2522 แม่โขงสีเลือด ศึกศักดิ์ศรีและชื่อเสียงวงศ์ตระกูล


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุดการประมูลแม่โขงในช่วงที่ 3 ก็เริ่มในรัฐบาลชุดเกรียงศักดิ์ 2

“งานนี้เตชะไพบูลย์ประกาศอย่างหนักแน่นว่า แพ้ไม่ได้ เพราะเป็นศักดิ์ศรี เสียเท่าไรเท่ากัน แต่จะให้ฝ่ายเถลิงประมูลไปไม่ได้”

“ตระกูลเตชะไพบูลย์ค้าขายในหมู่คนจีนมานานแล้วและก็เป็นที่เคารพกันในหมู่พ่อค้าคนจีนด้วย พวกกลุ่มเตชะไพบูลย์ถือว่าถูกเถลิงลบเหลี่ยมทางการค้ามาตลอด มันก็เลยเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเถลิงจะได้แม่โขงไปไม่ได้เพราะไม่งั้นแล้วคนอื่นจะไม่นับถือต่อไป” พ่อค้าคนจีนเล่าให้ฟัง

บุคคลที่ตกอยู่ในฐานะลำบากใจที่สุดในขณะนั้นคือ อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เพราะฝ่ายหนึ่งคือ สุเมธ เตชะไพบูลย์ ผู้เป็นน้องชาย อีกฝ่ายคือ เถลิง เหล่าจินดา ผู้เป็นหุ้นส่วนและลูกน้องที่ตนรักใคร่ไว้วางใจมาตลอดเวลา ในตอนมีการประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันครั้งหลังสุดนี้ อุเทนได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และสปิริตของตัวเอง เซ็นชื่อในซองเปล่าของเถลิง เหล่าจินดา ซึ่งประมูลในนามบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ด้วย โดยไม่เห็นตัวเลขที่เถลิงเสนอ ขณะเดียวกันอุเทนก็ไม่ยอมเซ็นชื่อในซองประมูลของกลุ่ม “เตชะไพบูลย์” ที่ตนเป็นประธานอยู่ ทำให้สุเมธ เตชะไพบูลย์ ต้องยื่นประมูลเพียงซองเดียวคือซองของบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ซึ่งสุเมธเป็นประธานเอง

ในการประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเหล้ากำลังเป็นธุรกิจเต็มตัวที่รัฐจะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำแทนการต่อสัญญา ซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพล

การประมูลนอกจากจะให้รายได้รัฐมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าธุรกิจเหล้านั้นผู้ประกอบการมีกำไรเท่าใด และถ้าผู้ประกอบการต้องมาแข่งกันประมูลก็หมายความว่ากำไรที่ตัวเองเคยได้อย่างมหาศาลนั้นก็ต้องยอมลดไปโดยมอบให้รัฐ แล้วตัวเองก็จะได้ส่วนที่คิดว่าคุ้มกับการลงทุน

ในช่วงเกรียงศักดิ์ 2 นั้น สถานภาพทางทหารที่เคยมีเอกภาพได้หมดไป ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนสมัยสฤษดิ์และถนอม ประภาส

เถลิงตัดสินใจเข้าหาประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในขณะที่กลุ่มเตชะไพบูลย์ มุ่งไปยังเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

แล้วสงครามน้ำเมาบนรายได้เป็นหมื่นล้าน ก็เริ่มขึ้นอย่างถึงพริกถึงขิง!

ยกแรกรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศออกมาเลยว่าไม่จำเป็นว่าผู้ประมูลสูงสุดถึงจะได้ (ตัวเลขที่เสนอมาต้องเป็นไปได้)

ยกแรกเถลิงชนะเพราะสามบริษัทที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลือกขึ้นมาเป็นสามบริษัทของเถลิงทั้งนั้น บริษัทสุรามหาราษฎรของกลุ่มเตชะไพบูลย์ ถูกตัดขาดไปเรียบร้อย

ข่าวนี้ทำเอาในวงการปั่นป่วนพอสมควรคิดว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์จะต้องพ่ายเถลิงแน่ๆ

ยกที่สองเมื่อถึงวาระต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ คำแรกที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในฐานะนายกฯ ได้ถามออกมา ถ้าเถลิงนั่งอยู่ด้วยก็คงจะต้องใช้ยาดมแน่ เพราะพลเอกเกรียงศักดิ์ถามว่าในบรรดาผู้ที่ประมูลมามีใครที่ให้ผลประโยชน์กับรัฐสูงสุด?

