เอ็นซีอาร์กับตลาดสินค้าใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าแต่ยังต้องจับตามองกันอีกนาน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

การพยายามดึงลูกค้าใหม่ๆ ไว้ในมือย่อมเป็นหัวใจหลักของการขยายตัวสำหรับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ระดับรองของสหรัฐฯ ซึ่งจำเป็นต้องหาทางหนีทีไล่จากยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม หรืออีกนัยหนึ่ง บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิสสิเนสเมชีนส์ (INTERNATIONAL BUSINESSMACHINES CORP) ทั้งบริษัทเบอร์โรห์ (BURROUGHS CORP) และเอ็นซีอาร์ (NCR CORP) ต่างก็เป็นผู้ริเริ่มที่จะพยายามขยายขอบข่ายลูกค้าของตน แต่ดำเนินนโยบายที่ต่างกันออกไป กล่าวคือ ในขณะที่เบอร์โรห์พยายามเน้นหนักไปในเรื่องการขยาย และปรับปรุงแนวทางสินค้า

เอ็นซีอาร์กลับแตกแขนงออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ ทั้งนี้ ขณะนี้ก็ยังออกจะเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า นโยบายของผู้ใดจะประสบความสำเร็จยิ่งกว่ากัน แต่จากการดูในแง่ของตลาดหุ้นเมื่อไม่นานมานี้ นักธุรกิจในนิวยอร์กคิดว่า เอ็นซีอาร์ดูจะมีภาษีดีกว่า

ตลาดเก๊ะเงินอิเล็กทรอนิกส์

ในราวๆ ต้นทศวรรษ1970 นี้ เอ็นซีอาร์ต้องสูญเสียความเป็นเจ้ายุทธจักรในการค้าเครื่องมือที่เรียกกันว่า เครื่องมือบันทึกเงินสด เมื่อไม่อาจจะหมุนตัวได้ทันท่วงทีที่จะเปลี่ยนมือจากระบบที่เรียกว่า กลไกอิเล็กทรอนิกส์แบบดั้งเดิมของตนมาเป็นระบบการป้อนหน่วยขายแบบอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากนั้น บริษัทสาขาเดย์ตันก็หันมาสนใจในเรื่องการผลิตระบบป้อนข้อมูลและเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ได้กลายมาเป็นสินค้าหลัก ผลที่ได้รับก็คือ รายได้จากสินค้าทั้งสองชนิดนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ต่อปีในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่จากการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาด อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า ( INTERNATIONAL DATA CORP ) กลับพบว่า อัตรานี้เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อนำไปเทียบกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อื่นๆ ของสหรัฐฯ โดยเทียบเคียงในระยะเวลาเดียวกันนี้ อัตราการขยายของทั้งไอบีเอ็มและเบอร์โรห์ต่างก็เกินร้อยละ 14 เสียด้วยซ้ำ

ด้วยแนวโน้มที่ต้องการจะปรับปรุงระบบการทำงาน เอ็นซีอาร์ได้พยายามพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ๆ เพื่อขายให้กับแหล่งซื้อใหม่ๆ ทั้งนี้เพราะต้องการที่จะไปให้ถึงจุดที่เรียกว่า เหนือกว่าระดับพื้นๆ ของลูกค้าทั่วๆ ไปในตอนนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทก็เปิดเผยนโยบายที่แสดงให้เห็นว่า จะเน้นหัวหอกไปในเรื่องของการขายอุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะครอบคลุมไปในเรื่องของการจ่ายเงิน การถอนเงิน และการประกอบการอย่างอื่นๆ ทันทีที่มีการทำกิจกรรมนั้นๆ กันขึ้น เพื่อนำไปใช้กับระบบธนาคาร ร้านค้าย่อยๆ และลูกค้าวงอื่นๆ แต่ในปีที่แล้ว เอ็นซีอาร์ได้เริ่มนำสินค้าชนิดอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปสู่ท้องตลาดทั้งในเรื่องของการขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเวิร์ดโพรเซสเซอร์ และสารกึ่งตัวนำ รวมไปถึงข่ายงานการติดต่อทางโทรศัพท์

มันสมองของบริษัท

วิลเลียม จี. โบเวน (WILLIAM G.BOWEN) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการบริหารของเอ็นซีอาร์กล่าวว่า “สิ่งที่เราประจักษ์ก็คือบริษัทได้พยายามทำประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกๆ ด้านที่บริษัทได้คิดค้นขึ้น”

