เมื่ออารยธรรมล่มสลายเพราะมนุษย์พยายามอยู่เหนือธรรมชาติ

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายคนตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีขอบเขตจำกัด แม้แต่ทรัพยากรที่คืนรูปได้ เช่น ลม แสงอาทิตย์ ก็ยังมีขีดจำกัด มีศักยภาพที่ใช้ได้เป็นบางเวลา และบางพื้นที่ คนส่วนใหญ่อาจเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ คนบางพวกที่มีอำนาจและเงินยังพยายามกอบโกยผลประโยชน์ให้มากที่สุด โดยไม่เกรงใจเทพยดาฟ้าดิน บางคนอาจจะมีมุมมองว่าเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจย่อมต้องการผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด พลังความต้องการของมนุษย์อาจไม่มีที่สิ้นสุด แต่ขอบเขตที่ธรรมชาติให้ได้นั้นมีอยู่จำกัดแน่ และในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ หากการกอบโกยทรัพยากรเป็นกิจกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่บันยะบันยัง ก็อาจนำไปสู่การล่มสลายได้ ดังกรณีตัวอย่างที่ยกมานี้

กรณีตัวอย่างของการล่มสลาย

เกาะ Easter เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการล่มสลาย เมื่อเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ผิดพลาด เกาะ Easter ตั้งอยู่ในทะเลแปซิฟิกตอนใต้ ห่าง จากชายฝั่งทะเลประเทศชิลีประมาณ 3,800 กิโลเมตร ในศตวรรษ ค.ศ.100 มีมนุษย์เข้าไปตั้งรกราก ปรากฏหลักฐานอันเป็นที่ฉงนว่า ชาวเกาะมีอารยธรรมและ เทคโนโลยีที่รุ่งเรืองล้ำหน้าชนเผ่าอื่นๆ ในยุคนั้นมาก หลักฐานที่สำคัญคือรูปปั้นขนาดมหึมาที่เรียกว่า Moai Statues กระจัดกระจายอยู่รอบเกาะ แต่ละชิ้นมีความสูงไม่ต่ำกว่า 10 เมตร หนักหลายตัน ทำขึ้นจากหินภูเขาไฟบนเกาะ Moai ถูกสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงชีวิตและความตาย อันเป็นการบูชาบรรพบุรุษ การพัฒนาบนเกาะเติบโตจนมีการขยายตัวของ ประชากรออกไปหนาแน่น จนเกษตรกรรม ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ ป่าไม้ถูกโค่น ดินเสื่อมโทรมพังทลาย อารยธรรม เจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ 1,000 ปี

เมื่อชาวดัตช์เดินทางมาพบเกาะ Easter ในศตวรรษที่ 15 อารยธรรมได้ล่มสลายไปแล้ว มีชาวเกาะหลงเหลืออยู่เล็กน้อย ในปี ค.ศ.1840 มีชาวตะวันตกเข้าไป ศึกษาขุดค้นซากอารยธรรมได้ตั้งข้อสงสัยกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงแห่งการล่มสลาย คำตอบขั้นแรกก็คือการขาดแคลนอาหารเนื่องจากมีประชากรมากเกินไป ร่วมกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและมีความยืดหยุ่นน้อยของเกาะ ความขาด แคลนทำให้เกิดการแก่งแย่งกันจนรบราฆ่าฟันกันเองราบเรียบ

บางทฤษฎีอ้างว่าเกิดจากการเอาหนู ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่นขึ้นมาบนเกาะ ด้วยหวังว่าจะเลี้ยงให้เป็นอาหารโปรตีนของชาวเกาะ แต่การณ์กลับเป็นว่าหนูขยายพันธุ์อย่างรวด เร็ว เพราะไม่มีสัตว์ผู้ล่า รุกรานพืชสัตว์และเกษตรกรรมบนเกาะเสียหาย ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร และในที่สุดคนก็ล้มหายตายจากไปด้วย

ปัจจุบันเกาะ Easter มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าโล่ง มีรูปปั้น Moai ล้มระเนระนาด กระจัดกระจาย มีประชากรเล็กน้อย บทเรียนจากเกาะ Easter สอนอะไรเราได้บ้าง แม้ว่าจะเป็นเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งแต่เราก็เรียนรู้อะไรได้หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ต้องพึ่งพิงรักษาซึ่งกันและกันเสมอ เราตระหนักได้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าและ การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน คือใช้อย่าง ไม่คิดถึงอนาคต สร้างความหายนะมากแค่ ไหน การวางแผนพัฒนาต้องทำอย่างรอบ คอบ หากผิดพลาดเช่นการเอาพันธุ์ต่างถิ่น เข้ามาอาจเป็นอันตราย คุกคามพันธุ์ท้องถิ่น (รวมทั้งคน) ให้สูญหายไปหมดได้

กรณีตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่กำลังมีอันเป็นไปอยู่ในเวลานี้คือโครงการ Dubai World และ The Palms ของประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรสต์ ข่าวคราวออกมาสะพัดอยู่ทุกวันนี้ว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจและ มูลค่าตลาดสินทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปใด หากมองในแง่ดีก็คาดว่าจะมีการฟื้นตัว ถ้ามองในแง่ร้ายก็จะเห็นว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและกายภาพที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะเยียวยา ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายนัก

โครงการรัฐดูไบ อันเป็นนวัตกรรมสุดอลังการนั้น โครงการแรกเรียกว่า The Palms เป็นการเนรมิตเกาะขึ้นมาเป็นรูปใบ ปาล์มมีทั้งหมด 3 ใบปาล์ม สร้างขึ้นจากการขุดทรายในบริเวณชายฝั่งทะเลขึ้นมากองให้เป็นเกาะ เป็น man-made islands มี breakwater หรือแนวกันคลื่นกั้นไว้ระหว่างเกาะและทะเลเปิด การออกแบบมีการวางแผนไว้เป็นขั้นเป็นตอน ขั้นแรกเป็นการก่อสร้างฐานราก (land foundation) เป็นพื้นฐานรองรับสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จะเนรมิต ขนเอาหินและทรายเข้ามาถมอัดให้เป็นพื้นแข็ง ขั้นที่ 2 เป็นการสร้างระบบ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ระบบส่งน้ำ ระบายน้ำ ถนน สนามบิน สะพานเชื่อมระหว่างเกาะ ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ขั้นที่ 3 คือการก่อสร้างอาคาร ตึกสูง shopping complex และสถานบันเทิงที่ออกแบบไว้อย่างครบครัน

อภิมหาโครงการแห่งที่สองต่อเนื่องจาก The Palms คือ The Archipelago ที่ยิ่งใหญ่อลังการ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก The Archipelago ประกอบด้วยเกาะ 300 เกาะ สร้างขึ้นตามรูปแบบทวีปต่างๆ ของแผนที่โลก ถมทะเลด้วยทรายเช่นเดียวกับ The Palms แต่ละเกาะจะมีสถานบันเทิงและสวรรค์บนดินต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็น tourist attractions ที่จะดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยว นักชอปปิ้งเข้ามาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อเริ่มวางแผน นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารสินทรัพย์ ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ต่างออกมาสรรเสริญรัฐบาลดูไบว่า มีแนวความคิดริเริ่มที่ปราดเปรื่อง แปลกใหม่ กล้าคิดกล้าทำ เป็นการวางแผนรองรับอนาคต จากการที่ UAE มีแหล่งน้ำมันสำรองลดลง สามารถขุดน้ำมัน ขายต่อไปได้อีกประมาณ 20-30 ปี รัฐบาล จึงต้องหาทางออก หารายได้เพื่อมาชดเชย การขายน้ำมันที่นับวันจะมีปริมาณลดลงๆ

สิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นและเปิดเผย ออกมา คือผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการที่ผืนดินทรุดตัวลง มีการเลื่อนไหลของทรายออกไปในทะเล ด้วยการซัดของคลื่นและกระแสน้ำทะเลเปลี่ยนทิศทางผิดธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่นึกไม่ถึง ปรากฏขึ้นมาทีละอย่างสองอย่าง เมื่อสภาพความเป็นจริง เผยแพร่ออกไปก็ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ลดลงและมีผู้เข้ามาลงทุนน้อยลง ตลอดจนค่าใช้จ่ายค่าก่อสร้างก็สูงขึ้นเพื่อแก้ไขผลกระทบทั้งหมดนี้ทำให้โครงการ ทั้ง The Palms และ The Archipelago อยู่ในสถานะลูกผีลูกคนอยู่ในเวลานี้ มหาเศรษฐี ที่หลวมตัวเข้าไปซื้อที่ดินไว้ฝันว่าจะเป็นเจ้าของเกาะสุดหรูอลังการก็ต้องฝันสลายและสูญเสียเงินไปด้วย ในจำนวนนี้ก็มีดารา เช่น แบรด พิตต์ นักฟุตบอลเช่น เดวิด เบ็คเฮม นักเทนนิสเช่น มาเรีย ชาราโปวา ที่ขาดไม่ได้ก็คือมหาเศรษฐีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยก็ร่วมอยู่ในสังฆกรรมนี้ด้วย

เราคงจะต้องดูกรณีของดูไบกันต่อไปว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยแก้ไขอะไรได้บ้าง บางคนเชื่อว่าอำนาจเงินทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่บางคนก็เชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่เหนือฟ้าดินได้

บทเรียนที่ควรสังวร

หากวิเคราะห์ปัญหาการล่มสลายของเกาะอีสเตอร์ ก็จะเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในครั้งกระโน้นก็ไม่แตกต่างไปจากยุคปัจจุบันสักเท่าไร ล้วนมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ

การขยายตัวประชากรจนหนาแน่น

เทคโนโลยีหรือการกระทำเพื่อสนอง ความต้องการใหม่ๆ เทคโนโลยีบางอย่างที่เหมาะสมก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาขึ้นเจริญขึ้น แต่ถ้าเทคโนโลยีนั้นขัดแย้งกับสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นการทำลาย

