บางระจันของนันทาภิวัฒน์


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

“ผู้จัดการ” ติดตามข่าวคราวของธนาคารแหลมทองมานาน ตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา

การติดตามของ “ผู้จัดการ” นั้นอยู่ในประเด็นที่ว่าธนาคารแห่งนี้บริหารงานกันในรูปแบบใด ถึงได้ขยับจากอันดับที่ 15 ลงไปเป็นอันดับที่ 16 ได้ หรือพูดง่ายๆ เคยอยู่รองโหล่ทำไปทำมาอยู่อันดับโหล่สุดได้

พอมีเรื่องมีราวขึ้นมาหลังจากที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด เราก็พบว่า “ธนาคารแหลมทอง” เป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกมากกรณีหนึ่ง ของการที่บริหารงานแบบครอบครัวไม่สามารถจะปรับตัวเองให้สอดคล้องไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง และในที่สุดวันแห่งการเปลี่ยนแปลงก็เดินเข้ามาหา

การขัดแย้งกันในกลุ่มนันทาภิวัฒน์นั้นเมื่อดูกันไปแล้วก็ไม่ได้ต่างไปกว่าการขัดแย้งของกลุ่มตระกูล Getty ในสหรัฐฯ หรือ Rothchild ในยุโรป ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นของธรรมดา

และการเข้ามาของสุระ จันทร์ศรีชวาลา และวาณิช ไชยวรรณ ก็คือลักษณะของ Modern Day Business Takeover ซึ่งมีองค์ประกอบเหมาะกับการเข้าที่สุดเพราะ 1) พี่น้องทะเลาะกันเอง 2) จำนวนหุ้นน้อย ฐานไม่ใหญ่เหมือนธนาคารกรุงเทพ หรือกสิกรไทย สามารถใช้เงินไม่มากนักก็เข้าไปคุมได้ 3) จากการที่หุ้นน้อยอัตราส่วนกำไรจะสูงมาก

ในการทำและวิเคราะห์เรื่องนี้เราคิดว่าที่สำคัญที่สุดคือเราต้องการจะดึงออกมาให้คุณผู้อ่านเห็นคือด้าน Managerial Ability จากอดีตเป็นต้นมาของตระกูลนันทาภิวัฒน์ ซึ่งมีปัญหามาตลอดในแง่ของการวางแผนและการวางตัวผู้สืบทอด (Successor)

การเข้ามาของสุระหรือวานิชนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่ต้องเกิดขึ้นในภาวการณ์เช่นนี้ เพราะถ้าสุระหรือวานิชไม่เข้ามาก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาแน่ๆ ทั้งนี้เพราะเวลานี้ ธนาคารแหลมทองคือบางระจันของนันทาภิวัฒน์

การจากไปของภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ เมื่ออายุได้ 35 ปี กับ 3 เดือน นอกจากจะสร้างความเศร้าสลดและเสียใจในหมู่ญาติมิตรและเพื่อนฝูงเพราะคุณงามความดีของผู้ตายแล้ว ภิวัฒน์ยังทิ้งเงื่อนปมอย่างไม่ได้ตั้งใจให้ทุกคนมานั่งแก้กันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเพียงอีกไม่ถึงสองปีให้หลัง

“...เหน่งเป็นผู้มีความเผื่อแผ่ซึ่งเป็นนิสัยที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ครอบครัวและญาติมุ่งหมายจะได้เห็นเป็นหัวหน้าตระกูลสืบต่อจากสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่แทนคุณพ่อเหน่ง (ไพศาล นันทาภิวัฒน์)”

ธนาคารแหลมทองเกิดขึ้นมาเมื่อช่วงเหน่งได้เริ่มออกมาจากท้องแม่ สมัยนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน เศรษฐกิจกำลังจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ไทยเรากำลังเปิดประตูเต็มที่เพื่อรับการค้าขายกับต่างประเทศ ธุรกิจหลักๆ ในสมัยนั้นคือการค้าทรัพยากรและสินค้าทางเกษตรกรรม

ในปี 2490 คนห้าคนซึ่งแต่ละคนก็มีผลงานจากความสำเร็จมาแล้วทั้งสิ้น นายหลีเบญ เบญจฤทธิ์-พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ใหญ่ นันทาภิวัฒน์...จุติ บุญสูง...ก้อง ยงสกุล-นายเหมืองภูเก็ต หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์-อดีตนายกรัฐมนตรีไทย) ทั้ง 5 ได้รวบรวมเงินแล้วตั้งธนาคารขึ้นมาด้วยทุน 12 ล้านบาท

“เงิน 12 ล้านบาทสมัยนั้น ถ้าคิดเป็นเงินสมัยนั้นนับว่าใหญ่มากทีเดียว ถ้าคิดเป็นเงินสมัยนี้ก็คงจะประมาณ 300 ล้านบาทได้ สมัยนั้นธนาคารแหลมทองถือว่ามีศักดิ์ศรีมาก ธนาคารกรุงเทพเองยังเริ่มด้วยทุนเพียง 4 ล้านบาทเอง ก็พูดง่ายๆ ว่า การเริ่มของธนาคารแหลมทองก็เหมือนกับการเริ่มต้นธนาคารของคนจีนในเมืองไทยทั่วๆ ไป คือเริ่มขึ้นมาเพื่อให้ธนาคารเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของตัวเอง” แหล่งข่าววัยสูงอายุซึ่งอายุได้กลางคนเมื่อธนาคารแหลมทองเพิ่งตั้งขึ้นมา กล่าวกับ “ผู้จัดการ”

ในฐานะที่นันทาภิวัฒน์มีหุ้นมากกว่าเพื่อน ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ จึงเป็นผู้บริหารธนาคาร ความสนใจในธนาคารของกลุ่มบุญสูงและยงสกุลจะมีก็ในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่ภายหลังธุรกิจของกลุ่มบุญสูง และยงสกุลเริ่มขยายตัวออกไปมากมายในประเทศและนอกประเทศ การถือหุ้นในธนาคารแหลมทองแทบจะเรียกได้ว่าถือไว้กินเงินปันผลเล่นๆ อีกประการหนึ่งทางบุญสูงและยงสกุลเองก็คงจะหาตัวลูกหลานมาทำธนาคารนี้ไม่ได้

ในระยะแรกเริ่มของการดำเนินกิจการธนาคารแหลมทอง การบริหารงานก็ไม่ได้มีอะไรลำบากยากเย็นเพราะระบบของธนาคารสมัยนั้นไม่มีอะไรพิเศษน่าตื่นเต้น เพราะเป็นเรื่องของการแค่มีเงินฝากแล้วปล่อยกู้ไป การค้าต่างประเทศที่ต้องมีแผนกต่างประเทศใหญ่ๆ ก็ไม่ต้อง อัตราดอกเบี้ยก็คงที่ไม่มีการผันผวนทางเศรษฐกิจแบบขึ้นเร็วลงช้าเหมือนปัจจุบัน

ธนาคารแหลมทองจึงทำธุรกิจในหมู่ของตนเองจริงๆ เรียกได้ว่าถ้าอยู่นอกวงไพบูลย์ของธนาคารแหลมทองละก้อ เป็นอันว่าถ้าต้องการสินเชื่อก็ไปติดต่อที่อื่นดีกว่า

ใหญ่ นันทาภิวัฒน์ บริหารแหลมทองได้ไม่ถึง 10 ปี ก็เสียชีวิตไป และไพศาล นันทาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตขึ้นมาบริหารแทน

ไพศาล นันทาภิวัฒน์ แต่งงานกับ เล็ก หงสเวส มีลูกสามคนโดยมี นันทา ชินะโชติ (นันทาภิวัฒน์) เป็นลูกสาวคนโต คนกลางคือ ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ (เหน่ง) และคนสุดท้องเป็นชายคือ นันทวัฒน์ นันทาภิวัฒน์

ธนาคารยุคไพศาล นันทาภิวัฒน์ ก็ยังคงเป็นธนาคารที่มุ่งจะทำกิจการในหมู่วงศาคณามิตรเหมือนเดิม พอใจที่จะเป็นธนาคารเล็กๆ ไม่ได้คิดขยายกิจการ ทุนจดทะเบียน 12 ล้านในปี พ.ศ.2490 ก็ยังคงเป็น 12 ล้านในยุคกึ่งพุทธกาล

“ในจำนวนลูกคุณใหญ่ นันทาภิวัฒน์ ทั้งหมด ไม่มีใครร่ำเรียนมาทางเรื่องธนาคารโดยตรง คุณสมบูรณ์เรียนมาทางวิศวกรรม คุณบุญยิ่งก็วิศวกรรม มีคุณเถาวัลย์เท่านั้นที่เรียนมาทางบัญชี คุณไพศาลเองแกใช้วิธีเรียนรู้เอาเอง”

ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ (เหน่ง) เนื่องจากเป็นหลานชายคนโตเป็นหลานคนแรกของบรรดาอาๆ ทั้งหลาย ประกอบกับเป็นลูกชายคนโตของไพศาล นันทาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของเล็ก นันทาภิวัฒน์ ดังนั้น สายตาทุกคู่จึงมุ่งมาจับที่ภิวัฒน์ (เหน่ง) ว่าสมควรจะเป็นผู้ที่สืบทอดมรดกโดยเป็นผู้บริหารธนาคารแหลมทองต่อไป

แม้แต่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เองก็ยอมรับว่า หน้าที่หลักของตนในการบริหารงานธนาคารแหลมทองหลังจากที่ไพศาลเสียชีวิตแล้วคือ การประคบประหงมเหน่งให้ดีจนกว่าจะพร้อมแล้วถึงให้เหน่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารแทน

“เรื่องความรักที่อาทุกๆ คน ในสกุลนันทาภิวัฒน์มีต่อเหน่งนั้นเป็นเรื่องจริง ทุกคนไม่ได้แสดงทีท่าอิจฉาริษยาเหน่งเลยในการที่เหน่งจะได้เป็นผู้จัดการใหญ่ต่อไป ถ้าจะมีคนอิจฉาก็คงจะไม่ได้แสดงออกมามากกว่า คุณสมบูรณ์เองเมื่อเวลาเหน่งเสียก็ร้องไห้น้ำตาคลอเพราะความรักและเสียดายหลานคนโปรดคนนี้” แหล่งข่าวในธนาคารเล่าให้ฟัง

ส่วนเหน่งเองถึงแม้ตัวเองจะเป็นทายาทสืบทอดมรดก แต่ในความสัมพันธ์กับอาๆ ทั้งหลายก็ให้ความเคารพนับถืออย่างเสมอต้นเสมอปลาย

“คุณนึกดูซิเวลาคุณสมบูรณ์ไม่สบายเป็นโรคหัวใจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เหน่งจะไปเฝ้าไข้ทุกวัน” แหล่งข่าวในธนาคารอีกฝ่ายยืนยันถึงสัมพันธ์อันดีของผู้ล่วงลับไปกับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

การสูญเสียไพศาล นันทาภิวัฒน์ ไปเมื่อประมาณไม่กี่ปีมานี้เองทำให้ภาระของสมบุรณ์ นันทาภิวัฒน์ ต้องอยู่ในภาวะหนักอก เพราะประการหนึ่งต้องคอยประคบประหงมภิวัฒน ์เพื่อให้เตรียมตัวขึ้นมาแทนตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมานั่งวุ่นอยู่กับปัญหาที่ตัวเองก่อและปัญหาบางอย่างที่เหน่งก่อขึ้นมา

และในช่วงที่สมบูรณ์ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนไพศาลก็คือช่วงที่อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ลูกชายคนสุดท้องของใหญ่ นันทาภิวัฒน์ และเป็นน้องคนสุดท้องของไพศาลและสมบูรณ์ได้เข้ามาทำงานตามคำขอร้องแกมบังคับของสมบูรณ์

อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ หรืออากุ๊กของเหน่ง (ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์) สมรสกับคุณหญิงรัศมี (ดิศกุล) นันทาภิวัฒน์ เมื่อเล็กๆ ไปเป็นลูกบุญธรรมของคุณอาผู้หญิง ซึ่งแต่งงานกับทางตระกูลวิเชียรธาตุการ และต่อมากลับมาใช้นันทาภิวัฒน์เหมือนเดิม เมื่ออาผู้หญิงหย่าขาดกับทางฝ่ายอาเขย

อภิวัฒน์ก็เหมือนสายทางผู้ชายของนันทาภิวัฒน์ทั้งหลายที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า “Strong Personality” ยิ่งมาประกบกับคุณหญิงรัศมีซึ่งมีลักษณะการทำงานพูดเหมือนผู้ชายอกสามศอกคนหนึ่ง ก็เลยทำให้อะไรต่ออะไรที่ออกมาจากคู่นี้ดูเป็นแข็งไปหมด

แต่อภิวัฒน์โชคดีอยู่อย่างที่ได้ต่อสู้นอกธนาคารแหลมทองมาร่วม 15 ปี โดยทำธุรกิจของตนเองและได้ถูกส่งตัวเข้าไปฟื้นฟูธนาคารไทยพัฒนาซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารมหานคร

และการเข้าไปธนาคารไทยพัฒนายุคนั้นก็ได้มีโอกาสพบรู้จักกับ วานิช ไชยวรรณ ซึ่งเป็นกัมประโดของธนาคารไทยพัฒนาอยู่!

การทำงานข้างนอกมานานทำให้อภิวัฒน์รู้ซึ้งถึง Competent Management และเห็นว่ากิจการธนาคารถ้าจะเน้นในแง่ Ownership แล้วจะไปไม่ได้ไกล ซึ่งความคิดนี้อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ฝ่ายอา กับ ภิวัฒน์ (เหน่ง) ฝ่ายหลานมักจะมีข้อขัดแย้งในด้าน concept อยู่ตลอดเวลา แต่ก็เป็นการขัดแย้งในเรื่องความคิด

“การขัดแย้งอาจทำให้ฝ่ายชายทั้งสองฝ่ายต้องคิดเหมือนกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเจตนาบริสุทธิ์หรือเพราะอภิวัฒน์ต้องการจะ take over และทำให้สถานภาพของเหน่งในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต้องด้อยลงไป” ผู้ใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายวิเคราะห์ให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

“ที่บอกว่าผมจะมาฮุบแบงก์ก็ไม่มีมูลความจริงทั้งสิ้น ลงไปได้เลยว่าผมยืนยันว่าผมพอใจในด้านโมเดิร์นแมเนจเมนต์มากกว่าการเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะการทำงานระบบครอบครัวที่ไม่ถูกลักษณะผมเลย ผมอยากเห็นธนาคารแหลมทองมีการจัดการที่ดีเหมือนธนาคารทั้งหลาย ไม่อยากได้ยินใครพูดว่าธนาคารครอบครัว เพราะไม่ทำให้ชื่อเสียงธนาคารดีขึ้นเลย ทั้งในแง่ธนาคารชาติ กระทรวงการคลัง แม้ public ก็ดี เพราะธนาคารคือสถาบันการเงิน ไม่ใช่บริษัทธรรมดา อันนี้คือมติประจำใจของผมที่ยึดถือตั้งแต่ต้นจนจบ” อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ข่าวจัตุรัส

อภิวัฒน์เข้ามาทำงานที่ธนาคารในปี 2519 ซึ่งก่อนหน้านั้นคุณหญิงรัศมีภรรยาได้มาเป็นผู้จัดการธนาคารแหลมทองสาขาอโศก ตั้แต่ปี 2515

บางกระแสข่าวอ้างว่าอภิวัฒน์เป็นคนให้คุณหญิงเข้ามาเป็นตัวแทนในแหลมทองโดยคุมสาขาอโศก เพราะต้องการให้มีงานทำแต่ “เขา (คุณหญิงรัศมี) ทำงานที่แหลมทอง สาขาอโศก ก็เพราะหาคนทำไม่ได้ พี่ไพศาล (บิดาเหน่ง) ชวนเข้าไปทำ ก่อนหน้านั้นเขาทำอินชัวรันส์มาก่อน เป็นถึงรองผู้จัดการใหญ่โรลิเบค (Rolibec)” อภิวัฒน์ชี้แจงกับ “ผู้จัดการ”

ความขัดแย้งในเรื่องความคิดระหว่างอากับหลานคู่นี้ยังไม่มีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าใครถูกใครผิด

จนกระทั่งปี 2520 ที่กุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา ได้เข้ามารู้จักกับภิวัฒน์ (เหน่ง นันทาภิวัฒน์ โดยผ่านทางสมหวัง ภูวเศรษฐ อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดซื้อของธนาคารทหารไทย จากการที่สมหวังเห็นว่ากุรดิษฐ์เป็นคนตั้งใจทำงานและเป็นคนทำงานจริง สมหวังจึงดึงให้กุรดิษฐ์มารู้จักกับภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์

กุรดิษฐ์ จันทร์ศรีชวาลา เป็นน้องชายสุระ และเป็นตัวจักรกลที่สำคัญในการหาเงินทองให้กับกลุ่มของตัวเอง

ทั้งกุรดิษฐ์และภิวัฒน์ก็เป็นคนหนุ่มที่อายุไล่เลี่ยกัน (ในขณะกุรดิษฐ์อายุ 36 ปี)

