พอล เอช. โอนีลล์ (Paul H. O'Neill) เป็นใคร
หลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลงตัวว่า จอร์จ ดับเบิลยู.บุช
(George W. Bush) ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 43 ของสหรัฐฯ
บรรดาผู้คนในแวดวงการเงินการคลังของโลกก็อยากรู้ว่า ใครจะได้นั่งเก้าอี้ขุนคลังอเมริกันคนใหม่
ซึ่งเมื่อบุชประกาศออกมาว่าเป็นพอล เอช. โอนีลล์ ก็ทำให้ทั้งวอลล์สตรีตและแคปิตอล
ฮิลล์ถึงกับมึนไปเหมือนกัน เพราะชื่อนี้ไม่คุ้นหูพวกเขามาก่อน...
ที่ตลกมากก็คือหลายคนไปสับ สนกับนักเบสบอลคนดังของทีมนิวยอร์ก แยงกีส์
(New York Yankees) ซึ่งชื่อพอล โอนีลล์เหมือนกัน
ก่อนหน้าที่บุชจะประกาศชื่อของโอนีลล์ออกมา ปรากฏว่ามีบรรดาคนดังของวอลล์สตรีตหลายคนอยู่ในบัญชีรายชื่อขุนคลังของบุช
ไม่ว่าจะเป็นวอลเตอร์ วี. ชิปลีย์ (Walter V. Shipley) อดีตประธานของ Chase
Manhattan Corporation จอห์น เอ็ม. เฮนเนสซี (John M. Hennessy) อดีตประธานของ
Credit Suisse First Boston โดนัลด์ บี. มาร์รอน (Donald B. Marron) ประธานของ
PaineWebber Group หรือเจอร์รัลด์ แอล. พาร์สกี (Gerald L. Parsky) ประธานของ
Aurora Capital Group แต่บุชตัดสินใจเลือกพอล เอช. โอนีลล์! เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีถามไถ่กันระเบ็งเซ็งแซ่ว่า
โอนีลล์มาจากไหน สื่อมวลชนอเมริกันที่ไปค้นคว้าหาปูมหลังของโอนีลล์แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า
เขาผู้นี้แท้จริงแล้วเป็นผู้มีประสบการณ์ทั้งในภาครัฐและเอกชนมาไม่น้อย แม้จะไม่ใช่คนดังจากวอลล์สตรีต
หรือเป็นนักวิชาการดังจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเหมือนกับรัฐมนตรีคลังคนก่อนๆ
ก็ตาม พอล เอช. โอนีลล์เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1935 ที่เมืองเซนต์หลุยส์
รัฐมิสซูรี เขาหยุดพักการเรียนชั่วคราวเพื่อที่จะแต่งงานเมื่ออายุได้ 19
ปี แต่ในที่สุดโอนีลล์ ก็จบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐ- ศาสตร์จาก Fresno State
College รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1960 โดยปีถัดมาก็ได้หาความรู้เพิ่มเติม
ทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก Claremont Graduate School เป็นเวลาหนึ่งปีและ ระหว่างปี
1962-1965 โอนีลล์ก็ได้เข้าเรียน Post-graduate Studies ที่ George Washington
University ต่อมาในปี 1966 โอนีลล์มาได้ปริญญาโท ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์
(M.P.A.) จาก Indiana University
Indiana University มีชื่อเสียงมากทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และนักวิชาการคนสำคัญทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของไทยหลายคนก็จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้
โอนีลล์เริ่มชีวิตการทำงานในฐานะวิศวกรของ Morrison-Knudsen ที่รัฐอลาสกา
และระหว่างปี 1961-1966 ก็ได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ระบบคอม พิวเตอร์ขององค์การทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ
(U.S. Veterans Adminis-tration)
หลังจากนั้น ระหว่างปี 1967-1977 โอนีลล์ได้ย้ายไปอยู่ที่สำนักงานการจัดการและงบประมาณ
(Office of Management and Budget-OMB) ในตำแหน่งผู้ตรวจสอบ ซึ่งตอนนั้นเป็นสมัยของประธานาธิบดีริชาร์ด
เอ็ม. นิกสัน (Richard M. Nixon) ถัดมาระหว่าง ปี 1969-1970 โอนีลล์ได้รับผิดชอบ
Human resources Program Division ของ OMB ก่อนที่จะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของ
OMB และรองผู้อำนวยการของ OMB ในปี 1975 ในสมัยของประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์.
