ในเดือนธันวาคม 2526 “ผู้จัดการ” ได้เคยเอาเรื่อง สุระ จันทร์ศรีชวาลา
ขึ้นปก และในเนื้อหาของเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องราวความเป็นมา ซึ่งในที่สุดเมื่อวันที่
30 มีนาคม 2527 สุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกแบบมาราธอน
นาน 3 ชั่วโมง พูดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เขาตกเป็นข่าวตั้งแต่ “ความเป็นแขก”
“รามาทาวเวอร์” “รามาการ์เด้น” “บริษัทเงินทุนในเครือ”
“ธนาคารกรุงไทย” “ธนาคารแหลมทอง” ฯลฯ
การให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นของสุระฯ เท่ากับเป็นการยืนยันข้อเขียนของ “ผู้จัดการ”
ว่าถูกต้อง และเป็นการต้องพิสูจน์ในบางข้อต่อไปอีกว่าใครจะถูก
”ผู้จัดการ” เห็นว่ามีหลายข้อความที่ควรจะนำมาตีพิมพ์และขยาย จึงขอนำเรื่องการสัมภาษณ์ของสุระฯ
กับเนื้อหาใน “ผู้จัดการ” ฉบับธันวาคม และมีนาคมมาลงประกอบด้วย
จะอย่างไรก็ตาม สุระฯ เป็นนักธุรกิจที่น่านับถือคนหนึ่งที่ได้พยายามฟันฝ่า
และต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเองโดยพยายามพึ่งตัวเองมากที่สุด
ในสภาวการณ์ของความปั่นป่วนทางการเงินก็ต้องยอมยกให้ กลุ่มสุระฯ ซึ่งไม่ได้มีธนาคารใดหนุนหลังนอกจากกรุงไทย (ซึ่งเป็นอดีตไปแล้ว) พยายามสู้กับปัญหาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้
อนาคตของสุระฯ นั้นจะอยู่ที่ใดก็คงจะไม่นานเกินรอที่จะรู้
“ภาวการณ์ในตลาดหลักทรัพย์เองก็ไม่ได้เอื้ออำนวยอะไรให้กับกลุ่มบริษัทของสุระที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
เพราะโอกาสกู้สถานการณ์คืนมาในปีหน้า (2527) นั้น อาจจะดูค่อนข้างไม่ง่ายนัก
สุระอาจจะต้องเสียสละทรัพย์สินบางอย่างไปเพื่อแลกกับความอยู่รอดของบริษัทหลักๆ
เช่น บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิดแลนด์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์
แลบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย
“ผู้จัดการ” ฉบับเดือนธันวาคม 2526 หน้า 94
และแล้วในวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2527 ที่โรงแรมรามาทาวเวอร์ สุระ จันทร์ศรีชวาลา
ก็ออกมาพบกับสื่อมวลชนยี่สิบกว่าคน พร้อมกับบอกว่าเขาพร้อมจะขายทุกอย่างเพื่อรักษาบรรดาบริษัทเงินทุนทั้ง 3-4 แห่งนี้เอาไว้
“พวกผมคิดว่าสถาบันการเงินที่เรามีอยู่เป็นเรื่องแรกที่ต้องป้องกันเอาไว้ทุกวิถีทาง
และเราก็ได้เอาหลักทรัพย์ที่สำคัญมาค้ำประกันเงินกู้ออกมา ผมไม่ห่วงเรื่องดอกเบี้ยหรอก
เราจะยืมจากหลายๆ แหล่ง” สุระพูดกับผู้สื่อข่าว
“ผู้จัดการ” เคยรายงานเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าในภาวการณ์การเงินเช่นปัจจุบันนี้
กลุ่มสุระจะต้องเหนื่อยเป็นพิเศษเพื่อประคับประคองตัวเองให้รอดพ้นจากสันดอนนั้นไป