เป็นที่รู้กันว่า ทุกๆ เช้ากุรดิษฐ์ต้องไปเจอกับภิวัฒน์ที่บ้านหรือที่ธนาคารและติดสอยห้อยตามไปตลอด

“เหน่งเป็นคนดีมากรักเพื่อนฝูงและเป็นคนขี้เหงา ชอบมีเพื่อนห้อมล้อม” คนใกล้ชิดของภิวัฒน์เล่าให้ฟัง

จากการที่เป็นคนหนุ่มหน้าตาดี ชาติตระกูลดี และมีเงินมีทอง ชื่อเสียงของภิวัฒน์จึงเป็นที่ขจรขจายในหมู่มวลดอกไม้ทั้งหลาย และไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่วงคนเที่ยวกลางคืนจะเจอภิวัฒน์กับพวกและกุรดิษฐ์ห้อมล้อมไปด้วยสาวสวยรวมทั้งดาราภาพยนตร์ชื่อดังในอดีต

ว่ากันว่าตั้งแต่ก่อนที่ภิวัฒน์จะได้รู้จักสุระแล้วเขามีความสนใจที่จะขยับขยายกิจการธนาคารให้ก้าวหน้าไปมากกว่านั้น แต่ติดขัดปัญหาของการที่จะดึงผู้อื่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะภิวัฒน์ยังคงต้องการคงสถานภาพของ Ownership อยู่

แต่จากการที่ภิวัฒน์มีเพื่อนฝูงมาก ภิวัฒน์ก็เลยใช้ฐานของธนาคารขยายกิจการของตัวเองไปในแนวนอน และการได้พบปะกับสุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็เท่ากับเป็นการเปิดประตูของการซื้อมาแล้วขายไปให้ภิวัฒน์ ได้เห็นชัดว่าถ้าหนุนสุระเสียหน่อย การทำมาค้าขายของสุระก็คงจะคล่องกว่านี้มาก และจากงานเล็กก็คงไปสู่งานใหญ่ได้

ในช่วงนั้นถ้าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิดแลนด์ของสุระขาดเงิน แหลมทองก็จะเป็นผู้ให้เพราะภิวัฒน์ทำหน้าที่คุมด้านสินเชื่อของธนาคาร ในขณะที่อภิวัฒน์ผู้เป็นอา รับผิดชอบแต่ทางด้านต่างประเทศ

ความที่เหน่งเป็นคนมีเมตตากรุณา การปล่อยสินเชื่อก็อยู่ในภาวะของการไม่ได้เรียกร้องหลักทรัพย์ที่แน่นหนา หรือมองให้ทันสมัยก็อาจจะเป็นเพราะเหน่งเองอาจจะไม่ได้ยึดถือหลักทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ นอกจากความสามารถในการจ่ายคืนมากกว่า หนี้สินที่สูญเสียก็ต้องเกิดขึ้นแต่ก็ยังคงเป็นจำนวนที่ไม่มากนักถ้าจะเปรียบเทียบกับการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน

จะเป็นเพราะว่าธนาคารชาติในสมัยหนึ่งหลงลืมหรือแกล้งไม่ฉลาด ก็ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะในระเบียบว่าด้วยการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์นั้นไม่ได้พูดถึงกฎเกณฑ์ของการอาวัลอย่างชัดเจนว่าธนาคารมีสิทธิจะอาวัลตั๋วเงินได้มากน้อยเพียงใด?

ช่องว่างอันนี้ก็เลยถูกนำมาใช้โดยธนาคารแหลมทองและสุระเองก็ใช้ช่องว่างนี้เป็นแหล่งหมุนเงินหมุนทอง

“ถ้าคุณถือตั๋วสัญญาใช้เงินของมิดแลนด์แล้วอาวัลโดยธนาคารแหลมทอง ในแง่ความรับผิดชอบก็ชัดอยู่แล้วว่าถ้ามิดแลนด์ไม่จ่ายแหลมทองก็ต้องจ่าย และกลุ่มสุระเองในช่วงนั้นก็ใช้ตั๋วที่อาวัลโดยแหลมทองไปเอาเงินออกมาจากสถาบันการเงิน นอกจากธนาคารและบริษัทเงินทุนอื่นๆ แล้วก็ยังไปเอากับบริษัทประกันชีวิตที่มีเงินเหลืออยู่ด้วย” ผู้บริหารในบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่แห่งหนึ่งอธิบายให้ฟัง

และนี่คือสิ่งที่สุระต้องการที่สุดเพราะจากการเป็นนักธุรกิจที่เน้นในเรื่องการซื้อมาและขายไป สุระเองจะต้องมีฐานการเงินที่สามารถจัดเงินให้สุระได้ซื้อของในทันทีที่ต้องการ เพราะธุรกิจแบบนี้ถ้ามัวจะเอาธนาคารไปประเมินราคาและดูทรัพย์สินจะเป็นการสูญเสียโอกาสให้คู่แข่งขันรายอื่นสามารถเข้ามาสวมรอยแทนได้

ธนาคารแหลมทองเองก็คงไม่สามารถจะปล่อยสินเชื่อออกไปให้ทันทีได้ เพราะฐานของทรัพย์สินมีเพียงแค่ 2-3 พันล้านบาท แต่ถ้าเป็นการอาวัลตั๋วกันแล้วใช้ตั๋วนั้นไปเอาเงินจากที่อื่นโดยฝ่ายธนาคารเป็นผู้ได้ค่าบริการก็สามารถจะทำได้ตลอด

แหล่งเงินที่อื่นเองก็คงจะไม่กังวลตราบใดที่ตั๋วนั้นอาวัลโดยธนาคาร

ส่วนสุระเองนั้นถ้าเงื่อนไขการอาวัลนั้นไม่ต้องผูกพันด้วยทรัพย์สินที่ต้องได้มา สุระเองก็สามารถจะเอาทรัพย์สินนั้นไปหมุนเงินออกมาได้อีกทอดหนึ่ง

“เหน่งหนุนสุระนี่ก็ไม่ใช่ของเสียหายเพราะถ้ามองกันจริงๆ แล้วถึงตอนนี้ถ้าคุณเปรียบเทียบระหว่างสุระกับโค้วเฮงท้ง แล้วจะเห็นว่าสุระเป็นคนทำมาค้าขายจริงๆ ถ้าสุระเอาตั๋วเงินไปอาวัลก็แสดงว่าเขาเอาไปซื้อเพื่อรอที่จะขายให้กำไรกว่าเดิม คุณเพียงแต่ระวังอย่าให้การอาวัลเป็นการอาวัลธรรมดาเท่านั้น ควรจะตกลงกันให้ชัดว่าอาวัลแล้วซื้อมาแล้วก็เอาของมาทิ้งไว้ที่นี่ สุระไม่ได้ฟุ่มเฟือยหรือเล่นการพนันแบบโค้วเฮงท้ง ฉะนั้น ผมคิดว่าถ้ามองแค่ประเด็นการช่วยสุระแล้ว กลับเป็นเรื่องที่น่าจะกระทำ” แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับภิวัฒน์ (เหน่ง) พูดให้ฟัง

ในช่วงที่ภิวัฒน์ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากสุระที่ธนาคารแหลมทองได้ช่วยอาวัลตั๋วแล้ว ยังมีนายธงชัย โกมลสิริภักดี หรือโค้วเฮงท้ง แห่งเงินทุนหลักทรัพย์สหไทยที่ได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากภิวัฒน์ในการช่วยเหลือด้วย แต่ยอดเงินของการช่วยในยุคที่ภิวัฒน์อยู่ยังไม่มากนักเพิ่งจะมามาเพิ่มมากขึ้นตอนหลังในช่วงที่ภิวัฒน์เสียชีวิตไป ซึ่งสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นผู้อาวัลเพิ่มให้

“โค้วเฮงท้งนั้นมาทางสายจอมพลประภาส จารุเสถียร และสาย เสธ.สม ขัตพันธุ์ จอมพลประภาสนั้นเดิมทีถือหุ้นอยู่ในแหลมทองด้วย ซึ่งตอนหลังถูกยึดทรัพย์กลายเป็นส่วนของกระทรวงการคลังไป และเดิมทีเดียวหุ้นส่วนนี้เคยเป็นของจอมพลสฤษดิ์มาก่อน ด้าน เสธ.สมนั้นก็มีความสนิทสนมกับภิวัฒน์พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายบุตรกับบุตรเขยของ เสธ.สม สนิทกับเหน่งมากๆ ทีเดียว และ เสธ.สมก็เคยเป็นท.ส.ของจอมพลประภาสด้วย จอมพลประภาสเป็นประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหไทย และยังถือหุ้นอยู่ด้วยประมาณ 4% โค้วเฮงท้งก็เลยได้เข้ามาร่วมในงานทอดผ้าป่าสามัคคีที่เหน่งเป็นประธานในการอาวัลตั๋วเงิน” ประวัติความสัมพันธ์ของโค้วเฮงท้งกับธนาคารแหลมทองถูกสาธยายโดยผู้ที่อยู่วงในคนหนึ่ง

