4 เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสความนิยมในการเดินทางไปท่องเที่ยวหลวงพระบางย่อมต้องส่งผลดีถึงประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประตูซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสามารถเดินทางเข้าไปถึง และจะยิ่งดีมากกว่านี้ ถ้าการเข้าถึงเมืองมรดกโลกแห่งนี้มีหลากหลายช่องทางเพิ่มขึ้น

"หลวงพระบาง" ยังคงเป็นจุดหมาย ปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย

สำนักข่าวสารประเทศลาวรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปหลวงพระบางในปี 2552 ว่ามีทั้งสิ้น 400,416 คนในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 245,083 คน

นักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปยังหลวงพระบางในสัดส่วนสูงที่สุดจำนวน 41,300 คน หรือคิดเป็น 11.9%

อันดับ 2 เป็นนักท่องเที่ยวจากอังกฤษ มีสัดส่วน 7.36% ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตามลำดับ

แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะนิยมเดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางมากที่สุดในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ทุกวันนี้ การเดินทางจากฝั่งไทยไปยังหลวงพระบาง นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องระยะเวลา และต้นทุนของการเดินทาง

การเดินทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด คือทางเครื่องบิน ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ-หลวงพระบาง โดยบริษัทบางกอก แอร์เวย์ส และเที่ยวบินระหว่างอุดรธานี-หลวงพระบาง โดยสายการบินลาว ราคาค่าตั๋วไป-กลับ ตกคนละประมาณ 5,000-6,000 บาท

การเดินทางโดยเรือล่องตามแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย สามารถ ทำได้แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานประมาณ 10 ชั่วโมง

การเดินทางโดยรถยนต์สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป จ.หนองคายแล้วข้ามไปยังนครเวียงจันทน์ เพื่อขึ้นรถโดยสารจากเวียงจันทน์ ผ่านวังเวียง ไปถึงหลวงพระบาง แม้จะเป็นการเดินทางที่ต้นทุนต่ำสุด แต่ก็ใช้เวลานานเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นับแต่กลางปีนี้ (2553) เป็นต้นไปกำลังจะมีเส้นทางทางสายใหม่ที่สามารถเดินทางจากประเทศไทย เข้าสู่หลวงพระบางได้โดยสะดวก

เส้นทางดังกล่าวเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างด่านพรมแดนสากลบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ข้ามไปยังเมืองเงิน แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) ต่อไปยังเมืองปากห้วยแคน ริมแม่น้ำโขงในฝั่งแขวงไชยะ บุรี แล้วนั่งเรือบั๊กข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไชย

เส้นทางสายนี้เป็น 1 ในโครงการของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว โดยให้เงินกู้เป็นเงินรวม 840 ล้านบาท เพื่อสร้างถนนจากเมืองเงินไปยังเมืองปากแบ่ง ระยะทางรวม 52 กิโลเมตร โดยมีบริษัทแพร่ธำรงวิทย์จากประเทศไทยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2550 จะแล้วเสร็จและส่งมอบงานได้ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ถือเป็นถนนลาดยางสายแรกของแขวงไชยะบุรี

"ทางเส้นนี้ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 90% คิดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ปี 2553 ปัจจุบัน ได้เปิดใช้แล้วบางส่วน แต่ยังไม่ปลอดภัย เพราะว่ายังไม่ได้ส่งมอบ" วรศักดิ์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแพร่ธำรงวิทย์ บอกความคืบหน้า

บริษัทแพร่ธำรงวิทย์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็ก แต่มีผลงานในการออกไปรับงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วหลายโครงการด้วยกัน โดยเฉพาะใน สปป.ลาว อาทิ การเปิดหน้าดินให้กับเหมืองถ่านหินเวียงภูคา แขวงหลวงน้ำทา การก่อสร้างถนนสาย R3a ช่วง 90 กิโลเมตรแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย

(รายละเอียดอ่านเรื่อง "แพร่ธำรงวิทย์กับก้าวกระโดดครั้งใหญ่" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

จากเมืองปากแบ่งมีเส้นทางที่วิ่งขึ้น ไปถึงเมืองไชย แขวงอุดมไชย ซึ่งจะบรรจบ กับเส้นทางสาย 13 (เส้นทางเหนือ-ใต้ของ สปป.ลาว) สามารถวกลงมาตามเส้นทางหมายเลข 13 ลงมาได้ถึงหลวงพระบาง และยังต่อลงมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาวได้อีกด้วย

เส้นทางจากเมืองเงินไปจนถึงเมืองไชยตามแผนโครงข่ายทางหลวงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าเส้นทางสาย R2

หากนับระยะทางจากจุดเริ่มต้นที่ตัว อ.เมืองน่าน ไปตามเส้นทาง R2 จนกระทั่งถึงหลวงพระบางมีความยาวทั้งสิ้น 289 กิโลเมตร

