โพลชี้ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งสูงสุดในรอบปีความกังวลลดลง แต่ยังชะลอการใช้จ่าย


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(8 กุมภาพันธ์ 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นีลเส็น เผยผลการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกล่าสุดเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความคิดเห็นออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลก ตลอดจนศึกษาพฤติกรรม แนวโน้มการใช้จ่าย ปัจจัยความกังวลของผู้บริโภคทั่วโลก ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยประเมินจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับตลาดงาน สถานภาพทางการเงิน และความพร้อมในการใช้จ่าย จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 17,500 คน ในทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และประเทศในแถบตะวันออกกลาง

การสำรวจดังกล่าวพบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในสถานภาพทางการเงิน และมุมมองในด้านการจ้างงานที่ดีขึ้น

การเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งบราซิล ยังคงสะท้อนให้เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก และในบางประเทศมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ผลการสำรวจของนีลเส็นได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในฮ่องกง จีน สิงคโปร์ อินเดีย และบราซิล ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยผู้บริโภคจำนวนมากในประเทศดังกล่าวมีความตั้งใจที่จะจับจ่ายใช้สอยในปี 2553

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า 10 ประเทศแรกของโลกที่มีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงสุดในไตรมาสที่ 4 นั้น มี 8 ประเทศมาจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอันดับ 1 ได้แก่ อินโดนีเซีย (119) ลำดับที่ 2 ได้แก่ อินเดีย (117) ส่วนประเทศที่พบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่อยู่นอกเอเชียแปซิฟิก และติดลำดับใน TOP 10 ได้แก่ บราซิล และแคนาดา

ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก นีลเส็นพบความเชื่อมั่นในฮ่องกงเพิ่มอย่างต่อเนื่องและขึ้นสูงสุดในไตรมาสที่ 4 จากดัชนีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ระดับ 93 ในไตรมาสที่สาม มาสู่ระดับ 100 ในไตรมาสที่สี่ ความเชื่อมั่นในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 21 จุดเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง ในปี 2552

สำหรับค่าเฉลี่ยของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 จุดจากระดับ 82 เป็น 87 ส่วนในประเทศไทยดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 9 จุดจาก 86 เป็น 95

ผลการสำรวจของนีลเส็นพบว่าผู้บริโภคทั่วโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 เริ่มมีมุมมองที่เป็นไปในทิศทางบวกเกี่ยวกับประเทศของตน เนื่องจากสามารถหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีความหวังที่สดใสเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงาน และสภาวะการเงินของตนที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ในประเทศไทย นีลเส็น พบว่าผู้บริโภคชาวไทยมีมุมมองที่เป็นไปในทิศทางบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 พบว่าผู้บริโภคจำนวน 70% ในไตรมาสที่สี่ ที่คิดว่าเศรษฐกิจในประเทศของตนอยู่ในสภาวะถดถอย ซึ่งลดลงจาก 91% ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งของปีเดียวกัน

'ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นีลเส็นพบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกตกลงต่ำที่สุดตั้งแต่นีลเส็นทำการสำรวจมา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยก็ลงถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสที่หนึ่งในปี 2552 แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2552 โดยเพิ่มจากระดับที่ 81 ในไตรมาสที่หนึ่ง ไปที่ 86 ในไตรมาสที่สอง และ 94 ในไตรมาสที่สาม' แอรอน ครอส กรรมการผู้จัดการ เดอะ นีลเส็น คอมปะนี ประเทศไทย กล่าว

ผู้บริโภคชาวไทยเริ่มมีความหวังที่สดใสกับสถานะทางการเงินของตน โดยมากกว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (55%) ที่ได้ทำการสำรวจเชื่อว่า สถานะทางการเงินของตนในปี 2553 จะดีและดีมาก ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงกลางปี 2552 ที่ผ่านมา ที่พบว่าผู้บริโภคประมาณ 45% มีความคิดเห็นดังกล่าว

ในเอเชีย ผู้บริโภคในประเทศจีน ยังติดลำดับที่หนึ่งของโลกในการลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุนรวม และซื้อสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ และยังคงติดเป็นลำดับที่สองของโลกในการใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้าและการใช้เงินท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม นีลเส็นพบว่าผู้บริโภคชาวไทยยังไม่พร้อมที่จะเดินหน้าจับจ่ายใช้สอย โดยพบผู้บริโภค 64% กล่าวว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มจาก 60% ที่มีความคิดเห็นดังกล่าวจากการสำรวจในไตรมาสที่สามของปี 2552

ขณะที่ความคาดหวังในด้านการงานเชื่อว่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคชาวไทยกังวลมากเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่าความกังวลทางด้านความคาดหวังในการงานปี 2553 นี้ลดลงเป็นลำดับ โดยพบผู้บริโภค 40% เชื่อว่าการงานของตนในปี 2553 จะดีถึงดีมาก โดยเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งในไตรมาสแรกของปีที่แล้วมีเพียง 15% ที่เชื่อว่าการงานจะดีขึ้น ส่วนไตรมาสที่สองเพิ่มเป็น 27% ไตรมาสสามเพิ่มเป็น 38%

ในส่วนของการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคชาวไทย พบว่าผู้บริโภคชาวไทยยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินหลังจากการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมมาตลอดในช่วงสามปีที่ผ่านมา คือการออม โดยจะเห็นได้จากความนิยมในการออมที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในปี 2552 ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่นิยมเป็นลำดับต่อมาคือ การท่องเที่ยว (47%) การลงทุนในกองทุนเพื่อยามเกษียณ (30%) การตกแต่งบ้าน (28%) เป็นลำดับ

การสำรวจในครั้งนี้ยังได้ศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อสินค้าและการดำเนินชีวิตใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 85% มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยพยายามลดรายจ่ายต่างๆ ดังนี้ 64% ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ 58% ลดสิ่งบันเทิงนอกบ้าน 55% เน้นการประหยัดค่าไฟ 44% เลื่อนการอัปเกรดอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และ 42% ลดการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.