กสิกรฯรุกบัตรเครดิต เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่จับตาศก.ฟื้นผ่อนเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ


ASTVผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กสิกรไทยเผยกลยุทธขยายฐานบัตรเครดิต เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่แทนฐานลูกค้าเดิม ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 7% แย้มเตรียมปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำลงหากเศรษฐกิจเอื้อ

นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2553 ธนาคารได้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ไว้ที่ 7% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อที่ปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้กลยุทธ์เจาะลูกค้ารายใหม่เป็นหลัก จากในปีที่แล้วที่ธนาคารเน้นเติบโตจากฐานลูกค้าเดิม ด้วยการเพิ่มการมีบัตรเครดิตในมือลูกค้าอีก 1 ใบพร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากที่ลูกค้าเคยได้รับ นอกจากนี้ธนาคารจะมีการบริหารจัดการในการใช้ข้อมูลของฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่เพื่อคิดค้นสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดออกมาใช้กับลูกค้ารายใหม่

ทั้งนี้ ธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธนาคารได้สร้างฐานลูกค้าที่มีคุณภาพก่อน ด้วยการให้มูลค่าเพิ่มกับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตกับธนาคารอีกทั้งได้สร้างประสบการณ์ ความพึงพอใจให้กับลูกค้า หลังจากนั้นธนาคารก็จะเริ่มต้นที่จะไปหาลูกค้าใหม่ที่ทำการสำรวจแล้วว่ามีคุณภาพดีให้เข้ามาใช้สินเชื่อบัตรเครดิตกับธนาคารต่อไป ซึ่งลูกค้าใหม่ที่ธนาคารจะเน้นนั้นจะเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่ เข้าไปสำรวจตลาดแล้วว่ามีคุณภาพตรงกับเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้

โดยที่ในปีนี้ธนาคารวางแผนว่าจะเติบโตสินเชื่อบัตรเครดิตไว้ 2 รูปแบบคือ 1.เติบโตจากเป้าหมายมีจำนวนบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3.5 แสนใบ จากปีที่ผ่านมาที่ยอดบัตรใหม่ประมาณ 3.4 แสนใบ และ 2.เติบโตจากการกระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไปพร้อมกับการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อย่างรัดกุมมากขึ้น

“ในอดีตเราได้สร้างพื้นฐานด้านสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าได้ดีมาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไปในอนาคตธนาคารก็จะเริ่มต้นเจาะลูกค้าใหม่ที่ดีเข้ามาในพอร์ต และกลยุทธ์ที่จะใช้กับลูกค้าในแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันทั้งลูกค้าที่เป็นบัตรแพลตินัมที่ได้สร้างผลกำไรให้เยอะ เพราะลูกค้ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรในระดับที่สูง”นางสาวอัญชลี กล่าว

สำหรับเกณฑ์ฐานรายได้ขั้นต่ำลูกค้าที่จะสมัครใช้สินเชื่อกับธนาคารก็ยังคงอยู่ในระดับเดิมคือ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด แต่หากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้มีการฟื้นตัวดีและมีความชัดเจนมากขึ้น ธนาคารก็อาจจะพิจารณาปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของลูกค้าลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งธนาคารก็จะต้องติดตามและรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่อไปเพื่อที่จะได้นำแผนงานดังกล่าวเข้าหารือกับฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตต่อไป

ส่วนทางด้านยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารนั้น ตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโตประมาณ 18-19% จากปีที่แล้วที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 24-25% คิดเป็นเม็ดเงินเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทต่อเดือน โดยคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างสม่ำเสมอ (แอคทีฟ) อยู่ที่ 60-70% ต่อคนต่อเดือน จากเดิมยอดดังกล่าวอยู่ที่ 65% ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนต่อบัตรอยู่ที่ 1.3หมื่นบาททั้งนี้ ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายยอดการใช่จายผ่านบัตรลดลง แต่เพราะฐานบัตรของธนาคารและยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรมีการเติบโตติดต่อกันมา 3-4 ปี ดังนั้นต่อไปธนาคารจึงต้องการที่จะเติบโตทั้งสองด้านแบบมีคุณภาพมากกว่า

ในขณะเดียวกันนางสาวอัญชลี ยังกล่าวถึงตลาดบัตรเครดิตว่ายังไม่ได้ถึงจุดอิ่มตัวในเรื่องของการใช้จ่ายผ่านบัตรหรือทำโปรโมชั่นแต่อย่างใด เพราะตลาดบัตรเครดิตยังมีช่องว่างที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าไปทำการตลาดในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังคงมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายซื้อสินค้าด้วยเงินสดมากกว่าใช้จ่ายผ่านบัตร แต่เนื่องจากตลาดบัตรเครดิตถูกทำการศึกษาตลาดมาพอสมควรจากผู้ประกอบการ ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นจุดอิ่มตัวของตลาดบัตรเครดิต จึงทำให้การแข่งขันต่อจากนี้ไปจะไปได้ด้วยตัวเองในการสร้างความแตกต่างของโปรโมชั่นได้มากขึ้น

“ถ้าจะพูดแล้วตลาดบัตรตอนนี้ยังไม่ใช่จุดอิ่มตัวอะไร แต่เพราะผู้ประกอบการมีการทำการศึกษาตลาดมาเป็นระยะเวลานานและลูกค้าก็รู้จักตลาดนี้มาก จึงทำให้ผู้ประกอบการบัตรหลายรายหันไปมุ่งทำการตลาดเพื่อเติบโตในส่วนของสินเชื่อบุคคลมากขึ้นเพราะผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อจะได้อัตราดอกเบี้ยมาก จากที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหยุดทำการตลาด เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดีและไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายฐานสินเชื่อ ดังนั้นจึงจะเห็นว่าทุกค่ายตั้งเป้ามหายเติบโตสินเชื่อบุคคลในปีนี้ไว้ในอัตราที่สูงมาก และสูงกว่าสินเชื่อบัตรเครดิต โดยธนาคารตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อดังกล่าวในปีนี้ไว้ที่ 15%” นางสาวอัญชลี กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.