"ผมเคยนั่งรถจากหน้าโรงแรมเทวราชไปถึงหน้าโรงแรมอนุรักษ์ที่หลวงพระบาง ระยะทาง 289 กิโลเมตร ไม่น่าเชื่อว่าออกจากน่านตอนเช้า จะไปกินข้าวเย็นที่หลวงพระบางได้ นั่งรถจากตัวอำเภอ เมืองน่านไปด่านชายแดนห้วยโก๋น 150 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่ง 2 ชั่วโมงครึ่ง ออกจาก ด่านไปอีก 38 กิโลเมตรถึงเมืองปากห้วยแคน ริมแม่น้ำโขง ข้ามแม่น้ำไปอีก 11 กิโล เมตร ถึงเมืองปากแบ่ง แล้วต่อไปยังเมืองไชยซึ่งเป็นเมืองท่า แยกซ้ายไปสิบสองปันนา ตรงไปเดียนเบียนฟู เลี้ยวขวาไปหลวงพระบาง ข้ามทั้งหมด 9 ลำห้วย" นรินทร์ เหล่า อาริยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ในฐานะเจ้าของโรงแรมเทวราช โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน เล่าบนเวทีเมื่อครั้งที่ธนาคารกสิกรไทย นำคณะผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมจังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสาย R2 ไปยังหลวงพระบางยังมีจุดที่ต้องนั่งเรือบั๊กข้าม แม่น้ำโขง ช่วงระหว่างเมืองปากห้วยแคน กับเมืองปากแบ่ง ซึ่ง สพพ.ได้เคยอนุมัติกรอบความช่วยเหลือทางการเงินกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณนี้ไว้แล้ว ในวงเงินรวม 800 ล้าน บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2554

"เส้นทางสายนี้จะเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ เพราะเดิมคนลาวจากแขวง ไชยะบุรีกับอุดมไชย จะไปมาหาสู่กันได้ทางเรืออย่างเดียว เพราะไม่มีเส้นทางเลย แต่ปัจจุบันจากบ่อเต็น บ่อหาน ลงมาเมืองไชยถึงเมืองปากแบ่ง รัฐบาลจีนให้ลาวกู้เงินมาก่อสร้างเป็นถนนลาดยางแล้ว" วรศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากเส้นทางสายห้วยโก๋น-ปากแบ่ง ที่จะเป็นประตูเปิดเข้าสู่หลวงพระบาง จากประเทศไทย ผ่าน จ.น่านที่กำลังจะเปิดใช้กลางปีนี้แล้ว

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้อนุมัติกรอบ ความช่วยเหลือกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม ซึ่งจะเป็น การเปิดเส้นทางเชื่อมทางบกระหว่างประเทศไทยกับเมืองหลวงพระบางได้อีก 3 เส้นทางด้วยกัน

ทั้ง 3 เส้นทางยังเป็นการเปิดช่องทางใหม่ให้อีก 2 จังหวัดคือ อุตรดิตถ์ และ พะเยา สามารถใช้เป็นประตูเปิดเข้าสู่หลวงพระบาง นอกเหนือจากช่องทางผ่าน จ.น่าน ที่กำลังจะเปิดใช้กลางปีนี้

เส้นทางแรกยังคงเป็นช่องทางผ่านทาง จ.น่าน ที่จะมีการสร้างถนนเพิ่มขึ้นอีก 1 เส้น โดยสร้างจากด่านห้วยโก๋น-เมืองเงิน ไปยังเมืองหงสา ผ่านเมืองเชียงแมน ไปจน ถึงหลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี

"ก่อนหน้านี้ ความฝันของคนน่านถูกตัดขาด เพราะจากน่านไปห้วยโก๋น หงสา หลวงพระบาง ต้องวิ่งกว่า 300 กิโล เมตร เพราะต้องวกกลับลงมาที่แขวงไชยะ บุรีก่อนขึ้นไปหลวงพระบาง แล้วเส้นทางหน้าด่านห้วยโก๋นไปถึงไชยะบุรียาวประมาณ 150 กิโลเมตรนั้น ถ้าฝนตกไปไม่ได้เลย บางวันถ้าโชคดีฝนไม่ตก ไปโดยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง" วรศักดิ์ให้ข้อมูลและเสริมอีกว่า

"เส้นทางนี้หากสร้างเสร็จจะทำให้ความฝันของคนน่านที่จะออกจากน่านตอน เช้าข้ามด่านประมาณ 10 โมง สามารถไปรับประทานอาหารกลางวันที่หลวงพระบาง ได้เลย มีความเป็นจริงขึ้นมาทันที"