“เหน่งเองก็เป็นคนดีมาก ใจประเสริฐก็คิดว่าอยากช่วยทุกๆ คน ซึ่งความจริงบางครั้งผมคิดว่าเหน่งนี้คงเป็นพระเวสสันดรกลับชาติมาเกิดเหมือนกัน เขาก็อยากให้อาแอ๊ด (สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์) เห็นความดีของโค้วเฮงท้ง พอสมบูรณ์เกิดไม่สบายเป็นโรคหัวใจ เหน่งก็บอกให้เฮงท้งช่วยหาหมอจีนฝังเข็มเก่งๆ รักษาให้หน่อย เฮงท้งถึงกับจัดการเป็นเจ้ากี้เจ้าการติดต่อหมอไต้หวันพาสมบูรณ์ไปรักษาต่อที่ไต้หวันจนดีขึ้น” แหล่งข่าวคนเดิมต่อเรื่องจนจบ

โค้งเฮงท้งเองก็ถนัดอยู่แล้วในเรื่องการบริการผู้หลักผู้ใหญ่ ยิ่งเคยรับใช้จอมพลประภาสอย่างใกล้ชิดที่ไทเปมาแล้ว เพียงแค่บริการสมบูรณ์แค่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากจนเกินไป

และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่หลังจากเหน่งเสียชีวิตแล้ว บทบาทสุระลดน้อยลงมากในธนาคารแหลมทอง แต่ของโค้วเฮงท้งกลับสูงขึ้น เพราะตั๋วสหไทยระยะหลังนั้นสมบูรณ์เป็นผู้อาวัลให้

มีอยู่พักหนึ่งตั๋วสุระกับสหไทยปลิวว่อนในตลาดการเงิน จนถึงจุดหนึ่งที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาถึงกับตั้งงบไว้ก้อนหนึ่งว่า ถ้าเกินกว่านี้จะไม่รับอีกแล้ว

ยอดการอาวัลนั้นก็มีหลายกระแสข่าว บางแหล่งระบุว่าพันกว่าล้าน แต่อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ บอกว่า 2-3 ร้อยกว่าล้านเท่านั้น

“ของสุระตอนนี้คงลดน้อยลงไปแล้ว เพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกันนัก แต่ของสหไทยน่าจะสูงเพราะไม่งั้นแล้ว แหลมทองคงไม่วิ่งเข้าไปอุ้มสหไทยเอาไว้” คนวงในการเงินออกความเห็น

แน่นอนที่สุดความสัมพันธ์ของสุระกับเหน่งถูกคนในตระกูลนันทาภิวัฒน์จับตาดูอยู่อย่างไม่สบายใจเป็นอย่างมากๆ และอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

“อภิวัฒน์ เขาเป็น Believer in Management และบทบาทที่เขามีอยู่ในธนาคารก็ไม่มากเท่าภิวัฒน์ ถึงแม้จะไม่สบอารมณ์กับการที่ธนาคารต้องสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสุระในรูปนี้นัก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าตนเองก็ถือหุ้นอยู่น้อยมาก และอีกประการหนึ่งคงจะเกรงใจเหน่งด้วย” แหล่งข่าวใกล้ชิดพวกนันทาภิวัฒน์เล่าให้ฟัง

ความจริงอภิวัฒน์เองก็ต้องการจะคุยกับภิวัฒน์ให้ถึงแก่นสักครั้งในเรื่องหลายๆ เรื่องเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับระบบงานและอนาคตของธนาคารแหลมทอง แต่ภิวัฒน์ก็ด่วนจากโลกไปเสียก่อน

สำหรับภิวัฒน์ (เหน่ง) แล้วจากการที่เป็นคนหนุ่ม และมีความคิดใหม่ๆ อยู่มาก พอได้พบสุระ และเมื่อสุระดึงสุธีเข้ามารู้จักด้วย ก็ทำให้ Scope ของภิวัฒน์มีความต้องการกว้างขึ้นมากกว่าเดิมในแง่ขอบข่ายการทำงานของธนาคารแหลมทอง ซึ่งเคยวนเวียนอยู่แต่ธุรกิจในกลุ่มของครอบครัวตัวเอง

การร่วมทำธุรกิจกับสุระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหน่งเองเห็นความสามารถของสุระ อาจจะเป็นเพราะสุระมีความชำนาญในด้านของการซื้อถูกขายแพง ก็เลยทำให้เหน่งคิดว่าถ้าดึงสุระเข้ามาร่วมให้ใกล้ชิดขึ้นก็จะเป็นประโยชน์กับเหน่งและกับธนาคาร

“การที่เหน่งดึงสุระเข้ามาถือหุ้นในแหลมทองนั้น ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงที่แน่นอนได้ เพราะมันเป็นไปได้ทั้งสองสถาน ประการแรกอาจจะเป็นเพราะว่าเหน่งต้องการให้สุระมีหุ้นอยู่บ้างก็จะทำให้การติดต่อขอความช่วยเหลือจากธนาคารง่ายขึ้น อีกประการหนึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าเหน่งต้องการจะเอาสุระเข้ามาเป็นพวกโดยไปกว้านซื้อหุ้นจากคนอื่นแอบๆ เก็บไว้ เพราะเหน่งเองก็คงจะรู้ว่าถึงกลุ่มตัวจะถือหุ้นมากกว่าคนอื่น แต่ถ้ารวมกลุ่มแล้วก็จะน้อยกว่า คงจะเป็นในลักษณะเตรียมตัวเอาไว้ ถ้าจะต้องเผชิญหน้ากันในอนาคตมากกว่า” ผู้ใกล้ชิดภิวัฒน์เล่าให้ฟัง

“สุระเข้ามาในกลุ่มนันทาภิวัฒน์นี้ก้เป็นเรื่องที่นอกจากฝ่ายที่ถือหุ้นคนอื่นๆ คอยดูด้วยความเป็นห่วงแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยสสบอารมณ์ด้วย คุณต้องอย่าลืมรากฐานการเกิดของธนาคารแหลมทอง และองค์ประกอบด้านผู้ถือหุ้นให้ดีๆ คุณจะเห็นว่าเป็นการร่วมกันในหมู่เศรษฐีเก่า หรือกลุ่มจีนเก่าสมัยหลายสิบปีมาแล้ว พวกนี้ Integrated ตัวเองมาในกลุ่มของ Upper Class เมืองไทย ซึ่งจะเกี่ยวพันและสัมพันธ์กันในหมู่พวกเขาเท่านั้น แล้วจู่ๆ คุณมีสุระซึ่งเป็นแขกโผล่เข้าไปถือหุ้นด้วย มิหนำซ้ำยังเป็นแขกซึ่งมีชื่อในด้านการฮุบกิจการแล้ว คุณจะไม่ให้เขาตกใจได้อย่างไร ถ้ามองในแง่สังคมวิทยาแล้วมันก็ไม่ใช่ส่วนผสมที่จะเข้ากันได้ ดูอย่างโค้วเฮงท้งซิ ตราบใดที่ไม่ได้ไปมี Position ที่จะ Threat Status Quo ของพวกผู้ดีเก่านี่ ถึงลำบากอย่างไรถ้ามาเจรจาขอร้องกันดีๆ ทางนี้ก็ยังจะช่วยอยู่เหมือนเดิม” นักบริหารการเงินระดับสูงที่รู้จักสองฝ่ายดีวิเคราะห์ให้ฟัง

หลังการจากไปของภิวัฒน์ ครั้งหนึ่งถึงกับมีข่าวว่าสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เองเรียกสุระมาพบ แล้วถามสุระคิดจะเทกโอเวอร์แหลมทองหรือ ซึ่งสุระเองก็ปฏิเสธ และบอกว่าสุระมีกิจการเรื่องการเงินอยู่แล้ว

และเมื่อตอนที่ทางสมบูรณ์เริ่มมึนตึงกับสุระ สมบูรณ์เองก็เคยติดต่อขอให้สุระขายหุ้นคืนมา หรือไม่ก็ให้เอาหุ้นนั้นมาเป็นการประกันสินเชื่อบางส่วนก็ได้ แต่สุระก็บอกว่า “ผมสามารถจะขายอะไรก็ได้ให้หมดไป แต่หุ้นนี้ผมทิ้งไม่ได้ เพราะผมต้องการเก็บไว้ให้ลูกชายพี่เหน่ง (ภิวัฒน์)”

