|

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กดดันการบริโภคในปี2553
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(8 กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2553 เร่งตัวขึ้นมาที่ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2552 แต่เมื่อมองไปข้างหน้า แนวโน้มค่าครองชีพมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาพืชผลทางการเกษตรที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน รายได้ของภาคครัวเรือน ที่พิจารณาจากอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2553 ที่ปรับผลของเงินเฟ้อแล้ว อาจเป็นระดับที่ต่ำกว่าในปี 2552 ที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบ ทิศทางดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาวะการบริโภคในปี 2553 ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่อาจยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น ในระยะสั้น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีโอกาสที่จะหลุดออกจากกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อีกได้ โดยในกรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะมีผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้า ที่ฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2552 เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ปรับ 6 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 คงเหลือไว้เพียง 5 มาตรการที่ยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่สูงขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จึงมีทิศทางชะลอลงกว่าในเดือนมกราคม
อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคงเป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงระยะข้างหน้า จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อ ที่สำคัญได้แก่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือ สินค้าเกษตร ซึ่งราคาผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจัยหนุนด้านอุปทานที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและเลวร้ายในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องไปจนถึงช่วงระยะข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงานและโลหะ มีแนวโน้มผันผวนสูงในปีนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ คือ สหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งแกว่งตัวค่อนข้างมากในระยะเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดวิตกกังวลต่อมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่ทางการจีนทยอยออกมาเป็นลำดับ โดยหวั่นเกรงว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ในบางประเทศของยุโรป เช่น กรีซและสเปน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนหันกลับมาถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่นักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ทำให้ในขณะนี้ทั้งราคาน้ำมันและโลหะประเภทต่างๆ ล้วนดิ่งลงอย่างรุนแรง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลดลงถึง 10 ดอลลาร์ฯ มาที่ประมาณ 70.2 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากที่ขึ้นไปเหนือ 80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือนมกราคม แต่แนวโน้มในระยะข้างหน้า ราคาน้ำมันและโลหะต่างๆ ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ มาตรการในการบรรเทาผลกระทบด้านราคาสินค้าของรัฐบาล โดยสำหรับประเด็นด้านราคาพลังงาน นอกจากปัจจัยทิศทางราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มผันผวนสูงแล้ว ยังต้องจับตานโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งรัฐบาลอาจมีการทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG สืบเนื่องจากปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด ที่ส่งผลให้โรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงอาจต้องมีการนำเข้าก๊าซ LPG ซึ่งราคาในตลาดโลกจะสูงกว่าราคาในประเทศ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นราคา LPG ก่อนกำหนด ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การตัดสินใจของรัฐบาลกรณี 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ว่าจะมีการขยายมาตรการออกไปอีกหรือไม่ หลังจากถึงกำหนดสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553 และจะขยายออกไปอีกนานเพียงใด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง อยู่ระหว่าง3.0-4.0% จากที่ลดลงในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.5% ซึ่งยังเป็นระดับที่ไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะค่อยๆ ส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ ในที่สุด
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ 4.0% ในเดือนมกราคม 2553 น่าจะชะลอลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคในปีก่อนที่เริ่มขยับขึ้นนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีโอกาสที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการสิ้นสุด 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เป็นสำคัญ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|