เส้นทางสายที่ 2 เป็นการเปิดช่องทางเข้าหลวงพระบางได้จาก จ.พะเยา

ทางสายนี้ใช้ชื่อว่าเส้นทางบ้านฮวก-เมืองเงิน แล้วต่อไปหลวงพระบาง โดยการก่อสร้างจะเริ่มจากหน้าด่านบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา เข้ามายังเมืองคอก ผ่านเมือง เชียงฮ่อน มาถึงเมืองเงิน เพื่อบรรจบกับเส้นทางสายเมืองเงิน หงสา หลวงพระบาง

ระยะทางการก่อสร้างประมาณเกือบ 200 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท

เมื่อสร้างเสร็จสามารถเดินทางจากพะเยาไปถึงหลวงพระบางได้ โดยออกจาก พะเยาตอนเช้า เพื่อไปถึงหลวงพระบางในตอนเย็น

จากการสำรวจของผู้จัดการ 360 ํ หากเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ผ่านพิษณุโลก แพร่ และต่อในเส้นทางสาย 102 ไปจนถึงพะเยาแล้ว จากตัว อ.เมือง พะเยา ใช้เส้นทางหมายเลข 1021 ผ่านจนไปถึง อ.เชียงคำ ใช้ระยะทางทั้งสิ้น 82 กิโลเมตร จาก อ.เชียงคำ ไปอีก 6 กิโลเมตร จะถึงแยกโรงเรียนภูซาง ซึ่งเมื่อเลี้ยวขวาจากแยกภูซาง เข้าไปตามเส้นทางสาย 1093 อีกเพียง 19 กิโลเมตร ก็จะถึงด่านชายแดน บ้านฮวก

เส้นทางสายสาย 1093 ภูซาง-ด่านบ้านฮวกนี้ยังเชื่อมกับเส้นทางที่สามารถขึ้นไปถึงภูชี้ฟ้า สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.เชียงของ จ.เชียงรายได้อีกด้วย

เส้นทางสายที่ 3 เป็นการเปิดช่องทางเข้าหลวงพระบางได้จาก จ.อุตรดิตถ์

ทางสายนี้ใช้ชื่อว่าเส้นทางด่านภูดู่-ปากลาย โดยจะก่อสร้างถนนจากหน้าด่าน ภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ไปถึงเมืองปาก ลาย แขวงไชยะบุรี ระยะทางรวม 30 กิโล เมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 520 ล้านบาท

ทางสายนี้จะไปบรรจบกับถนนที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) สำหรับสร้างถนนจากหลวงพระบาง ผ่านไชยะบุรี ลงมาถึงเมืองปากลาย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่

จากการสำรวจพบว่าเส้นทางสายนี้ เป็นทางออกสู่หลวงพระบางทางภาคเหนือที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด เมื่อเดินทางตาม ทางหลวงหมายเลข 11 จาก จ.พิษณุโลกจะใช้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก็จะถึงแยกทางเข้า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เลย จากแยกดังกล่าวไปตามถนนสายเดิมอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงแยกทางเข้าเขื่อนสิริกิติ์ ตามเส้นทางหมายเลข 1045

จากเขื่อนสิริกิติ์จะใช้ระยะทางอีกประมาณ 100 กิโลเมตรเศษเท่านั้น ก็จะถึงหน้าด่านภูดู่

ปัจจุบันเมื่อเลี้ยวขวามาตามทางหมายเลข 1045 ที่จะไปเขื่อนสิริกิติ์ขับรถไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบป้ายบอก ทาง ซึ่งระบุปลายทางไว้ชัดเจนว่าถนนเส้นนี้สามารถไปถึงปากลาย และหลวงพระบางติดตั้งรอเอาไว้แล้ว

เส้นทางใหม่ทั้ง 3 เส้นถือเป็นกรอบ การให้ความสนับสนุนทางการเงินจาก สพพ.กับรัฐบาล สปป.ลาวที่จะดำเนินการระหว่างปี 2552-2554 ขั้นตอนถัดจากนี้ เป็นเรื่องของการเจรจาในรายละเอียดระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ว่าจะดำเนิน การกับเงินกู้ก้อนนี้และการก่อสร้างที่จะมีขึ้นอย่างไร

"ทุกอย่างคงเริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป" วรศักดิ์คาดการณ์

เขาบอกว่าแพร่ธำรงวิทย์ก็ให้ความสนใจจะเสนอตัวเข้าประมูลงานก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ทั้ง 3 เส้น โดยเฉพาะเส้นทางสายห้วยโก๋น-เมืองเงิน-หงสา-เชียงแมน-หลวงพระบาง มูลค่า 2,500 ล้านบาท

หวังเพียงว่าเมื่อเส้นทางทุกสายสร้างเสร็จ กระแสความนิยมท่องเที่ยวในเมืองหลวงพระบาง คงจะไม่ซาลงไปเสียก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.