นโยบายของเอ็นซีอาร์จะสำเร็จได้แค่ไหน หรือไม่นั้นย่อมจะขึ้นอยู่กับการที่ ชาร์ลส์ อี. เอ็กซ์ลีย์ จูเนียร์ (CHARLES E. EXLEY JR.) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 และได้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเมื่อต้นปีนี้ จะสามารถทำรายได้จากสินค้าชนิดใหม่ๆ ได้มากน้อยเพียงไร ถึงแม้ว่าในระยะเก้าเดือนแรกของปี 1983 จะมีการตัดต้นทุนในการประกอบการกันอย่างมาก และพยายามปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะช่วยเสริมให้รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็นจำนวน 173.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กำไรที่ได้จากช่วงเวลาเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 เป็นจำนวน 2.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีก่อนกำไรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 เป็นเงิน 3.5 พันล้านเหรียญ ในขณะที่จำนวนเงินได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 12.5 คือเงิน 234 ล้านเหรียญ เอ็กซ์ลีย์เองยอมรับกับนักวิเคราะห์การเงินในนิวยอร์กว่า “จากที่ผ่านๆ มาแสดงให้เห็นว่า เรารู้วิธีที่จะหารายได้ในระดับที่จำเป็น แต่ก็ยังแสดงให้เห็นอีกเช่นกันว่า เราไม่รู้เลยว่าจะเพิ่มกำไรในระดับสูงได้อย่างไร”

ตามที่ประธานของบริษัทคือ วิลเลียม เอส. แอนเดอร์สัน (WILLIAM S. ANDERSON) ได้แถลงไว้ว่า “นโยบายอย่างหนึ่งของเราก็คือการดำเนินระบบนั้นต่อไป เราคิดว่าเราเป็นผู้ผลิตเครื่องมือประกอบธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกวันนี้” ย่อมจะแสดงให้เห็นชัดว่า เอ็นซีอาร์ยังคงไม่ยอมละทิ้งนโยบายเรื่องการผลิตสินค้าประกอบการธุรกิจ อย่างไรก็ตาม แอนเดอร์สันก็มองเห็นส่วนสำคัญเช่นกันว่า ธุรกิจในอนาคตของตนจะต้องมาจากสินค้าชนิดใหม่ๆ “นโยบายหลักอีกอย่างหนึ่งของเราก็คือสินค้าที่ให้ข้อมูลซึ่งมีผลกระทบกันและกัน เช่น การที่คุณถามคำถามกับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมันสามารถตอบคุณได้” ยกตัวอย่างเช่น การขายเกี่ยวกับระบบการป้อนข้อมูลให้แก่ธนาคารและร้านค้าย่อย ซึ่งตอนนี้ก็จะมียอดถึงร้อยละ 42 ของกำไรทั้งสิ้นของบริษัทซึ่งจะตกลงไปเหลือเพียงร้อยละ 30 ในระยะห้าปี ในขณะเดียวกันแอนเดอร์สันก็คาดว่า เอ็นซีอาร์จะสามารถเพิ่มการขายในด้านระบบการสื่อสารและสินค้าที่ใช้ในระบบธุรกิจจากที่ไม่มีเลยไปถึงร้อยละ 10 ของกำไรทั้งสิ้น

เอ็นซีอาร์ดูจะพอใจที่เริ่มวางเป้าหมายไปที่ธุรกิจที่มีระดับการขายสูง เพราะผลตอบแทนคือที่อาจเป็นไปได้นั้นดูมีค่า แม้ว่าอาจจะจับฉวยได้เพียงรายเดียว และแม้ว่า เอ็นซีอาร์อาจจะไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ๆ ได้มากนัก นักวิเคราะห์ธุรกิจนิวยอร์กก็ยังคิดว่า สินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาจะสามารถส่งเสริมยอดขายในระยะสั้นๆ ในกลุ่มลูกค้ารายเก่าๆ และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ตลาดหุ้นของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ เช่น เบอร์โรห์และคอนโทรล ดาต้ามีแนวโน้มตกต่ำลง เอ็นซีอาร์กลับพุ่งขึ้นเป็นเพดานเกือบสูงสุด คือในระยะช่วง 12 เดือนจากที่เคยอยู่ในช่วงราคาต้นๆ ของ 40 เหรียญ พุ่งพรวดมาเป็นช่วงกลางๆ 130 เหรียญในปี 1982

