วงการประเมินวินโดวส์ 7 จะครองส่วนแบ่งตามเป้าหมาย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเอ่ยถึงระบบปฏิบัติการบนเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกในตลาดมากมาย นอกเหนือจากระบบปฏิบัติการของวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ เช่น ลีนุกซ์ และแมคอินทอชของแอปเปิล ซึ่งในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบใหม่ๆ เหล่านี้ทำท่าว่าจะมีสัดส่วนทางการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักการตลาดบางคนออกมาพยากรณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจจะเป็นจุดจบของระบบปฏิบัติการบนวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ในไม่ช้า แม้ว่าสัดส่วนทางการตลาดของระบบปฏิบัติการอื่นนอกระบบวินโดวส์จะยังไม่มากนักก็ตาม

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวทางการตลาดของระบบปฏิบัติการ วินโดวส์วิสต้านั่นเอง ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าไมโครซอฟท์จะยังมีน้ำยาอยู่อีก

แต่การคาดหมายดังกล่าวล้วนแต่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ไมโครซอฟท์จะออกมาแก้เกมทางการตลาดด้วยการเปิดตัวระบบวินโดวส์ 7 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ผลการสำรวจแสดงว่าวินโดวส์ยังเป็นระบบการปฏิบัติการที่มีสัดส่วนทางการตลาดกว่า 92% ของระบบปฏิบัติการทั้งหมด โดยระบบวินโดวส์ 7 มีส่วนแบ่งประมาณ 4% ของมูลค่าการตลาดของระบบปฏิบัติการทั้งหมดในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ในขณะที่วินโดวส์วิสต้าต้องใช้เวลาถึง 7 เดือนกว่าจะได้ส่วนแบ่งครองตลาดขนาดนั้น และใกล้เคียงกับสัดส่วนการตลาดของลีนุกซ์ที่ 5.2% และส่วนแบ่งการตลาดของแมคอินทอชที่ 5.27% แบบทิ้งห่างไม่มากนัก

นักการตลาดจึงต้องปรับมุมมองที่มีต่อระบบวินโดวส์ 7 เสียใหม่ เพราะประมาทไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งการวิจารณ์ทางการตลาดตอนนี้เปลี่ยนไปมาก โดยมีหลายหลากปัจจัยที่น่าจะสนับสนุนให้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ก้าวขึ้นแท่นสินค้าอนาคตไกล

ประการแรก ความพร้อมของลูกค้าที่ปัจจุบันใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พี อยู่ ในการที่จะเปิดรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งนี้ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พี ได้เข้าไปครองตลาดอยู่แล้วประมาณ 70% ของระบบปฏิบัติการทั้งหมด หลังจากที่เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 2001 หรือราว 9 ปีมาแล้ว ด้วยการใช้เซอร์วิส แพ็ก ทรี (three service packs) ซึ่งแม้ว่าเซอร์วิส แพ็ก ทรีดังกล่าวจะมีการปรับปรุงฟังก์ชั่นขึ้นไปบ้างแล้ว ก็ยังถือว่าออกมานาน และขาดองค์ประกอบบางอย่างที่มีอยู่ในวินโดวส์วิสต้า และวินโดวส์ 7

สิ่งที่ทำให้ลูกค้าอยากได้วินโดวส์ 7 ที่เปลี่ยนแปลงไปจากวินโดวส์ เอ็กซ์พี อีกประการหนึ่งคือ กลไกด้านความปลอดภัยบางประการที่ยังขาดหายไปเทียบกับวินโดวส์วิสต้า เช่น UAC ที่ช่วยปกป้องโหมด IE และอื่นๆ อีกหลายตัว

ประการที่สอง วินโดวส์ 7 เป็นระบบงานที่สามารถปรับใช้หรืออัปเกรดจากวินโดวส์วิสต้ากระทำได้ง่าย ไม่มีปัญหาในการอัปเกรด เหมือนกับกระบวนการอัปเกรดที่ผ่านๆ มาของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าที่ใช้วินโดวส์วิสต้า เอ็กซ์พี ต้องการอย่างมาก การปรับมาใช้วินโดวส์ 7 ทำได้ง่ายและรวดเร็วจึงโดนใจลูกค้าอย่างมาก

