|
ยุทธศาสตร์เกษตรก้าวหน้าของธนาคารกรุงเทพ
โดย
ยงยุทธ สถานพงษ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินการมาเกือบจะครบทศวรรษ ผลของโครงการนี้เป็นอย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ขณะที่ธุรกิจเอกชนรายใหญ่ดำเนินไปในทิศทางที่ไม่สู้ดีหนัก จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เกษตรกร ผู้ประกอบการราย ย่อยที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพในโครงการเกษตรก้าวหน้า 3 พันกว่าราย ซึ่งโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารมองว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ GDP ของประเทศโตขึ้น ทั้งนี้จะส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องค่อยเป็นค่อยไป
ผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรซึ่งเป็น ลูกค้ารายสำคัญของธนาคารกรุงเทพ มีกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ อาทิ วีระชัยฟาร์ม จังหวัดราชบุรี ศรีวิโรจน์ ฟาร์ม จังหวัดขอนแก่น ศรีเจริญ จังหวัดกระบี่ ไทยเฟรช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วาสนาฟาร์ม จังหวัดสระบุรี สุรีรัตน์ฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี เค ซี เฟรช จังหวัดนครปฐม
ภาพที่เกิดขึ้นภายในโครงการเกษตรกรก้าวหน้าของธนาคารกรุงเทพที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนครอบคลุม ทั้งในรูปแบบปศุสัตว์ ประมง ไม้ผล ไม้ดอก เมืองหนาวและผัก
ขณะเดียวกันจังหวัดเชียงรายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพในภาคเกษตรกรรายใหญ่ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยสวนส้ม สวนไม้ดอกไม้ประดับ ไร่ชา และปศุสัตว์ เช่นฟาร์มเลี้ยงไก่ โคเนื้อ ปลาบึก
"โครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารกรุงเทพ ไม่เพียงต้องการมุ่งสร้างศักยภาพด้านการผลิตให้เป็นที่ยอมรับแต่พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างความเข้มแข็งในระบบทางการตลาด สร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกลุ่มพ่อค้า ทั้งภายในประเทศและก้าวขึ้นสู่ตลาดสากล" โฆสิตได้ให้นิยามสั้นๆ
ผลลัพธ์ต่างๆ เริ่มเป็นรูปร่างอย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ธนาคารพยายามชูให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เสาวลักษณ์ อานุภาวธรรม เจ้าของสวนส้มไร่เอกลักษณ์ อดีตแม่ค้าขายส่งผลไม้ตามฤดูกาลที่ปากคลองตลาดในช่วงปี 2529-2544 เธอย้ายมาทำสวนส้มสาย น้ำผึ้งที่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูการผลิตปี 2544 เกิดปัญหาโรค ระบาดในสวนส้มแถบทุ่งรังสิตจนถึงสระบุรี อย่างหนัก ทำให้ต้องย้ายแหล่งปลูกส้มแห่งใหม่มาที่อำเภอเวียงชัย จังหวัด เชียงราย ในปี 2545 จนกระทั่งปัจจุบัน
4 ปีที่ผ่านมาเธอต้องประสบกับปัญหาขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีแรก เพราะได้รับผลกระทบจากส้มนำเข้าที่ทะลักเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) และพม่า ได้อาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย ทำให้ราคาส้มตกต่ำ เหลือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท ขณะที่ราคาเมื่อรวมต้นทุนการผลิตตามความเป็นจริงจะอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 15 บาท แต่เธอก็ยังประคองธุรกิจอยู่ได้เพราะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ
ตลาดที่ส่งออกของส้มจากไร่แห่งนี้เป็นลักษณะการซื้อ-ขายระหว่างพ่อค้าด้วยกันที่รู้จักกันมากว่า 20 ปี หากเทียบ สัดส่วนระหว่างลูกค้าเก่าและใหม่ที่มีเข้ามา เพียง 5%
ในฐานะที่เธอเคยขายส่งผลไม้มาก่อนทำให้เป็นที่รู้จักอยู่ในกลุ่มพ่อค้าด้วยกันอยู่แล้ว มีพ่อค้ามารับผลผลิตจากหน้าไร่ โดยเฉพาะพ่อค้าจากสุไหงโกลก ซึ่งจะส่งออกต่อไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่มีความนิยมบริโภคส้มสายน้ำผึ้งที่มีผลขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ผลผลิตส้มจากไร่อีกบางส่วนยังส่งไปขายที่เมืองกวางเจา เมืองคุณหมิง ของ สป.จีน คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกทั้งหมด
เช่นเดียวกับจรัล ไชยองค์การ เจ้าของจรัลฟาร์ม ฟาร์มปศุสัตว์แบบผสมผสาน เช่นเลี้ยงไก่ไข่ ปลาบึก และปลาชนิด อื่นๆ รวมถึงโคเนื้อในอำเภอพาน จังหวัด เชียงราย บนพื้นที่ 350 ไร่
จรัลเป็นอดีตข้าราชการครู รับราชการมาตั้งแต่ปี 2503-2521 ต่อมาเขาสามารถพัฒนาการเลี้ยงปลาบึกในระบบปิด เพื่อการค้าได้เป็นผลสำเร็จ สามารถถ่าย ทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงให้กับนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ที่เดินทางมาศึกษาดูงานภายในฟาร์ม ตลอดจนเป็นผู้บุกเบิกตลาดปลานิลในอำเภอพาน จนทำให้ปลานิลเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของอำเภอพาน และอำเภอนี้กลายเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพอีกเช่นกัน
