|

ทุนนอกเล็งสวมสิทธิ์อาฟต้ากว้านซื้อที่ดินไทย แนะรัฐออกกฎหมายสกัด-แค่เช่าปั่นราคาขึ้น 15%
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"ภาคเอกชน-นักวิชาการ" ประสานเสียงเตือนรัฐระวังเปิดการค้าเสรีภาคบริการในกรอบอาฟต้า เผย "สิงคโปร์-มาเลเซีย" เล็งกว้านซื้อที่ดินในไทย ชี้แม้กฎหมายห้ามต่างชาติซื้อที่ แต่การให้เช่าระยะยาว ก็สามารถปั่นราคาที่ดินได้ ระบุเปิดเสรีถือหุ้น 70% ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เข้ามาครอบครองที่ดินของไทย แนะออกกฎหมายป้องกันนอมินี ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ป้องกันต่างชาติฮุบแผ่นดินไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ยันแค่เช่าปั่นราคาขึ้นถึง 15%
ในการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะทวีความเข้มข้นในปีนี้ เพื่อปูทางไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะรวม 10 ประเทศสมาชิกให้เป็นตลาดเดียว เพื่อสร้างความเข็มแข็งในเวทีการค้าระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปิดเสรีในกลุ่มสินค้าเท่านั้น ในส่วนของการค้าภาคบริการก็จะค่อยๆทะยอยเปิดเสรีตามไปด้วย เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยการเปิดเสรีภาคบริการนี้ยังเป็นที่น่าเป็นห่วงของผุ้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถูกปกป้องโดยกฎหมายภายในประเทศมาโดยตลอด ต่างจากการค้าภาคปกติที่ได้รับรู้รสชาติของการแข่งขันในตลาดเสรีมายาวนานกว่า
หวั่นต่างชาติ ทุ่มเงินปั่นราคาที่ดิน
แม้ข้อตกลงเปิดการค้าเสรีภาคบริการ จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในประเทศมสมาชิกอาเซียน ขณะเดียวกันบางภาคธุรกิจบริการของไทยก็ยังขาดขีดความสามารถทางการแข่งขัน อันเรื่องมาจากเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และเงินทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปิดเขตการค้าเสรีได้
ฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการเปิดเสรีภาคบริการนั้น ประเทศไทยยังมีความเสียเปรียบเมื่อเทียบกับการเปิดเสรีภาคสินค้า เนื่องจากประเทศไทยยังขาดความพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และเงินทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 70% ทุกธุรกิจในไทยในปี 2015 ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเก็งราคาที่ดินแฝงเข้ามาได้ แม้ว่าไทยจะกำหนดไม่ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน แต่ก็เปิดให้สามารถเช่าที่ดินได้เป็นระยะเวลา 30 -50 ปี
ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจอสังหานิมทรัพย์นั้น ไทยถือว่ามีศักยภาพการขยายตัวสูง ทำให้ประเทศที่มีเงินทุนและความเชี่ยวชาญสูงในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างจ้องที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น การถือครองที่ดิน หรือแลนด์แบงก์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาไทยมีบทเรียนที่สำคัญในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต่างชาติเข้ามาใช้นอมินีที่เป็นคนไทยกว้านซื้อที่ดินจนทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540
อย่างไรก็ดีมื่อเทียบกับการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 นั้นนับว่าเป็นการเปิดประตูกว้างกว่าในอดีตมาก ทำให้ต่างชาติเข้ามาใช้ช่องโหว่ของกฎหมายไทยปั่นราคาที่ดินได้ไม่ยาก ส่วน แนวทางการแก้ไข ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามามีแลนด์แบงก์ แต่เป็นการออกกฎหมายป้องกันไม่ให้ต่างชาติมีที่ดินมากจนเกินความจำเป็น และกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือพัฒนาที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัท เพื่อลดการสะสมที่ดินเก็งราคา
แนะรัฐออกกม. กันทุนนอกฮุบแผ่นดินไทย
ด้าน อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า การเปิดเสรีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ว่าจะยังไม่เปิดเสรีเต็มที่ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ก็เข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและถ้าเปิดให้เข้ามาถือหุ้นได้ 70% ก็จะมีบริษัทต่างๆในอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางลงมาจะเห็นการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น และเกิดการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดการปั่นราคาที่ดินของนักลงทุน แม้ว่าจะกำหนดให้บริษัทต่างชาติเช่าที่ดินได้เพียง 30 ปี ก็สามารถก่อให้เกิดการเก็งกำไรได้
นอกจากจะมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเปิดเผยแล้ว ยังมีช่องทางที่จะเข้ามามีกรรมสิทธิในที่ดินประเทศไทยได้ไม่ยาก เช่น การนำเงินมาให้คนไทยซื้อที่ดินแล้วปล่อยให้ต่างชาติเช่าที่ดินในระยะยาว เป็นต้น
ปัจจุบันก็มีให้เห็นโดยทั่วไป เช่นกรณีที่นายทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่นาในจังหวัดภาคกลางของไทย ซึ่งกฎหมายไทยไม่สามารถอาผิดไปถึงต้นตอได้ ดังนั้นการที่เปิดเสรีภาคบริการอย่างเต็ที่ในปี 2015 นั้น ก็จะเป็นช่องทางให้ต่างชาติเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินไทยเพิ่มมากขึ้นเร็วขึ้น และมีการไหลเวียนของเม็ดเงินมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ก็จะได้รับเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ ใช้สิทธิอาฟต้าเข้ามาลงทุนในไทยได้เต็มที่
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไข รัฐบาลควรจะเร่งออกกฎหมายป้องกันการเข้ามาซื้อที่ดิน หรือถือหุ้นโดยนอมินี เช่น การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่นำมาลงทุน รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบริษัที่เข้ามาจดทะเบียนในไทยว่าทำธุรกิจถูกต้องตามที่แจ้งไว้หรือไม่ หากป้องกันในจุดนี้ได้ ก็จะบรรเทาปัญหาการปั่นราคาที่ดินโดยต่างชาติไปได้มาก แม้จะป้องกันไม่ได้ทั้งหมดแต่การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 70% ได้ ก็จะทำให้มีธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นตามกลไกตลาดตามปกติ ซึ่งคาดว่าแม้เปิดให้เช่าเพียง 30 ปี ก็จะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น 10-15% ภายในระยะเวลา 3-4 ปี
คาดอาฟต้า ดันจีดีพีบริการโต 10%
สำหรับการเปิดเสรีธุรกิจบริการในกรอบอาฟต้า ในกลุ่มสินค้าเร่งรัด ได้แก่ ขนส่งทางอากาศ โทรคมนาคม สุขภาพ การท่องเที่ยว ที่จะขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นจากอาเซียนเป็น 70% และสาขาโลจิสติกส์ ต่างชาติถือหุ้นได้ 51% ในปีนี้ สาขาที่น่าเป็นห่วงก็จะเป็นสาขาโลจีสติกส์ เนื่องจากไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 19% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย 13% และสิงคโปร์ 7% อีกจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคิด สิงคโปร์ มีความคาดหวังที่จะเข้ามาลงทุนในโลจิสติกส์ไทยมาก ศึกษาข้อมูลจนรู้จุดอ่อน จุดแข็งของไทยเป็นอย่างดี รวมทั้งมีเงินทุนอย่างมหาศาล และมีผู้เชี่ยวชาญมือดีจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงาน ขณะที่ไทยไม่รู้ถึงจุดอ่อนของประเทศคู่แข่งเลย ว่ามีช่องทางไหนบ้างที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปใช้โอกาสจากอาฟต้าได้ โดยเพาะในกลุ่ม เอสเอ็มอี ที่ไม่มีใครลงไปแนะนำให้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเลย
ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม เอสเอ็มอี และมีเพียงไม่กี่กลุ่มที่มีศักยภาพพอที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของไทยก็ล้วนเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งภายใน 1-2 ปีจะเห็นบริษัทของไทยจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการ และจะเกิดบริษัทใหม่ๆที่เป็นการร่วมทุนกับต่างชาติเกิดขึ้นมาแทนที่ ซึ่งบริษัท เอสเอ็มอี ที่จะอยู่รอดได้ต้องหาทางจับมือร่วมลงทุนจากต่างชาติ เพื่อขยายช่องทางการค้าในอาเซียน และเพิ่มขนาดของกิจการ ส่วนบริษัทที่เป็นของไทย 100% จะดำเนินกิจการได้ลำบากมากขึ้น
สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยนั้น นับได้ว่ามีศักยภาพสูงมาก ธุรกิจโรงแรมของไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี จะเห็นบริษัทของไทยออกไปเปิดในอาเซียนมากขึ้น ส่วนธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เช่น สปา โรงพยาบางเอกชน จะออกไปร่วมทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายธุรกิจและดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัว ซึ่งคาดว่าผลกระทบโดยรวมของการเปิดเสรีบริการในครั้งนี้ จะทำให้จีดีพี ภาคบริการของไทยจะมีสัดส่วน 50% ของทั้งประเทศ และจะขยายตัวประมาณ 5-10% ภายในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการไทยจะฉวยโอกาสจากการเปิดเสรีได้มากน้อยแค่ไหน
แนะโลจิสติก ควบกิจการสู้ศึกค้าเสรี
ด้าน ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดเสรีภาคการค้าบริการในกรอบอาฟต้า โดยเฉพาะในกลุ่มธุริจโลจิสติกส์นั้น ในปีนี้จะขยายให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาถือหุ้นได้ 51% และในปี 2013 จะถือหุ้นเพิ่มเป็น 70% ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้กว่า 1 หมื่นราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและเล้ก เช่น บริษัทชิปปิ้งที่มีพนักงานไม่กี่คน รวมทั้งบริษัทขนส่งที่มีรถบรรทุก 3-4 คัน และส่วนใหญ่ไม่มีการให้บริการแบบครบวงจร ต่างจากบริษัทจากสิงคโปร์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และให้บริการครบวงจร ตั้งแต่รถขนส่ง การบริการชิปปิ้ง คลังสินค้า และกองเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้มีต้นทุนถูกกว่า จะทำให้รูปแบบการขนส่งของไทยเปลี่ยนไปจากเดิมที่ขนส่งภายในประเทศ ไปเป็นการขนส่งข้ามประเทศ เช่น จากกรุงเทพฯไปท่าเรือที่สีหนุวิลประเทศกัมพูชา ขนส่งจากสิงคโปรไปจนถึงคุนหมิง ขน่งสินค้าจากพม่าไปปีนัง เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากทำให้ เอสเอ็มอีไทย แข่งขันไม่ได้
ดังนั้น ภาคเอกชนไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยประการที่ 1ภาครัฐจะต้องเร่งเข้ามาสร้างความเข้าใจในการเข้าไปทำธุรกิจในอาเซียน และการสร้างเครือข่ายกับต่างชาติ 2.ผู้ประกอบการไทยจะต้องฝึกหัดในการใช้ภาาาของประเทศสมาชิกอาเซียน 3.พัฒนาด้านการตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอาเซียน และ4.ควรรวมกิจการที่ไม่มีความเข้มแข็งกับบริษัทต่างชาติ รวมทั้งควบรวมกิจการระหว่างบริษัทคนไทยด้วยกันเอง เพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ ในส่วนของภาครัฐควรจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดผลมากที่สุด เช่น การใช้เครือข่ายทูตพาณิชย์ที่มีกระจายอยู่ทั่วโลกตั้งหน่วยงานที่มีบุคลากรรองรับทำหน้าที่จับคู่ธุรกิจของไทยกับต่างชาติ แล้วคิดค่าบริการกับภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ไม่มีเงินทุนออกไปตั้งสำนักงานในต่างประเทศ สามารถจับมือกับลูกค้า หรือผู้ร่วมทุนในต่างประเทศได้
พาณิชย์เชื่อต่างชาติ หมดสิทธิ์ปั่นราคาที่ดิน
ในส่วนของภาคราชการผู้ดำเนินการเจรจาการค้าเสรีนั้น บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่เปิดให้คนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ 30 ปี จะไม่ก่อให้เกิดการปั่นราคาที่ดิน เพราะการเช่าที่ดินเพื่อมาเก็งกำไรจะไม่คุ้ม เพราะผู้เช่าจะต้องคิดค่าเช่าในราคาที่สูง ซึ่งถ้าไม่นำไปประกอบธุรกิจให้เกิดประโยชน์ก็จะไม่คุ้มกับการลงทุนที่เสียไป รวมทั้งการเช่าที่ดินในย่านธุรกิจมีราคาแพงมากใช้เงินเป็น 100 ล้านบาท ซึ่งภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้เงินกู้แบงก์มาลงทุนเป็นเงินหมุน ถ้าถือครองเพื่อเก็งกำไรก็จะไม่สามารถหาเงินมาชำระดอกเบี้ยให้กับแบงก์ได้
นอกจากนี้ธุรกิจบริการของไทยหลายสขามีความเข็มแข็งมาก และต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น สาขาการท่องเที่ยว สาขาบริการสุขภาพ และสาขาการศึกษา ซึ่งในสาขาการศึกษานี้มหาวิทยาลัยของไทยมีความได้เปรียบมากโดยมหาวิทยาลัย 50 อันดับแรกของเอเชีย มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับ 6-7 แห่ง ในขณะที่สิงคโปร์ติดอันดับอยู่ 2 แห่ง มาเลเซีย 1 แห่ง อินโดนีเซีย 1 แห่ง รวมทั้งขณะนี้มีนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเปิดเสรีจึงเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยของไทยจะออกไปลงทุนในต่างประเทศ