แต่คู่แข่งก็ยังคงต้องสงสัยว่า เอ็กซ์ลีย์จะยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต่อการเปิดตลาดใหม่ๆ ละหรือ และผู้ที่ถือหางข้างเอ็นซีอาร์เองก็ออกจะกังวลว่า การที่บริษัทเข้ามาสู่ข่ายวงสินค้าที่ต้องการจะบุกช้าเกินไปแทบทุกๆ ชนิดเช่นนี้ อาจจะทำให้เป็นการขยายตัวเกินกำลังของตน นักวิเคราะห์รายหนึ่งจากซาโลมอน บราเดอร์ส (SALOMON BROS.) คือ สตีเฟน ที. แมคคลีแลน (STEPHEN T.MACCLELAN) กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นการเสี่ยงอย่างเหลือเกิน และอาจเป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดได้เพียงครั้งเดียวสำหรับพวกเขา” และในขณะนี้ที่ดูเหมือนว่า เอ็กซ์ลีย์พร้อมเต็มที่ที่จะทุ่มทุนใดๆ ที่คิดว่าจะเป็นต่อการแสวงหาตลาดใหม่ๆ และเขาได้เพิ่มเงินสดราว 527 ล้านเหรียญ เพื่อใช้ในการปรับปรุงภายในบริษัทและจากการที่หนี้ของบริษัทลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 ของเงินทุนทั้งหมด คือลดจากตัวเลขร้อยละ 27 ในปี 1980 ก็ต้องบอกว่า งบดุลในขณะนี้ของเอ็นซีอาร์แข็งมากทีเดียว

ข่ายงานของเอ็นซีอาร์

ด้วยการก้าวไปอย่างอาจหาญ เอ็กซ์ลีย์ได้เข้าไปสู่ธุรกิจการสื่อสารด้วยการขายระบบโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพเยี่ยมของตนเองออกขายแก่บุคคลภายนอก นอกเหนือไปจากการลดการบริการโทรศัพท์ทางไกลเมื่อเร็วๆ นี้ เอ็นซีอาร์ก็ยังได้วางแผนที่จะขายข่ายงานเรื่องเสียงและข้อมูลโดยจะเริ่มขึ้นในปี 1986 ที่จะถึงเร็วๆ นี้ โดยจะเรียกระบบนี้ว่า เนชั่นแนลเน็ต (NATIONNAL NET) ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในเขตรัฐต่างๆ เชื่อมโยงกัน และบริษัทก็ยังได้ประกาศอีกว่า จะทำการบริการระบบการสื่อสารระหว่างเมืองแก่ลูกค้าโดยการติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลในสถานที่ต่างๆ กัน

นักสังเกตการณ์อุตสาหกรรมผู้หนึ่งคิดว่าในระยะยาวเอ็นซีอาร์อาจกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในด้านข่ายงานเสียงและข้อมูล เพราะถือไพ่ใบสำคัญไว้สองใบในมือ นั่นคือ เอ็นซีอาร์คอมเทน (NCR's COMTEN INC) เป็นผู้ขายอุปกรณ์ที่เชื่อมเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์และผู้ใช้สามารถส่งผ่านข้อมูลโดยการโทรทางไกล และยังถือหุ้นอีกร้อยละ 19 ในบริษัทซเทิล (ZTEL INC) ในเมืองแอนโดเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนสายย่อยส่วนบุคคล ซึ่งจะสามารถส่งเสียงเรียกทางโทรศัพท์และข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ไปได้พร้อมๆ กันในตึกเดียวกัน จอห์น เอฟ. มาโลน จูเนียร์ (JOHN F. MALONE JR.) ผู้อำนวยการของกลุ่มอีสเทอร์น เมเนจเมนท์ (EASTERN MANAGEMENT GROUP)

อันเป็นบริษัทให้การปรึกษาด้านระบบการสื่อสาร ในรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวว่า “เอ็นซีอาร์จะกลายเป็นคู่แข่งที่ร้ายกาจในด้านการสื่อสาร”

