From Third World to First the Singapore Story: 1965-2000


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเล่มสองของหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติและกึ่งประวัติทางการเมืองของสิงคโปร์ โดย นายลีกวนยิว อดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีอาวุโส หนังสือนี้พิมพ์โดย Harper Collins หนา 729 หน้า เนื้อความ 691 หน้า

ลีกวนยิวได้เล่าประวัติของตนในภาพของพัฒนาการเมืองภายในและระหว่างประเทศของสิงคโปร์ และในเล่ม สองนี้เป็นส่วนของยุคหลังจากที่สิงคโปร์ ถูกเตะออกมาจากประเทศมาเลเซีย เพราะการส่งผู้สมัครของพรรคกิจประชาคมลงรับเลือกตั้งบนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย อันเป็นการผิดข้อตกลงที่ลีกวน ยิวเคยมีกับอับดุลเลาะห์มาน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงนี้ ลีกวนยิวไม่ได้เอ่ยถึง และยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่องที่หนังสือนี้ไม่ได้กล่าวไว้ชัด เช่น การปิดมหาวิทยาลัยหนันหยางที่ใช้ภาษาจีน เพราะเกรงกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ.1975 อันเป็นปีเดียวกับที่เวียดนาม ใต้แตก การอ้างเรื่องประสิทธิภาพการเรียนการสอนต่ำนั้น เป็นแค่เพียงการแก้ เกี้ยว เมื่อมหาวิทยาลัยนี้ก็สอนมาแต่ ค.ศ.1953 และลีกวนยิวก็มีอำนาจมาแต่ปี ค.ศ.1959 การที่ลีกวนยิวไม่ยอมใช้พู่กันจีนเขียนสมุดที่ระลึกเมื่อไปเยี่ยมประเทศจีน ลีกวนยิวก็อธิบายว่าตนไม่ถนัดกับการใช้พู่กัน แท้ที่จริงอาจเป็นได้ ว่าเขาไม่สามารถเขียนอักษรจีนได้ถูกต้อง ตามวิธีเขียนอักขระซึ่งต้องมีลำดับการเขียนที่แน่นอน ซึ่งรอยพู่กันจะเป็นเครื่อง ฟ้องว่าผู้เขียนนั้นรู้วิธีเขียนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต้องนับว่าหนังสือ นี้เป็นหนังสือชั้นนำในทางประวัติทางการ เมืองของสิงคโปร์บุคคลสำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งของประเทศไทยได้รับการกล่าวถึง แต่ด้วยท่าทีและสำนวนแคะไค้ของลีกวน ยิว แสดงว่าบุคคลเหล่านี้ถูกมองจากสายตาวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ร้าย

อาจกล่าวได้ว่าหลังจากหนังสือเล่มนี้แล้วยังไมรู้ว่าสิงคโปร์ยังมีมิตรประเทศเหลืออีกกี่ประเทศ เคราะห์ดีก็คือ บุคคลสำคัญที่ลีกวนยิวกล่าวถึง มักเป็น ผู้ที่ปรากฏอยู่ในช่วงก่อน ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นปีที่เขาลงจากอำนาจ แต่ยังกุมบัง- เหียนของประเทศอยู่แม้จนทุกวันนี้ก็ตาม

ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้ กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมแสดงนั้น ซึ่งในประเทศไทย และที่อื่นทั่วโลกเขาเรียกกันว่า The Ugly American แต่ในหนังสือเรียกภาพยนตร์เรื่องเดียวกันว่า The Quiet American เป็นไปได้ว่าที่สิงคโปร์เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์กระทั่งชื่อภาพยนตร์เพื่อเอาใจอเมริกัน

ประเทศสิงคโปร์นั้น เอาใจสหรัฐ อเมริกามาตลอดเพื่อความอยู่รอดของสิงคโปร์ในปี ค.ศ.1974 มีมติพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยแผนปฏิบัติการสำหรับกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของ รัฐในทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนราชารัตนัม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยนั้น ประกาศว่าสิงคโปร์ขอยืนอยู่ข้างฝั่งประเทศที่เจริญแล้ว คือ ลงมติไม่ออกเสียงในมติฉบับดังกล่าว แต่ในหนังสือนี้มีหลายตอนที่ลีกวนยิวโอดโอย เกี่ยวกับการตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งที่เป็นเหตุการณ์หลัง ค.ศ.1974 อาจกล่าวได้โดยสรุปว่าเป็นเรื่องกล้าได้กลัวเสียตามวิสัยของสิงคโปร์

หนังสือนี้ยังมีการพิมพ์ผิดพลาด อยู่พอสมควร เช่น หนังสือนี้กล่าวถึง ห้องที่นายพลญี่ปุ่นใช้วางแผนบัญชาการ ใน ค.ศ.1943 แล้ว นับจนถึงปีที่เกิดเหตุ การณ์ที่กล่าวถึงในปี ค.ศ.1983 ก็คงกิน เวลา 40 ปี แต่เนื้อความพูดว่า 10 ปี ซึ่ง นับว่าเป็นการผิดพลาดที่ให้อภัยยาก ถ้าคิดว่าลีกวนยิวมีคนช่วยทำหนังสือเล่มนี้เป็นจำนวนนับสิบ

ในอีกที่หนึ่งก็มีการพูดในเชิงตัวเลขกล่าวถึงจำนวนหกสามครั้ง ซึ่งควรได้ยอดสิบแปด แต่ในหนังสือกล่าวถึงแปด แปดกับสิบแปดใกล้กันมากทาง ภาษาอังกฤษคือ Eight กับ Eighteen เข้าใจว่าคนนับสิบที่ช่วยไม่ได้เอาใจใส่ในการพิสูจน์อักษรมากนัก ข้อผิดพลาด นี้จึงยังคงค้างจากพนักงานพิมพ์ต้นฉบับ มาจนถึงขั้นเรียงพิมพ์

ราคาปกของหนังสือเล่มนี้ คือ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกา แต่ราคาจริงในท้องตลาดประเทศไทย ต่ำกว่าหนึ่งพันบาท และควรรู้ด้วยว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่พูดในหนังสือเล่มนี้ถูกต้องแท้จริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.