ประเทศไทยได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2506 ราคาเครื่องละประมาณ
10 ล้านบาท ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาตลอด จากเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่สองเพียง
2 เครื่อง ในปี 2506 เพิ่มเป็นประมาณ 60 เครื่อง ในปี 2516 แล้วประมาณ 5,000
เครื่อง ในปี 2526 และเชื่อว่าถึงต้นปี 2527 นี้ เรามีคอมพิวเตอร์รุ่นที่สี่ใช้กันถึง
8,000 เครื่อง นั่นคือในเวลาประมาณ 20 ปี จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น
4,000 เท่าตัว
ฉะนั้นถึงปี 2527 นี้ ประเทศไทยก็ได้สร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์มามากพอประมาณ
ควรจะถึงจุดที่จะได้ก้าวทะยานไปข้างหน้า เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เต็มที่
ส่วนจะไปทางไหนดี ผมก็มีข้อเสนอให้พิจารณาดังต่อไปนี้:-
กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงานได้พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยควรจะเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองหรือ
BRAIN INTENSIVE มากกว่าอุตสาหกรรมทุ่นทุนหรือ CAPITAL INTENSIVE เพราะอุตสาหกรรมทุ่นสมองอาจจะไม่ต้องลงทุนมาก
และจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความยากจนและจากการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ไม่ยาก
อุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นรากฐานในการผลิต
และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแผนใหม่สำหรับประเทศไทย
ควรจะได้รับความสำคัญระดับสูง ชักจูงส่งเสริมให้มีการพัฒนา เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองจะช่วยยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย เพราะผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมประเภทนี้ต้นทุนต่ำ
แต่กำไรสูง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มราคาได้มาก (VALUE ADDED) ต่างกับอุตสาหกรรมประเภททุ่นแรงงานหรือ
LABOR INTENSIVE ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์ราคาต่ำได้กำไรน้อย
อุตสาหกรรมที่ทุ่นแรงงานนั้น ไทยเคยได้เปรียบและอาจจะยังได้เปรียบต่างประเทศอยู่ในแง่ที่ว่า
ค่าแรงของคนไทยต่ำกว่า ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าต่างประเทศ แต่ขณะนี้ต่างประเทศ
อาทิ ญี่ปุ่น ได้พัฒนาหุ่นยนต์โรบอตและระบบการผลิตอัตโนมัติขึ้นมาใช้แทนแรงงานมนุษย์
หุ่นยนต์ทำงานได้วันละ 24 ชั่วโมง ไม่มีเหนื่อย ไม่มีเบื่อ เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าแรงก็ต่ำกว่ามนุษย์และผลงานก็อาจจะมีคุณภาพดีกว่า
ฉะนั้นไม่ช้าไทยก็อาจจะเสียเปรียบต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมทุ่นแรงงาน
ผมเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภททุ่นสมองอย่างรีบด่วน
โดยแสดงให้ภาคเอกชนเห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์อันจริงจังของรัฐบาล เพื่อเป็นแรงกระตุ้นและจูงใจให้ภาคเอกชนสนใจ
จะได้ระดมสมองมาจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้แพร่ขยายทันเหตุการณ์ เช่น
ให้รัฐไปช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการร่วมลงทุน ด้านการให้ข้อมูลเทคโนโลยี ด้านการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลต่างประเทศ
ด้านการตลาดและด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรงอยู่แล้ว
ผมจึงเห็นสมควรให้สถาบันแห่งนี้เป็นองค์กรดำเนินการ เพื่อสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภททุ่น
สมองจะได้เป็นตัวอย่างจูงใจให้ภาคเอกชนแพร่ขยายการลงทุนตาม
ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2527 นี้ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการและแนวทางดำเนินการในการสนับสนุนอุตสาหกรรมทุ่นสมอง
3 ประการคือ
1. อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
และอุตสาหกรรมที่เน้นหนักความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นพื้นฐานการผลิตเป็นพิเศษ