สำหรับการเปิดเขตการค้าเสรีภาคบริการนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนสัญญาว่าจะลดเงื่อนไขหรือกฎระเบียบบางประการที่จะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจบริการของผู้ให้บริการหรือนักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ทั้งนี้อาเซียนเริ่มมีการเจรจาลดข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยต้องจัดทำ โดยให้เป็นไปตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC Blueprint ที่กำหนดให้ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นตลาดฐานการผลิตเดียวร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี ซึ่งผู้นำอาเซียนทุกประเทศได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยการผูกพันเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆไว้ในตารางข้อผูกพันก็คือการแสดงว่า ประเทศนั้นๆจะไม่เพิ่มเติมข้อจำกัดอื่นๆที่สร้างอุปสรรคทางการค้าบริการให้แก่ประเทศสมาชิกอื่นในอนาคตมากขึ้นไปกว่าที่ได้ระบุไว้
อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกยังคงสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ด้านการควบคุมมาตรฐาน ความเป็นธรรมด้านการแข่งขัน ประโยชน์ของผู้บริโภค ความมั่นคงของชาติ ผลกระทบด้านวัฒนธรรมและประเพณี ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายบังคับที่เท่าเทียมกันทั้งกับคนในชาติและคนต่างชาติ กรณีกฎหมายที่จำเป็นอย่างยิ่งหรือที่ทุกประเทศมีการใช้บังคับในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน สมาชิกก็อาจขอสงวนในตารางข้อผูกพันได้ โดยต้องมีการตกลงกับสมาชิกก่อน ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านบริการของอาเซียน ซึ่งกฎหมายที่ไทยขอสงวนไว้โดยให้การปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างต่างชาติกับไทย เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น
สำหรับแนวทางดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การเป็น AEC ในส่วนของการค้าบริการ มีการตั้งเป้าหมายการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การค้าบริการของอาเซียนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยสาระสำคัญ คือ การลดหรือเลิกข้อจำกัดต่อการค้าบริการภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) สำหรับสาขาบริการสำคัญ ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ e-ASEAN (คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม) สุขภาพ และการท่องเที่ยว ส่วนสาขาบริการสำคัญอีกหนึ่งสาขา คือ โลจิสติกส์ ให้ลดหรือเลิกข้อจำกัดให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ส่วนสาขาบริการอื่นๆที่เหลือนั้น ให้ลดหรือเลิกข้อจำกัดภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นปีเป้าหมายที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั่นเอง
ทั้งนี้ สาขาบริการเร่งรัด ได้แก่สาขาโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ สาขาสุขภาพ สาขาท่องเที่ยว และสาขาการบิน ในปี พ.ศ. 2553 ต้องอนุญาตให้ผู้ให้บริการมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนไม่ต่ำกว่า 70% และยกเลิกข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดอื่นๆ ทั้งหมด สาขาโลจิสติกส์ ในปี พ.ศ. 2553 ต้องอนุญาตให้ผู้ให้บริการมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนไม่ต่ำกว่า 51% และลดข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดอื่นๆ ให้เหลือได้เพียง 2 ข้อจำกัด ขณะที่สาขาบริการอื่นครอบคลุมบริการทุกสาขานอกเหนือจาก priority sectors กำหนดปีสิ้นสุด คือ ปี ค.ศ. 2015 โดยจะยกเว้นสาขาที่อ่อนไหวได้
นอกจากข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว ในข้อตกลงอาเซียนยังได้อนุญาตให้บางสาขาบริการยังมีข้อจำกัดอื่นๆได้อีก เช่นข้อจำกัดในจำนวนผู้ให้บริการ ข้อจำกัดในมูลค่ารวมทั้งหมดของธุรกรรมทางการค้าบริการหรือสินทรัพย์ ข้อจำกัดในจำนวนทั้งหมดของการประกอบการบริการ ข้อกำหนดสัดส่วนเรื่องผู้ให้บริการซึ่งเป็นบุคลากร การกำหนดให้ผู้บริหารในนิติบุคคลต้องเป็นคนไทย การกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำในการลงทุน การกำหนดให้ต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และโดยเฉพาะการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับภายใต้กฏหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตในการประกอบกิจการ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|