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ตอบว่า มี แต่ทำไม่ได้!

พลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ยอมเพราะถ้ารัฐได้ประโยชน์สูงสุดก็ควรจะให้คนที่เสนอสูงสุดได้ไป ส่วนทำไม่ได้ก็มีเงื่อนไขบังคับและปรับอยู่แล้ว

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีต้องลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินให้แน่ชัดว่าใครจะได้

สุรามหาราษฎรได้ไปด้วยคะแนนเสียงที่ชนะกัน 3 เสียง

“ในหมู่คนจีนเขาพูดกันเลยว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์เหมือนเป็นผีในป่าช้าที่โดนขุดขึ้นมาแล้วปลุกให้เป็นคนออกมาสู้จนชนะ” พ่อค้าจีนคนเดิมเสริมต่อ

การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของกลุ่มเถลิงเป็นการพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทั้งนี้เพราะเถลิงประมาทกลุ่มเตชะไพบูลย์จนเกินไป

“ทางเถลิงเขามองพวกเตชะไพบูลย์ผิดไปหลายขุม ทั้งๆ ที่เขาเองก็มั่นใจในเส้นสนกลในพอสมควรอย่าลืมว่าบริษัททีซีซีของเขานั้นมีพนักงานระดับบริหารคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกเขยพลเอกพร ธนะภูมิ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกฯ เกรียงศักดิ์ อีกประการหนึ่งโรงเหล้าธาราเขาก็ซื้อไปจากคุณประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งในเวลานั้นคือเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมเจ้าของเรื่องแม่โขง เรียกได้ว่าทุกอย่างมันอยู่ในกระเป๋าหมดแล้ว” พ่อค้าสุรารายขนาดกลางเล่าให้ฟัง

แต่ที่เถลิงคิดไม่ถึงคือ ผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกลุ่มเตชะไพบูลย์ได้มอบให้รัฐบาลถึง 45.67% ของราคาขายปลีก!

ความจริงงานนี้เตชะไพบูลย์ชนะได้เพราะหลักการเขาดีกว่าตรงที่ว่าเขาให้ผลประโยชน์รัฐสูงที่สุดซึ่งข้อนี้คนอื่นจะเถียงไม่ได้ และข้อกล่าวหาที่ว่าเขาจะทำไม่ได้ภายหลังนั้นก็ไม่ถูกเพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้ถึงแม้เขาจะลดราคาเหล้าลงต่อขวด ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์น้อยลงแต่เมื่อเอาปริมาณเข้าวัด รัฐกลับได้มากขึ้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมพูดกับ “ผู้จัดการ”

ในช่วงนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นข่าวคราวขึ้นมาว่าได้ไปดูแลการประมูลถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ จะต้องไป

“มีข่าวมาว่าคุณอุเทนได้ตีกอล์ฟตัวต่อตัวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ก่อนการประมูล” นักสังเกตการณ์เรื่องเหล้าพูดออกมา

“ท่านนายกฯ มีส่วนได้ส่วนเสียก็คงจะถูก แต่คงไม่ใช่ส่วนตัว หากแต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้รัฐได้ค่าสิทธิ์สูงถึงร้อยละ 45.67 จนกระทั่งบัดนี้” ฝ่ายแม่โขงออกตัวมา

จะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นการยากที่จะไปล้มหลักการของกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่เสนอสิทธิ์สูงสุดให้แก่รัฐ

พลเอกเกรียงศักดิ์กลับจะต้องเป็นฝ่ายตอบคำถามประชาชนทีหลังถ้าไม่ให้กลุ่มเตชะไพบูลย์เป็นผู้ชนะเพราะ “คุณมีเหตุผลอะไรมาอ้างว่าเขาทำไม่ได้ ถ้าคุณให้กลุ่มเถลิงชนะโดยค่าสิทธิ์น้อยกว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์มาก คุณเกรียงศักดิ์เองนั่นแหละจะถูกประชาชนชี้หน้าว่ารับเงินของเถลิงเมาเท่าไร” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมคนเดิมพูดต่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.