การใช้คอมพิวเตอร์วางแผนระยะยาวของกิจการขนส่ง

โดย สหัส พรหมสิทธิ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ในท่ามกลางการวางแผนทางการเงินที่มีอยู่หลายรูปแบบ การวางแผนการเงินระยะยาวในรูปของ broad financial planning ที่ครอบคลุมการดำเนินงานของทั้งกิจการนั้นจัดเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกิจกรรมหนึ่ง เพราะได้นำเอาเรื่องของการเติบโตของรายได้ การจ่ายเงินปันผล โครงสร้างของเงินทุน สภาพคล่องและอื่นๆ เข้ามาพิจารณาอย่างครบครันในช่วงเวลาของการวางแผน ซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี โดยสามารถใช้ผลของการคำนวณ (optimal plan) เป็นเครื่องกำหนดว่าควรจะดำเนินการอย่างไรบ้างทั้งอนาคตอันใกล้และไกล เพื่อให้กิจการค้าบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งเอาไว้

การวางแผนระยะยาวที่มีทั้งข้อจำกัด และเป้าหมายต่างๆ ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นผลของการวางแผนด้านการเงินของกิจการขนส่งทางบกขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีรายได้จากการให้เช่ารถบรรทุก และรายได้จากการขนส่งโดยผู้บริหารได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องของ

(1) การเติบโตของรายได้

(2) โครงสร้างของเงินทุน และ

(3) การสามารถจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และให้ถือว่า นโยบายหลักทั้งสามข้อนี้เป็นภาระอันสำคัญที่ผู้บริหารกิจการนี้จะต้องบรรลุให้ได้โดยเริ่มตั้งแต่ปีที่ 2 จนครบกำหนดห้าปีแรก

หัวใจของปัญหาจึงอยู่ที่การมีเงินหมุนเวียนไว้ลงทุนซื้อรถใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาเพื่อให้บริการในด้านการให้เช่าและการขนส่งให้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะจะมีผลต่อการเติบโตของรายได้และการจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น และให้รางวัลตอบแทนแก่พนักงานในรูปของโบนัส ฯลฯ แต่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ก็ต้องอาศัยโครงสร้างทางการเงินที่ดี ซึ่งต้องการการลงทุนอย่างระมัดระวังและพยายามตัดการรั่วไหลให้มากที่สุด

สรุปแล้ว ผู้บริหารกิจการขนส่งอันนี้ต้อง

(1) สามารถจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นให้ได้ทุกปี และกำหนดให้เป้าหมายอันนี้มีความสำคัญมากที่สุด

(2) ให้การเติบโตของรายได้ของแต่ละปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิอันเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง และ

(3) สามารถจ่ายเงินปันผลส่วนพิเศษเพิ่มเติมให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยพยายามจ่ายให้ถึงร้อยละ 50 ของรายได้สุทธิของแต่ละปี

อันนี้เป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญน้อยที่สุดในบรรดาเป้าหมายทั้งสาม

ในทางปฏิบัติเราอาจบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ไม่ได้หมดทุกเป้าหมาย เพราะอาจเกิดเหตุสุดวิสัย (เช่นเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ การลดค่าของเงิน ฯลฯ) หรือเกิดจากความบกพร่องในการบริหารงานซึ่งคงต้องแก้ไขปรับปรุงโดยเร็วเพื่อสวัสดิภาพของผู้บริหารเอง และของผู้ถือหุ้นตลอดจนพนักงานจำนวนพันคนที่ฝากชีวิตไว้กับกิจการแห่งนี้

การเติบโตของรายได้ที่รวมไปถึงกำไรของกิจการขนส่งแห่งนี้ ก็เหมือนการค้าอื่นๆ ที่ต้องขึ้นกับการสามารถลงทุนได้อย่างพอเพียงในช่วงเวลาต่างๆ ที่ต้องการจะลงทุนโดยในกรณีนี้มีแหล่งเงินอยู่สามแหล่งด้วยกันคือ

(1) Equipment Trust Loans (ETL)

(2) การกู้จากบริษัทแม่ และ

(3) เงินที่ได้มาจากภายในของกิจการขนส่งเอง

การกู้แบบ ETL ยอมให้กู้ได้ถึงร้อยละ 80 ของราคารถใหม่ และจ่ายคืนภายใน 15 ปี

นอกจากนี้จำนวนเงินกู้ได้ในแต่ละปี จะต้องไม่เกินสองเท่าของมูลค่าสุทธิของกิจการและจำนวนเงินกู้จากบริษัทแม่