คำตอบของสุระก็พอจะทำให้สมบูรณ์มึนงงไปนาน เพราะถ้าไปบีบสุระมาก ก็เท่ากับเป็นการรังแกเหลนที่ยังเล็กอยู่ และหลานที่เสียชีวิตไปแล้ว

คนภายนอกที่ไม่เข้าใจเรื่องดีมักจะคิดไปว่าปัญหาของแหลมทองคงไม่มีถ้าไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ :-

ปัญหาแรก : ก็คือปัญหาการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างพี่น้อง สมบูรณ์ กับ วุฒิเทพ ซึ่งเป็นทั้งปัญหาส่วนตัวของพี่น้องที่อยู่บ้านในบริเวณเดียวกัน การระหองระแหงกัน (นันทาภิวัฒน์ได้ชื่อว่าผลิตลูกหลานที่มีบุคลิกเข้มแข็งกันทุกคน) และปัญหาการบริหาร บริษัทกรุงเทพอบพืชและไซโล ซึ่งสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นผู้ปล้ำสร้างมากับมือและให้น้องชายบริหาร ความขัดแย้งในเรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหามาจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน วุฒิเทพผู้ทำงานการค้าพืชเป็นมากที่สุดในครอบครัวต้องออกจากตำแหน่งผู้บริหารกรุงเทพไซโล และในไม่ช้ากรุงเทพไซโลก็ต้องถูกขายให้กับกลุ่มอื่นเพราะไม่มีใครสามารถบริหารบริษัทได้ดีเท่าหรือดีกว่าผู้บริหารเก่า

ปัญหาที่สอง :ที่ก่อปัญหาให้กับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ก็คือ การที่เขาเป็นผู้นำเรื่องโครงการทำเยื่อกระดาษจากปอเข้าสู่วงการธนาคาร โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้ช่วยลุ้นอย่างออกหน้า คุณสมบูรณ์นอกจากจะคอมมิตแบงก์แหลมทองในโครงการนี้แล้ว ตัวเขาเองก็มีหุ้นส่วนอยู่ในโครงการนี้ด้วย (ฟินิกซพัลพ์เป็นโครงการนำปอมาทำเยื่อกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลกโครงการหนึ่ง เป็นการร่วมทุนระหว่างไทย อินเดีย และออสเตรเลีย โดยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ขณะนั้นแทบจะบีบทุกแบงก์ลงทุนด้วย) โครงการนี้ถ้าไม่เจอปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา ก็เป็นที่เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ทำกำไรได้อย่างดีให้กับทุกคนที่ลงทุนกันไป แต่ตรงกันข้ามโครงการมีปัญหาเรื่อยมาจนปัจจุบันก็ยังไม่แน่ว่าจะพังหรือไม่ เพราะเรื่องของการหาเงินมาหมุนเวียนไม่พอ” นิตยสารรายสัปดาห์ข่าวจัตุรัส

วันที่ภิวัฒน์เสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดหมาย นอกจากจะเป็นความเศร้าสลดโดยส่วนตัวสำหรับทุกคนแล้ว สำหรับกลุ่มนันทาภิวัฒน์ยังเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และการเริ่มต้นครั้งนี้ทุกคนก็พอจะมองออกว่าคงจะต้องมีการเผชิญหน้ากันในที่สุด หลังจากที่หลีกเลี่ยงกันมานาน เพราะเห็นแก่ภิวัฒน์ (เหน่ง)

“คุณวาดภาพดูก็แล้วกัน เมื่อวานนี้คุณยังมีสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั่งอยู่ และรองลงมาก็มีภิวัฒน์ (เหน่ง) ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะต้องเป็นภิวัฒน์ที่นั่งเก้าอี้สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าอภิวัฒน์ (อาของภิวัฒน์) จะเป็นลูกคนสุดท้องของผู้ก่อตั้งธนาคารแหลมทอง แต่โดยส่วนตัวแล้วอภิวัฒน์ก็ยอมเหน่ง เพียงแต่เขาเป็นคนที่กล้าขัดแย้งในเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วย เรื่องจะแอบโค่นกันนั้นผมเชื่อว่าอภิวัฒน์เขาไม่ทำ เพราะสัมพันธภาพระหว่างเขากับเหน่งนั้น เป็นลักษณะคล้ายเพื่อนมากกว่าอากับหลาน มิหนำซ้ำตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการธนาคารที่เหน่งได้เลื่อนขึ้นมาคือตำแหน่งที่อภิวัฒน์ช่วยคิดค้นขึ้นมาให้ อีกประการหนึ่งเหน่งเป็นคนที่รักและเคารพญาติผู้ใหญ่ทุกคน ถึงจะเป็นคนใจร้อนก็ตาม แต่เหน่งจะดูแลบรรดาอาๆ น้อง หลาน อย่างใกล้ชิด ถึงบอกว่าถ้าเหน่งอยู่ปัญหาก็ไม่มี เพราะเหน่งเองก็เคยเอาเรื่องปัญหางานไปปรึกษาอภิวัฒน์เช่นกัน"

“พอเหน่งตายไปก็มองไม่เห็นใครนอกจากอภิวัฒน์ซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องของสมบูรณ์ ซึ่งสมบูรณ์เองก็เคยพูดอย่างเปิดเผยมาแล้วว่าคนจะมาแทนเขาหลังเกษียณก็คือ อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์”

“ทีนี้ปัญหามันก็ไม่น่าจะมีถ้าหากไม่ใช่เพราะว่าอภิวัฒน์ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับความใกล้ชิดระหว่างเหน่งกับสุระ จันทร์ศรีชวาลา ซึ่งภายหลังที่เหน่งเสียชีวิต สุระก็ยังคงใกล้ชิดอยู่กับทางฝ่ายแม่เหน่งคือ เล็ก นันทาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นทางฝ่ายเหน่งซึ่งรวมแล้วก็ประมาณ 30% ได้”

“สุระเอง พอเหน่งตายก็ถูกบีบทันทีเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งสุระต้องขอร้องคุณเล็กด้วยน้ำตาคลอเบ้าให้ช่วยพูดกับสมบูรณ์ให้ผ่านตั๋วที่แหลมทองไปอาวัลไว้แล้วครบกำหนดเรียกเก็บ ซึ่งสมบูรณ์ตอนแรกไม่ยอมผ่านเพราะสมบูรณ์อ้างว่าสุระไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ”

“และด้วยเหตุผลนี้เองที่สุระก็พอจะรู้ว่าตัวเองต้องหาแหล่งเงินใหม่กับกลุ่มเสียแล้ว เพราะแหลมทองทำท่าจะเป็นแหลมที่อาจจะทิ่มตำตัวเองได้ ซึ่งสุระก็เกาะเข้าสู่กรุงไทยได้โดยผ่านทางสุธี นพคุณ ซึ่งต้องการให้สุระรับรามาทาวเวอร์ไป และตามใจเองก็เต็มใจจะให้สุระรับแทนสุธี เพราะตอนนี้ Credibility ของสุระดีกว่าสุธีมาก กรุงไทยนั้นค้ำเงินกู้ของ Crocker Bank ไว้ร่วม 500 ล้าน ซึ่งรามาฯ กู้มาสร้างรามาการ์เด้น การโอนจากสุธีมาเป็นสุระก็เลยดูหนักแน่นกว่าและสบายใจกว่าในฐานะที่กรุงไทยค้ำเงินกู้นั้นเพราะในตลาดช่วงนั้น ข่าวคราวของกลุ่มสุธีมีแต่ข่าวร้ายทั้งนั้น และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของสุระที่เข้าไปเกาะกรุงไทย ซึ่งนอกจากกรุงไทยแล้ว สุระก็ยังใช้แหล่งเงินจากสหธนาคารของบรรเจิด ชลวิจารณ์ อีกพอสมควร”

แหล่งข่าวในวงการเงินระดับสูงแจกแจงประวัติให้ฟังอย่างเต็มที่

แต่ที่เป็นปมสำคัญซึ่งทำให้เกิดปัญหาของการเผชิญหน้าในแหลมทองภายหลังคือการเข้ามาทำงานในธนาคารแหลมทองของชัชวาลย์ อภิบาลศรี จากธนาคารเอเชีย

ชัชวาลย์ อภิบาลศรี มาทางสาย เสธ.สม ขัตพันธุ์ อดีตผู้จัดการธนาคารเอเชีย สาขาราชประสงค์ ซึ่งเป็นสาขาที่ทำเงินให้ธนาคารเอเชียมากในด้านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ

ชัชวาลย์มีความสามารถในการหาเงินฝากมากเพราะรู้จักคนมาก

ชัชวาลย์เข้ามาทำงานในแหลมทองโดยสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นผู้เอาเข้ามา แต่รายงานข่าวระบุว่าทั้งนี้และทั้งนั้นมีแรงหนุนและผลักดันจากทางกลุ่มของเล็ก นันทาภิวัฒน์

ชัชวาลย์เข้ามาและได้รับมอบหมายให้คุมสาขาธนาคารแหลมทองสองสาขา คือสาขาหัวหมากและสาขาซอยอโศก

เผอิญสาขาอโศกซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านของตระกูลนันทาภิวัฒน์นั้น มีผู้จัดการชื่อคุณหญิงรัศมี นันทาภิวัฒน์ ภรรยาของอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์!

