ตอกฝาโลง64กิจการมาบตาพุด


ASTVผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

มัดตราสังข์ 64 กิจการมาบตาพุด หลังศาลฯ ไม่รับคำขอผ่อนผัน 30 กิจการ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ต่อไป เอกชนห่วงผลกระทบตามมาอีกเพียบ ทั้งผู้รับเหมา แรงงาน ปัญหาการเงิน เรียกร้องรัฐเยียวยา พร้อมแจงนักลงทุนด่วน หวั่นสับสนกระทบเชื่อมั่น อุตฯ เตรียมหารือนายกฯ-กอร์ปศักดิ์วันนี้

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองกลางมีมติยกคำร้อง30โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจ.ระยองที่มีผลกระทบจากคำสั่งระงับกิจการก่อหน้านี้ว่า กิจการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและก่อสร้างแล้วจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนว่าจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้จนกว่าจะผ่านกระบวนการขั้นตอนตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับจะต้องเร่งชี้แจงกับนักลงทุนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย

“เอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามศาลฯ ที่ผ่านมาเอกชนหวังว่าจะสามารถปลดล็อคระงับกิจการได้ เพื่อที่จะเดินขนานกับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบสุขภาพ (HIA) ตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับ64กิจการ ไม่สามารถยื่นขอยกเว้นระงับกิจการได้อีก แต่สิ่งที่ห่วง คือ กิจการที่ก่อสร้างแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะจะเกี่ยวข้องกับผู้รับเหมา แรงงาน และปัญหาทางการเงินตามมาแน่นอน”นายสันติกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา 30 โครงการอุตสาหกรรมในมาบตาพุด ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยกเว้นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ที่ห้ามดำเนินโครงการใดๆ เนื่องจากกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอ้างเหตุผลเป็นโครงการที่ได้รับอนุญาตจากผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนวันประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 และไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน แต่ในที่สุดศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ผู้ร้องทั้งหมดสามารถใช้หลักฐานที่ตรวจสอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ จึงไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2552 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดวันที่ 2 ธ.ค.2552 ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

นายสันติกล่าวอีกว่า กระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายขณะนี้ แม้ว่ากรอบการทำ EIA และHIA จะสรุปแล้ว แต่ก็ยังคงมีประเด็นว่าด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ขณะเดียวกันยังต้องรอผลการสรุปประเภทบัญชีกิจการส่งผลกระทบรุนแรง ดังนั้น เอกชนที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างใดๆ คงไม่สามารถเดินหน้าอะไรได้มากจนกว่าจะมีความชัดเจนในกติกาทุกด้านให้ครบหมดก่อน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีมาบตาพุดส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนของไทยชัดเจน จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งหาทางแก้ไขให้ภาพออกมาชัดเจนโดยเร็ว โดยยืนยันว่ากฏหมายไทยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นระดับสากลด้วยการกำหนดให้มีการทำ HIA ใน EIA อยู่แล้ว และมีเพียงประเทศแคนาดากับออสเตรเลียเท่านั้นที่มีการแยกทำ EIA และ HIA

ชี้ปิโตรเคมีไทยโตเร็วกลายเป็นเหยื่อ

นายไพรินทร์กล่าวว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยที่นิคมฯมาบตาพุดนั้นติด 1 ใน 10 ของโลกมีการพัฒนาที่เร็วกว่าที่วางเป้าหมายไว้มากและกระจุกตัวในพื้นที่มาบตาพุดเพียงแห่งเดียว เพราะทุกคนเห็นว่าเมื่อเกิดขึ้นมากย่อมมีประสิทธิภาพมากในแง่ของต้นทุนการผลิตแต่ในแง่ของกฏหมายต่างๆ ที่จะมาดูแลหรือรองรับกลับไม่มีการปรับให้ทันกับสภาพที่เปลี่ยนไปเปรียบเหมือนคนอ้วนแต่ใส่เสื้อตัวเดิมจึงคับ ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ควรต้องแก้ไขกฏหมายใหม่

“เราไม่มีใครสักคนที่จะมองให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาซึ่งคนไทยนั้นทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีสุดในอาเซียนก็เลยไม่แปลกที่จะมีคนหมั่นไส้ และไม่มีใครเข้าใจจริงอย่าง EIA ของไทยก็มีHIA อยู่แล้วเป็นสากลนักลงทุนที่ไหนๆ ก็ทราบและจีดีพีของระยองสูงถึง 6 แสนกว่าล้านบาทแต่งบประมาณที่ได้รับเพียงแค่ 1% ของงบประมาณทั้งหมด”นายไพรินทร์กล่าว

อุตฯ เล็งหารือปัญหาด่วนวันนี้

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้ (25ม.ค.) จะนำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นหารือกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาติดตามความคืบหน้าโครงการในมาบตาพุดที่ศูนย์บริการให้คำปรึกษา (OSOS) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขณะเดียวกันจะหารือกับนายกรัฐมนตรีในโอกาสประชุมบอร์ดบีโอไอในวันเดียวกันด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนสับสนค่อนข้างมากโดยยอมรับว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน เพราะกิจการจะต้องถูกระงับทั้ง 64 กิจการที่เหลือที่เอกชนเตรียมทำเรื่องยื่นผ่อนผัน ก็เท่ากับจบ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะกำกับดูแลภาคเอกชนคงจะต้องหามาตรการเยียวยาในเรื่องนี้ให้กับเอกชน โดยจะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.