจมีความรุนแรงมากขึ้นหากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน กดดันให้ธนาคารกลางจีนจำต้องเลือกเครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ย มาใช้ในการคุมเข้มนโยบายการเงิน แนวโน้มเงินบาทยังคงเป็นทิศทางแข็งค่า (พร้อมความผันผวน) ทั้งนี้ คาดว่า เงินบาทยังคง มีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจจะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรก ของปี 2553 (ประมาณการโดยสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย) โดยได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากกระแสความแข็งแกร่ง ของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งธนาคารกลางหลายๆ แห่งในเอเชียน่าที่จะทยอยส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนในช่วงเวลาดังกล่าว

จากนี้ไปคงต้องติดตามพัฒนาการของข้อมูลทางเศรษฐกิจ และสัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ แม้ธนาคารกลางจีนจะดำเนินการคุมเข้ม ทางการเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและลดแรงกดดัน เงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับมาตรการสกัดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหา ริมทรัพย์ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจีนจะยังคงมีอัตราการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 สูงกว่าร้อยละ 9.0 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.5 ในปี 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.