ปี 2525 นับว่าเป็นปีที่แม่โขงแทบจะกระอักโลหิตออกมาเพราะโดน “หงส์ทองบินข้ามเขต”
ปะทะด้วยราคาที่ถูกกว่า จนทำให้ยอดขายต้องตกลงอย่างฮวบฮาบ
“หงส์ทองเขาได้เปรียบกว่ามาก เพราะฐานภาษีมันไม่เท่ากัน แม่โขงต้องเสียภาษีลิตรละ
60 บาท แต่หงส์ทองเสียจริงๆ สุทธิเพียงลิตรละ 26 บาท เท่านั้น อันนี้เลบเป็นช่องว่างให้หงส์ทองถูกขายข้ามเขต
และแม่โขงถูกหงส์ทองเล่นเกมนี้เหมือนถูกผีหลอก เพราะเหล้าที่ขายข้ามเขตมันผิดกฎหมาย
แต่ยิ่งประท้วงไปประท้วงมากลายเป็นว่ามีเหล้าหงส์ทองขายอยู่ทั่วราชอาณาจักรไปเสียแล้ว
พอจะพูดได้ว่า ในยุคของอธิบดีบัณฑิต ปุณยะปานะ ซึ่งเป็นน้องชายของคุณพงส์
สารสิน หุ้นส่วนของหงส์ทองได้มีการลักลอบขนสุราข้ามเขตไปจำหน่ายในเกือบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร
นับว่าเป็นประวัติการณ์ของการลักลอบขนสุราของเมืองไทยทีเดียว” เอเย่นต์เหล้าต่างประเทศที่รู้เรื่องการขายเหล้าดีเล่าให้
“ผู้จัดการ” ฟังเพิ่มเติม
จะเป็นเพราะแม่โขงและกวางทองเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และหงส์ทองกับแสงโสมเป็นของกระทรวงการคลัง
เลยทำให้เจ้ากระทรวงแต่ละแห่งต้องขยันหามาตรการออกมาฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิง
หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่ถูกกับ อบ วสุรัตน์ ก็เลยทำให้ความขัดแย้งนี้แผ่ขยายลงมาถึงสินค้าที่แต่ละคนถืออยู่
หรืออาจจะเป็นเพราะสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นหลานแท้ๆ ของพระยาศรีวิศาลวาจา
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างสนิทสนมกับพจน์ สารสิน พ่อของพงส์ สารสิน หุ้นส่วนใหญ่ของหงส์ทอง
เพราะแม่โขงดูจะไม่ถูกชะตากับกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่ง!
บทบาทของกระทรวงการคลังทุกอย่างที่ทำลงไปดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้มองข้อเท็จจริง
และ ลืมไปว่า “แม่โขง” คือ “ชื่อสินค้า” ของรัฐบาลที่ได้รับการพัฒนามายี่สิบกว่าปีแล้ว
และเป็นสินค้าที่นำรายได้เข้ารัฐหลายหมื่นล้านบาท
ส่วน “หงส์ทอง” นั้นเป็น “ชื่อสินค้า” ของเอกชนที่ได้สิทธิ์เช่าโรงงานมาผลิตเมื่อสัญญาหมด
“หงส์ทอง” ก็ยังคงเป็นของเอกชนซึ่งอาจจะผลิตเองด้วยโรงงานเหล้าธาราที่นครไชยศรี
ส่วนรัฐบาลก็ให้สิทธิ์เอกชนคนอื่นต่อไป ที่ได้แล้วก็จะมีเหล้าชื่อใหม่ออกมาอีก
ข้อแตกต่างระหว่าง “แม่โขง” กับ “หงส์ทอง” ก็อยู่ตรงนี้!!