2. ให้รัฐวิสาหกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนในการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทนี้
โดยร่วมลงทุน สนับสนุนข้อมูลเทคโนโลยี เจรจากับต่างประเทศในเรื่องการจัดหาเงินทุนตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้อุตสาหกรรมประเภทนี้แพร่ขยายออกไป โดยให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณและอื่นๆ ที่จำเป็น
3. เห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินงานผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีก้าวหน้า 4
ชนิดคือ อุปกรณ์โทรคมนาคม (MICROWAVE ISOLATOR AND CIRCULATOR) เซลล์สุริยะ
(SOLAR CELL) อุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOTECHNOLOGY) และอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์
(COMPUTER SOFTWARE)
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
(HARDWARE INDUSTRY) และอุตสาหกรรมผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ (SOFTWARE INDUSTRY)
ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ สิ่งที่ผลิตออกขายก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องจากแม่เหล็ก เครื่องเทปแม่เหล็ก เครื่องพิมพ์และจอโทรทัศน์สำหรับคอมพิวเตอร์
เป็นต้น
ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สิ่งที่ผลิตก็คือ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์และคำอธิบายการใช้โดยมีตัวคำสั่งซึ่งเขียนในภาษาคอมพิวเตอร์บรรจุอยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้
เช่น ในแถบแม่เหล็กหรือจานแม่เหล็ก ส่วนคำอธิบายจะพิมพ์เป็นรูปเล่มเรียบร้อย
ฉะนั้นสิ่งที่ซื้อขายกันอาจจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีจานแม่เหล็กแผ่นเล็กๆ สอดอยู่ในหนังสือนั้นหรืออาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งจากคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศมาถึงคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย
แล้วในสัญญาณนี้ก็ประกอบด้วยคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและคำอธิบายว่าจะใช้อย่างไร
สำหรับเมืองไทยขณะนี้ทราบว่ายังไม่มีการผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่อง แต่มีการประกอบคอมพิวเตอร์และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชิ้น
ชิ้นส่วนที่ผลิตก็มี เช่น เครื่องเทอร์มินัลหรือเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์
โดยบริษัทดาต้าเจนเนอรัลและจอดโทรทัศน์คอมพิวเตอร์โดยบริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม
เป็นต้น
การประกอบไมโครคอมพิวเตอร์ขายในเมืองไทยก็มีตัวอย่าง เช่น บริษัทฟิลิปส์
บริษัทไมโครเนติกและบริษัทถาวรคอมพิวเตอร์ เป็นอาทิ
ส่วนอุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์ก็มีผลิตกันหลายบริษัท เช่น บริษัทบิสโก (BISCO)
ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องไอบีเอ็ม ซิสเต็ม 34 และบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยี่ห้อใดก็ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องยี่ห้อนั้น
การตั้งโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องต้องลงทุนมาก ส่วนถ้าจะทำเพียงแค่ซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ก็ไม่ต้องลงทุนมาก
แต่อาจจะต้องเสี่ยงกับการขาดทุนโดยไม่รู้ตัว เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
โรงงานที่ตั้งขึ้นอาจจะเปลี่ยนตามไม่ทัน
ตัวอย่างเช่น บริษัทออสบอร์นคอมพิวเตอร์ ซึ่งตั้งในสหรัฐฯ เพื่อประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อออสบอร์นทุกชิ้นส่วนในเครื่อง
บริษัทออสบอร์นสั่งซื้อจากบริษัทอื่นๆ ทั้งนั้น เมื่อได้ชิ้นส่วนมาแล้วก็ใช้เวลาประกอบเพียงเครื่องละ
45 นาที แต่เครื่องออสบอร์นตอนที่เริ่มผลิตออกมานั้น มีจุดเด่นกว่ายี่ห้ออื่นๆ
ตรงที่เป็นเครื่องที่หิ้วถือได้ ในขณะที่เครื่องอื่นต้องตั้งอยู่กับที่ จะหิ้วไปไหนมาไหนไม่สะดวก
เครื่องออสบอร์นก็ขายดีมาก เพียงในปีที่สองหลังจากตั้งบริษัทก็มีการสั่งซื้อถึงเดือนละหนึ่งหมื่นเครื่อง
