|
ดัน17มาตรการคลังเน้นจีดีพีโต
ASTVผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังเดินหน้า 17 มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศขยายตัวอย่างยั่งยืน มั่นใจ 2 ปัจจัยหลัก คุมเข้มเบิกจ่ายงบแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งได้ตามเป้าและแบงก์รัฐลุยปล่อยสินเชื่อเข้าระบบจะผลักดันจีดีพีของประเทศได้ตามฝัน พร้อมจับตาราคาน้ำมันและการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาและแนวทางการดำเนินงานในปีนี้ร่วมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และนพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ว่า ในปี 2553 กระทรวงการคลังพร้อมเดินหน้า 17 นโยบายที่บางส่วนเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อนและบางส่วนจะผลักดันให้เป็นรูปธรรมในปีนี้ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกว่า 1 ล้านรายที่จะเริ่มโอนหนี้เข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่ปลายเดือนนี้ 2.การเดินหน้าตามแผนพัฒนาตลาดเงินระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบเพื่อลดต้นทุนจากกฎระเบียบและสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อนคุณภาพที่ยังค้างในระบบ
3.แผนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อเร่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเป็นช่องทางการออมและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การมีตลาดทุนที่เข้มแข็งจะช่วยลดความผันผวนต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย 4. การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ รัฐบาลจะผลักดันออกมาภายในปีนี้ เพื่อสร้างรายได้ในรูปบำนาญระดับพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงตลอดอายุขัย
5. การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรูปแบบ PPP 6. การให้สินเชื่อรายย่อยผ่านสถาบันการเงินของรัฐโดยมีออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อลดปัญหาเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงมาก จัดให้มีวงเงินที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพและความสามารถในการชำระเงินเว้นเพื่อใช้กรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน อีกทั้งเป็ฯการเชื่อมโยงแหล่งเงินกู้และเงินฝากที่มีอยู่ในชุมชนและท้องถิ่นเข้ากับสินเชื่อในระบบ 7.การออกกฎหมายควบคุมบริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 8.มาตรการดูแลการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม
9. มาตรการทางเลือกหลักประกันทางธุรกิจ เป็นการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีทางเลือกในการนำทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถใช้ทรัพย์สินต่างๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สามารถนำมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้
10.ผลักดันการบังคับใช้ภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสนอเข้าครม.ในเร็วๆนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย 11.การปฎิรูปการจัดเก็บภาษีของไทย โดยเฉพาะภาษีศุลกากรเพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน 12. มาตรการภาษีเพื่อการเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย ถือเป็นยุทธศาสตร์ให้ไทยแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ 13.การติดตามโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญที่สุดในการดูแลการใช้เงินให้มีการรั่วไหลน้อยและเบิกจ่ายออกไปเร็ว และเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะการใช้เงิน 2 แสนล้านบาทช่วยให้จีดีพีขยายตัว 2-3%
14.การปฎิรูปภาษีสรรพสามิต 15.การผลักดันไมโคร อินชัวร์รัน หรือประกันภัยราคาประหยัด 16.การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และสุดท้าย 17.การสร้างจริยธรรมในกระทรวงการคลัง ทั้งทางด้านธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับสูง มาตรฐานการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ
“การดำเนินนโยบายปีนี้ยังมี 3 กลุ่มหลักคือการสานต่อยุทธศาสตร์ฝนตกทั่วฟ้า การส่งเสริมภาคธุรกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ แต่ใน 17 นโยบายนั้นให้น้ำหนักการเบิกจ่ายงบและโครงการไทยเข้มแข็งกับบทบาทของแบงก์รัฐมากที่สุดที่มีผลต่อการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ ขณะที่นโยบายอื่นๆมองว่าเป็นการวางรากฐานในอนาคตและมีผลต่อจีดีพีในระยะยาว”นายกรณ์ กล่าวและว่าส่วนความเสี่ยงในปีนี้คงต้องจับตาดูราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวนและมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด รวมถึงการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า และการเมืองที่ยังน่าเป็นห่วง.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|