ระบบการทำงานและวิธีการทำงานของชัชวาลย์ อภิบาลศรี กับคุณหญิงรัศมี ดูเหมือนจะไม่สัมพันธ์กันหลายเรื่องทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังมีการขวนขวายหลักฐานเพื่อมายืนยันในสิ่งที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองถูกจนเป็นที่รู้กันในธนาคารแหลมทองว่างานนี้เป็นงานช้างที่กำลังจะประสานงากัน

ในที่สุด คุณหญิงรัศมีก็ออกจากธนาคารแหลมทองที่ตัวเองเป็นผู้จัดการสาขาอโศกอยู่ถึง 10 ปี!

บางข่าวระบุว่าคุณหญิงทำผิดกฎและธนาคารชาติเตือนมาและถึงกับแนะนำให้เปลี่ยนตัว แต่ “พูดก็พูดเถอะ” คนที่ให้ออกไม่ใช่คุณสมบูรณ์ ผมเองเป็นคนอยากให้ออกเพราะมีงานข้างนอกที่ผมต้องการให้เขาคุมเอกวิทย์ที่ผมตั้งขึ้นมาและกำลังเติบใหญ่ เวลานี้เขาเป็นเพรสิเดนท์อยู่ที่นั่น อีกประการหนึ่งเนื่องจากผมมาทำงานที่นี่แล้วมาเป็นเบอร์สอง ผมก็ไม่สบายใจนักที่ภรรยาเป็นผู้จัดการสาขาอีก จะเกิดครหาได้ แล้วคุณสมบูรณ์เองก็ออกใบรับรองให้ว่าทางธนาคารเสียใจที่ต้องอนุมัติให้ ม.ร.ว.รัศมี นันทาภิวัฒน์ ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวจากหน้าที่ซึ่งได้ปฏิบัติมาเป็นที่เรียบร้อย คุณสมบูรณ์ก็ไม่เคยให้หนังสือรับรองแบบนี้แก่ใคร” อภิวัฒน์ระบายให้กับ “ผู้จัดการ”

คุณหญิงรัศมีตอนหลังก็ไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ไฟแนนซ์ ซึ่งมีกลุ่มไทยประกันของวานิช ไชยวรรณ ถือหุ้นอยู่สามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์

เมื่อแก้วมันร้าวเสียแล้วถึงจะเอากาวมาประสานต่อก็ยังคงเห็นรอยร้าวอยู่และรอยร้าวอันนี้นับแต่จะมีแนวโน้มที่จะปริออกมาอีก

จนกระทั่งธนาคารชาติเริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธนาคารแหลมทองมากขึ้น จากการที่ธนาคารแหลมทองไปรับภาระอาวัลมากจนน่าเป็นห่วง (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2526 ธนาคารแหลมทองอาวัลไป 1,450 ล้านบาท จากทรัพย์สินรวม 4,530 ล้านบาท) ธนาคารเองมีกำไรสำรองทั้งที่จัดสรรแล้วและยังไม่จัดสรร รวมทั้งส่วนผู้ถือหุ้นแล้วเพียง 250 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถ้าธนาคารมีหนี้เสียจากการอาวัลเพียงแค่ 15% ก็จะทำให้ Net Worth เท่ากับศูนย์ไปเลย

ธนาคารชาติต้องการให้ธนาคารแหลมทองเพิ่มทุนและอีกประการหนึ่งกำลังของธนาคารชาติก็มีไปสู่ทุกธนาคารให้มีการกระจายหุ้นนานแล้ว

แต่ในการเพิ่มทุนนั้นจำเป็นต้องมีมติจากผู้ถือหุ้น และการลงคะแนนเสียงก็ต้องสามในสี่ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

“ปัญหาตอนหลังของแหลมทองกลายเป็นว่าทางคุณเล็ก ซึ่งเป็นสะใภ้ถูกสายผู้ชายของนันทาภิวัฒน์มองว่าไม่ใช่สายแท้ของเขา ซึ่งถ้าเหน่งมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่นี่เหน่งเสียไปแล้ว กลายเป็นว่าทางคุณเล็กมีสุระเข้าร่วม และมีชัชวาลย์ อภิบาลศรี เป็นกุนซือ ก็เลยทำให้ฝ่ายบริหารเขาเห็นว่าทางเขาจะทำงานลำบากยิ่งมีความขัดแย้งกันในพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ปัญหาของการร้าวฉานเริ่มจะปริออกมาอีกครั้งหนึ่ง”

“พูดก็พูดเถอะ ความจริงก็จ้องกันมานานแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเกิดถือหุ้นคานกันเอาไว้ แล้วมติใหญ่ๆ นั้นก็ต้องใช้เสียงสามในสี่ จนกระทั่งธนาคารชาติสั่งให้เพิ่มทุนก็เลยประชุมกันเพื่อหาทางออก”

ในการประชุมครั้งแรกและครั้งที่สองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526 และ 25 พฤศจิกายน 2526 นั้น มติของการเพิ่มทุนจะออกมาได้นั้นทางกลุ่มคุณเล็กจะยอมลงคะแนนเสียงให้ก็ต้องมีการเพิ่มเติมข้อความว่า

“หุ้นเพิ่มทุนที่ยังเหลืออยู่อีก 400,000 หุ้นนั้น ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาจำหน่ายเป็นคราวๆ ได้ โดยเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามอัตราส่วนจำนวนหุ้น ซึ่งแต่ละคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนหุ้น แต่ต้องเรียกค่าหุ้นล้ำค่าด้วยตามจำนวนที่จะเห็นสมควรกำหนด และหุ้นเพิ่มทุนที่ยังเหลืออีก 400,000 หุ้นนั้น ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาออกจำหน่ายเป็นคราวๆ ได้ โดยหากจะขายหุ้นก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2527 แล้ว จะต้องขายให้แก่บุคคลภายนอกในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะต้องนำมาขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามเจตนารมณ์ที่ตกลงข้างต้น”

สรุปได้ว่าแผนการวัดกันโดยเผชิญหน้ากันได้ถูกวางออกมาเป็นหมากแล้ว

“แน่นอนที่สุดทางฝ่ายสมบูรณ์กับอภิวัฒน์และฝ่ายคุณเล็ก สุระ และชัชวาลย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาก็ได้เตรียมเงินซื้อหุ้นใหม่ นอกจากนั้นก็เตรียมคนมารับหุ้นอีก 25% ซึ่งจะขายให้คนภายนอกได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าออกมาในรูปการแบบนั้นมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะก็คงยังจะ deadlock กันเหมือนเดิม”


ทางสุระก็เตรียมคนไว้มารับอยู่แล้วคือ คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ หุ้นส่วนผู้บริหารสยามคอนโดมิเนียม แถวแยก อ.ส.ม.ท.

คุณหญิงสุวรรณีเป็นภรรยาของเล็ก สิงสมบูรณ์ มหาเศรษฐีทำธุรกิจดูดทรายขาย โดยมีเรือดูดทราย 100 กว่าลำ (ลำละหลายล้านบาท) กิจการดูดทรายมีคลุมตั้งแต่อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี มีเงินสดและรวยมาก ครั้งหนึ่งถึงขนาดซื้อเกาะเกาะหนึ่งแถวๆ ปทุมธานีเชื่อมอยุธยาราคา 40 ล้านบาท เพื่อดูดทรายโดยเฉพาะ

เล็ก สิงสมบูรณ์ ลงทุนร่วมโดยปล่อยเงินกู้ให้กับสยามคอนโดมิเนียม ซึ่งพักหนึ่งมีจางหมิงเทียน เป็นหุ้นส่วนอยู่ และภายหลังถอนออกไป และได้ข่าวว่ากลุ่มสุระก็เข้าไปแทน

อีกรายหนึ่งซึ่งสุระเตรียมไว้คือ ม.จ.ดุลภากร วรวรรณ ซึ่งทั้งสองก็เตรียมเงินไว้เรียบร้อยโดยผ่านทางธนาคารกรุงไทย

