สคิบปรับแผนปล่อยกู้ เมินสินเชื่อรัฐ เน้น'กลุ่มเกษตรอาหาร-พลังงาน'


ASTVผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์นครหลวงไทยเผยแผนสินเชื่อรายใหญ่ปี 53 ลดสัดส่วนปล่อยกู้ลูกค้ารัฐวิสาหกิจเหลือ 5% จากเดิม 10% เหตุผลตอบแทนต่ำไม่คุ้มค่ากับต้นทุน หันทุ่มปล่อยกู้กลุ่มเกษตร อาหาร พลังงาน อสังหาฯ พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ของโรงงานน้ำตาลและโรงแรมดาราเทวีที่เป็นลูกหนี้เก่ารายใหญ่คาดเห็นความชัดเจนกลางปีนี้

นางจรี วุฒิสันติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) เปิดเผยว่า ในปี 2553 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อรายใหญ่ไว้ที่ 5% คิดเป็นเม็ดเงินที่ปล่อยกู้ใหม่ 4-5 พันล้านบาท จากปี 2552 ที่สินเชื่อรายใหญ่ติดลบ 4-5% ทั้งนี้ ฐานสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ 1.11 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าหากยอดการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะทำให้ฐานสินเชื่อดังกล่าวในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 1.16 แสนล้านบาท

โดยกลยุทธ์ในการแข่งขัน ธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่อยู่ในสัดส่วนของภาคเอกชนเป็นหลัก และจะทำการลดสัดส่วนสินเชื่อที่จะปล่อยให้กับลูกค้ารัฐวิสาหกิจลงเหลือ 5% จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของฐานสินเชื่อขนาดใหญ่ เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก โดยอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจจะต่ำกว่าการปล่อยให้กับบริษัทเอกชนถึง 2%

“สำหรับแผนงานสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารในปีนี้ก็จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 ที่ผ่านมา และสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ปัจจุบันอยู่ที่ 35%ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ จะลดสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจและราชการลงให้เหลือน้อยลง คือเมื่อเวลาที่ภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเปิดโครงการให้เข้าไปประมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อก่อสร้างหรือสินเชื่อทั่วไปที่เป็นขนาดใหญ่ให้กับลูกค้าดังกล่าว ธนาคารก็จะไม่เข้าไปร่วม ถึงแม้โครงการของภาครัฐจะไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ก็ตาม เพราะผลตอบแทนด้านอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะได้รับถือว่าอยู่ในระดับต่ำเกินไปและไม่คุ้มค่าจากที่เราเป็นธนาคารเอกชนที่มีต้นทุนทางการบริหารด้านต่างๆอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับธนาคารของรัฐอย่างเช่นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)” นางจรี กล่าว

ส่วนสินเชื่อที่ธนาคารจะปล่อยให้กับลูกค้าที่เป็นเอกชนมากขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมประเภทการเกษตร อาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มไฟฟ้า และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ (ดิเวลลอปเปอร์) เนื่องจากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจดังกล่าวของลูกค้ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาของพืชผลการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อาหารแปรรูปจะได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกของไทยเริ่มเติบโตดีขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนโครงการพลังงานต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนและให้ความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพราะภูมิประเทศของไทยเหมาะแก่การผลิตพลังงานทดแทน

“การแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนนั้น ธนาคารจะไม่นำเรื่องอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการจูงใจและดึงฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับปัจจุบันถือว่าต่ำพอสมควรและคงจะใช้เป็นกลยุทธ์หลักไม่ได้อีก แต่ธนาคารจะเสนอรูปแบบการปล่อยกู้สินเชื่อที่เป็นแบบแพ็คเกจ ซึ่งจะขายร่วมกับผลติภัณฑ์ตัวอื่น เช่น เมื่อลูกค้าขอสินเชื่อกับธนาคาร ลูกค้าก็สามารถใช้บริการด้านเงินฝากที่พิเศษกว่าปกติเป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรนี้เชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้ลุกค้ามาใช้สินเชื่อกับธนาคารมากขึ้น” นางจรี กล่าว

สำหรับสินเชื่อหรือบริการทางธุรกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) ในปีนี้ ก็มีเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ด้านรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10% จากปีที่แล้วที่ปริมาณและมูลค่าเกี่ยวกับเทรดไฟแนนซ์ที่ลูกค้าใช้บริการกับธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาที่ปริมาณและมูลค่าดังกล่าวอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปีที่แล้วชะลอตัวลงทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าลดลงตามไปด้วย เพราะคู่ค้าทางธุรกิจของลูกค้าเองมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้า เพราะฉะนั้นในปีนี้ธนาคารก็คาดหวังว่าปริมาณและมูลค่าของเทรดไฟแนนซ์จะกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นเท่ากับ 6.7 หมื่นล้านบาทเช่นเดียวกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นางจรียังกล่าวถึงลูกหนี้เก่ารายใหญ่ 2 รายที่เป็นโรงงานน้ำตาลและโรงแรมดาราเทวีที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ประมาณกลางปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้ที่มีกับธนาคารโดยเฉพาะลูกหนี้โรงงานน้ำตาลที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนทางด้านลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมดาราเทวีนั้น ธนาคารยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าทางเจ้าของโรงแรมจะขายกิจการดังกล่าวให้กับบุคคลอื่น ซึ่งธนาคารต้องรอให้ทางเจ้าของโรงแรมเข้ามาเจรจาก่อนว่า จะปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารหรือจะขายกิจการตามที่เป็นข่าว ซึ่งทางธนาคารเองขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกหนี้รายดังกล่าวอยู่แล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.