แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ปี 2527 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นที่คาดหมายว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2527 จะกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องจากปี 2526 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มคงจะฟื้นตัวขึ้นเต็มที่ ทำให้ปริมาณการค้าของโลกและอุปสงค์ของสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมจากประเทศกำลังพัฒนา ขยายตัวตาม และเนื่องจากผลผลิตสินค้าขั้นปฐมของหลายประเทศมีปริมาณลดลง จึงคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมยกเว้นโลหะซึ่งสต๊อกยังอยู่ในเกณฑ์สูงจะเพิ่มขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ องค์การค้าระหว่างประเทศต่างๆ ยังได้พยายามลดระดับการกีดกันทางการค้าอย่างจริงจัง จึงทำให้คาดว่าจะสามารถผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศลงได้บ้าง

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้การส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาดีขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับการคาดการณ์ด้านต้นทุนพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างแจ่มใสแล้ว เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวในอัตราสูงขึ้นกว่าปี 2526

อนึ่ง การคาดการณ์ด้านต้นทุนพลังงานนั้น มีเหตุผลสนับสนุนจากการที่กลุ่มประเทศกลุ่มโอเปกได้ประกาศไว้ว่าจะพยายามตรึงราคาน้ำมันไว้ในระดับ 29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนถึงปี 2528

ส่วนด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น พิจารณาจากการที่คาดว่าแนวนโยบายการเงินการคลังของประเทศต่างๆ จะไม่เข้มงวดเกินไปจนบั่นทอนการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานซึ่งยังคงเป็นปัญหาสำคัญ และขณะเดียวกันก็ไม่ผ่อนปรนจนเกินไปเพิ่มแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับสูงขึ้นอีก

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2527 มีแนวโน้มแจ่มใสขึ้นเช่นกัน โดยสรุป คาดว่าผลผลิตรวมในประเทศขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ คือ เพิ่มจากร้อยละ 6.0 ในปี 2526 เป็นประมาณร้อยละ 6.2-6.5

การส่งออกซึ่งซบเซาในปี 2526 คาดว่าจะกลับฟื้นตัวขึ้นทั้งด้านปริมาณและราคา ขณะที่การนำเข้าคงเริ่มชะลอตัวเนื่องจากได้มีการเร่งนำเข้าเพื่อลงทุน เพื่อทำการผลิตและสะสม

สต๊อกเป็นจำนวนมากแล้วในปีที่ผ่านมา ประกอบกับได้มีมาตรการเพื่อชะลอการนำเข้าด้วย จึงคาดว่าปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินคงจะคลี่คลายขึ้นในปี 2527 ส่วนระดับราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อัตราการเพิ่มคงไม่สูงมาก และอยู่ในเกณฑ์ที่เศรษฐกิจจะรับได้ เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนไม่เพิ่มสูงมากนัก

ดังนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจการเงินทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งระดับราคาจะมีเสถียรภาพดีพอควร

การคาดการณ์ภาคเศรษฐกิจต่างๆ เป็นดังนี้ คือ :-

การผลิต

การผลิตภาคเกษตรในปี 2527 คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่าการผลิตปี 2526 ซึ่งหากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกแล้ว ผลผลิตจะขยายตัวตามแนวโน้มปกติ คือร้อยละ 4.5 เทียบกับอัตราเพิ่มเพียงร้อยละ 2.7 ในปี 2526 และร้อยละ 1.0 ในปี 2525

การผลิตพืชผลสำคัญเกือบทุกชนิดคาดว่าจะขยายตัวขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ในปีที่ผ่านมาสูงขึ้น แต่สำหรับผลิตผลบางชนิด เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง อาจไม่ขยายตัวมากเพราะทางการควบคุมผลผลิตให้สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศ

การผลิตสาขาปศุสัตว์และประมงจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2526 แม้ว่าราคาอาหารสัตว์จะสูงขึ้นบ้างก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากสัตว์ปีกและสัตว์น้ำทะเลมีราคาสูงตลอดปี 2526 ส่วนสาขาป่าไม้ คาดว่าผลผลิตจะยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพราะความอุดมสมบูรณ์ของป่าลดลง

สำหรับการผลิตนอกภาคเกษตรในปี 2527 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2526 คือประมาณร้อยละ 7 ทั้งนี้ โดยการผลิตสาขาอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปีก่อนเช่นเดียวกับสาขาการขนส่งและบริการ

สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตรจะดีขึ้นตามภาวะการผลิตภาคเกษตร และอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกคาดว่าจะดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้า ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการส่งออกที่ได้ดำเนินการไปในช่วงหลังของปี 2526 จะเริ่มกระตุ้นการส่งออกของไทยให้เห็นผลชัดเจนขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งขยายตัวสูงในปี 2526 แต่จะชะลอลงบ้างในปี 2527 ได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์