กำไรที่เร็วกว่าจะมาจากเครื่องทาวเวอร์ 1632 (TOWER 1632) อันเป็นคอมพิวเตอร์ประกอบธุรกิจขนาดเล็กซึ่งสามารถใช้งาน 16 จุด และจะเป็นสินค้าชนิดแรกของเอ็นซีอาร์ที่จะขายผ่านผู้ผลิต ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ซื้อเครื่องให้การสนับสนุนจัดรวบรวมเป็นระบบ และขายใหม่ เพราะเหตุที่ราคาของเครื่องทาวเวอร์นี้ถูกกว่าสินค้าของคู่แข่งและยังใช้ระบบการใช้งานที่เรียกว่า ยูนิกซ์ ที่ออกแบบโดยบริษัทอเมริกัน เทเลโฟน แอนด์เทเลกราฟ (AMERICAN TELEPHONE & TELEGRAPH CO.) อันเป็นแบบมาตรฐานสำหรับวงการ นักสังเกตการณ์จึงคิดว่า เอ็นซีอาร์ย่อมตัดเชือกคู่แข่งรายย่อย ซึ่งไม่อาจเทียบเคียงได้เลยในเรื่องของการสั่งสมเรื่องชื่อเสียง และองค์การให้การบริการที่ใหญ่โต และนี่เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งของเอช. ไมเคิล คันนิงแฮม (H.MICHAEL CUNNIGHAM CO.) แห่งบริษัทเซาท์เวสท์ โมดูลาร์ ซีสเตมส์ (SOUTHWEST MODULAR SYSTEMS INC., ) ซึ่งเป็นผู้ขายซอฟต์แวร์ในเทกซัส “ในจำนวนสินค้าสองชนิดที่ผมขาย ทาวเวอร์ขายได้ดีกว่า ไม่ใช่เพราะเป็นเครื่องชนิดที่ดีกว่าหรืออะไรหรอก แต่เพราะมันเป็นของเอ็นซีอาร์เท่านั้นเอง”

ในขณะที่ระบบธุรกิจย่อยๆ ของเอ็นซีอาร์ดูท่าจะไปได้สวย แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูกๆ และเวิร์ดโพรเซสเซอร์ยังคงขายไม่ค่อยออกนัก เอ็นซีอาร์แถลงว่า ต้องการที่จะติดกลุ่มผู้นำห้ารายในโลกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ได้ แต่เครื่องที่เรียกว่า DECISION MATE ซึ่งนำออกขายมาตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้วกลับไม่ติดกลุ่มเอาเสียเลย เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็ไม่อาจเข้าไปแทรกในที่ว่างบนชั้นวางของตามร้านค้าปลีกใหญ่ๆ ของสหรัฐฯเสียด้วยซ้ำ จากการสำรวจร้านค้าทั่วไปในสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดนี้พบว่า สินค้าของเอ็นซีอาร์มีวางขายเพียง 6 ร้าน ต่อ 300 ร้าน ที่สำรวจโดยบริษัท ดัลลัส คอนซัลแทนต์ ฟิวเจอร์ คอมพิวติ้ง (DALLAS CONSULTANT FUTURE COMPUTING INC.) แอนเดอร์สันยอมรับว่า “การขายนั้นดูเชื่องช้ามากสำหรับผม” โดยที่เอ็นซีอาร์ขายเครื่องได้เพียง 25 ล้านเหรียญ แต่บริษัทก็พยายามหาทางขอการสนับสนุนจากลูกค้า และแอนเดอร์สันก็คาดว่า “อาจจะเป็น 200 ถึง 250 ล้านในปีหน้า” แม้ว่าอัตราที่ว่านี้ดูจะสูงเกินไปสักหน่อยในสายตาของนักวิเคราะห์หลายราย

การเจาะตลาดใหม่ ๆ

เอ็นซีอาร์ตั้งเป้าหมายสำหรับตลาดสารกึ่งตัวนำอย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย บริษัทซึ่งเคยผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าของตนเองมาตั้งแต่ปี 1971 ได้เริ่มนำออกขายให้แก่บุคคลภายนอกนับแต่เดือนมิถุนายน 1981 เป็นต้นมา และด้วยจุดประสงค์ที่จำกัดแนวทาง ธุรกิจก็จะมีทีท่าจะไปได้ดี แอนเดอร์สันกล่าวว่า บริษัทจะได้กำไรจากสารกึ่งตัวนำราว ๆ 70 ล้านเหรียญในปีนี้และอีกประมาณ 100 ล้านเหรียญในปีหน้า และแม้แต่บริษัทคู่แข่งที่เคยคิดว่าเอ็นซีอาร์ไม่มีทางที่จะทำเงินจากการขายสารกึ่งตัวนำได้ บัดนี้ก็เริ่มเชื่อกันแล้วว่า ทำได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของคู่แข่งรายหนึ่งกล่าวว่า “พวกเขาจะไม่มีวันเป็นผู้ขายรายใหญ่ในสินค้าชนิดนี้ แต่จะประสบความสำเร็จในขอบข่ายหนึ่ง”