แต่ต่อมาบริษัทไอบีเอ็ม ทำเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ออกมาขาย ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าออสบอร์น
คือเป็นเครื่องชนิด 16 บิต ขณะที่ออสบอร์นเป็นเครื่องชนิด 8 บิต ไอบีเอ็ม
ก็แย่งตลาดออสบอร์นไปจนออสบอร์นขายได้เพียงเดือนละหนึ่งร้อยเครื่อง ออสบอร์นจึงต้องล้มละลายปิดกิจการไป
เขาว่าในบรรดาผู้ผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์กว่า 600 บริษัทในปัจจุบันนี้
ในอนาคตจะต้องเลิกกิจการไปอีกหลายบริษัท แม้บริษัทใหญ่ๆ ก็เคยเลิกกิจการด้านคอมพิวเตอร์
เช่น บริษัทซิงเกอร์และบริษัทยีอี ในอเมริกา เป็นต้น
ในปี 2526 นั้น สหรัฐฯ ผลิตคอมพิวเตอร์เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 570,000
ล้านบาท และคาดกันว่าเมื่อถึงปี 2530 ยอดผลิตจะเพิ่มเป็นประมาณสองเท่าของปี
2526
ถึงแม้ว่ายอดขายฮาร์ดแวร์จะสูงขึ้นทุกวัน แต่ราคาต่อหน่วยก็ลดลงทุกวันเหมือนกัน
อาจกล่าวได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าประเภทเดียวที่ราคาลดลงทุกวัน
เครื่องแรกที่ประเทศไทยใช้นั้น (ปี 2506) ราคาตกประมาณ 10 ล้านบาท แต่ 20
ปีต่อมาคือในปี 2526 เครื่องที่มีความสามารถขนาดเดียวกันราคาเพียงไม่ถึงหนึ่งแสนบาท
นั่นคือในเวลาประมาณ 20 ปี ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงในอัตราส่วนจากหนึ่งร้อยบาทเหลือเพียงหนึ่งบาท
ถ้าเทคโนโลยีด้านการผลิตรถยนต์ก้าวหน้ารวดเร็วเท่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
ในปี 2527 นี้ ราคารถยนต์ก็จะเหลือคันละ 50 บาท และวิ่งได้กว่า 500 กิโลเมตรต่อน้ำมันเพียงหนึ่งลิตร
นอกจากนั้นการขายฮาร์ดแวร์ยังมีการตัดราคากันแบบเชือดคอ เช่น ตามข่าวเมื่อเร็วๆ นี้เครื่องแมคอินทอชของบริษัทแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ราคาเครื่องละประมาณ 2,500
เหรียญ ได้ประกาศลดราคาเหลือเพียงเครื่องละ 1,000 เหรียญ ปรากฏว่าขายไปได้
50,000 เครื่อง อย่างนี้ถ้าเป็นบริษัทในเมืองไทย ก็คงมีปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์คิดเป็นยอดเงินก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นถ้าใครในเมืองไทยสนใจทำก็ควรสนับสนุนให้เขาทำ ถ้าเขาพร้อมที่จะเสี่ยง
แต่สำหรับรัฐบาลน่าจะพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้านที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า
อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าก็คืออุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ต้องลงทุนมากและเมื่อไม่ต้องลงทุนมากก็ไม่มีความเสี่ยงมาก
ในต่างประเทศเคยมีหน่วยงานผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์แบบที่เรียกว่า สองคนกับหนึ่งสุนัข
(TWO MEN AND A DOG COMPANY) ก็ทำงานได้ปีละหลายล้านบาท TWO MEN AND A DOG
COMPANY เป็นแสลงอเมริกันหมายถึงการผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ไม่ต้องลงทุนมากมีคนซัก
2 คนนั่งลูบหัวสุนัขไปเดี๋ยวก็ได้หนึ่งโปรแกรม
คำสั่งในไมโครคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายมากที่สุดชุดหนึ่ง คือตารางประมวลผลหรือ
SPREAD SHEET มียอดขายขณะนี้ปีละเป็นร้อยๆ ล้านบาท และครั้งแรกที่ผลิตขึ้นโดยนักศึกษาปริญญาโทลงสมองลงแรงเพียงคนเดียว
ใช้เวลาประมาณ 1 ปี
ในสหรัฐฯ เมื่อปีนี้เองก็มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 20 คนที่ผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ออกขายมีรายได้ปีละกว่า
20 ล้านบาทและมีแม่บ้าน ที่ผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่บ้านออกวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้รายได้เดือนละหลายพันบาท
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทม์ฉบับ 5 มีนาคมนี้ หน้า 46 ก็ได้มีงานแสดงสินค้าคำสั่งคอมพิวเตอร์ระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ
มีผู้เข้าร่วมงาน 20,000 คน ชมคำสั่งคอมพิวเตอร์กว่า 12,000 ชุดจากผู้ผลิต
600 ราย บางรายช่วยกันทำเพียง 2 คน และของที่แสดงก็มีเพียงแผ่นจานแม่เหล็กบรรจุคำสั่งเท่านั้น
ในสหรัฐฯ อีกนั่นแหละ เมื่อปี 2526 มีผู้ประเมินว่า ยอดขายคำสั่งคอมพิวเตอร์ขึ้นไปสูงถึง