แต่พอมาปลายเดือนมกราคม สมบูรณ์กับอภิวัฒน์ก็เพิ่มเซอร์ไพรซ์กลุ่มเล็ก นันทาภิวัฒน์ กับสุระด้วยการขายหุ้นออกไป 230,000 หุ้น โดย 30,000 หุ้นขายให้ผู้ถือหุ้นคนเดิม และอีก 200,000 หุ้น ขายให้กับกลุ่มไทยประกันชีวิตและบริษัทปาล์มโก้ จากมาเลเซีย ในราคา 120 ล้านบาท หรือ 600 บาทต่อหุ้น

“ที่ทางคุณสมบูรณ์ตัดสินใจแหกโค้งออกไปแบบนั้น เข้าใจว่าทางคุณสมบูรณ์เองคงจะชนะ Proxy Fight ในเรื่องอำนาจในฐานะผู้จัดการกองมรดกของเหน่ง ซึ่งคงคิดว่าว่าถ้ารวม Proxy อันนี้เข้าไปด้วยก็คงไม่มีปัญหาที่ใครจะมาขัดแย้งได้เลยขายให้กลุ่มคุณวานิชกับปาล์มโก้ไป”

วานิช ไชยวรรณ รู้จักสนิทสนมกับอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ โดยความสัมพันธ์นั้นเริ่มมาจากตั้งแต่สมัยที่อภิวัฒน์เข้าไปสะสางธนาคารไทยพัฒนา

คุณหญิงรัศมีเอง พอออกจากธนาคารแหลมทองก็มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ ซึ่งกลุ่มวานิชถือหุ้นอยู่ประมาณหนึ่งในสาม

“วานิชเป็นเศรษฐีเงียบ Net Worth คนนี้คงประมาณพันสองพันล้านได้ เขารวยมาจากโรงเหล้าต่างจังหวัด ตอนนี้ก็ยังมีโรงเหล้าเหลืออยู่ประมาณอีกห้าจังหวัด วานิชเองเพิ่งลงหุ้นไปในแม่โขง 15% จ่ายเงินสดๆ ลงไป 200 ล้านบาท นอกจากไทยประกันชีวิตแล้ว ที่เขาเป็นเจ้าของก็ยังมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บูรพา ซึ่งเพิ่งจะดึงธนาคารเอเซียทรัสต์เข้าร่วมทุน มีไพบูลย์ประกันภัย คลังสินค้ามีอีกมาก พูดได้ว่าเขาอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่ามีของจริง”

“วานิชแต่ก่อนนั้นไม่มีใครรู้จัก ทั้งๆ ที่กลุ่มเขาใหญ่มาก เขาใกล้ชิดกับพวกกรรมการแหลมทองมาก ก็พยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการธนาคารแหลมทองเป็นคนดึงเข้าไปถือหุ้นอยู่ในฮิลตัน ประมาณ 20 ล้านบาท พยัพเองก็เป็นประธานของกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย”

สำหรับตัววานิชเองแล้ว การเข้าไปถือหุ้น 100,000 หุ้นด้วยเงินเพียง 60 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่ถูกมากสำหรับวานิชเพราะ “คุณอย่าลืมว่าโรงเหล้าของเขาที่ต่างจังหวัดนั้นอีก 2 ปีก็หมดสัญญาแล้ว ถ้ามองการเปลี่ยนที่ลงทุนก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดเพราะหุ้นแหลมทองเนื่องจากฐานมันเล็กเงินปันผล 40-50 บาทต่อหุ้นมันพอจะได้อยู่และอีกประการหนึ่งเอาเงิน 60 ล้านไปแลกกับการหมุนเงินเป็นร้อยล้านก็คงจะเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่แพง วานิชเองก็มีอยู่ทุกอย่างแล้ว ประกันชีวิต ประกันภัย แม่โขง ไฟแนนซ์ ขาดแค่ธนาคารเท่านั้น ได้แหลมทองอีกแห่งก็เท่ากับเสริมฐานให้แข็งไปทุกด้าน”

กลุ่มของวานิชนั้นจ่ายเงินไปแล้ว 120 ล้านให้กับสมบูรณ์และในส่วนของไทยประกันที่ถืออยู่ 100,000 หุ้น (60 ล้านบาท) ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็อนุมัติให้ถือหุ้นได้แล้ว

อีก 60 ล้านบาทนั้นเป็นของปาล์มโก้ กลุ่มธุรกิจน้ำมันปาล์มซึ่งใหญ่มากๆ ในมาเลเซีย โดยมีดาโต๊ะโรเบิร์ต ชาน เป็นประธาน (ดาโต๊ะเป็นจีนกวางตุ้ง เคยทำแร่อยู่ภาคใต้ของไทยอยู่อีโปห์ อายุเพียง 40 กว่ารวยมาก) ดาโต๊ะกับวานิชทำไฟแนนซ์ร่วมกันที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ ซึ่งซื้อมาจากคอนติเนนตัลอิลลินอยส์แบงก์ นอกจากนั้นก็ยังมีอุตสาหกรรมอื่นซึ่งทำร่วมกันอยู่

พอข่าวว่าคณะกรรมการจะขาย 200,000 หุ้น และขายให้กลุ่มวานิช ไชยวรรณ ทางกลุ่มสุระส่งกลุ่มคุณหญิงสุวรรณีและ ม.จ.ดุลภากร วรวรรณ เข้าเสนอซื้อโดยเสนอให้หุ้นละ 700 และ 710 บาทตามลำดับ เรียกว่าให้สูงกว่าที่กลุ่มวานิชจ่ายมาแต่ก็ไม่ได้ผล เพราะกลุ่มสมบูรณ์และอภิวัฒน์ตั้งใจแล้วว่าจะเทมาให้ทางวานิช ไชยวรรณ

“ที่ผมบอกว่ากลุ่มวานิชมีประโยชน์ได้ก็เรื่องจริงใครจะปฏิเสธ เวลานี้เขามีเงินฝากอยู่ เขาไม่ใช่มีแค่อินชัวรันส์อย่างเดียว เขามีหลายอย่าง คณะกรรมการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่าเขาสามารถทำคุณประโยชน์ได้ นอกจากซื้อหุ้นอย่างเดียว” อภิวัฒน์พูดถึงเหตุผลที่เข้ามาทางวานิชกับ “ผู้จัดการ”

ในที่สุดการเพิ่มทุนครั้งนี้นอกจากจะเป็นการทำตามคำแนะนำของธนาคารชาติแล้วยังเป็นการละลายอำนาจของหุ้นส่วนเก่า ซึ่งหุ้นส่วนเก่าโดยชัชวาลย์ อภิบาลศรี เป็นกุนซือก็เห็นชัดว่าเกมนี้ต้องสู้ เพราะถ้าไม่สู้คงจะต้องถอย และก็ดูเหมือนว่าจะถอยไม่ได้อีกแล้ว เพราะตั้งแต่ภิวัฒน์เสียไป สายคุณเล็ก นันทาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสะใภ้มีความเข้าใจว่าตัวเองกำลังจะสูญเสียอำนาจต่อรองที่เคยมีอยู่สมัยทุนจดทะเบียนยังคงเป็น 50 ล้านบาท

ส่วนข้อคิดเห็นที่ว่างานนี้สุระก็ต้องสู้เพื่อหนี้ที่ตัวเองมีกับแหลมทองนั้นก็คงจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงแน่

เพราะอย่างที่ได้เขียนมาตอนต้นแล้วว่าหนี้ของสุระที่แหลมทองนั้นลดน้อยลงมากและสุระใช้ line ที่แหลมทองในลักษณะธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ

“แต่สุระเองก็คงจะต้องการเข้ามาด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้หลายประการเหมือนกันเช่น ถ้าทำได้สำเร็จกลุ่มสุระเองก็คงจะมีหุ้นมากกว่าเดิม ถึงจะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่แต่ก็คงจะมากพอที่จะนั่งเป็นกรรมการกับเขาได้เหมือนกัน อีกประการหนึ่งหุ้นแหลมทองก็จ่ายเงินปันผลดีอยู่แล้วก็สมควรจะเข้าและสุระเองก็เป็นไปได้ว่าไหนๆ ก็ไม่ชอบขี้หน้าแขกคนนี้แล้วก็จะกวนให้ปวดหัวเล่นๆ กันดูจะได้รู้ฤทธิ์เดชของแขกบ้าง”