และก็เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ตั้งแต่ปลายปี 2526 จนถึงปัจจุบันบรรดาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของสุระ
ได้เอาเงินออกมาจากธนาคารกรุงไทย และเงินทุนสากลโดยมีรายละเอียดดังนี้
เงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ กู้จากธนาคารกรุงไทย 27.7 ล้านบาท (มีหลักทรัพย์)
เงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ กู้จากเงินทุนสากล 479 ล้านบาท (ไม่มีหลักทรัพย์)
เงินทุนหลักทรัพย์มิดแลนด์ กู้จากธนาคารกรุงไทย 37.6 ล้านบาท (มีหลักทรัพย์)
เงินทุนหลักทรัพย์มิดแลนด์ กู้จากเงินทุนสากล 886.5 ล้านบาท (มีหลักทรัพย์)
จีเอสพีไฟแนนซ์ กู้จากฮ่องกง 33 ล้านบาทมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้อาวัลอย่างเดียว
“แต่สุระก็ยังมีตามใจ ขำภโต ที่ทั้งสุระและกุรดิษฐ์แวะเวียนไปหาทุกเย็นที่บ้าน
อย่างน้อยตามใจก็พอจะช่วยให้สุระได้มีลมหายใจต่อไปอีก”
“ผู้จัดการ” ฉบับธันวาคม 2526 หน้า 94
จะเห็นได้ชัดว่าในกลุ่มเงินทุนของสุระเองโดนรุมถอนเงินจนตั้งตัวไม่ติด ดีที่สุระและพวกยังพอมีที่ดินเหลืออยู่บ้างที่จะเอามาบรรเทาความเดือดร้อน
และที่สำคัญก็คือ ความเอื้ออาทรที่ตามใจ ขำภโต มีต่อสุระ
“คุณต้องพูดว่าตามใจช่วยสุระ ไม่ช่วยได้อย่างไรในเมื่อธนาคารตีราคาหลักทรัพย์
2,755 ล้านบาท แต่ให้กู้ถึง 2,596 ล้านบาท คิดเป็นเงินกู้ต่ออัตราส่วนหลักทรัพย์ก็
90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของหลักทรัพย์แล้ว คุณไปดูเลยไทยพาณิชย์ให้ 40% ของหลักทรัพย์ที่ตีราคามาแล้วอย่างดีก็ 50% ธนาคารอื่นถ้ารู้จักกันจริงๆ มีใต้โต๊ะกันบ้าง ก็กู้ได้ 70-80% ของหลักทรัพย์
นี่สุระก็ได้เกือบ 100% อย่างนี้เขาเรียกว่าตามใจอุ้มสุระแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญในการกู้เงินวิเคราะห์ให้ฟัง
แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้เช่นสุระกับผู้ให้กู้เช่นตามใจนั้น
มันก็ไม่ได้ต่างไปกว่ากลุ่มอื่นๆ
“ธนาคารกรุงเทพเองถ้าคุณขุดลงไปเยอะๆ คุณก็จะเห็นว่า situation แบบกรุงไทยกับสุระก็มีเหมือนกัน
เช่น ธนาคารกรุงเทพกับไทยเกรียงหรือธนาคารกรุงเทพกับกลุ่มสว่าง เลาหทัย ในยุคแรกๆ
มันก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นที่รู้กันในวงการว่ากู้แบบนี้มันกู้กันได้”
ฝ่ายสุระเองให้เหตุผลมาบ้าง
“รามาทาวเวอร์”
“แต่สุระคงไม่บอกฮอลิเดย์อินน์ว่าโรงแรมรามาฯ ที่ฮอลิเดย์อินน์จะเข้ามานั้นเนื้อที่อาจจะหายไปสัก
5 ไร่ เพราะสุระจะขายออกไปในวงเงินประมาณ 300 กว่าล้านบาท
“ผู้จัดการ” ฉบับธันวาคม 2526 หน้า 88
“ผมสามารถจะขายที่ซึ่งติดกับรามาฯ ไปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท และเงินที่ได้มาก็จะเอามาจ่ายคืนหนี้ทุกบาททุกสตางค์”
สุระ จันทร์ศรีชวาลา พูดกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2527
อย่างที่ “ผู้จัดการ” เคยรายงานมาแล้วในฉบับเดือนธันวาคมว่า สุระกับสุธี
นพคุณ งุบงิบกันขายโรงแรมรามาฯ ในวงเงินเพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น เป็นการซื้อที่กำไรตั้งแต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา
“ถ้าสุระขายที่ 5 ไร่ไปในราคา 400 ล้านก็แสดงว่าที่ซึ่งเหลืออีกประมาณ
8-9 ไร่ บวกตัวโรงแรมซื้อมาแค่ 300 ล้านบาทเอง ซึ่งงานนี้สุระสบายอยู่แล้ว
เพราะขายทิ้งก็กำไรอีก 2-300 ล้านบาทสบายๆ” ผู้ถือหุ้นรายย่อยของรามาฯ พูดขึ้นมา
ตกลงรามาทาวเวอร์ก็ตัดยอดขายโรงแรมรามาฯ ไปให้สุระ ในขณะที่หลักทรัพย์รามาทาวเวอร์เหลือกิจการหลักคือรามาการ์เด้นอย่างเดียวซึ่งรามาทาวเวอร์มีสินทรัพย์อยู่
1,044 ล้านบาทในนี้มีรามาการ์เด้นซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 580 ล้านบาท มีที่แถวซอยอ่อนนุชอีก
42 ล้านบาท มีลูกหนี้จะเก็บได้จากต่างประเทศอีก 90 ล้านบาท และลูกหนี้ในประเทศอีก
93 ล้านบาท ยังมีหนี้ที่บริษัทในเครือติดอยู่อีก 155 ล้านบาท และหนี้อื่นๆ
อีก 82 ล้านบาท “ สุระพูดกับผู้สื่อข่าว
แต่สุระก็คงจะลืมเล่าไปว่ารามาการ์เด้นนั้นได้ DEFAULT เงินกู้มาแทบจะตลอดเวลา
และหนี้บริษัทในเครือนั้นก็เป็นหนี้สินบนกระดาษซึ่งเรียกเก็บไม่ได้อีก ส่วนราคาของรามาการ์เด้นซึ่งสุระอ้างว่าสูงกว่า
580 ล้านนั้นก็คงจะต้องพิสูจน์กันในตอนหลังอีกครั้งหนึ่ง เพราะ “โรงแรมนั้นถ้าขายกันจริงๆ
400 ล้านยังไม่รู้จะได้หรือเปล่า 580 ล้านอาจจะได้แต่ต้องอีกสัก 5 ปีน่ะ
ให้ราคาที่ขึ้นมามากกว่านี้” นักเล่นที่คนหนึ่งออกความเห็น
สำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยในรามาทาวเวอร์นั้น ข่าวของตลาดหลักทรัพย์ที่จะให้หุ้นรามาฯ ถอนตัวออกไปเสียนั้นก็เป็นเรื่องที่คาดหวังกันมานานแล้ว
จากราคาที่เคยขึ้นสูงถึงเกือบสามร้อยบาทต่อหุ้นตกลงมาเพียงยี่สิบกว่าบาทต่อหุ้นเท่านั้น
“หุ้นนี้ผมจะเก็บมันเอาไว้ใส่กรอบเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของผม
ที่หลวมตัวเข้ามาเชื่อนายสุธี นพคุณ” ผู้ถือหุ้นรามาฯ รายย่อยระบายออกมาอย่างเหลืออด
“ธนาคารแหลมทอง”
“สุระเข้ามาในกลุ่มนันทาภิวัฒน์นี้ก็เป็นเรื่องที่นอกจากฝ่ายที่ถือหุ้นคนอื่นๆ
คอยดูด้วยความเป็นห่วงแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยสบอารมณ์ด้วย คุณต้องอย่าลืมรากฐานการเกิดของธนาคารแหลมทอง
และองค์ประกอบด้านผู้ถือหุ้นให้ดีๆ คุณจะเห็นว่าเป็นการร่วมกันในหมู่เศรษฐีเก่าหรือกลุ่มจีนเก่าสมัยหลายสิบปีมาแล้วพวกนี้
INTEGRATED ตัวเองมาในกลุ่มของ UPPER CLASS เมืองไทย ซึ่งจะเกี่ยวพันและสัมพันธ์กันในหมู่พวกเขาเท่านั้นแล้วจู่ๆ มีสุระซึ่งเป็นแขกโผล่เข้าไปถือหุ้นด้วย มิหนำซ้ำยังเป็นแขกซึ่งมีชื่อในการฮุบกิจการ....”
“ผู้จัดการ” ฉบับมีนาคม 2527 หน้า 25
สำหรับกรณีแหลมทองก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสุระทำอะไรไม่ได้ เพราะกลุ่มสมบูรณ์ได้รวมเอาหุ้นใหม่
230,000 หุ้น เข้าเป็นกลุ่มที่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงด้วย
ในการแถลงข่าวครั้งนี้สุระได้ฉายวิดีโอเทปบันทึกการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารแหลมทอง
ซึ่งประชุมกันในช่วงเช้าที่โรงแรมเอราวัณ
“มันกว่ามังกรหยกภาคเอี้ยก้วยกับเซียวเล้งนึ่งอีก” นักข่าวที่นั่งดูพูดให้ฟัง
วิดีโอเทปม้วนนี้ถ่ายให้เห็นการฟาดฟันกันชนิดถึงไส้ถึงม้ามระหว่างกลุ่มสมบูรณ์กับกลุ่มสุระซึ่งใช้สุวัฒน์
พฤกษเสถียร ทนายกลุ่มสุระเป็นหัวหอก
สุวัฒน์ พฤกษเสถียร แสดงบทบาทจี้จุดอ่อนของสมบูรณ์จนภาพของสมบูรณ์และกลุ่มออกมาในจอทีวีไม่ต่างกว่าภาพของมาเฟียที่มีอิทธิพล
สุวัฒน์ให้กลุ่มสมบูรณ์ชี้แจงฐานะการเงินของธนาคารก่อนจะให้มีการรับรองงบดุลของธนาคาร
สมบูรณ์ก็ตัดด้วยการให้ลงคะแนนเสียงลูกเดียว
จนกระทั่งสมบูรณ์ทนไม่ไหวก็บอกว่า “ก็ถ้าหากคุณไม่ไว้ใจแบงก์ คุณก็สามารถจะเอาหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ได้นี่”
แปลไทยเป็นไทยว่าถ้าไม่พอใจก็ขายหุ้นทิ้งไปซะ !
ในที่สุด กลุ่มสุวัฒน์ก็เลยแฉออกมาเสียเองว่าธนาคารแหลมทองค้ำประกันสหไทยไว้
800 ล้านบาท และเงินให้กู้อีก 1,200 ล้านบาท และยังสรุปตอนหลังอีกว่า “หนี้ก้อนนี้เกินเงินกองทุนของแบงก์ด้วย”
(และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งธนาคารแหลมทองจำเป็นต้องเข้าพยุงฐานะของเงินทุนหลักทรัพย์สหไทย)
“ยอดการอาวัล (ตั๋วสหไทย) ก็มีหลายกระแสข่าว บางแหล่งระบุว่าพันกว่าล้าน
แต่อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ บอกว่า 2-3 ร้อยล้านเท่านั้น”
“ผู้จัดการ” ฉบับมีนาคม 2527 หน้า 22
สุระเน้นตลอดเวลาว่าการสู้กับพวกนันทาภิวัฒน์นั้นเป็นการสู้ด้วยเหตุผล 2
ประการ ประการแรกเพราะเล็ก นันทาภิวัฒน์ มีบุญคุณกับเขามาก ฉะนั้นก็ต้องร่วมหัวลงท้ายด้วยกัน
ประการที่สองเพราะตัวเขาเองต้องการทวงสิทธิ์ที่เขาควรได้อย่างชอบธรรม
“ผมว่าเขาจะขายหรือไม่ขายคงอยู่ที่ความพอใจ คงเป็นเพราะความเป็นแขกของผมกระมัง ผิดด้วยหรือที่ผมเกิดมาเป็นแขก
ต่อให้โกนหนวดถอดผ้าโพกหัวแต่หัวใจผมก็ยังเป็นแขก” สุระระบายอย่างอัดอั้นตันใจ