46,000 ล้านบาท เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น
คำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ทำขายกันได้นี้มีมากมายหลายประเภท อาทิ คำสั่งด้านการบัญชี
คำสั่งด้านการบริหาร การเกษตร ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการเรียนการสอน ตลอดจนคำสั่งเล่นเกมส์ต่างๆ
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์เกือบทันสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ไม่ทันใช้ไม่ทันขาย
ต้องไปจ้างต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษทำคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้ ในเอเชียก็มีอินเดียกับสิงคโปร์ที่สนใจพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์
ในเมื่อตลาดในสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียวก็สูงถึงปีละ 46,000 ล้านบาท บุคลากรไทยก็มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ส่งออก
ฉะนั้นเราจึงน่าจะศึกษาความเหมาะสมด้านส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อส่งออกเป็นการลดการขาดดุลการค้าของไทยต่อไป
ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ คือคนและเครื่อง
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็คือ ในอุตสาหกรรมทั่วไปจะเน้นการผลิต
เช่น ถ้าผลิตโทรทัศน์เมื่อเลือกแบบแล้วก็ต้องลองทำตัวอย่างดู ทดสอบจนเป็นที่พอใจแล้วก็ผลิตแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ใช้ฝีมือในการผลิตแต่ละชิ้นให้ได้คุณภาพดีเหมือนๆ กัน แต่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเน้นการออกแบบ
คือใช้เวลาใช้สมองคิดหาชุดคำสั่งใหม่ๆ เมื่อคิดจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็เขียนโปรแกรมผลิตออกมาชิ้นเดียวให้ได้คุณภาพดี
เวลาจะขายก็ไม่ต้องผลิตชิ้นใหม่แต่เอาตัวอย่างไปอัดสำเนาซึ่งง่ายมากเหมือนอัดเทป
ถ้าเครื่องอัดคุณภาพดีก็อัดออกมาได้ดี
นั่นก็คืออุตสาหกรรมทั่วๆ ไปจะต้องใช้คนงานจำนวนมากทำงานในโรงงาน แต่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะใช้คนจำนวนน้อยและไม่อยู่ในโรงงานแต่เป็นนักออกแบบอยู่ในบ้านสบายๆ ก็ได้ ในเมืองไทยเรามีผู้มีความรู้ความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์พอจะเป็นผู้ออกแบบซอฟต์แวร์จำนวนไม่น้อย
อย่างเช่น บริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็มีนักออกแบบซอฟต์แวร์อยู่แล้ว
ในมหาวิทยาลัยของเราก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก แม้แต่นิสิตนักศึกษาที่เรียนวิชาหลักด้านคอมพิวเตอร์ขณะนี้ก็รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ค่าจ้างเดือนละ
4-5 พันบาท ขนาดยังเรียนไม่จบ
ส่วนด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการพัฒนาโปรแกรม ในเมืองไทยก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง
8,000 เครื่อง มียี่ห้อต่างๆ ที่สำคัญๆ เกือบทุกยี่ห้อ จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการหาคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการพัฒนาโปรแกรม
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เห็นพ้องต้องกันกับนักคอมพิวเตอร์และผู้สนใจในกิจการคอมพิวเตอร์ทุกท่านว่า
คอมพิวเตอร์เป็นวิทยาการก้าวหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมั่งมีศรีสุข
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเสมอที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมการใช้วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาประเทศ
อย่างด้านอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ เมื่อมีแนวโน้มว่ามีทางที่ไทยเราจะพัฒนาขึ้นมาช่วยการขาดดุลการค้า
เราก็มิได้นิ่งนอนใจ รีบนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็ได้กรุณาอนุมัติไปแล้ว
โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการทันที
สุดท้ายนี้ ผมขอให้นักคอมพิวเตอร์และผู้สนใจในกิจการคอมพิวเตอร์ทุกท่าน
ทั้งที่มาประชุมในวันนี้ และที่มิได้มาประชุม จงได้โปรดหาทางช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป