|
ธปท.ชี้เงินไหลเข้าดันบาทแข็ง
ASTV ผู้จัดการรายวัน(15 มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยเงินบาทแข็งค่าขึ้นผลจากเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตร แนะภาคเอกชนปรับตัวรองรับความผันผวนจากเงินทุนไหลเข้าและเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ชี้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นภายในปีนี้เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินปี 53" จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ว่า ตลอดปี 52 ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก และนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆจากเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้าในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมากขึ้น
โดยกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนในการพิจารณาศักยภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และทิศทางนโยบายการเงิน ในการสร้างแรงจูงใจด้านผลตอบแทน โดยผลของเงินทุนไหลเข้านอกจากกดดันให้เงินบาทแข็งค่าแล้ว อาจส่งผลให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น และสภาพคล่องในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปอาจสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ธปท.จะให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดและดูแลไม่ให้กระทบภาคธุรกิจ
นายบัณฑิตกล่าวอีกว่า ในปีนี้ความผันผวนตลาดการเงินโลกมีมากขึ้นจากความไม่ชัดเจนและการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทำให้ภาคเอกชนต้องมีการวางแผนที่ดีในการปรับตัวรับสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนโยบายการเงินมีการผ่อนคลายมาตลอด เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติและเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ ส่วนจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าเป็นไปตามการพิจารณาของกนง.สะท้อนเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็งแล้วและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน
โดยจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนพ.ย. พบว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มมีการกระจายสู่ภาคต่างๆ มากขึ้นทั้งภาคการส่งออก อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการบริโภค อย่างไรก็ตาม แม้การเบิกจ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น แม้เม็ดเงินสู่ระบบไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดการเบิกจ่าย โดยโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 มียอดสะสมการเบิกจ่าย 11% จึงเชื่อว่าหากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปตามเป้าจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ขณะเดียวกันในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งมากขึ้นสะท้อนได้จากผลกำไรในไตรมาส 3 ของปี 52 เงินกองทุนที่มีสัดส่วนสูง และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ไม่ได้เร่งตัวมากนัก แม้เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ในปีนี้ธนาคารพาณิชย์กลับมาแข่งขันการปล่อยสินเชื่อและระดมเงินฝากมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 52 เป็นต้นมา
สำหรับเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกันนั้น ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นจากความสามารถฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป ญีปุ่น และอังกฤษอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ทั้งจากอัตราการว่างงานที่มีสัดส่วนสูง โดยขณะนี้สหรัฐมีสัดส่วน 10% อังกฤษ 7.9% ญีปุ่น 5.2% สหภาพยุโรป 10% ขณะที่ฐานะการคลังมีผลให้เกิดความขาดดุลมากขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ แม้ภาพรวมหนี้เสียของกลุ่มสถาบันการเงินเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาอยู่ จึงอาจเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถปล่อยกู้ได้
สำหรับค่าเงินบาทวานี้ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เปิดตลาดที่ระดับ 32.96-33.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวระหว่างวันที่ระดับ 32.80-32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.88-32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|