เอ็นซีอาร์รู้สึกตื่นเต้นมากเกี่ยวกับลู่ทางการขายตัวชิ้นส่วนไมโครโพรเซสเซอร์ 32 บิต ที่ออกวางตลาดอยู่ในขณะนี้ โดยอ้างว่าชุดนี้ออกแบบมาใช้ได้กับระบบของเครื่องไอบีเอ็มจะมีแนวทางได้กว้างเพราะ ในวันหนึ่งข้างหน้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชนิดอาจจะต้องโยงกับเครื่องไอบีเอ็มก็เป็นได้ แต่คู่แข่งกล่าวว่า ราคาที่สูงลิ่วของชุดนี้จะทำให้การใช้จำกัดอยู่กับข่ายงานด้านวิทยาศาสตร์เฉพาะอย่างเท่านั้น เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เอ็กซ์ลีย์ต้องเน้นไปในด้านตลาดใหม่ๆ หลายๆ อย่างนั้นก็เพราะ สินค้าชนิดเก่าๆ ได้เริ่มเหือดหายไป การขายเครื่องป้อนข้อมูลการเงินและยอดขายเริ่มตายตัวลงในช่วงสามถึงห้าปีที่ผ่านมา และสินค้าชนิดอื่นๆ ก็เผชิญปัญหาการชะงักงัน ยอดขายที่ตกต่ำนั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงสูง และผลก็คือ รายได้จากต่างประเทศซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 49 ของกำไรที่ได้รับในระยะที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 7 ในช่วงปี 1980 ถึง 1982 เป็นตัวเงินถึง 231.3 ล้านเหรียญ

การขายยังคงสะดุด

การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับปัญหาอื่นๆ ได้ทำลายตลาดบางส่วนไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เอ็นซีอาร์ยังคงเป็นผู้ขายระดับนำในเรื่องเครื่องบันทึกหน่วยขายแก่ร้านค้าทั่วๆ ไป แต่กลับเสียตลาดซูเปอร์มาเก็ต และเช่นเดียวกัน เอ็นซีอาร์ขายเครื่องป้อนข้อมูลในระบบธนาคารได้เพียงร้อยละ 10.6 เท่านั้นในปี 1982 ทำให้ตามมาเป็นลำดับที่ 4 ในตลาดสหรัฐ

บริษัทยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับการชะงักงันของธุรกิจการโอนทุนแบบอิเล็กทรอนิกส์ การสำรวจแสดงให้เห็นว่า เอ็นซีอาร์ติดตั้งเครื่องมือรายงานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลกมากกว่าบริษัทอื่นๆ แต่กลับเป็นเพียงผู้ที่เติบโตในลำดับที่ 4 ของสหรัฐฯ ซึ่งไอบีเอ็มแถลงว่า จะเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม 12,000 หน่วยไปเป็นจำนวน 48,000 หน่วยภายในสิ้นปีนี้

ในที่สุด กำไรจากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของเอ็นซีอาร์ก็เพิ่มได้ช้ามาก ในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากการถูกบีบจากตลาดหุ้นที่กว้างขวางของไอบีเอ็มและความล้มเหลวของบริษัทในอันที่จะผลักดันเครื่องของตนออกมาอย่างเต็มที่ในตลาดใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เคลาส์ เบอร์เกอร์ (KLAUS BIRKER) หัวหน้าหน่วยด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ค้าเครื่องฮาร์ดแวร์รายใหญ่ในเยอรมนีตะวันตก คือ CBI HEIMNERKER UND FREIZE

ITBEDARF บอกว่า “เอ็นซีอาร์มีเครื่องนำออกขายก็จริงอยู่ แต่ที่นี่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกันนักหรอก”

เป้าหมายแรกในนโยบายของเอ็กซ์ลีย์ก็คือ การขยายตลาดของเอ็นซีอาร์อย่างยิ่งใหญ่และผลักดันบริษัทเข้าไปสู่ข่ายการเติบโตที่กว้างขวางเพื่อขจัดปัญหาที่เคยมีมาในระบบตลาดแบบเดิม แม้ว่าจะต้องรอจนถึงปีหน้าจึงจะมีกำไรเพิ่มพูนได้จากการดำเนินนโยบายของเอ็กซ์ลีย์ในขณะนี้ สัญญาณยอมรับอันดับแรกจากภายนอกก็แสดงให้เห็นชัดแล้วจากการไต่สูงขึ้นของราคาหุ้นเอ็นซีอาร์ แต่ถ้าจะให้ผู้ถือหุ้นมีความสุขในระยะยาวล่ะก็ บริษัทก็จะต้องคอยนำสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อคงระดับความเติบโตที่แข็งแกร่งนี้ไว้ให้ได้”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.