กระทรวงการคลังนอกจากจะเก็บภาษีเหล้าไม่เท่ากันแล้ว ยังได้มีมาตรการหาเงินเข้าคลังจากภาษีสุรา
ซึ่งเป็นมาตรการของการฆ่าแม่โขงทางอ้อมเช่น
...ได้มีการเสนอให้เพิ่มภาษีแม่โขงจากเดิมลิตรละ 60 บาท เป็นลิตรละ 80
บาท แต่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตกไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังเกิดอยากจะให้องค์การสุรากรมสรรพสามิต ผลิตเหล้าปรุงพิเศษ
เพื่อขายทั่วราชอาณาจักรเหมือนแม่โขงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะเปิดให้มีการประมูลผู้ขายส่ง
และผู้ประมูลได้จะต้องสร้างโรงงานเพื่อผลิตเหล้านี้ แต่รัฐบาลยังไม่คล้อยตามเพราะยังมีคนเห็นว่าจะต้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของโรงงานสุราบางยี่ขัน
เรื่องก็ถูกระงับไป
...ปลายปี 2525 กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 80 เปลี่ยนแปลงการเรียกเก็บภาษีสุราใหม่
โดยเรียกเก็บเป็น “หรือร้อยละ 32 ของมูลค่า” ซึ่งมาตรการ นี้หงส์ทองเสียภาษีจริง
26 บาท จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด มีแต่แม่โขงซึ่งเจอเข้าหนักก็ตรงชนิดขวดแบน
350 ซีซี และ 187 ซีซี ซึ่งเป็นเหล้าของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก
และก็เป็นหมากกลที่วางไว้ ถ้าแม่โขงขึ้นราคา จะต้องแบกภาษีถึง 2 ทาง คือค่าสิทธิ์ที่คิดจากร้อยละ
45.67 ของราคาขายปลีก และค่าภาษีที่คิดจากร้อยละ 32 ของมูลค่าจำหน่าย (ซึ่งหมากตัวนี้เกือบจะเป็นผลในภายหลังเมื่อรัฐมนตรี
อบ วสุรัตน์ สั่งให้แม่โขงขึ้นราคา)
กระทรวงอุตสาหกรรมเอง ซึ่งเป็นเจ้าของแม่โขง เคยเสนอให้แก้ไขภาษีสุราให้ยุติธรรมระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง
ถึงขนาด อบ วสุรัตน์ จะเอาเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี แต่
“กำลังภายในของกลุ่มหงส์ทองเขาแข็งน่าดู เพราะเขาเล่นการเมืองกับการค้าแบบถึงลูกถึงคน
ดูง่ายๆ ซิ อบ วสุรัตน์ ออกมาทำเสียงแข็งว่าต้องปรับภาษีหงส์ทองกับสุราผสมให้ใกล้เคียงกับภาษีแม่โขง
เห็นเสียงดังว่าจะเอาเข้าคณะรัฐมนตรี พอวันต่อมา อบ วสุรัตน์ ก็ขอถอนกะทันหัน แล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่ให้เหตุผลอะไรเลยว่าทำไมถึงถอนแม้แต่แอะเดียว
ทั้งๆ ที่ข่าวที่แกปล่อยไปว่าจะปรับลงหนังสือพิมพ์กันโฉ่งฉ่างไปหมด ไม่ทราบว่ามีอะไรไปอุดแกไว้"
นักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวแม่โขง หงส์ทอง ออกความเห็น
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ท่าทีของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเคยปกป้องผลประโยชน์ของแม่โขง
ในฐานะเป็นสินค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป
มีการย้ายนายวีระ สุสังกรกาญจน์ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างสายฟ้าแลบ
เพราะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นคือการให้แม่โขงรวมกับหงส์ทอง
เพื่อตั้งบริษัทกลางขึ้นมา ซึ่งวีระ สุสังกรกาญจน์ คัดค้าน เพราะจะทำให้แม่โขงซึ่งเป็นของรัฐเสียประโยชน์
เมื่อฮั้วกันไม่ได้ ก็ต้องให้แม่โขงขึ้นราคา
การให้แม่โขงขึ้นราคานั้นเป็นการอ้างเพื่อให้เสียสิทธิกับรัฐมากขึ้น แต่กระทรวงอุตสาหกรรมคงลืมไปว่าเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้อนุมัติให้แม่โขงลดราคาในต้นปี
2526 เพราะกระทรวงเองก็เห็นด้วยว่าแม่โขงกำลังถูกสุราข้ามเขตที่ขายผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียสิทธิ
เสียภาษีสรรพสามิตที่น้อยกว่าเกือบ 150% มาทำให้แม่โขงขายตก ทำให้จำนวนค่าสิทธิและภาษีรัฐได้น้อยลงเพียงไม่ถึง
120 ล้านบาทต่อเดือน (ตั้งแต่ ต.ค.-ก.พ.26) และหลังจากลดราคาแล้วตั้งแต่มีนาคม
26 จนถึงธันวาคม 26 ค่าสิทธิและภาษีรัฐได้รับเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท (มากกว่าเดิมเกือบ
150%) ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า แม่โขงทำรายได้ให้รัฐมากกว่าเมื่อลงราคาสู้กับคู่ต่อสู้
มากกว่าสมัยซึ่งขายแพงแล้วขายไม่ออกทำให้รัฐขาดรายได้
และทันทีที่นายวีระ สุสังกรกาญจน์ เข้าสำนักนายกฯ อบ วสุรัตน์ ก็สั่งให้แม่โขงขึ้นราคาจากเดิมทันที!
บทบาทของ อบ วสุรัตน์ ที่เปลี่ยนไปอย่างมากในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากจะเดาใจได้
เพราะตรรกวิทยาไม่สมพงษ์กันเลยแม้แต่ข้อเดียว ตั้งแต่เคยขอให้ขึ้นภาษีสุราหงส์ทองให้ยุติธรรมแก่แม่โขงมาเป็นถอนเรื่องออกแล้วปิดปากเงียบ
จนกระทั่งถึงสั่งให้แม่โขงรวมกับกลุ่มหงส์ทองเพื่อตั้งบริษัทกลาง จนสุดท้ายสั่งให้แม่โขงขึ้นราคา
“ความจริงทางฝ่ายเตชะไพบูลย์เขาก็รู้จักทางคุณอบดี สมัยหนึ่งลูกเขยคุณอุเทนคือ
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็เคยอยู่พรรคประชาธิปไตย และมีข่าวว่าจะลงสมัครที่ชลบุรี
แต่ตอนหลังคุณอุเทนสั่งห้ามเล่นการเมืองเด็ดขาดเพราะกลุ่มนี้เขาเป็นพ่อค้าอยากค้าขายอย่างเดียว
ไม่ต้องการเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ก็เลยอาจจะไม่ดีนัก”
แหล่งข่าวทางการเมืองชี้แจงให้ฟัง
ถึงกับมีข่าวภายในว่า มีกลุ่มเหล้ากลุ่มหนึ่งแกล้งทำเงินตกประมาณ 200 ล้านบาท
แถวๆ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้แม่โขงขึ้นราคา
“เท็จจริงแค่ไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าธุรกิจเหล้าเป็นหมื่นล้าน สองร้อยล้านมันแค่
2% มันเล็กน้อยเหลือเกินแต่สองร้อยล้านก็สามารถทำอะไรในพรรคการเมืองได้เหมือนกัน
เช่นซื้อเสียง ส.ส. หรือปิดปากข้าราชการ อย่างว่าเมืองไทยมันเน่าเฟะ มันดูจะดีอยู่พักหนึ่งแต่ดูจริงๆ
แล้วมันชักจะเริ่มกลับไประบบเก่า เงินไม่เข้าใครออกใคร มันสามารถทำให้คนลืมหลักการ
และอุดมการณ์ได้เหมือนกัน” อาจารย์จุฬาฯ คนเดิมกล่าวเสริม