แหล่งเงินกู้จะเป็นผู้มีส่วนกำหนดโครงการเงินลงทุนในแง่ของการเก็บสำรองรายได้ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มฐานในการกู้ยืม

ความต้องการอันนี้จะไปขัดกับการจ่ายเงินปันผลที่อาศัยการเติบโตของรายได้เป็นหลัก ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันมากมายจนเหมาะที่จะปล่อยให้กรรมวิธีทางคำนวณเป็นผู้หาความพอเหมาะพอดีออกมา (optimization)

ส่วนการกู้เงินจากบริษัทแม่นั้นให้กู้ได้ในปีที่ 4 โดยจำกัดว่ากู้ได้ร้อยละ 43 ของมูลค่าสุทธิของกิจการ (net worth) โดยหักหนี้ตกค้างอยู่ออกให้หมดเสียก่อน

ผู้บริหารกิจการขนส่งต้องทราบรายละเอียดอันเป็นผลจากการวางแผนการเงิน 5 ปีดังนี้คือ

(1) วงเงินรายได้ที่เกิดจากการให้เช่ารถบรรทุกและการให้บริการขนส่งสินค้า สำหรับแต่ละปี

(2) เงินที่ต้องนำมาลงทุนเพื่อจัดซื้อรถบรรทุกใหม่ๆ ในแต่ละปี

(3) ค่าสึกหรอของรถที่ใช้งานอยู่ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับเงินกู้แบบต่างๆ กำไรก่อนหักภาษี และวงเงินของการกู้แบบ ETL ในแต่ละปี

(4) จำนวนเงินที่ต้องจ่ายเป็นเงินปันผลขั้นต่ำสุด และเงินปันผลพิเศษ (extra dividends) ในแต่ละปี

(5) มูลค่าสุทธิของทั้งกิจการขนส่งสำหรับแต่ละปี และ

(6) จำนวนเงินที่ต้องกู้จากบริษัทแม่ในปีที่ 4 ผู้บริหารต้องการทราบอีกว่า ในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งสามที่กำหนดไว้แต่แรกได้หมดนั้น มีการพลาดเป้าหมายแต่ละอันไปในทางสูงกว่า หรือต่ำกว่า คิดเป็นปริมาณเท่าใดในแต่ละปี

ซึ่งการคำนวณจะให้คำตอบข้างต้นได้หมด เพราะได้กำหนดให้เป็นตัวแปรค่าไว้ตั้งแต่แรกแล้วจากนั้น ก็ใช้คอมพิวเตอร์หาคำตอบที่เป็นแผนอันสมบูรณ์แบบออกมาโดยแสดงคำตอบต่างๆ ทีละปีจนครบ 5 ปี

ตัวเลขข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนระยะยาวของกิจการขนส่งจะประกอบด้วย

(1) มูลค่าของรถบรรทุกที่มีอยู่ทั้งหมดในปีแรกของการวางแผน (12,140 ล้านบาท)

(2) มูลค่าสุทธิของกิจการในตอนแรกเริ่ม (2,540 ล้านบาท) และ Target earnings ในปีแรกเท่ากับ 400 ล้านบาท

(3) หนี้บริษัทแม่ที่ตกค้างมาก่อนและปรากฏอยู่ในปีที่ 4 เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ส่วนข้อมูลหลักในช่วงของการวางแผน 5 ปีได้แสดงไว้ในตารางที่ 1 โดยมีหน่วยเป็นล้านบาท ส่วนข้อมูลประกอบอื่นๆ ก็มี

