|

Live TV ชี้อนาคตทีวีดาวเทียม จานสี - เคเบิลทีวี โต C-band ดับ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจทีวีดาวเทียมที่เติบโตขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา กลายเป็นการเติบโตที่เหมือนเบี้ยหัวแตก จำนวนผู้ชมรายการทีวีดาวเทียมที่เพิ่มขึ้น สามารถทำเรตติ้งได้สูงกว่ารายการของฟรีทีวีในหลายช่วงเวลา แต่ในด้านของช่องทางการรับชม กลับมาจากช่องทางที่มากถึง 3 ช่องทาง ทั้งเคเบิลทีวี, จานสีไซส์เล็ก KU-Band และจานดำไซส์ใหญ่ C-Band แต่ช่องทางไหนจะเป็นช่องทางที่มีอนาคตมากกว่ากัน เบิร์ด-กุลพงศ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ ทีวี จำกัด ผู้ผลิตรายการบนทีวีดาวเทียมรายแรกๆ ในเมืองไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในอดีตการแข่งขันของทีวีดาวเทียมอยู่ที่คอนเทนต์ และวันนี้คอนเทนต์ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ แต่ที่รุนแรงขึ้นกลับเป็นการแข่งขันของแพลตฟอร์ม ที่มีอยู่ทั้งจาน KU-Band, C-Band รวมไปถึงทางสายเคเบิล ปัจจุบันภาพที่เห็นอาจดูเหมือนว่า คอนเทนต์ต่างๆ วิ่งเข้าหาช่องทาง C-Band กันมาก แต่เชื่อว่าในระยะยาวจาน C-Band จะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ โอกาสจะไปอยู่ที่จาน KU-Band และเคเบิลทีวีมากกว่า
“ในมุมมองของผมที่เคยทำงานอยู่ที่สตาร์ทีวีมากกว่า 2 ปี เห็นธุรกิจทีวีดาวเทียมมาตั้งแต่ 15 ปีก่อน มองสภาพตลาดบ้านเราเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ดูว่าอะไรคือความเหมาะสม พบว่าจาน C-Band คงไม่โตมากไปกว่านี้ เพราะระหว่างการติดจาน KU-Band ที่มีขนาดเล็ก จะมีความสะดวกกว่า และเหมาะสมกับพฤติกรรมคนเมืองที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ที่แทบไม่มีโอกาสติดจาน C-Band ได้เลย ในต่างประเทศเหลือเพียงแพลตฟอร์ม KU-Band และเคเบิลทีวี ที่เติบโต ยกเว้นในประเทศจีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ การยิงรอบเดียวให้พื้นที่ครอบคลุมที่มากกว่า แต่ในขณะที่ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน หรือประเทศไทย ไม่มีความจำเป็น รับสัญญาณด้วยจาน KU-Band ก็เพียงพอ”
กุลพงศ์กล่าวว่า การที่ C-Band ชูจุดขายว่าเป็นจานดาวเทียมที่สามารถรับช่องสัญญาณได้มากช่อง ถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะในความเป็นจริงต้องพิจารณาว่า มีช่องรายการที่มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจใน C-Bandอยู่กี่ช่อง และมีอยู่ใน KU-Band กี่ช่อง เชื่อว่าในอนาคตผู้ผลิตรายการถ้าไม่อยากเอ็นคริปต์ช่องของตน จะต้องไปออกอากาศทาง KU-Band เพราะสามารถทำธุรกิจเปย์เปอร์วิวที่ช่วยสร้างรายได้จากคอนเทนต์ที่มีมูลค่าสูงได้ แทนที่จะหารายได้จากการโฆษณาเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้เกมการแย่งชิงผู้บริโภคของแพลตฟอร์มต่างๆ ยังไม่จบ การแข่งขันยังมีต่อไป แต่หากเทียบกับในสหรัฐอเมริกา วันนี้ไม่มีจาน C-Band อยู่แล้ว แต่เคเบิลทีวีกลับมีการเติบโตมากขึ้นเพราะการมีบริการเสริม เป็นอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงถึง 100 Mb. การแข่งขันไม่ได้อยู่ที่คอนเทนต์ หากแต่อยู่ที่บริการ และเชื่อว่าอนาคตตลาดในประเทศไทยก็คงเดินไปในทางนี้เช่นเดียวกัน
ในด้านการแข่งขันของคอนเทนต์ กุลพงศ์กล่าวว่า ตนเคยกล่าวไว้ว่า ธุรกิจทีวีดาวเทียมจะเติบโตได้ จำเป็นต้องมีผู้ผลิตโดดลงมาสู่ธุรกิจ ถ้าทุกคนมีส่วนแบ่งอยู่ 10-15% ทำอย่างไรจะให้ 10-15% นั้นมีมูลค่ามากขึ้น ก็ต้องทำให้ตลาดเติบโตขึ้น ซึ่งการจะทำให้ตลาดเติบโตขึ้น ก็ต้องมีผู้สนใจเข้ามา ตั้งแต่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อาร์เอส, ช่อง 7, เวิร์คพอยท์ ถ้าเข้ามาสู่ธุรกิจนี้จะถือเป็นเรื่องดี คุณภาพของงานที่บริษัทเหล่านี้ทำกันอยู่ เมื่อเข้ามาสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นพัฒนาคอนเทนต์ของตนให้ดีขึ้น เมื่อคอนเทนต์ดีขึ้น ผู้ชมทางบ้านก็มีความพอใจมากขึ้น มีความต้องการติดตั้งจานดาวเทียมมากขึ้น ตลาดก็ต้องเติบโตขึ้นตาม แต่หากปล่อยให้คอนเทนต์ยังไร้คุณภาพเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน มีแต่หนังอินเดีย หนังจีนเกรดต่ำ คงไม่มีลูกค้าสนใจ เงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนสร้างธุรกิจก็จะมีอยู่เพียงแค่นั้น
ในส่วนของไลฟ์ทีวี ที่วันนี้ออกอากาศแบบเอ็นคริปต์เฉพาะทางช่องเคเบิลทีวีเท่านั้น กุลพงศ์กล่าวว่า เป็นเพราะความเชื่อมั่นว่าคอนเทนต์ของไลฟ์ทีวีมีคุณภาพที่จะดึงดูด วางตัวเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องอยู่เสมอ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะดีกับตนเองหรือไม่ จึงสามารถขายโฆษณาสร้างรายได้ได้ เหมือนดังเช่นแพลตฟอร์มที่เลือกใช้ ไลฟ์ทีวี จะอยู่ตรงกลาง ไม่ได้เลือกฝั่งในวันแรกที่ออกอากาศ แต่กลับมาถูกขีดเส้นให้ไปอยู่รวมกับเคเบิลทีวี แต่ท้ายที่สุดหากแพลตฟอร์มเริ่มกระจัดกระจาย สมาคมเคเบิลทีวี เริ่มคุมตลาดไม่อยู่ จาน KU-Band เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตนก็อาจต้องกลับมาพิจารณาดูธุรกิจของตนเอง ว่าไปต่อไปคงไม่ไหว ต้องปลดเอ็นคริปต์หันไปออกอากาศทาง KU-Band ก็เป็นไปได้ในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|