ประการที่สาม ตัวสินค้าที่เป็นวินโดวส์ 7 ดีกว่าเดิม แต่ไม่ได้แตกต่าง ดูยาก และเสียเวลาในการทำความคุ้นเคยและการเรียนรู้มากๆ เหมือนวินโดวส์วิสต้า และลูกค้าได้รับความตื่นเต้นจากการได้เห็นสิ่งใหม่ๆ อย่างที่อยากเห็น โดยงานที่ทำบนระบบงานไม่เสียหาย

ดังนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่จึงไม่ได้อยากที่จะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ หากสามารถทำงานต่อไปได้ดีและยังได้บรรยากาศของวินโดวส์อยู่ เพราะการเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์ทีเดียว

ประการที่สี่ ข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ที่ไม่มี ไม่ต้องการฮาร์ดแวร์ใหม่ ทำให้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ เพราะการปรับเปลี่ยนตัวฮาร์ดแวร์ที่เป็นปัญหาที่เกิดกับวินโดวส์วิสต้า เป็นสาเหตุหนึ่งของการล้มเหลวของวินโดวส์วิสต้า ที่ทำให้ลูกค้าหันไปหาระบบปฏิบัติการอื่นนอกวินโดวส์ด้วย งบการปรับเปลี่ยนที่ประหยัดได้ จึงทำให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ระบบปฏิบัติการแมคอินทอช จำกัดว่าต้องใช้กับคอมพิวเตอร์ของแอปเปิลเท่านั้น ในขณะที่วินโดวส์ 7 ไม่มีข้อจำกัดนี้

ประการที่ห้า ลูกค้าส่วนหนึ่งไม่ใช่นักท้าทาย ไม่สนใจเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสุดๆ หรือแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายมากมายให้เลือกใช้ในงานพิเศษหรือนอกเหนืองานปรกติ แต่สนใจผลของงานที่ออกมาสำเร็จตามเป้าหมาย การใช้งานที่ง่ายและเล่นเกมที่ต้องการได้มากกว่า ซึ่งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ได้คำนึงถึงประเด็นนี้อย่างเพียงพอ และลูกค้ากลุ่มนี้ยังสามารถใช้ประสบการณ์ในอดีตในการอัปเกรดตัวเองได้

ประการที่หก ลูกค้าส่วนหนึ่งไม่สนใจรูปทรงที่สวยงาม เตะตาของคอมพิวเตอร์ หรือไม่ถือว่าคอมพิวเตอร์ต้องสวยและทันสมัยตามแฟชั่น ทำให้สินค้าที่เป็นคอมพิวเตอร์ของแอปเปิลไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ หากต้องออกไปจากระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ลูกค้ากลุ่มนี้คุ้นเคย

ประการสุดท้าย ระดับราคาของระบบปฏิบัติการต้องไม่หฤโหดจนรับไม่ไหว เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการในภาวะที่เศรษฐกิจและธุรกิจยังไม่แจ่มใสแบบนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะลูกค้าทุกคนต้องพยายามประหยัดเงินทุกบาททุกสตางค์ เพื่อให้มีเงินออมเหลือสำหรับรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่อีกยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมโครซอฟท์ยังปรับลดระดับราคาของวินโดวส์ 7 ลงมาให้อยู่ในช่วงราคาที่ลูกค้าพอรับไหว

ขณะเดียวกัน ต้นทุนการปรับปรุงฮาร์ดแวร์ที่ไม่มี ค่าใช้จ่ายการอบรมที่ไม่เพิ่มภาระมากนัก ทำให้สัดส่วนทางการตลาดของวินโดวส์ 7 ไปได้สวยอย่างเกินความคาดหมายของนักการตลาดทั้งหลาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.