ในช่วง 1,300 ปี ตั้งแต่ชาวเกาะเข้ามาตั้งรกรากในราว ค.ศ.300-400 จนถึงเมื่อชาวยุโรปไปพบเกาะในราวปี ค.ศ.1722 ได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผู้ทำการวิเคราะห์ได้เข้าไปศึกษาทั้งในด้านชีววิทยา สิ่งแวดล้อม สังคมและวิวัฒนาการ สรุปไว้ว่า ขีดความสามารถของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรบนเกาะ (carrying capacity) ไม่อาจรองรับประชากรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ร่วมกับนโยบายแก้ไขที่ผิดพลาด

ความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรรม ที่ให้ผลดีบนเกาะทำให้ประชากรกินดีอยู่ดี จนขยายตัวหนาแน่น ผลก็คือความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น มีการขยายพื้นที่เกษตรกรรมออกไปมากขึ้นๆ โดยไม่ตระหนักถึงขีดจำกัด เกิดการแผ้วถางป่าและปัญหาดินพังทลายตามมา สภาพดินเริ่มเสื่อมโทรมผลิตอาหารได้น้อยลง ป่าไม้ที่ซึมซับแหล่งน้ำ ความชุ่มชื้นก็ค่อยๆ สูญไป เกิดการขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร สถานการณ์ความเสื่อมโทรมน่าจะค่อยๆ เกิดขึ้นอยู่สองสามร้อยปี ในระหว่างนั้นก็มีนโยบายการแก้ไขที่ผิดพลาด นก (seabirds) ที่เคยมีอยู่มากมายก็ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป เพราะความนิยมเอาไข่นกมากิน นกเหล่านี้มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศบนเกาะ การจับปลาเป็นอาหารก็ยากขึ้นเพราะขาดแคลนไม้ที่จะมาทำเป็นเรือออกทะเล

นอกจากนั้นพิธีกรรมความเชื่อในการสร้าง Moai เพื่อบูชาบรรพบุรุษก็ทำให้ชาวเกาะเสียพลังงานและแรงงานไปมาก สุดท้ายที่ร้ายที่สุดก็คือ การเอาหนูซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาขยายพันธุ์บนเกาะ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน แต่กลับมารุกรานทั้งพืชสัตว์ประจำถิ่นจนล้มหายตายจากไปหมด การกระทำที่ผิดพลาดเหล่านี้สะสมมากขึ้นๆ และส่งผลย้อนกลับมาสู่มนุษย์ได้อย่างเป็นทวีคูณ จนทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบนเกาะไปได้อย่างไม่อาจฟื้นคืนได้ ทุกวันนี้เกาะอีสเตอร์กลาย เป็นเกาะที่มีแต่ทุ่งหญ้าโล่งๆ มีชาวเกาะอาศัยอยู่เล็กน้อย

ส่วนกรณีเกาะสวรรค์ในทะเลดูไบยังไม่เห็นผลชัดเจนนักว่าจะออกมาในรูปใด เทคโนโลยีสมัยใหม่จะอยู่เหนือธรรมชาติได้หรือไม่ เทคโนโลยีอาจจะพาเราออกไปนอกโลก พ้นจากแรงดึงดูดและกฎเกณฑ์ของโลกได้ แต่ก็ต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ของจักรวาล ซึ่งน่าจะลึกลับซับซ้อนมากกว่าโลกหลายเท่า และก็คงหนีไม่พ้นหลักสัจธรรมคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นแน่

ประเทศไทยกำลังกาวอยู่ในทิศทาง
ที่เจริญหรือล่มสลาย

การเรียนรู้กรณีของเกาะอีสเตอร์และดูไบ อาจทำให้สงสัยว่าในระบบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะนำโลกไปสู่สภาวการณ์อย่างไรในอนาคตและประเทศไทยจะอยู่ในทิศทางใด

ก่อนอื่นเราอาจต้องมาตอบคำถาม เหล่านี้กันก่อน

- การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราเวลานี้อยู่ในอัตราที่สูงเกินขีดความสามารถที่รองรับได้หรือไม่

- นโยบายสนองความต้องการ demand ของเราอยู่ในทิศทางที่เสริมสร้างหรือทำลาย

ในการตอบคำถามแรกต้องลองดูความเป็นไปในประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่าง เช่น ป่าไม้ ดิน น้ำใต้ดิน เราใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ถึงแม้จะมีเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่ค่อยพอใช้และรัฐไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและควบคุมผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ ศักยภาพของเราเกือบทุกด้านยังอ่อนแอ นโยบายไม่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอ่อน โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ส่วนความสามารถในการบูรณาการ การศึกษา และการมีส่วนร่วมของเราก็ยังไม่มีระบบที่ปฏิบัติได้ผลจริง มีแต่ตัวหนังสือที่จารึกไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกลไกที่ใช้ให้ได้ผล

ส่วนคำถามที่สอง ก็มีแนวโน้มเห็นว่านโยบายของประเทศไทยมุ่งเน้นการเพิ่มอัตรา GDP เป็นสำคัญ และให้ความสำคัญทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับรองๆ ลงมาเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.