ลูกค้าอีกรายอย่างจำรัส แซ่จัง เจ้า กิจการเพาะพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว และขายไม้ตัดดอก ภายใต้ชื่อร้านดาวจรัสแสง ได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวที่เคยได้ร่ำเรียนมาจากไต้หวัน จนกระทั่งสามารถเพาะพันธุ์ไม้ดอก เมืองหนาวได้หลายชนิด เช่น ลิลลี่ ทิวลิป คาร์เนชั่น ยิบโซ ครัสเซีย เยียบีร่า เบญจมาศ ผีเสื้อเอ็มมี่ โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์จาก ประเทศเนเธอร์แลนด์และจีน ผลผลิตจากไร่ของจำรัสสามารถทดแทนการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ
สำหรับพื้นที่ปลูกบนดอยแม่สลอง มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ พื้นที่ป่าซาง เนื้อที่ 100 ไร่ ทั้ง 2 แหล่งอยู่ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ไม้ตัดดอกที่ส่งจำหน่ายในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลงมาถึงปากคลองตลาด กรุงเทพฯ รวมทั้งส่งออกขายยังประเทศออสเตรเลีย
ปัจจุบันจำรัสร่วมหุ้นกับเพื่อนชาวจีนเปิดบริษัทที่เมืองคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน พร้อมสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บดอกไม้ เมื่อได้ผลผลิตตามจำนวนที่คู่ค้าในจีนต้อง การจึงขนส่งทางเรือผ่านทางแม่น้ำโขงไปถึงเมืองต้าลี่ เชียงรุ่ง จนถึงนครคุนหมิง โดยห้องเย็นที่ต่อขึ้นมาโดยเฉพาะ
รายต่อมา ทวี วนัสพิทักษกุล หรือจังเลผ่า แซ่จัง เจ้าของบริษัทชาฉุยฟง จำกัด ทำไร่ชา และค้าปลีก-ค้าส่งใบชาใน พื้นที่ 380 ไร่ที่บ้านพญาไพรลิทู ประกอบด้วยชาเขียว 110 ไร่ ชาอู่หลงเบอร์ 12 จำนวน 250 ไร่ ชาอู่หลงก้านอ่อนจำนวน 20 ไร่ และได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มบนดอยแม่สลองในพื้นที่เพาะปลูก 400 ไร่ แบ่งเป็น ชาอู่หลง เบอร์ 12 จำนวน 120 ไร่ และชาอู่หลงก้านอ่อน จำนวน 280 ไร่
ผลผลิตที่ได้เป็นชาอู่หลงจำหน่ายในประเทศ 20% ที่เหลือส่งออกต่างประเทศ มีตลาดเป้าหมายคือไต้หวัน โดยมีบริษัท ซื่อฟง (ไต้หวัน) จำกัด เป็นหนึ่งในลูกค้า ส่วนตลาดชาเขียวจำหน่ายในประเทศ 30% ลูกค้าหลักคือบริษัทโออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด
การเปิดเขตการค้าเสรี (AFTA) ในอาเซียนย่อมส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน ของผู้ประกอบการเหล่านี้ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือ
ธนาคารกรุงเทพสามารถให้การดูแลลูกค้าเหล่านี้อย่างไร ดูจะเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะผลผลิตของลูกค้ามีผู้ประกอบการจากจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญ
การเข้ามาสนับสนุนเจ้าของสวนส้ม ของธนาคารกรุงเทพ ควบคู่กับการให้ความรู้และแนวคิดด้านการตลาด เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ปฎิสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายลูกค้ามีเพิ่มขึ้น
สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เป็น หน้าด่านสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปิยะ ซอโสตถิกุลผู้อำนวยการสายลูกค้า ธุรกิจรายกลางต่างจังหวัดและกิจการธนาคารต่างจังหวัด บอกว่าธนาคารมีสาขา อยู่ในกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ดังนั้นจึงได้วางยุทธศาสตร์การขยายสาขาเข้า มาในพื้นที่บริเวณชายแดนที่มีการค้าขายกันหนาแน่นด้วย
เขาให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงรายยังพอไปได้ เนื่องจากยังมีภาคเอกชนคอยหนุนอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจหลักๆ ในภาคการเกษตร เช่น ข้าว ชา กาแฟ ปศุสัตว์ และประมง ยังไปได้ดี
ในส่วนท่องเที่ยว จำนวนโรงแรมที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวน้อยลง คนที่มาเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 30% ซึ่งเมื่อไหร่ที่อากาศหนาว คนก็ยังมาเที่ยว
ส่วนภาคอุตสาหกรรมจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ เรียกว่ายังคงทรงตัวอยู่
ด้านโฆสิตบอกถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญว่า จะต้องเดินหน้าเข้าสู่ตลาดเอเชีย เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย เพื่อต้อง การให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขยาย ตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ หลังจาก AFTA มีผลอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะ สปป.ลาวที่ธนาคารมีสาขาอยู่แล้วและในปี 2553 ธนาคารจะเปิดสาขาที่ประเทศมาเลเซีย
แม้นโยบายไม่ได้เน้นที่ปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มมากขึ้น แต่จะเน้นที่คุณภาพของสินเชื่อ แต่อุปสรรคบางอย่างที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กฎหมาย รวมถึงเรื่องการค้าเสรีจะส่งผลต่อลูกค้าอย่างไร เป็นสิ่งที่ธนาคารกรุงเทพ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|