เที่ยวเส้นทางไหมไทยปักธงชัย แวะ “หอค้ำคูณ” จิม ทอมป์สัน

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

"ลำพระเพลิงน้ำใส ผ้าไหมเนื้องาม ข้าวหลามนกออก ถั่วงอกวังหมี หมี่ตะคุ" นี่คือคำขวัญของชาวปักธงชัยที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกไหมไทยมากที่สุดปีละไม่ต่ำกว่าสิบล้านหลา คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี ด้วยวิถีวัฒนธรรมหลักที่ผ่านผ้าไหมทอมือ ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเงางามต่างกว่าที่อื่น จนก่อให้เกิดงานเทศกาลผ้าไหมปักธงชัยต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว

เส้นทางสายไหมสายนี้จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางไปปักธงชัย จ.นครราชสีมา และได้เจอจุดนัดพบแห่งใหม่ที่เรียกว่า "หอค้ำคูณ JIM THOMPSON INFORMATION CENTER" ที่ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณหน้าโรงงานอุตสาหกรรมไหมไทย ลงทุนเงินนับล้านกับเวลาหนึ่งปีเต็มสร้างสถานที่แห่งนี้ และเพิ่งเปิดให้บริการนักเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 นี้เอง

"ชื่อของหอค้ำคูณ หรือออกเสียงอีสานก็จะเรียกว่า ค่ำคูน เป็นอักษรธรรมที่มีความหมายเกื้อหนุนและค้ำชู หอค้ำคูณนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลของเมืองปักธงชัยทั้งหมด หรือใครอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของจิม ทอมป์สัน อุตสาหกรรม ไหมไทย และต่อไปก็จะมีแหล่งข้อมูลกิน-เที่ยว-ของดีในปักธงชัย ใครๆ ก็จะแวะที่นี่จุดแรกก่อน" ชุติมา ดำสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์จิม ทอมป์สันเล่าให้ฟัง

สถาปัตยกรรมอีสานที่ปรากฏเป็นอาคารไม้คล้ายหอแจกหรือศาลาอเนกประสงค์ บนเนื้อที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร ออกแบบโดยพหลไชย เปรมใจ สถาปนิกหนุ่มซึ่งเน้นให้ผู้ชมสัมผัสภูมิปัญญางานช่างพื้นถิ่นโคราชที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง เช่นเรือนเครื่อง ผูกที่เพดานจะสูงกว่าบ้านอีสานทั่วไป และที่จั่วเพดานปรากฏเป็น "ลายตะเวน" ซึ่งเป็นลายประจำถิ่นอีสานที่ตีซ้อนเกล็ดไม้เป็นแฉกแสงอาทิตย์

"หอค้ำคูณนี้จำลองมาจากหอแจกหรือศาลาธรรมของวัดโคกศรีสะเกษที่ตำบลนกออก โดยเรายึดรูปแบบและสัดส่วนให้ใกล้เคียงมากที่สุด แต่จะยกสูงและไม่มีเสากลางเพื่อให้ดูโปร่งโล่งสบาย ขณะที่หอแจกจริงๆ ของอีสานจะต้องต่ำเวลาเดินต้องค้อมก้มตัวนิดๆ ส่วนจั่วบนเพดานก็เป็นลายตะเวน หรือภาคกลางเรียก ลายตะวัน ซึ่งเรือนอีสานจะมีความเชื่อและ ทำเอาไว้ช่วยแก้ปัญหาจั่วบ้านและช่วยระบายอากาศเช่นตามห้องครัว แต่ที่ไม่ได้ทำคือส่วน Partition สำหรับซ่อนแอร์ที่อยากทำเป็นฝาปรือเลื่อน แต่เราหาต้นปรือ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต้นปรือถือเป็นเอกลักษณ์ของโคราชที่ที่อื่นไม่มี" พหลไชยหรือทอม ผู้ออกแบบหอค้ำคูณและพื้นที่ในหมู่บ้านอีสานเล่าให้ฟัง

ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ภายในหอค้ำคูณที่ตกแต่งด้วยไม้ตะแบกกัดสี ให้แลดูเก่าธรรมชาติ จะเห็นพื้นที่นิทรรศการจัดแสดงประกอบด้วยนิทรรศการถาวร แสดงภาพและข้อมูลเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรม ราชินีนาถที่นำให้คนทั่วโลกได้รู้จักไหมไทยกับราชาไหมไทย จิม ทอมป์สันผู้สร้างชื่อเสียงต่อเนื่องมานาน 60 ปีที่ขยายสู่การผลิตที่โรงงานปักธงชัยที่มีกี่ทอมือจำนวนมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนที่เกี่ยวกับกิจกรรมและเทศกาลแต่ละโอกาส เช่น เอาฟักทองเนื้อแน่น มะเขือเทศสีสวย น้ำเต้าหลากพันธุ์ พริกหลากสี ดอกไม้เมืองหนาว ความรู้เรื่องหมู่บ้านอีสานมาจัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้ก่อนชมงานจิม ทอมป์สันฟาร์มทัวร์ที่จัดระหว่าง 19 ธันวาคม 2552-10 มกราคม 2553

"เราไม่เน้นพื้นที่ขายของและไม่ต้องให้เป็น outlet ตั้งแต่ต้น เพราะถ้าเปิดชอปก็ไม่ได้อะไรมาก เพราะลูกค้าของจิม ทอมป์สันเป็น คนละกลุ่มกันกับผู้ผลิตที่นี่ แต่จุดประสงค์หลักเราต้องการทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักเมืองปักธงชัยและเป็นศูนย์ข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวในปักธงชัยว่า ไปเที่ยวไปกิน หรือซื้อของดีที่ไหนได้บ้าง? ที่เราตั้งใจทำให้กับชุมชนและนักท่องเที่ยวเหมือนให้เป็นแลนด์มาร์กของเมืองปักธงชัยอีกแห่งมากกว่า"

หอค้ำคูณจึงเป็นเสมือนห้องรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนปักธงไชย เมืองไหมไทยอย่างแท้จริง เพราะเกิดขึ้นจากความรับผิดชอบต่อชุมชน (Corporate Social Responsibility) ของจิม ทอมป์สันที่ลงทุนสร้างสถานที่ที่ต้องการสื่อให้นักเดินทาง ท่องเที่ยวได้เห็นกระบวนทัศน์และวัฒนธรรมไหมที่สืบทอดกันมา แต่โบราณ และจิม ทอมป์สันซึ่งเป็นผู้นำวิทยาการสมัยใหม่ช่วยพัฒนาการทอผ้าไหมให้ดียิ่งขึ้นด้านการผลิตเส้นใย การย้อมสี การออกแบบ การพิมพ์และตัดเย็บ และสร้างชื่อเสียงของอำเภอ ปักธงชัยเป็นแหล่งผลิตไหมไทยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.