ด้านสาขาก่อสร้างนั้นคาดว่าจะค่อนข้างทรงตัว โดยอัตราการขยายตัวของสาขานี้จะใกล้เคียงกับปี 2526

ส่วนการผลิตสาขาเหมืองแร่ หากไม่รวมก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเหลว และน้ำมันแล้ว คาดว่าผลผลิตจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสต๊อกยังอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อรวมผลผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเหลว และน้ำมันดิบแล้ว ผลผลิตรวมของสาขาเหมืองแร่จะเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูง

ระดับราคา

แม้ว่าจะคาดว่าแนวโน้มราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยในปี 2527 จะยังมีเสถียรภาพต่อจากปี 2526 แต่การฟื้นตัวต่อสภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศจะกระตุ้นให้ความต้องการสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มขึ้น ราคาส่งออกและราคานำเข้าสินค้าอื่นๆ ที่มิใช่น้ำมันจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์ ประกอบกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ยร้อยละ 5.7 เมื่อเดือนตุลาคม 2526 และปรับปรุงภาษีการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2526 จะมีผลกระทบต่อระดับราคาอยู่บ้างเช่นกัน รวมแล้ว คาดว่าระดับราคาในปี 2527 จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.1-5.6 เทียบกับอัตราร้อยละ 3.8 ในปี 2526

การใช้จ่าย

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค การลงทุนและการสะสมสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบของภาคเอกชน คาดว่าจะชะลอลงบ้างในปี 2527 เพราะได้เร่งใช้จ่ายไปมากแล้วในปี 2526 อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจกระตุ้นการใช้จ่ายให้ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อไปจะได้แก่ การฟื้นตัวด้านการส่งออก การเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร การที่ธุรกิจสามารถใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และทำกำไรได้ดีในปีที่ผ่านมา

การค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศ

ในปี 2527 คาดว่าสถานการณ์ด้านดุลการค้าและดุลการชำระเงินจะเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวหลังจากที่ตกต่ำลงในปี 2526 โดยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นทั้งด้านปริมาณและราคาส่งออก ยกเว้นเพียงน้ำตาลที่ปริมาณส่งออกถูกจำกัดด้วยปริมาณผลผลิตในประเทศ และราคามันสำปะหลังอาจจะโน้มลดลงบ้าง ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเริ่มชะลอลงจากที่ได้มีการนำเข้าจำนวนมากในปีก่อนหน้า และการปรับตัวสะสมสต๊อกได้เป็นไปอย่างเต็มที่แล้ว การทดแทนการนำเข้าน้ำมันด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศจะมีสัดส่วนมากขึ้น ประกอบกับมาตรการทางการเงินซึ่งขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมดูแลการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการนำเข้า จะส่งผลให้การนำเข้าชะลอลง หรืออาจลดลงจากปี 2526 ดังนั้น จึงคาดว่าการขาดดุลการค้าจะลดลง

สำหรับดุลบริการบริจาคนั้น คาดว่าจะเกินดุลใกล้เคียงกับปี 2526 เนื่องจากจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศได้ถึงจุดอิ่มตัว

และในปี 2527 นี้ คงไม่มีการโอนเงินจากต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่น จากฮ่องกง เหมือนปีที่ผ่านมา ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินจะขาดดุลลดลงตามดุลการค้า

การเงินและการคลัง

ในปี 2527 รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายประหยัดรายจ่ายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณต่อไป ประมาณว่ารายจ่ายในปีงบประมาณ 2527 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ส่วนทางด้านรายได้ ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจแต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไม่มาก ประกอบกับทางการได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการส่งออกหลายประการ ทำให้รายได้บางส่วนลดลงด้วย ดังนั้น จึงคาดว่าการจัดเก็บรายได้จะชะลอตัวลง ทั้งนี้ได้คำนึงถึงมาตรการปรับปรุงภาษีใหม่อีกหลายประเภทเพื่อหารายได้เข้ามาชดเชยส่วนที่ขาดไปแล้ว ส่วนการขาดดุลเงินสดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2527 เล็กน้อย

สำหรับภาวะการเงินนั้น สภาพคล่องได้ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2526 และยังคงโน้มลดลงต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2527 เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ขยายตัวสูงตามฤดูการค้าพืชผล ฤดูการส่งออก และความต้องการเงินในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนรวมไปจนถึงความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนเงินกู้จากต่างประเทศ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี

แต่จากมาตรการทางการเงินที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จะมีผลให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอการขยายตัวลงเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน การกระเตื้องขึ้นด้านการส่งออกและราคาพืชผลคงจะมีผลให้เงินฝากยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูง ดังนั้น ภาวะการเงินโดยทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพพอควร”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.