(1) ค่าสึกหรอและอัตราดอกเบี้ยคิดเป็นร้อยละ 4 และ 5 ต่อไปโดยลำดับ

(2) อัตราการจ่ายหนี้คือบริษัทแม่ และ ETL ร้อยละ 2.8 และ6.7 ต่อปี และ

(3) รายได้จากการให้เช่าและการขนส่งเมื่อหักค่าดำเนินงานออกแล้วคิดร้อยละ 14

จุดมุ่งหมายในเวลาคำนวณเพื่อหาแผนระยะยาวนี้มุ่งไปที่การหาค่าเบี่ยงเบน (deviation)จากเป้าหมายแต่ละอันที่กำหนดไว้ให้มีค่าน้อยที่สุด คือถ้าไม่มีการพลาดจากเป้าหมายที่วางไว้เลย ก็จะดีที่สุด ส่วนจะเป็นได้สักแค่ไหนนั้นต้องให้ผลของการคำนวณเป็นเครื่องตัดสิน หรืออาจต้องแก้ไขและปรับแผนจนเห็นว่าพอปฏิบัติตามได้ งานวางแผนประเภท broad financial planning เช่น ของกิจการขนส่งนี้มีตัวแปรค่า 61 ตัว และมี 56 สมการจึงจัดเป็นปัญหาขนาดย่อมที่อยู่ในวิสัยของผู้จัดการส่วนใหญ่ การวางแผนเตรียมการได้ล่วงหน้าแบบนี้จะชี้ให้เห็นอะไรๆ ได้มาก และช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ในด้านการงาน (รายได้) กำไรที่คาดว่าจะมี หนี้สินที่ทวีขึ้นในอนาคต และอื่นๆ อันจำเป็นแก่การกำหนดนโยบายให้การดำเนินงานต่างๆ สามารถนำรายได้มาสู่กิจการโดยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยในเวลาเดียวกัน การวางแผนนั้นไม่สามารถเอาชนะความผันผวนไม่แน่นอนในโลกของการค้าได้หมดก็จริง ในทางตรงข้ามนักธุรกิจบางท่านกลับเห็นว่ายิ่งมีความไม่แน่นอนมากเท่าใด การวางแผนระยะยาวก็ยิ่งจำเป็นในแง่ของการผ่อนแรงมากเท่านั้น เพราะนักยุทธศาสตร์ด้านการค้าจะได้สามารถใช้เวลาที่เหลือจากการไม่ต้องเป็นห่วงปัญหาระยะยาวมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือวางแผนระยะสั้นที่ต้องการการตัดสินใจอย่างฉับพลันได้

การวางแผนระยะยาวโดยเริ่มด้วยตัวเลขในปัจจุบัน และอาศัยการคาดคะเนสำหรับอนาคตที่ค่อนข้างแน่นอน โดยไม่ได้นำเอาความผันผวนหรือวิกฤตการณ์มาพิจารณาก็เพราะเป็นงานในอันดับแรกๆ ที่ต้องการจะทราบผลของการวางแผนในบรรยากาศการลงทุนที่เป็นปกติธรรมดาเสียก่อน เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินงานอย่างคร่าวๆ ในชั้นต้น

ชั้นต่อไปจึงเริ่มผาดแผลงงานวางแผนด้วยการแปรตัวเลขข้อมูลบางอันที่เป็นเครื่องสะท้อนสภาพทางเศรษฐกิจ โดยจะกำหนดให้มีค่ามากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี ก็ทำได้

ตัวเลขอันสำคัญที่จะนำมาจำลองสภาพเศรษฐกิจให้แปลกจากสภาวะปกตินั้น อาจอาศัย

(1) อัตราดอกเบี้ย

(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบางรายการหรือตัวเลขอื่นใดที่เห็นว่าจะมีผลทำให้ เหมือนการเกิด

(1) ภาวะเงินเฟ้อ

(2) วิกฤตการณ์พลังงาน หรือ ฯลฯ ก็นำมาใช้กับ model เช่น กิจการขนส่ง ได้ทั้งสิ้น เพราะการวางแผนโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ (เช่นในกิจการขนส่งนี้) ใช้เวลาคำนวณสำหรับแผนแต่ละแผนเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า หากรู้จักการแปรผันตัวเลขโดยอาศัยประสบการณ์ด้านการค้าให้มากเท่าใด การใช้คอมพิวเตอร์มาวางแผนก็จะประสบผลดีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าสภาพของเศรษฐกิจจะแน่นอนหรือปั่นป่วนสักเพียงใด เพราะพ่อค้าที่ดีนั้นมักมีแผนเป็นสิบๆ แผนไว้คอยตั้งรับการจู่โจมทางเศรษฐกิจได้สารพัดแบบ จึงทำให้ผ่านพ้นมรสุมได้เกือบทุกครั้ง การวางแผนด้วย optimization techniques ที่กล่าวมามากพอสมควรนั้นไม่ได้เป็นวิธีการเพียงอันเดียว คือยังมีกรรมวิธีอื่นๆ อีก เช่น management systems dynamic ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องอาศัยคอมพิวเตอร์และตัวโปรแกรมที่มีผู้พัฒนาไว้ให้พร้อมที่จะใช้ได้ทันที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.