|
ปี'53 "สสปน." เปิดเกมรุก ดันจุดขาย "กรีน มีตติ้ง" สู้!...
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
สสปน.วาง 6 ยุทธศาสตร์หลัก พัฒนาและขยายตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาคมอาเซียน ชูกิจกรรมเพิ่มมูลค่าและยกระดับอุตสาหกรรม เตรียมผลักดัน"กรีน มีตติ้ง" หรือการจัดการด้านการประชุมแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นจุดขายไมซ์ไทย ปี'53
หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน เริ่มต้นปี'53 อรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. บอกว่า จากภาพรวมผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2551-2552 ที่มีอัตราการเติบโตลดลง สืบเนื่องจากทั้งปัจจัยภายใน อาทิ เหตุการณ์ด้านการเมืองในประเทศ รวมทั้งปัจจัยภายนอก อย่าง สภาวะเศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในปี 2553 นี้ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะมีทิศทางบวกมากขึ้น อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไมซ์มีแนวโน้มเติบโตตามเป้าหมาย 25% ที่ตั้งไว้ โดยคาดว่า ในปี 2553 จะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวน 785,816 คน สร้างรายได้ 5.6 หมื่นล้านบาท จากกิจกรรมต่างๆ กว่า 400 งาน
"สสปน.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ.2553-2555 (3 ปี) ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2551-2554 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์กู้วิกฤตและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว พ.ศ.2552-2555 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายหลักในการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคเอเชีย บนพื้นฐานวัฒนธรรมและศักยภาพผ่านเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มประชาคมอาเซียน คาดภายใน 7 ปี (พ.ศ.2559) ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์รวมการจัดประชุมที่มีความพร้อม และเป็นทางเลือกอันดับที่หนึ่งของการจัดงานไมซ์ในเอเชียและนานาชาติ" อรรคพล กล่าว
ขณะเดียวกัน แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี สสปน.จัดทำภายใต้รูปแบบการพัฒนา 3 รูปแบบหลัก คือ WIN (นำงานเข้าประเทศ) PROMOTE (สนับสนุน) และ DEVELOP (การพัฒนา) โดยจัดทำเป็น 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาและขยายตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ในการเป็นช่องทางการตลาด ประชาสัมพันธ์ และดึงงานเพิ่ม 2.สร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ ส่งเสริมการรับรู้ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม และบทบาทหน้าที่ของ สสปน. อาทิ กิจกรรมการประกวดผลงาน Thailand Creative Event Awards 3.ส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มมูลค่าและยกระดับอุตสาหกรรม โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economoy) ยกระดับการจัดงานประชุมและแสดงสินค้าสู่ระดับนานาชาติ และสนับสนุนการจัดงานใหม่ๆ และงานขนาดใหญ่ในประเทศไทย 4.พัฒนาขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2553 สสปน.จะผลักดันการใช้มาตรฐาน "กรีน มีตติ้ง (Green Meetings)" หรือการจัดการด้านการประชุมแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในระดับสากล มาใช้เป็นจุดขายของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีธุรกิจไมซ์ไทยจำนวนมากที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทรนด์การประชุมแบบลดโลกร้อน 5.สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายใน และระหว่างประเทศ โดยผ่าน Thai Team, Team Thailand 6.การยกระดับศักยภาพและบทบาทของ สสปน. ทั้งในส่วนของระบบการบริหารงานและทรัพยากรบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรม
ว่ากันว่า สสปน.ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 934 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำปี 749 ล้านบาท งบในโครงการปิดทองหลังพระ 200 ล้านบาท งบกระตุ้นตลาดในการแข่งขันร่วมกับต่างประเทศ (WIN) 145 ล้านบาท งบการประชาสัมพันธ์ การจัดโรดโชว์ (PROMOTE) 240 ล้านบาท งบการพัฒนาอุตสาหกรรม (DEVELOP) 55 ล้านบาท และงบการปฏิบัติการ จำนวน 110 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณในการนำรายได้เข้าประเทศภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ผ่านโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จำนวนทั้งสิ้น 185 ล้านบาท โดยกิจกรรมที่จะเกิดจากโครงการไทยเข้มแข็ง อาทิ กิจกรรมโรดโชว์สานต่อความเชื่อมั่นธุรกิจไมซ์ในประเทศญี่ปุ่น (Thailand MICE Road Show 2010) รวมทั้ง สสปน.ยังเข้าร่วมการจัดงาน World Expo 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยมีการจัดกิจกรรม Thai Night ใน Thailand Pavilion ตลอดจนอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการดึงงาน World Expo 2020 มาจัดในประเทศไทย
สำหรับผลการดำเนินงานของ สสปน.ในปี 2552 นั้นคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 628,653 คน แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 727,723 คน ส่วนรายได้ปีนี้คาดไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับรายได้ในปี 2551 คือ 5.2 หมื่นล้านบาท (ตัวเลขล่าสุดจะได้รับในเดือนมีนาคม 2553) นอกจากนี้ ในปีนี้ สสปน.ยังประสบความสำเร็จในการชนะประมูลสิทธิ์การจัดประชุมและแสดงสินค้ารวมถึงการสร้างงานใหม่จำนวน 41 งาน แบ่งเป็น งานประชุมนานาชาติ (Conventions) จำนวน 27 งาน งานแสดงสินค้าที่ชนะการประมูลสิทธิ์ จำนวน 3 งาน งานแสดงสินค้าใหม่ (NEW SHOW) จำนวน 11 งาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับโดย ICCA ในการเป็นประเทศที่มีจำนวนการประชุมนานาชาติ และจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|