ในอีกด้านหนึ่งของสุระถึงจะมีคนพูดว่าไว้ใจแขกไม่ได้ แต่สุระเองก็เป็นคนที่กตัญญูรู้คุณคนพอสมควร สุระจะพูดทั้งในที่สาธารณะและส่วนตัวกับใกล้ชิดเสมอว่า คุณเล็กและเหน่งนั้นเป็นผู้มีพระคุณล้นเหลือกับตระกูลจันทร์ศรีชวาลา แม้แต่ในการประชุมพนักงานไทยประสิทธิประกันภัย สุระเองก็ยังพูดให้พนักงานทุกคนรู้ว่าเหน่งและคุณเล็ก นันทาภิวัฒน์ เป็นผู้มีพระคุณอย่างสูง ฉะนั้นเมื่อเล็ก นันทาภิวัฒน์กำลังจะถูกละลายอำนาจสุระก็ต้องเข้าไปหนุนให้อย่างเต็มที่นอกจากผลประโยชน์ที่อาจจะได้แล้วก็ยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกันด้วย

“ใครๆ ต่างก็ตำหนิสุระ ผมไม่เห็นนายสุระจะทำผิดอะไร เขาก็คือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่มีสิทธิ์เหมือนกันจะว่าเขามาเอาประโยชน์จากธนาคารก็ไม่ได้ เพราะมันก็มีกรรมการควบคุมแล้วหุ้นของเขาก็เป็นเพียงพวกกลุ่มน้อย เขาก็พร้อมจะซื้อมิหนำซ้ำยังจ่ายให้มากกว่าทางคุณวานิชเสียอีก ถ้าทางคุณสมบูรณ์และอภิวัฒน์ขายให้เขา ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการละลายอำนาจกลุ่มของคุณเล็ก นันทาภิวัฒน์ แท้ๆ” แหล่งข่าวสายสุระแจกแจงให้ฟัง

ก็อาจจะจริงเพราะสุระเองเสียเปรียบที่ความสัมพันธ์แรกเริ่มกับแหลมทองเป็นความสัมพันธ์ของการเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเหน่ง ประกอบกับชื่อเสียงในด้านการซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าทำให้ถูกมองว่าจะเข้ามาเอาธนาคารแหลมทองในที่สุด นอกจากนั้นแล้วในปี 26 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทของสุระก็ล้วนแต่มีข่าวคราวไปในทางที่มีปัญหาก็เลยถูกมองว่าเขามาซื้อหุ้นธนาคารเพื่อมาคิดเอาประโยชน์

“แล้วคุณดูให้ดีๆ กลุ่มคุณวานิชกับคุณสุระนี่จะเข้ากันได้หรือ ต่างฝ่ายต่างก็มีบริษัทเงินทุน สุระมีเชียงใหม่ทรัสต์ มิดแลนด์ไฟแนนซ์ เครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก และบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย วานิชเองก็มีเงินทุนบูรพาทรัสต์ เงินทุนไทยเม็กซ์ มีเครดิตฟองซิเอร์ไพบูลย์ มีไพบูลย์ประกันภัย มีไทยประกันชีวิต คุณจะเห็นว่า Business Lines จะเหมือนกันหมด ถ้ามานั่งข้างๆ กัน และเป็นกรรมการแบงก์ก็คงสนุกแน่ นักวิเคราะห์คนหนึ่งออกความเห็น

ในที่สุดทางคุณเล็ก นันทาภิวัฒน์ ก็ฟ้องคณะกรรมการธนาคารโดยใช้แผน 3 ประการดังนี้ :-

1. การฟ้องย่อมหมายถึงการโอนหุ้นนั้นต้องหยุดชะงักโดยปริยายจนกว่าจะยื่นแถลงคัดค้านและชี้ประเด็นรวมสืบโจทก์
กลุ่มคุณเล็กและสุระฟ้องไปในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 และกว่าทางฝ่ายจำเลยคือกลุ่มสมบูรณ์และอภิวัฒน์จะแก้ก็คงต้องใช้เวลาร่วมๆ 2 อาทิตย์ถึงจะแก้ไป ซึ่งหลังจากถูกฟ้องแล้วในวันพฤหัสที่ 23 กุมภาพันธ์ วานิช ไชยวรรณ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และอภิวัฒน์ก็ประชุมกันด่วนเพื่อหาทางแก้ไขซึ่งก็มีแนวทางโดยเรียกประชุมผู้ถือหุ้นด่วนในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ เพื่อจะขอเพิ่มกรรมการจากเดิมซึ่งมีประมาณ 10 คนเพิ่มเป็นไม่เกิน 15 คน ซึ่งสมบูรณ์และอภิวัฒน์เชื่อว่าจากที่ตัวเองถืออยู่นั้นต้องชนะแน่ๆ และก็ได้วางแผนที่จะดึงวานิช ไชยวรรณ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย หลังจากที่สมบูรณ์บอกวานิชให้เก็บเงินค่าหุ้น 60 ล้านไว้กับแบงก์ก่อนเพราะตอนนี้ยังโอนหุ้นไม่ได้เนื่องจากศาลมีคำสั่งระงับชั่วคราว แต่สมบูรณ์รับปากว่าจะเอาวานิชเข้ามาเป็นกรรมการก่อน แต่ก็ถูกกลุ่มสุระวางแผนก่อกวนการประชุมและเป็นสาเหตุให้การนับคะแนนผิดพลาดจากยอด proxy ที่มีทั้งหมดทำให้ฟาวล์ไปและต้องเลื่อนการประชุมออกไปอีก 2 อาทิตย์ เมื่อแผนดึงเกมนี้สำเร็จก็เป็นแผนที่สองซึ่ง...

2. ทางกลุ่มสุระได้เตรียมเขียนคำร้องแก้คำร้องขอยกเลิกการควบคุมไม่ให้ขายหุ้นซึ่งทางฝ่ายสมบูรณ์ได้ให้ทนายไปยื่นที่ศาลไว้หลายแนวทาง “เรียกว่าเตรียมพร้อมหมดคือคุณจะส่งคำร้องแบบไหนทางเราก็มีคำร้องแก้พร้อมไว้ทุกแบบ” แหล่งข่าวทางสุระเล่าให้ฟัง

ผลอันนี้ทำเอาสมบูรณ์หัวเสียพอสมควรถึงกับต่อว่าสำราญ กัลยณรุจ ทนายใหญ่ของกสิกรไทยซึ่งสมบูรณ์ว่าจ้างให้เป็นทนายแก้ต่างว่าทำไมฝ่ายโน้นถึงรู้เรื่องก่อนว่าจะแก้มาแบบไหน สำราญเองก็โต้กลับไปว่าตัวเองทำงานมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่เคยคิดจะรู้เห็นเป็นใจกับฝ่ายตรงข้ามและในที่สุด แผนสุดท้าย...

3. เมื่อยื่นคำแก้แล้วศาลก็จะสืบโจทก์แต่สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ทั้งหมดก็ล้มป่วยกะทันหันตามฟอร์มและจะไม่มีวันหายทันก่อนวันที่ 8 มีนาคมแน่ๆ ซึ่งก็เป็นตามที่คาดเพราะศาลนัดสืบโจทก์หลังวันที่ 8 ตามที่โจทก์ร้องขอเพราะป่วย...เมื่อถึงวันที่ 8 มีนาคม 2527 พระราชบัญญัติใหม่ของการธนาคารพาณิชย์ก็จะเริ่มมีผลขึ้นมาทันที

นิตยสาร “ดอกเบี้ย” ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2527 รายงานเกี่ยวกับธนาคารแหลมทองว่า “ความหวังของตระกูลนันทาภิวัฒน์ในปัจจุบันอยู่ที่นายอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่มือขวาของนายสมบูรณ์ที่เป็นคนหนุ่มที่มีสุขภาพดี มีความคิดก้าวหน้าและยังเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยเป็นกรรมการของหอการค้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมไทยและสมาคมธนาคารไทย ที่จะเป็นผู้นำแบงก์แหลมทองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้และไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ล้าหลังต่อไป...แต่ความหวังของตระกูลนันทาภิวัฒน์จะเป็นไปได้แค่ไหน แขวนไว้กับความสามัคคีภายในตระกูลและความเสียสละของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในแบงก์ว่าจะมองใกล้หรือมองไกล...”

นับจากวันที่ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ เสียชีวิตมาอีกไม่ถึงเดือนก็จะครบรอบสองปีแล้ว และในวันครบรอบสองปีที่ทุกคนยังรักเหน่งมาร่วมกันทำบุญให้อดีตทายาทของธนาคารแหลมทองนั้น ถ้าทุกคนอยากให้วิญญาณเหน่งมีความสุขก็คงจะเป็นนิมิตที่ดีถ้าทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่นี้เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวและหันมาสามัคคีกันภายในตระกูล เพื่ออนาคตของธนาคารแหลมทอง เพราะถึงจะเป็นสายสะใภ้หรือสายตรงของนันทาภิวัฒน์ มันก็เป็นถั่วเถาเดียวกันนั่นเองมิใช่หรือ?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.