บัญชา ล่ำซำ (รายละเอียดเรื่อง สายสัมพันธ์ตระกูลล่ำซำ โปรดพลิกอ่านหน้าสุดท้ายในคอลัมน์
“หน้าสุดท้าย” ในฉบับนี้) ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยเป็นคนที่รักศิลปวัฒนธรรมอย่างสูงคนหนึ่ง
“ในบรรดาทอปแท็งเกอร์ทุกวันนี้ ต้องยกให้คุณบัญชาเพราะเขาเป็น BANKER
ที่มี CULTURE สูงคนหนึ่ง” คนที่รู้จักบัญชาดีเล่าให้ฟัง
“สมัยหนุ่มๆ คุณบัญชาจะชอบสะสมแผ่นเสียง เวลาว่างๆ สมัยนั้นจะเห็นแกไปนั่งเลือกซื้อแผ่นเสียงตามร้านต่างๆ และพอจะดูได้ว่า
COLLECTION ทางแผ่นเสียงของแกจะมากที่สุดก็ว่าได้ แต่พอแก่ตัวลงก็เลิกซื้อ”
“แกเป็นคนละเอียดอ่อนมาก เรื่อง DETIAL นั้นต้องยกให้รถเบนซ์ที่นั่งถ้ามีเสียงรบกวนหน่อยเป็นต้องลงมาดูรอบรถดูบนดูล่าง
และต้องเอาเข้าอู่จนกว่าเสียงจะเรียบร้อยไป”
ตอนนี้บัญชา ล่ำซำ ก็เท่ากับเป็นหัวหน้าตระกูลล่ำซำไปโดยปริยาย และพี่น้องในแต่ละสายก็ให้ความเคารพและเชื่อฟังพอสมควร
บัญชา ล่ำซำ ไม่ได้จบมาทางธนาคาร แต่เรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์ เคยทำงานอยู่ในเมืองไทยประกันชีวิต
ตอนเกษม ล่ำซำ เครื่องบินตกเสียชีวิต ก็มีการสรรหาคนมาบริหารธนาคารกสิกรไทยแทนเกษม
ล่ำซำ ที่ประชุมกรรมการเดิมทีจะเอาสุรพันธ์ พิศาลบุตร ซึ่งเป็นฝ่ายเขยของล่ำซำมา
แต่จุลินทร์ ล่ำซำ ซึ่งเป็นอาของบัญชายืนยันจะเอาบัญชามานั่งแทน ว่ากันว่า จุลินทร์ถึงกับตบโต๊ะถึงจะตกลงกันได้ว่าให้บัญชามาบริหาร
บัญชา ล่ำซำ นิยมการสร้างนักบริหารของตนเองมากกว่าการดึงตัวมาจากที่อื่น
และธนาคารกสิกรไทยก็เป็นสถาบันธนาคารแห่งแรกที่ให้ทุนไปเรียนปริญญาโทต่างประเทศ
ซึ่งมาช่วงหลังนี้ผู้บริหารระดับสูงหลายคนก็เป็นผลพวงมาจากการส่งคนไปเรียนต่อ
“แต่กสิกรไทยก็ถูกซื้อตัวไปมากเหมือนกัน ซึ่งถ้ามองกันอีกแง่แล้ว ก็ไม่ผิดหรอกเพราะคุณให้เขามากกว่า
แต่มันผิดจรรยาบรรณ เพราะแสดงว่าบริษัทคุณไม่ได้มีการวางแผนด้าน HUMAN
RESOURCE เลยใช้วิธีดึงเอามา ซึ่งที่ถูกคือขโมยตัว” แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดธนาคารกสิกรไทยให้เหตุผล
แต่บางครั้งก็มีคนออกเพราะทางข้างหน้ามันตัน และตัวเองจะไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ
เช่น สงบ พรรณรักษา ซึ่งเมื่อถูกย้ายไปคุมคอมพิวเตอร์ก็ลาออก และมาแสดงฝีไม้ลายมือที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยาจนขึ้นมาอยู่ชั้นแนวหน้าได้ทุกวันนี้
”คุณบัญชาเป็นคนดุ คนที่ทำงานด้วยกลัวทุกคน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นคุณบัญชา
ซึ่งเป็นคน RUN อยู่ คุณบรรยงค์ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน”
บัญชา ล่ำซำ กลัวมากเรื่องที่คนภายนอกจะมองว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารของล่ำซำ
บัญชาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารดอกเบี้ยไว้ครั้งหนึ่งว่า เขาต้องการให้พนักงานกสิกรไทยมีความรู้สึกว่าถึงจะไม่ใช่ล่ำซำก็มีโอกาสขึ้นไปสูงสุดได้เหมือนกัน
ณรงค์ ศรีสอ้าน ก็คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ขึ้นมาได้เพราะฝีมือ “แต่คุณณรงค์เองในที่สุดแล้วก็คงต้องอยู่ตรงนี้
เพราะสูงกว่านั้นไปติดคุณบรรยงค์ ล่ำซำ และกว่าคุณบรรยงค์จะเกษียณก็คงต้องเลิกคิดได้” แหล่งข่าวในกสิกรไทยออกความเห็น
ก็คงจะต้องเป็นยุคหลังบรรยงค์ ล่ำซำ กระมังที่คนนอกพอจะวัดดวงได้!
แต่ตอนนี้ก็มี “อุ๋ย" หรือ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล น้องภรรยาบัญชา
และบัณฑูร ลูกชายบัญชา อยู่ในกสิกรด้วย
บัญชา ล่ำซำ เป็นคนสนใจในเรื่องโครงการที่จะให้ประโยชน์กับสังคมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา
มีน้อยคนที่รู้ว่า สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ของจุฬา (GRADUATED
INSTITUTE OF BUSINESS ADMINISTRATION) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษโดยร่วมกับ WHARTON
SCHOOL แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียกับมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น นั้นเริ่มขึ้นมาจากความคิดของบัญชา ล่ำซำ โดยที่วันหนึ่งก่อนเข้าประชุมสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ บัญชา ได้พูดกับ
ดร.สุธี คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และกับประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีจุฬาฯว่า
จุฬาฯ น่าจะมีสถาบันผลิตบัณฑิตปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่สอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจะได้ออกมารองรับการเจริญเติบโตทาง
INTERNATIONAL BUSINESS ของประเทศไทย และจากจุดนั้นไปอีกไม่กี่ปี GIBA ก็เริ่มต้นขึ้นมาและธนาคารกสิกรไทยก็เป็นหนึ่งใน
7 รายที่ให้เงินอุดหนุนกับสถาบันนี้ โดยให้ปีละ 500,000 บาท เป็นเวลา 2 ปีตามที่
GIBA ได้ขอมา