ฟอร์ด (Gerald R. Ford)
แม้จะไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งของ OMB แต่โอนีลล์ก็มักจะเป็นตัวแทนของผู้อำนวยการ
OMB ไปพบกับประธานาธิบดีเสมอ
ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่ OMB โอนีลล์มีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับทั้ง อลัน
กรีนสแปน (Alan Greenspan) ประธานคณะผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติสหรัฐฯ ดิ๊ก
เชนีย์ (Dick Cheney) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และโดนัลด์ เอช.
รัมส์เฟลด์ (Donald H. Rumsfeld) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ตอนนั้นทุกคนล้วนอยู่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีฟอร์ดด้วยกันทั้งหมด
และแล้วโอนีลล์อำลาภาครัฐไปเป็นนักธุรกิจในปี 1977 งานแรกในภาคเอกชนของโอนีลล์ก็คือ
เป็นรองประธานด้านวาง แผนของบริษัท International Paper (IP) และเติบโตในหน้าที่การงานโดยลำดับ
จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัทในปี 1985 หลังจากนั้น เขาได้ย้าย ไปอยู่กับ
Alcoa (Aluminium Co. of America) และได้รับเลือกให้เป็นประธานและซีอีโอของ
Alcoa ในวันที่ 20 เมษายน 1987 ซึ่งขณะนั้นกรีนสแปน นั่งเป็น 1 ในบอร์ดของ
Alcoa...
เมื่อแรกที่โอนีลล์เข้าไปยัง Alcoa นั้น สถานภาพของบริษัทกำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากและอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน
แต่เมื่อถึงคราวที่เขาเกษียณอายุ Alcoa ได้กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดของโลก
รายได้ของ Alcoa ในปี 1999 สูงถึง 1 หมื่น 6 พัน 3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
จากเดิมที่มีรายได้ 9 พัน 8 ร้อยเหรียญสหรัฐในปี 1988
โอนีลล์นับเป็นบุคคลภายนอก คนแรกในประวัติศาสตร์ของ Alcoa ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรซึ่งมีอายุถึง
100 ปีแห่งนี้
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโอนีลล์ที่ Alcoa ล้วนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาผู้นี้เป็นนักคิดในเชิงยุทธศาสตร์!
โอนีลล์ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับ Alcoa ด้วยการตัดค่าใช้จ่ายหรือเงินเดือน
แต่เขาเน้นที่การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงาน
ซึ่งเรื่องความปลอดภัยในการทำงานนี้โอนีลล์ได้ตอกย้ำตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะไปพูดที่ไหนก็ตาม
และนี่คือจุดแข็งหนึ่งของเขา
ในปี 1995 โอนีลล์ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 นักธุรกิจที่ดีที่สุด โดยการ
จัดของนิตยสาร BusinessWeek อันเนื่องมาจากการต่อสู้ให้กับอุตสาหกรรม อะลูมิเนียมของสหรัฐฯ
รอดพ้นจากวิกฤติมาในปี 1993 มาได้
นอกจากนี้ โอนีลล์ยังเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆ มากมายหลาย แห่ง ทั้งทางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม
ตลอดจนองค์กรเพื่อชุมชนและการศึกษา
ภารกิจของโอนีลล์ในฐานะขุนคลังที่บุชมอบหมายให้นี้ นับว่าสำคัญ ยิ่ง โดยเฉพาะหากสถานการณ์เป็นไปอย่างที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายประเมินไว้ว่า
ปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอย โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีตมองว่าปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เวลานี้อยู่ที่ธุรกิจของกลุ่ม Old Economy ซึ่งโอนีลล์น่าจะเข้าใจสถานการณ์ของธุรกิจกลุ่มนี้ดีกว่าบรรดาชาววอลล์
สตรีตทั้งหลาย ด้วยประสบการณ์ 16 ปี ใน ภาคราชการและร่วม 24 ปีในภาคเอกชน
โอนีลล์จะช่วยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช พาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฝ่าวิกฤติไปได้หรือไม่
นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูอย่างยิ่ง